พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. นาคสูตร ผู้อาศัยศีลเจริญอริยมรรคเหมือนนาคอาศัยขุนเขา

 
บ้านธัมมะ
วันที่  7 ต.ค. 2564
หมายเลข  37737
อ่าน  425

[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 145

๖. นาคสูตร

ผู้อาศัยศีลเจริญอริยมรรคเหมือนนาคอาศัยขุนเขา


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 30]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 145

๖. นาคสูตร

ผู้อาศัยศีลเจริญอริยมรรคเหมือนนาคอาศัยขุนเขา

[๒๗๔] สาวัตถีนิทาน. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกนาคอาศัยขุนเขา ชื่อหิมวันต์ มีกายเติบโต มีกำลัง ครั้นมีกายเติบโต มีกำลังที่ขุนเขานั้นแล้ว ย่อมลงสู่บึงน้อย ครั้นลงสู่บึงน้อยแล้ว ย่อมลงสู่บึงใหญ่ ครั้นลงสู่บึงใหญ่แล้ว ย่อมลงสู่แม่น้ำน้อย ครั้นลงสู่แม่น้ำน้อยแล้ว ย่อมลงสู่แม่น้ำใหญ่ ครั้นลงสู่แม่น้ำใหญ่แล้ว ย่อมลงสู่มหาสมุทรสาคร นาคพวกนั้นย่อมถึงความโตใหญ่ทางกายในมหาสมุทรสาครนั้น แม้ฉันใด ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีล

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 146

แล้ว เจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอัน ประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมถึงความเป็นใหญ่ไพบูลย์ในธรรมทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน.

[๒๗๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว เจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า ย่อมถึงความเป็นใหญ่ไพบูลย์ในธรรมทั้งหลาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว เจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล ย่อมถึงความเป็นใหญ่ไพบูลย์ในธรรมทั้งหลาย.

จบนาคสูตรที่ ๖

อรรถกถานาคสูตร

พวกนางนาคตั้งครรภ์ในอุตุสมัย พากันคิดว่า หากเราจักคลอดในบึงน้อยนี้ พวกลูกๆ ของเราจักไม่อาจทนกำลังของกระแสคลื่นและครุฑที่โลดแล่นมาได้ดังนี้. แม่นาคเหล่านั้น จึงพากันดำลงในมหาสมุทรถึงประตูมีปากทางร่วมกัน พากันเข้าไปยังแม่น้ำใหญ่ ๕ สาย แล้วไปสู่ป่าหิมวันต์. ณ ที่นั้น พวกนางนาคอาศัยอยู่ที่ถ้ำทอง ถ้ำเงิน และถ้ำแก้วมณีซึ่งพวกครุฑเข้าไปไม่ได้ จึงคลอดแล้วสอนให้ลูกนาคหยั่งลงในน้ำประมาณข้อเท้าเป็นต้น

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 147

แล้วข้ามน้ำไปได้. ต่อจากนั้น เมื่อใดพวกนาคเหล่านั้นข้ามแม่น้ำคงคาเป็นต้นได้โดยลำดับ สามารถข้ามไปมาได้คือข้ามจากฝั่งนี้ไปฝั่งโน้น ข้ามจากฝั่งโน้นมาฝั่งนี้ได้ เมื่อนั้น แม้นาคทั้งหลายรู้ว่า บัดนี้ ลูกๆ ของเราสามารถทนกระแสคลื่นและกําลังครุฑได้แล้ว จึงให้เมฆใหญ่ตั้งขึ้นด้วยอานุภาพของตน ให้ฝนตกดุจทำป่าหิมวันต์ทั้งสิ้นให้มีน้ำเป็นสายเดียวกัน นิรมิตเรือสำเร็จด้วยทองและเงินเป็นต้น ดาดเพดานผ้ามีพวงดอกไม้ซึ่งมีกลิ่นหอมตลบ วิจิตรด้วยดาวทองเบื้องบน ถือเอาสุราอาหารและดอกไม้มีกลิ่นหอมเป็นต้น แล่นไปยังมหานทีทั้งห้าด้วยเรือเหล่านั้น ถึงมหาสมุทรโดยลำดับ. ก็พวกนาคอาศัยอยู่ ณ ที่นั้น เติบโตขึ้นประมาณ ร้อยวา พันวา แสนวา ชื่อว่า ถึงความเป็นผู้เจริญเติบโตไพบูลย์.

ในบทว่า เอวเมว โข นี้ พึงเห็นว่า ภูเขาหิมวันต์ คือจตุปาริสุทธศีล โยคาวจรดุจลูกนาค อริยมรรคดุจบึงเป็นต้น นิพพานดุจมหาสมุทร ลูกนาคทั้งหลายดำรงอยู่ในป่าหิมวันต์ถึงมหาสมุทรด้วยบึงเป็นต้น ถึงความเป็นผู้มีร่างกายใหญ่โตฉันใด พระโยคีทั้งหลายอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีล บรรลุนิพพานด้วยอริยมรรค ถึงความเป็นผู้มีสรีระคือคุณธรรมอันใหญ่ในอภิญญา ธรรมทั้งหลายอันมาถึงแล้ว ด้วยอรหัตตมรรค ฉันนั้นนั่นแล.

จบอรรถกถานาคสูตรที่ ๖