พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. ขยสูตร ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อสิ้นตัณหาคือโพชฌงค์ ๗

 
บ้านธัมมะ
วันที่  9 ต.ค. 2564
หมายเลข  37809
อ่าน  366

[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 236

๖. ขยสูตร

ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อสิ้นตัณหาคือโพชฌงค์ ๗


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 30]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 236

๖. ขยสูตร

ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อสิ้นตัณหาคือโพชฌงค์ ๗

[๔๔๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มรรคาใด ปฏิปทาใด ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นตัณหา เธอทั้งหลายจงเจริญมรรคานั้น ปฏิปทานั้น. มรรคาและปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความสิ้นตัณหาเป็นไฉน. คือ โพชฌงค์ ๗. โพชฌงค์ ๗ เป็นไฉน. คือ สติสัมโพชฌงค์ ฯลฯ อุเบกขาสัมโพชฌงค์.

[๔๕๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอุทายีได้ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นตัณหา.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 237

ดูก่อนอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ ไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีความเบียดเบียน เมื่อภิกษุนั้นเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ ไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีความเบียดเบียน ย่อมละตัณหาได้ ฯลฯ ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ ไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีความเบียดเบียน เมื่อภิกษุนั้นเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ ไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีความเบียดเบียน ย่อมละตัณหาได้ เพราะละตัณหาได้ จึงละกรรมได้ เพราะละกรรมได้ จึงละทุกข์ได้ ดูก่อนอุทายี เพราะสิ้นตัณหา จึงสิ้นกรรม เพราะสิ้นกรรม จึงสิ้นทุกข์ ด้วยประการดังนี้แล.

จบขยสูตรที่ ๖

อรรถกถาขยสูตร

พึงทราบวินิจฉัยใน ขยสูตรที่ ๖.

บทว่า เอตทโวจ ความว่า พระอุทายีเถระ เมื่อจะทูลถามว่า ข้าพระองค์จักรู้ถึงเทศนาอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้จบลง ด้วยดำริว่า ภิกษุผู้ฉลาดในอนุสนธิ ชื่อว่า อุทายีเถระ นั่งอยู่ในบริษัทนี้มีอยู่ เธอจักถามเราดังนี้แล้ว สืบต่ออนุสนธิแห่งเทศนา จึงกราบทูลถามถึงข้อนั้น. บทว่า วิปุลํ เป็นต้น ตรัสหมายถึงสติสัมโพชฌงค์ที่เจริญดีแล้วทั้งหมด เพราะว่า สติสัมโพชฌงค์ที่เจริญดีแล้ว ไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ และชื่อว่า

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 238

ไม่มีความเบียดเบียน. สติสัมโพชฌงค์นั้นแล ชื่อว่า วิปุละ เพราะแผ่ไป. ชื่อว่า มหรคต เพราะถึงความเป็นใหญ่ ชื่อว่า อัปปมาณะ เพราะมีความเจริญ หาประมาณมิได้. ชื่อว่า อัพยาปัชฌะ เพราะเว้นความพยาบาทโดยห่างไกล นิวรณ์ทั้งหลาย. บทว่า ตณฺหาย ปหานา กมฺมํ ปหียติ ความว่า กรรมอันใดมีตัณหาเป็นมูลพึงเกิดขึ้น ย่อมละกรรมนั้นได้เพราะการละตัณหา. บทว่า กมฺมสฺส ปหานา ทุกฺขํ ความว่า วัฏทุกข์ แม้อันใด มีกรรมเป็นมูล พึงเกิดขึ้น เพราะละกรรมได้ จึงละวัฏทุกข์นั้นได้. ชื่อว่า สิ้นตัณหาเป็นต้น เพราะสิ้นตัณหาเป็นต้นนั่นแหละ. แต่ว่าโดยความ พึงทราบว่า นิพพาน ท่านกล่าว เพราะความสิ้นไปแห่งตัณหาเหล่านั้น.

จบอรรถกถาขยสูตรที่ ๖