พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. อุทายิสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้ารับรองมรรคที่พระอุทายีได้

 
บ้านธัมมะ
วันที่  9 ต.ค. 2564
หมายเลข  37813
อ่าน  376

[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 242

๑๐. อุทายิสูตร

พระผู้มีพระภาคเจ้ารับรองมรรคที่พระอุทายีได้


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 30]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 242

๑๐. อุทายิสูตร

พระผู้มีพระภาคเจ้ารับรองมรรคที่พระอุทายีได้

[๔๕๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ นิคมของชนชาวสุมภะ ชื่อเสตกะ ในแคว้นสุมภะ ครั้งนั้น ท่านพระอุทายีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

[๔๕๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์นัก พระเจ้าข้าไม่เคยมีมามีขึ้น ความรัก ความเคารพ ความละอายใจ และความเกรงกลัว ของข้าพระองค์ซึ่งมีอยู่ในพระผู้มีพระภาคเจ้ามากเพียงไร ด้วยว่า ข้าพระองค์ เมื่อเป็นคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนอยู่ในกาลก่อน ก็มิได้กระทำความคุ้นเคย กับพระธรรมมากนัก มิได้กระทำความคุ้นเคยกับพระสงฆ์มากนัก ข้าพระองค์เห็นความรัก ความเคารพ ความละอายใจ ความเกรงกลัว ในพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงออกบวชเป็นบรรพชิต พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมแก่

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 243

ข้าพระองค์ว่า อย่างนี้รูป อย่างนี้ความเกิดแห่งรูป อย่างนี้ความดับแห่งรูป อย่างนี้เวทนา ... อย่างนี้สัญญา ... อย่างนี้สังขาร ... อย่างนี้วิญญาณ อย่างนี้ความเกิดแห่งวิญญาณ อย่างนี้ความดับแห่งวิญญาณ.

[๔๖๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อยู่ในเรือนว่างพิจารณาถึงความเกิดและความเสื่อมแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ได้รู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.

[๔๖๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมที่ข้าพระองค์บรรลุแล้ว และมรรคที่ข้าพระองค์ได้แล้วนั้น อันข้าพระองค์เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว จักน้อมนำข้าพระองค์ผู้อยู่โดยอาการอย่างนั้นๆ ไป เพื่อความเป็นอย่างนั้น โดยที่ข้าพระองค์จักรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี คือ สติสัมโพชฌงค์ ที่ข้าพระองค์ได้แล้วนั้น อันข้าพระองค์เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว จักน้อมนำข้าพระองค์ผู้อยู่โดยอาการอย่างนั้นๆ ไป เพื่อความเป็นอย่างนั้น โดยที่ข้าพระองค์จักรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ฯลฯ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ที่ข้าพระองค์ได้แล้วนั้น อันข้าพระองค์เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว จักน้อมนำข้าพระองค์ผู้อยู่โดยอาการนั้นๆ ไป เพื่อความเป็นอย่างนั้น โดยที่ข้าพระองค์จักรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี มรรคที่ข้าพระองค์ได้แล้วนี้แล อันข้าพระองค์เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว จักน้อมนำข้าพระองค์ผู้อยู่โดยอาการนั้นๆ ไป เพื่อความเป็นอย่างนั้น โดยที่ข้าพระองค์จักรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 244

[๔๖๒] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดีละๆ อุทายี มรรคที่เธอได้แล้วนั้นแล อันเธอเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว จักน้อมนำเธอผู้อยู่โดยอาการนั้นๆ ไป เพื่อความเป็นอย่างนั้น โดยที่เธอจักรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

จบอุทายิสูตรที่ ๑๐

จบอุทายิวรรคที่ ๓

อรรถกถาอุทายิสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในอุทายิสูตรที่ ๑๐.

บทว่า อพหุกโต แปลว่า ไม่กระทำให้มาก. ในบทว่า อกฺกุชฺชาวกุชฺชํ นี้ท่านแสดงว่า พระอุทายี พิจารณาเปลี่ยนไปมาด้วยอำนาจความเกิดและความเสื่อม ความเกิดเรียกว่า อุกกุชชะ ความเสื่อมเรียกว่า อวกุชชะ. บทว่า ธมฺโม จ เม อภิสเมโต ได้แก่ วิปัสสนาธรรม อันข้าพระองค์บรรลุแล้ว. บทว่า มคฺโค คือ วิปัสสนามรรค. ก็ถ้าพระเถระเป็นโสดาบันในสมัยนั้น พึงทราบวิปัสสนานี้เพื่อประโยชน์แก่มรรคทั้งสามเบื้องบน ถ้าเป็นอนาคามี พึงทราบวิปัสสนานี้ เพื่อประโยชน์แก่อรหัตตมรรค. บทว่า ตถา ตถา วิหรนฺตํ ได้แก่ อยู่โดยอาการนั้นๆ. บทว่า ตถตฺตาย ได้แก่ เพื่อความเป็นอย่างนั้น. ด้วยบทเป็นต้นว่า ขีณา ชาติ ท่านประสงค์เอา ตถตฺตาย พระเถระแสดงความเป็นอย่างนั้น. ในข้อนี้ มีอธิบายว่า พระเถระ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 245

ย่อมนำเอาธรรมนั้นเข้ามา เพื่อประโยชน์แก่การพิจารณา เมื่อท่านแสดงธรรมนั้น จึงกล่าวอย่างนี้. คำที่เหลือในบททั้งปวง มีเนื้อความง่ายทั้งนั้นแล.

จบอรรถกถาอุทายิสูตรที่ ๑๐

จบอุทายิวรรควรรณนาที่ ๓

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. โพธนสูตร ๒. เทสนาสูตร ๓. ฐานิยสูตร ๔. อโยนิโสสูตร ๕. อปริหานิยสูตร ๖. ขยสูตร ๗. นิโรธสูตร ๘. นิพเพธสูตร ๙. เอกธรรมสูตร ๑๐. อุทายิสูตร พร้อมทั้งอรรถกถา.