๔. ปฐมคิลานสูตร พระมหากัสสปหายอาพาธด้วยโพชฌงค์ ๗
[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 222
๔. ปฐมคิลานสูตร
พระมหากัสสปหายอาพาธด้วยโพชฌงค์ ๗
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 30]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 222
๔. ปฐมคิลานสูตร
พระมหากัสสปหายอาพาธด้วยโพชฌงค์ ๗
[๔๑๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้กรุงราชคฤห์ ก็สมัยนั้น ท่านพระมหากัสสปอาพาธ ไม่สบาย เป็นไข้หนัก อยู่ที่ปิปผลิคูหา.
[๔๑๖] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากที่เร้นในเวลาเย็น เข้าไปหาท่านพระมหากัสสปถึงที่อยู่ แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ ครั้นแล้วได้ตรัสถามท่านพระมหากัสสปว่า ดูก่อนกัสสป เธอพออดทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนาคลายลง ไม่กําเริบขึ้นแลหรือ ความทุเลาย่อมปรากฏ ความกําเริบขึ้นไม่ปรากฏแลหรือ ท่านพระมหากัสสปกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อดทนไม่ได้ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์กําเริบหนัก ยังไม่คลายไป ความกําเริบขึ้นย่อมปรากฏ ความทุเลาไม่ปรากฏ.
[๔๑๗] พ. ดูก่อนกัสสป โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้ เรากล่าวไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน โพชฌงค์ ๗ เป็นไฉน.
[๔๑๘] ดูก่อนกัสสป สติสัมโพชฌงค์ ๗ เรากล่าวไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ฯลฯ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ เรากล่าวไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ดูก่อนกัสสป โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้แล เรากล่าวไว้ชอบแล้ว
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 223
อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน.
[๔๑๙] ท่านพระมหากัสสปกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า โพชฌงค์ดีนัก ข้าแต่พระสุคต โพชฌงค์ดีนัก พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว ท่านพระมหากัสสปปลื้มใจ ชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านพระมหากัสสปหายจากอาพาธนั้นแล้ว และอาพาธนั้นอันท่านพระมหากัสสปละได้แล้ว ด้วยประการฉะนี้แล.
จบปฐมคิลานสูตรที่ ๔
อรรถกถาปฐมคิลานสูตร
พึงทราบวินิจฉัยใน ปฐมคิลานสูตรที่ ๔.
บทว่า ตถา ปหีโน จายสฺมโต มหากสฺสปสฺส โส อาพาโธ อโหสิ ความว่า ได้ยินว่า เมื่อพระมหากัสสปเถระตั้งใจฟังโพชฌงคภาวนานี้อยู่ ได้มีความดำรินี้ว่า เมื่อเราแทงตลอดอยู่ซึ่งสัจจะทั้งหลายในวันที่ ๗ แต่วันที่เราบวชแล้ว โพชฌงค์เหล่านี้ก็ปรากฏ. ก็เมื่อท่านคิดอยู่ว่า โอ คำสอนของพระศาสดานำสัตว์ออกจากทุกข์ดังนี้ โลหิตก็ผ่องใส อุปาทารูป ก็หมดจด. โรคหายไปจากกายเหมือนหยาดน้ำตกในใบบัวฉะนั้น. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ตถา ปหีโน จายสฺมโต มหากสฺสปสฺส โส อาพาโธ อโหสิ ดังนี้.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 224
แม้ในคิลานสูตรที่ ๕ และที่ ๖ ก็มีนัยนี้เหมือนกัน. ความป่วยไข้ที่เกิดแต่ความเย็นอ่อนๆ ซึ่งเกิดขึ้นด้วยการถูกต้องกับลมจากต้นไม้มีดอกเป็นพิษที่บานแล้ว ที่เชิงแห่งภูเขา พึงทราบว่าเป็นอาพาธของชนแม้ทั้ง ๓ เหล่านี้. คำที่เหลือในบททั้งปวง ง่ายทั้งนั้นแล.
จบอรรถกถาปฐมคิลานสูตรที่ ๔