พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. นันทิยสูตร ธรรม ๘ เป็นเหตุให้ถึงพระนิพพาน

 
บ้านธัมมะ
วันที่  5 ต.ค. 2564
หมายเลข  37580
อ่าน  377

[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 34

๑๐. นันทิยสูตร

ธรรม ๘ เป็นเหตุให้ถึงพระนิพพาน


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 30]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 34

๑๐. นันทิยสูตร

ธรรม ๘ เป็นเหตุให้ถึงพระนิพพาน

[๔๕] สาวัตถีนิทาน. ครั้งนั้นแล นันทิยปริพาชกเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ธรรมเท่าไรหนอแล

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 35

ที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว เป็นเหตุให้ถึงนิพพาน มีนิพพานเป็นเบื้องหน้า มีนิพพานเป็นที่สุด.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนนันทิยะ ธรรม ๘ ประการนี้ ที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว เป็นเหตุให้ถึงนิพพาน มีนิพพานเป็นเบื้องหน้า มีนิพพานเป็นที่สุด ธรรม ๘ ประการเป็นไฉน คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ ดูก่อนนันทิยะ ธรรม ๘ ประการนี้ ที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว เป็นเหตุให้ถึงนิพพาน มีนิพพานเป็นเบื้องหน้า มีนิพพานเป็นที่สุด.

[๔๖] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว นันทิยปริพาชกได้ กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปไว้ในที่มืด ด้วยหวังว่าผู้มีจักษุจักเห็นรูป ฉะนั้น ข้าพระองค์ขอถึงท่านพระโคดม กับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกถึงสรณะจนตลอดชีวิต จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป.

จบนันทิยสูตรที่ ๑๐

จบอวิชชาวรรคที่ ๑

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 36

อรรถกถานันทิยสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในนันทิยสูตรที่ ๑๐.

บทว่า ปริพฺพาชโก ได้แก่ ปริพาชกผู้นุ่งผ้า. คำที่เหลือในนันทิยสูตรนี้ง่ายทั้งนั้นแล.

จบอรรถกถานันทิยสูตรที่ ๑๐

จบอวิชชาวรรคที่ ๑

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อวิชชาสูตร ๒. อุปัฑฒสูตร ๓. สารีปุตตสูตร ๔. พราหมณสูตร ๕. กิมัตถิยสูตร ๖. ปฐมภิกขุสูตร ๗. ทุติยภิกขุสูตร ๘. วิภังคสูตร ๙. สุกสูตร ๑๐. นันทิยสูตร พร้อมทั้งอรรถกถา.