๙. รุกขสูตร ธรรมเป็นเครื่องกั้น ๕ อย่าง
[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 256
๙. รุกขสูตร
ธรรมเป็นเครื่องกั้น ๕ อย่าง
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 30]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 256
๙. รุกขสูตร
ธรรมเป็นเครื่องกั้น ๕ อย่าง
[๔๙๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้ใหญ่ มีพืชน้อย มีลำต้นใหญ่งอกคลุมต้นไม้ทั้งหลาย เป็นเหตุทำต้นไม้ที่มันงอกคลุมแล้ว ให้ล้มหักกระจัดกระจายวิบัติไป.
[๔๙๗] ก็ต้นไม้ใหญ่เหล่านั้น ที่มีพืชน้อย มีลำต้นใหญ่งอกคลุมต้นไม้ทั้งหลาย เป็นเหตุทำต้นไม้ที่มันงอกคลุมแล้ว ให้ล้มหักกระจัดกระจายวิบัติไปเป็นไฉน. คือ ต้นโพธิ ต้นนิโครธ ต้นมิลักขุ (๑) ต้นมะเดื่อ ต้นไทร ต้นมะขวิด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้ใหญ่เหล่านี้แล ที่มีพืชน้อย มีลำต้นใหญ่งอกคลุมต้นไม้ทั้งหลาย เป็นเหตุทำต้นไม้ที่มันงอกคลุมแล้ว ให้ล้มหักกระจัดกระจายวิบัติไป.
[๔๙๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน กุลบุตรบางคนในโลกนี้ ละกามเช่นใดแล้ว ออกบวชเป็นบรรพชิต กุลบุตรนั้นย่อมเป็นผู้เสียหายวิบัติไปด้วยกามเช่นนั้น หรือที่เลวกว่านั้น.
(๑) พม่าเป็น ปีลกโข แปลว่า ต้นเลียบ.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 257
[๔๙๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นเครื่องกั้น เป็นเครื่องห้าม ๕ อย่างเหล่านี้ ครอบงำจิต ทำปัญญาให้ทราม. ๕ อย่างเป็นไฉน. คือ กามฉันทะ เป็นธรรมเครื่องกั้น เป็นธรรมเครื่องห้าม ครอบงำจิต ทำปัญญาให้ทราม พยาบาท... ถีนมิทธะ... อุทธัจจกุกกุจจะ... วิจิกิจฉา เป็นธรรมเครื่องกั้น เป็นธรรมเครื่องห้าม ครอบงำจิต ทำปัญญาให้ทราม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นเครื่องกั้น เป็นเครื่องห้าม ครอบงำจิต ทำปัญญาให้ทราม ๕ อย่างเหล่านี้แล.
[๕๐๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้ ไม่เป็นธรรมกั้น ไม่เป็นธรรมห้าม ไม่ครอบงำจิต อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้แจ้งซึ่งผล คือ วิชชาและวิมุตติ. โพชฌงค์ ๗ เป็นไฉน คือ สติสัมโพชฌงค์ ไม่เป็นธรรมกั้น ไม่เป็นธรรมห้าม ไม่ครอบงำจิต อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้แจ้งซึ่งผล คือ วิชชาและวิมุตติ. ฯลฯ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ไม่เป็นธรรมกั้น... ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้แจ้งซึ่งผล คือ วิชชาและวิมุตติ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้แล ไม่เป็นธรรมกั้น ไม่เป็นธรรมห้าม ไม่ครอบงำจิต อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้แจ้งซึ่งผล คือวิชชา และวิมุตติ.
จบรุกขสูตรที่ ๙