พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. อุปกิเลสสูตร อุปกิเลสของทอง ๕ อย่าง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  9 ต.ค. 2564
หมายเลข  37816
อ่าน  364

[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 248

๓. อุปกิเลสสูตร

อุปกิเลสของทอง ๕ อย่าง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 30]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 248

๓. อุปกิเลสสูตร

อุปกิเลสของทอง ๕ อย่าง

[๔๖๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุปกิเลสของทอง ๕ อย่างนี้ เป็นเครื่องทำทองไม่ให้อ่อน ไม่ให้ควรแก่การงาน ไม่ให้มีสีสุก ให้เปราะ และให้ใช้การไม่ได้ดี อุปกิเลส ๕ อย่างเป็นไฉน.

[๔๖๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหล็กเป็นอุปกิเลสของทอง ทำทองไม่ให้อ่อน ไม่ให้ควรแก่การงาน ไม่ให้มีสีสุก ให้เปราะ และให้ใช้การไม่ได้ดี.

[๔๖๙] โลหะ เป็นอุปกิเลสของทอง ทำทองไม่ให้อ่อน ฯลฯ

[๔๗๐] ดีบุก เป็นอุปกิเลสของทอง ทำทองไม่ให้อ่อน ฯลฯ

[๔๗๑] ตะกั่ว เป็นอุปกิเลสของทอง ทำทองไม่ให้อ่อน ฯลฯ

[๔๗๒] เงิน เป็นอุปกิเลสของทอง ทำทองไม่ให้อ่อน ไม่ให้ควรแก่การงาน ไม่ให้มีสีสุก ให้เปราะ และให้ใช้การไม่ได้ดี.

[๔๗๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุปกิเลสของทอง ๕ อย่างนี้แล เป็นเครื่องทำทองไม่ให้อ่อน ไม่ให้ควรแก่การงาน ไม่ให้มีสีสุก ให้เปราะ และให้ใช้การไม่ได้ดี.

[๔๗๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล อุปกิเลสของจิต ๕ อย่างนี้ เป็นเครื่องทำจิตไม่ให้อ่อน ไม่ให้ควรแก่การงาน ไม่ให้ผุดผ่อง ให้เสียไป และไม่ให้ตั้งมั่นด้วยดี เพื่อความสิ้นอาสวะ.

อุปกิเลส ๕ อย่างเป็นไฉน

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 249

[๔๗๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กามฉันทะเป็นอุปกิเลสของจิต เป็นเครื่องทำจิตไม่ให้อ่อน ไม่ให้ควรแก่การงาน ไม่ให้ผุดผ่อง ให้เสียไป และไม่ให้ตั้งมั่นด้วยดีเพื่อความสิ้นอาสวะ.

[๔๗๖] พยาบาทเป็นอุปกิเลสของจิต เป็นเครื่องทำจิตไม่ให้อ่อน ไม่ให้ควรแก่การงาน ไม่ให้ผุดผ่อง ให้เสียไป และไม่ให้ตั้งมั่นด้วยดีเพื่อความสิ้นอาสวะ.

[๔๗๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุปกิเลสของจิต ๕ อย่างนี้แล เป็นเครื่องทำจิตไม่ให้อ่อน ไม่ให้ควรแก่การงาน ไม่ให้ผุดผ่อง ให้เสียไป และไม่ให้ตั้งมั่นด้วยดีเพื่อความสิ้นอาสวะ.

[๔๗๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้ ไม่เป็นธรรมกั้น ไม่เป็นธรรมห้าม ไม่เป็นอุปกิเลสของจิต อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งผล คือ วิชชาและวิมุตติ. โพชฌงค์ ๗ เป็นไฉน.

[๔๗๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สติสัมโพชฌงค์ไม่เป็นธรรมกั้น ไม่เป็นธรรมห้าม ไม่เป็นอุปกิเลสของจิต อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งผล คือ วิชชาและวิมุตติ ฯลฯ

[๔๘๐] อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ไม่เป็นธรรมกั้น ไม่เป็นธรรมห้าม ฯลฯ ย่อมเป็นไปเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งผล คือ วิชชาวิมุตติ.

[๔๘๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้แล ไม่เป็นธรรมกั้น ไม่เป็นธรรมห้าม ไม่เป็นอุปกิเลสของจิต อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งผล คือ วิชชาและวิมุตติ.

จบอุปกิเลสสูตรที่ ๓

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 250

นีวรณวรรควรรณนาที่ ๔

อรรถกถาอุปกิเลสสูตร

พึงทราบวินิจฉัยใน อุปกิเลสสูตรที่ ๓ แห่งนีวรณวรรคที่ ๔

บทว่า น จ ปภสฺสรํ ได้แก่ ไม่มีรัศมี. บทว่า ปภงฺคุ จ ได้แก่ มีการแตกทำลายเป็นสภาพ. บทว่า อโย ได้แก่ โลหะมีสีดำ. อธิบายว่า เว้นของ ๔ อย่าง ที่กล่าวไว้ในพระสูตรนี้ ที่เหลือชื่อว่า โลหะ บทว่า สชฺฌุํ ได้แก่ เงิน. บทว่า จิตฺตสฺส ได้แก่ กุศลจิตที่เป็นไปในภูมิสี่. ถามว่า อุปกิเลสย่อมมีแก่จิตในภูมิสาม จงยกไว้ก่อน อุปกิเลสของโลกุตตรจิตมีได้อย่างไร. ตอบว่า ธรรมเหล่าใด ย่อมไม่ให้อารมณ์อันเลิศเกิดขึ้น ธรรมเหล่านั้นนั่นแหละ ชื่อว่า เป็นอุปกิเลสของโลกิยจิตบ้าง ของโลกุตตรจิตบ้าง ย่อมมี. บทว่า ปภงฺคุ จ ความว่า มีความแตกเป็นสภาพ โดยเข้าถึงความเป็นจุณวิจุณไปในอารมณ์.

บทว่า อนาวรณา ได้แก่ ชื่อว่า อนาวรณา เพราะอรรถว่าไม่กั้นกุศลธรรม. บทว่า อนีวรณา ได้แก่ ชื่อว่า อนีวรณา เพราะอรรถว่าไม่ปกปิด บทว่า เจตโส อนุปกฺกิเลสา ได้แก่ ไม่เป็นอุปกิเลสของจิตในภูมิสี่.

จบอรรถกถาอุปกิเลสสูตรที่ ๓