พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. โลหิจจสูตร ว่าด้วยพราหมณ์ผู้ระลึกถึงธรรมของพราหมณ์ได้เป็นผูัสูงสุด

 
บ้านธัมมะ
วันที่  11 ก.ย. 2564
หมายเลข  37229
อ่าน  454

[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 244

๙. โลหิจจสูตร

ว่าด้วยพราหมณ์ผู้ระลึกถึงธรรมของพราหมณ์ได้เป็นผู้สูงสุด


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 28]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 244

๙. โลหิจจสูตร

ว่าด้วยพราหมณ์ผู้ระลึกถึงธรรมของพราหมณ์ได้เป็นผู้สูงสุด

[๒๐๕] สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัจจายนะอยู่ ณ อรัญญกุฎี ใกล้มักกรกฏนคร ในอวันตีชนบท ครั้งนั้น พวกมาณพผู้เที่ยวหาฟืนเป็นอันมาก ซึ่งเป็นอันเตวาสิกของโลหิจจพราหมณ์ ได้พากันเข้าไปยังอรัญญกุฎีของท่านพระมหากัจจายนะ ครั้นแล้วพากันเดินตามกันไปมา เที่ยวตามกันไปรอบๆ กุฎี เล่นเสเลยยกกีฬามีเสียงเอ็ดอึงอึกทึกอยู่ว่า อันสมณะโล้นเหล่านี้เป็นเชื้อแถวคฤหบดี เป็นคนดำ เป็นเหล่ากอพวกเกิดแต่เท้าแห่งพรหม อันชาวภารตะแว่นแคว้นเหล่านี้สักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง ดังนี้.

ครั้งนั้น ท่านพระมหากัจจายนะออกจากวิหารแล้ว ได้กล่าวกะมาณพเหล่านั้นว่า ดูก่อนมาณพทั้งหลาย พวกเธออย่าได้ส่งเสียงไป เราจักกล่าวธรรมให้เธอทั้งหลายฟัง เมื่อท่านพระมหากัจจายนะกล่าวอย่างนี้แล้ว มาณพเหล่านั้นก็ได้พากันนิ่งอยู่ ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัจจายนะ ได้กล่าวกะมาณพเหล่านั้นด้วยคาถาทั้งหลายว่า.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 245

[๒๐๖] พราหมณ์เหล่าใด ระลึกถึงธรรมของพราหมณ์เก่าๆ พราหมณ์เหล่านั้นเป็นผู้สูงสุดโดยศีลมาก่อน ทวารทั้งหลายย่อมเป็นอันพราหมณ์เหล่านั้นคุ้มครองแล้ว รักษาดีแล้ว เพราะครอบงำความโกรธเสียได้ พราหมณ์เหล่าใด ระลึกถึงธรรมของพราหมณ์เก่าได้ พราหมณ์เหล่านั้นเป็นผู้ประพฤติในธรรม (กุศลกรรมบถ) และในฌาน พราหมณ์เหล่าใด ละเลยธรรมเหล่านี้เสีย เป็นผู้เมาด้วยโคตร เป็นผู้ถูกความโกรธครอบงำแล้ว มีอาชญาในตนมากมาย ประพฤติผิดในสัตว์ทั้งหลาย ทั้งที่มีใจหวาดสะดุ้งและมั่นคง จึงประพฤติไม่เรียบร้อย การสมาทานวัตรทั้งปวง คือการไม่กิน การนอนบนพื้นดิน การอาบน้ำในเวลาเช้า และพระเวท ๓ ของบุคคลผู้ไม่คุ้มครองทวาร เป็นการเปล่าผล เหมือนทรัพย์เครื่องปลื้มใจอันบุรุษได้แล้วในความฝันฉะนั้น บริขารภัณฑ์เหล่านี้ คือหนังเสือหยาบๆ ชฎา เหงือก (ปังกะ) มนต์ ศีลพรต ตบะ การล่อลวง ไม้เท้าคดๆ และการเอาน้ำลูบหน้า เป็นวรรณะของพวกพราหมณ์ การภาวนาเห็นแก่อามิส พวกพราหมณ์ก็ทำกันแล้ว ส่วนจิตอันตั้งมั่นดีแล้ว อันผ่องใส ไม่ขุ่นมัว ไม่เหี้ยมโหดในสัตว์ทั้งปวง ข้อนั้นเป็นทางถึงพรหม.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 246

[๒๐๗] ครั้งนั้นแล มาณพเหล่านั้นขัดเคือง ไม่พอใจ ได้พากันเข้าไปหาโลหิจจพราหมณ์ถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะโลหิจจพราหมณ์ว่า ขอท่านผู้เจริญพึงทราบเถิด พระสมณมหากัจจายนะขอดข้อนด่าว่า ถึงมนต์ของพราหมณ์ทั้งหลายโดยส่วนเดียว เมื่อมาณพเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้ โลหิจจพราหมณ์ก็ขัดเคือง ไม่พอใจ ลำดับนั้น โลหิจจพราหมณ์จึงคิดดังนี้ว่า การที่เราพึงด่า พึงเหน็บแนม พึงบริภาษพระสมณมหากัจจายนะ เพราะเชื่อฟังคำของมาณพเป็นแน่นอนนี้ ไม่สมควรแก่เราเลย อย่ากระนั้นเลย เราไปหา แล้วถามดูเถิด ครั้งนั้นแล โลหิจจพราหมณ์กับมาณพเหล่านั้น ได้เข้าไปหาท่านพระมหากัจจายนะถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระมหากัจจายนะ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ถามท่านพระมหากัจจายนะว่า ท่านกัจจายนะผู้เจริญ พวกมาณพผู้เที่ยวหาฟืนเป็นอันมาก ซึ่งเป็นอันเตวาสิกของข้าพเจ้า ได้มาในที่นี้หรือหนอ ท่านพระมหากัจจายนะตอบว่า ดูก่อนพราหมณ์ พวกมาณพผู้เที่ยวหาฟืนเป็นอันมาก ซึ่งเป็นอันเตวาสิกของท่าน ได้มาแล้วในที่นี้.

โล. ท่านกัจจายนะได้ปราศัยอะไรกับมาณพเหล่านั้นบ้างหรือ.

ก. ดูก่อนพราหมณ์ อาตมาได้ปราศัยกับมาณพเหล่านั้น.

โล. ก็ท่านกัจจายนะได้ปราศัยกับมาณพเหล่านั้นอย่างไรเล่า.

ก. ดูก่อนพราหมณ์ อาตมาได้ปราศัยกับมาณพเหล่านั้นอย่างนี้ว่า.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 247

พราหมณ์เหล่าใด ระลึกถึงธรรมของพราหมณ์เก่าๆ ได้ พราหมณ์เหล่านั้นเป็นผู้สูงสุดโดยศีล มาก่อนกว่า ฯลฯ ข้อนั้นเป็นทางถึงพรหม.

ดูก่อนพราหมณ์ อาตมาได้ปราศัยกับมาณพเหล่านั้นอย่างนี้แล.

โล. ท่านกัจจายนะได้กล่าวว่า ผู้มีทวารอันไม่คุ้มครองแล้ว ดังนี้ ท่านกัจจายนะ ด้วยเหตุมีเท่าไรหนอ บุคคลจึงชื่อว่าเป็นผู้มีทวารอันไม่คุ้มครองแล้ว.

ก. ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมยินดีในรูปที่น่ารัก ย่อมยินร้ายในรูปที่ไม่น่ารัก มีสติอันไม่เข้าไปตั้งไว้แล้ว มีจิตมีอารมณ์เป็นกามาวจร และไม่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ ตามความเป็นจริง ที่อกุศลบาปธรรมทั้งหลายเหล่านั้นบังเกิดขึ้นแล้วแก่บุคคลนั้น ไม่ดับไปโดยหาส่วนเหลือมิได้ ฟังเสียงด้วยหูแล้ว ฯลฯ สูดกลิ่นด้วยจมูกแล้ว ฯลฯ ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว ฯลฯ ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว ฯลฯ รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมยินดีในธรรมารมณ์อันน่ารัก ย่อมยินร้ายในธรรมารมณ์อันไม่น่ารัก มีสติอันไม่เข้าไปตั้งไว้แล้ว มีจิตมีอารมณ์เป็นกามาวจร ไม่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ ตามความเป็นจริง ที่บาปอกุศลธรรมทั้งหลายบังเกิดขึ้นแล้วแก่บุคคลนั้น ไม่ดับไปโดยหาส่วนเหลือมิได้ ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลชื่อว่าเป็นผู้มีทวารอันไม่คุ้มครองแล้ว ด้วยประการอย่างนี้แล.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 248

[๒๐๘] ข้าแต่ท่านกัจจายนะ ข้อที่ท่านกัจจายนะผู้เจริญกล่าวว่า ผู้มีทวารอันไม่คุ้มครองแล้วนี้ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี ท่านกัจจายนะได้กล่าวว่า ผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้ว ดังนี้ ด้วยเหตุเท่าไรหนอ บุคคลจึงชื่อว่า เป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้ว.

ดูก่อนพราหมณ์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมไม่ยินดีในรูปที่น่ารัก ไม่ยินร้ายในรูปที่ไม่น่ารัก มีสติอันเข้าไปตั้งไว้แล้ว มีจิตมีอารมณ์หาประมาณมิได้อยู่ และรู้ชัดซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ ตามความเป็นจริง ที่บาปอกุศลธรรมทั้งหลายบังเกิดขึ้นแล้วแก่ภิกษุนั้น ดับไปโดยหาส่วนเหลือมิได้ ฟังเสียงด้วยหูแล้ว ฯลฯ สูดกลิ่นด้วยจมูกแล้ว ฯลฯ ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว ฯลฯ ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว ฯลฯ รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมไม่ยินดีในธรรมารมณ์ที่น่ารัก ย่อมไม่ยินร้ายในธรรมารมณ์ที่ไม่น่ารัก มีสติอันเข้าไปตั้งไว้แล้ว มีจิตมีอารมณ์หาประมาณมิได้อยู่ และรู้ชัดซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ ตามความเป็นจริง ที่บาปอกุศลธรรมทั้งหลายบังเกิดขึ้นแล้วแก่ภิกษุนั้น ดับไปโดยหาส่วนเหลือมิได้ ดูก่อนพราหมณ์ ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้ว ด้วยประการอย่างนี้แล.

[๒๐๙] ข้าแต่ท่านกัจจายนะ ข้อที่ท่านกัจจายนะผู้เจริญกล่าวว่า เป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วนี้ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี ข้าแต่ท่านกัจจายนะ ภาษิตของท่านไพเราะนัก ข้าแต่ท่านกัจจายนะ ภาษิตของท่านไพเราะนัก ข้าแต่ท่านกัจจายนะ ท่านกัจจายนะประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปได้ ฉะนั้น ข้าแต่ท่าน

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 249

กัจจายนะ ข้าพเจ้านี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น กับทั้งพระธรรม และภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านกัจจายนะโปรดจำข้าพเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป อนึ่ง ขอท่านกัจจายนะ โปรดเข้าไปสู่สกุลของโลหิจจพราหมณ์ เหมือนอย่างที่ท่านกัจจายนะเข้าไปสู่สกุลอุบาสกทั้งหลายในมักกรกฏนครเถิด มาณพทั้งหลายหรือมาณวิกาทั้งหลายเหล่าใดในสกุลของโลหิจจพราหมณ์นั้น จักกราบไหว้ จักลุกขึ้นต้อนรับท่านกัจจายนะ หรือจักนำอาสนะ จักถวายน้ำแก่ท่านกัจจายนะ สามีจิกรรม มีการกราบไหว้เป็นต้นนั้น จักมีประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขตลอดกาลนานแก่มาณพหรือมาณวิกาเหล่านั้น.

จบ โลหิจจสูตรที่ ๙

อรรถกถาโลหิจจสูตรที่ ๙

ในโลหิจจสูตรที่ ๙ มีวินิจฉัยด้งต่อไปนี้.

บทว่า มกฺกรกเฏ ได้แก่ ในนครมีชื่ออย่างนั้น. บทว่า อรญฺกุฏิกายํ ได้แก่ ในกุฎีโดดเดี่ยวที่เขาสร้างไว้ในป่า ไม่ใช่กระท่อมที่อยู่ท้ายวิหาร. บทว่า อนฺเตวาสิกมาณวกา ความว่า แม้ชนเหล่าใดเป็นคนแก่ในที่นั้น ชนเหล่านั้น ท่านเรียกว่า มาณพ เหมือนกัน เพราะเป็นอันเตวาสิก. บทว่า เตนุปสงฺกมิํสุ ความว่า มาณพเหล่านั้น เรียนศิลปะแต่เช้า ครั้นเย็นคิดว่า เราจักนำฟืนมาให้อาจารย์ ดังนี้ เข้าป่า แล้วเข้าไปทางกุฎีนั้น. บทว่า ปริโต ปริโต กุฏิกาย ความว่า โดยรอบๆ กุฎีนั้น. บทว่า เสโลกสฺสกานิ ความว่า จับหลังกันและกันโดดเล่นให้กายร้อนเหงื่อไหลข้างโน้นข้างนี้.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 250

ในบทว่า มุณฺฑกา เป็นต้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้. จะเรียกคนหัวโล้นว่า มุณฑะ และเรียกสมณะว่า สมณะ ก็ควร. ก็มาณพเหล่านี้เมื่อจะเล่นกล่าวว่า คนหัวโล้นว่าสมณะ.

บทว่า อิพฺภา ได้แก่ คฤหบดี. บทว่า กณฺหา แปลว่า ดำ. ท่านหมายถึงพรหมว่า พันธ ในคำว่า พนฺธุปฺปาทปจฺจา. จริงอยู่ พราหมณ์ทั้งหลาย เรียกพรหมนั้นว่า ปิตามหะ ปู่ทวด. เหล่ากอแห่งเท้าทั้งหลายชื่อว่า ปาทปจฺจา อธิบายว่า เกิดแต่หลังเท้าแห่งพรหม. ได้ยินว่า มาณพเหล่านั้นมีลัทธิดังนี้ว่า พวกพราหมณ์ออกจากปากแห่งพรหม พวกกษัตริย์ออกจากอก พวกแพศย์ออกจากสะดือ พวกศูทรออกจากเข่า พวกสมณะออกจากหลังเท้า. บทว่า ภรตกานํ ได้แก่ กุฎุมพีทั้งหลาย. จริงอยู่ เพราะเหตุที่กุฎุมพีทั้งหลายเลี้ยงแว่นแคว้น. ฉะนั้น ท่านเรียกว่า ภรตะ ก็มาณพเหล่านี้เมื่อกล่าวดูแคลนจึงกล่าวว่า ภรตกานํ.

บทว่า วิหารา นิกฺขมิตฺวา ความว่า พระเถระคิดว่า พวกมาณพเหล่านี้มัดไม้เป็นกำแล้วเหวี่ยงไว้ที่บริเวณอันน่ารื่นรมย์ อันมีทรายที่เกลี่ยไว้สม่ำเสมอส่องแสงระยิบระยับคล้ายแผ่นเงิน คุ้ยทรายเอามือจับมือกันแล่นไปรอบๆ บรรณกุฎี โห่ร้องแล้วร้องเล่นว่า สมณะโล้นเหล่านี้ พวกกุฎุมพีสักการะแล้วๆ จึงกระทำเล่นๆ กันเกินไป ทั้งไม่รู้ว่ามีภิกษุทั้งหลายอยู่ในที่อยู่ จำเราจักแสดงภิกษุเหล่านั้นอยู่ ดังนี้แล้ว จึงออกจากบรรณกุฎี.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 251

บทว่า สีลุตฺตมา ปุพฺพตรา อเหสุํ ความว่า พระเถระคิดว่า เมื่อกล่าวถึงคุณของผู้มีคุณ ความไม่มีคุณของผู้ไม่มีคุณก็จักปรากฏชัด เมื่อสรรเสริญคุณของพราหมณ์เก่าๆ จึงได้กล่าวอย่างนั้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สีลุตฺตมา แปลว่า ผู้มีศีลประเสริฐสุด. จริงอยู่ ศีลของพราหมณ์เหล่านั้นสูงสุด ไม่ใช่ชาติและโคตร. บทว่า เย ปุราณํ สรนฺติ ความว่า ชนเหล่าใด ระลึกถึงธรรมของพราหมณ์เก่าๆ บทว่า อภิภุยฺย โกธํ ความว่า บุคคลเหล่านั้นเป็นอันชื่อว่า ครอบงำความโกรธ ก็ชื่อว่ายังไม่รักษา ยังไม่คุ้มครองทวาร. บทว่า ธมฺเม จ ฌาเน จ รตา ความว่า ประพฤติในธรรม คือกุศลกรรมบถ ๑๐ ในฌาน คือสมาบัติ ๘.

พระเถระครั้นแสดงคุณของพราหมณ์เก่าๆ ทั้งหลาย อย่างนี้แล้ว ครั้นบัดนี้ เมื่อจะย่ำยีความเมาของพราหมณ์ในยุคปัจจุบัน จึงกล่าวคำอาทิว่า อิเมว โวกฺกมฺม ชหามฺหเส ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โวกฺกมฺม ความว่า หลีกออกไปจากคุณเหล่านั้น. บทว่า ชหามฺหเส ความว่า พวกพราหมณ์สำคัญว่า พวกเราเป็นพราหมณ์ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เป็นคนหลงโคตรอย่างนี้ว่า พวกเราเป็นพราหมณ์ แล้วประพฤติไม่เรียบร้อย อธิบายว่า ทำกายกรรมเป็นต้นไม่เรียบร้อย. บทว่า ปุถุตฺตทณฺฑา ความว่า โทษตนเป็นอันมากอันคนเหล่านั้นถือเอาแล้ว เหตุนั้นคนเหล่านั้นชื่อว่า ปุถุตฺตทณฺฑา. อธิบายว่า ผู้มีโทษมีอย่างต่างๆ อันถือมั่นแล้ว. บทว่า ตสถาวเรสุ ได้แก่ ผู้มีตัณหา และผู้หมดตัณหา. ด้วยคำว่า อคุตฺตทฺวารสฺส ภวนฺติ โมฆา พระเถระแสดงว่า การสมาทานวัตรทั้งหมด ย่อมเป็นโมฆะสำหรับผู้ไม่สำรวมทวาร. ถามว่า เหมือนอะไร.

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 252

แก้ว่า เหมือนทรัพย์เครื่องปลื้มใจที่บุรุษได้ในความฝัน. อธิบายว่า เหมือนทรัพย์เครื่องปลื้มใจ มีอย่างต่างๆ เช่นแก้วมณี แก้วมุกดา ที่บุรุษได้แล้วในความฝัน ย่อมว่างเปล่า ครั้นตื่นขึ้นมาแล้วก็ไม่เห็นอะไร เป็นโมฆะเปล่าๆ ปลี้ๆ ฉันใด.

บทว่า อนาสกา ความว่า ไม่กินอาหาร ๑ - ๒ วัน เป็นต้น. บทว่า ตณฺฑิลสายิกาจ ได้แก่ นอนบนพื้นดินอันลาดด้วยกลุ่มหญ้าเขียว บทว่า ปาโต สินานญฺจ ตโยจเวทา ความว่า เข้าไปอาบน้ำแต่เช้าตรู่ และเวท ๓. บทว่า ขราชินํ ชฏา ปงฺโก ได้แก่ หนังเสือเหลืองที่มีสัมผัสหยาบ ศีรษะมุ่นมวยผม และเหงือกที่ชื่อว่า ปังกะ. บทว่า มนฺตา สีลพฺพตํ ตโป ได้แก่ มนต์ และวัตร กล่าวคือ อาการของแพะ และอาการของโค ท่านกล่าวว่านี้เป็นตปะของพราหมณ์ในบัดนี้. บทว่า กุหนา วงฺกทณฺฑา จ ความว่า ความหลอกลวง คือโทษที่ปกปิด เหมือนคูถที่ถูกปิดบังไว้ และไม้เท้าคด คือไม้มีกิ่งคด ที่ถือเอาจากต้นมะเดื่อ ต้นทองกวาว และต้นมะตูมอย่างใดอย่างหนึ่ง. บทว่า อุทกา จ มนานิ จ ได้แก่ ลูบหน้าด้วยน้ำ. ด้วยบทว่า วณฺณา เอเต พฺราหฺมณานํ พระเถระแสดงภัณฑะเหล่านั้นว่า วรรณะ อันเป็นเครื่องปริกขารของพวกพราหมณ์. บทว่า กตกิญฺจิกฺขภาวนา แปลว่า ภาวนาที่เห็นแก่อามิส ที่กระทำแล้ว. อนึ่ง บาลีก็อย่างนี้เหมือนกัน. อธิบายว่า กระทำเพื่อประโยชน์แก่อันกล่าวถึงอามิสเล็กๆ น้อยๆ. บัดนี้ พระเถระครั้นทำลายความหลงผิดของพวกพราหมณ์อย่างนี้แล้ว เมื่อจะแสดงคุณของพราหมณ์เก่าๆ อีก จึงกล่าวคำอาทิว่า จิตฺตญฺจ สุสมาหิตํ. บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า สุสมาหิตํ

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 253

พระเถระแสดงว่า จิตของพราหมณ์เหล่านั้นได้ตั้งมั่นด้วยดี ด้วยอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ. บทว่า อขิลํ ได้แก่ อ่อน คือไม่แข็ง. ด้วยบทว่า โส มคฺโค พฺรหฺมปตฺติยา พระเถระเมื่อแสดงว่า นั้นเป็นทางบรรลุถึงพรหมผู้ประเสริฐ ก็พวกท่านเล่าชื่อว่า เป็นพราหมณ์หรือ ดังนี้ จึงได้กล่าวอย่างนั้น.

บทว่า อคมํสุ นุ ขฺวิธ ตัดว่า อคมํสุ นุ โข อิธ. บทว่า อธิมุจฺจติ ความว่า เป็นผู้น้อมไป คือติดอยู่ด้วยอำนาจกิเลส. บทว่า พฺยาปชฺชติ ได้แก่ เป็นผู้มีจิตเสียด้วยอำนาจพยาบาท. บทว่า ปริตฺตเจตโส ได้แก่ เป็นผู้มีจิตมีอารมณ์ประมาณน้อย โดยเป็นผู้มีจิตเศร้าหมอง เหตุมีสติไม่ตั้งมั่น. บทว่า เจโตวิมุตฺติ ได้แก่ ผลสมาธิ. บทว่า ปญฺาวิมุตฺติ ได้แก่ ผลปัญญา. บทว่า อปฺปมาณเจตโส ได้แก่ ผู้มีจิตมีอารมณ์หาประมาณมิได้ โดยเป็นผู้มีจิตปราศจากกิเลส เพราะเป็นผู้มีสติตั้งมั่น.

จบ อรรถกถาโลหิจจสูตรที่ ๙