พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. อัคคิสูตร เจริญโพชฌงค์ตามกาล

 
บ้านธัมมะ
วันที่  9 ต.ค. 2564
หมายเลข  37838
อ่าน  431

[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 306

๓. อัคคิสูตร

เจริญโพชฌงค์ตามกาล


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 30]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 306

๓. อัคคิสูตร

เจริญโพชฌงค์ตามกาล

[๕๖๘] ครั้งนั้น ภิกษุเป็นอันมาก เวลาเช้า นุ่งแล้วถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี (ความต่อไปเหมือนปริยายสูตรข้อ ๕๔๗- ๕๕๐) พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกผู้มีวาทะอย่างนี้ ควรเป็นผู้อันเธอทั้งหลายพึงถามอย่างนี้ว่า ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยใด จิตหดหู่ สมัยนั้น มิใช่กาลเพื่อเจริญโพชฌงค์เหล่าไหน เป็นกาลเพื่อเจริญโพชฌงค์เหล่าไหน. สมัยใด จิตฟุ้งซ่าน สมัยนั้น มิใช่กาลเพื่อเจริญโพชฌงค์เหล่าไหน เป็นกาลเพื่อเจริญโพชฌงค์เหล่าไหน. พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกถูกเธอทั้งหลายถามอย่างนี้แล้ว จักถึงความอึดอัดอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเป็นปัญหาที่ถามในฐานะมิใช่วิสัย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่แลเห็นบุคคลในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ที่จะยังจิตให้ยินดีด้วยการแก้ปัญหาเหล่านี้ เว้นเสียจากตถาคต สาวกของตถาคต หรือผู้ที่ฟังจากตถาคต หรือจากสาวกของตถาคตนั้น.

[๕๖๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สมัยใด จิตหดหู่ สมัยนั้น มิใช่กาลเพื่อเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ มิใช่กาลเพื่อเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ มิใช่กาลเพื่อเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์. ข้อนั้นเพราะเหตุไร. เพราะจิตหดหู่ จิตที่หดหู่นั้นยากที่จะให้ตั้งขึ้นได้ด้วยธรรมเหล่านั้น. เปรียบเหมือนบุรุษต้องการจะก่อ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 307

ไฟดวงน้อยให้ลุกโพลง เขาจึงใส่หญ้าสด โคมัยสด ไม้สด พ่นน้ำ และโรยฝุ่นลงในไฟนั้น บุรุษนั้นจะสามารถก่อไฟดวงน้อยให้ลุกโพลงขึ้นได้หรือหนอ.

ภิ. ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า.

พ. ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย สมัยใด จิตหดหู่ สมัยนั้น มิใช่กาลเพื่อเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ มิใช่กาลเพื่อเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ มิใช่กาลเพื่อเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์. ข้อนั้นเพราะเหตุไร. เพราะจิตหดหู่ จิตที่หดหู่นั้น ยากที่จะให้ตั้งขึ้นได้ด้วยธรรมเหล่านั้น.

[๕๗๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สมัยใด จิตหดหู่ สมัยนั้น เป็นกาลเพื่อเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญปีติสัมโพชฌงค์. ข้อนั้นเพราะเหตุไร. เพราะจิตหดหู่ จิตที่หดหู่นั้นให้ตั้งขึ้นได้ง่ายด้วยธรรมเหล่านั้น. เปรียบเหมือนบุรุษต้องการจะก่อไฟดวงน้อยให้ลุกโพลง เขาจึงใส่หญ้าแห้ง โคมัยแห้ง ไม้แห้ง เอาปากเป่า และไม่โรยฝุ่นในไฟนั้น บุรุษนั้นสามารถจะก่อไฟดวงน้อยให้ลุกโพลงขึ้นได้หรือหนอ.

ภิ. ได้ พระเจ้าข้า.

พ. ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย สมัยใด จิตหดหู่ สมัยนั้น เป็นกาลเพื่อเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญปีติสัมโพชฌงค์. ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะจิตหดหู่ จิตที่หดหู่นั้น ให้ตั้งขึ้นได้ง่ายด้วยธรรมเหล่านั้น.

[๕๗๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สมัยใด จิตฟุ้งซ่าน สมัยนั้น มิใช่กาลเพื่อเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ มิใช่กาลเพื่อเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ มิใช่กาลเพื่อเจริญปีติสัมโพชฌงค์. ข้อนั้น เพราะเหตุไร. เพราะจิตฟุ้งซ่าน จิต

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 308

ที่ฟุ้งซ่านนั้น ยากที่จะให้สงบได้ด้วยธรรมเหล่านั้น. เปรียบเหมือนบุรุษต้องการจะดับไฟกองใหญ่ เขาจึงใส่หญ้าแห้ง โคมัยแห้ง ไม้แห้ง เอาปากเป่า และไม่โรยฝุ่นลงไปในกองไฟใหญ่นั้น บุรุษนั้นสามารถจะดับไฟกองใหญ่ได้หรือหนอ.

ภิ. ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า.

พ. ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย สมัยใด จิตฟุ้งซ่าน สมัยนั้น มิใช่กาลเพื่อเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ มิใช่กาลเพื่อเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ มิใช่กาลเพื่อเจริญปีติสัมโพชฌงค์. ข้อนั้นเพราะเหตุไร. เพราะจิตฟุ้งซ่าน จิตที่ฟุ้งซ่านนั้นยากที่จะให้สงบได้ด้วยธรรมเหล่านั้น.

[๕๗๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สมัยใด จิตฟุ้งซ่าน สมัยนั้น เป็นกาลเพื่อเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์. ข้อนั้นเพราะเหตุไร. เพราะจิตฟุ้งซ่าน จิตที่ฟุ้งซ่านนั้นให้สงบได้ง่ายด้วยธรรมเหล่านั้น. เปรียบเหมือนบุรุษต้องการจะดับไฟกองใหญ่ เขาจึงใส่หญ้าสด โคมัยสด ไม้สด พ่นน้ำ และโรยฝุ่นลงในกองไฟใหญ่นั้น บุรุษนั้นจะสามารถดับกองไฟนั้นได้หรือหนอ.

ภิ. ได้ พระเจ้าข้า.

พ. ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย สมัยใด จิตฟุ้งซ่าน สมัยนั้น เป็นกาลเพื่อเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์. ข้อนั้นเพราะเหตุไร. เพราะจิตฟุ้งซ่าน จิตที่ฟุ้งซ่านนั้นให้สงบได้ง่าย ด้วยธรรมเหล่านั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวสติแลว่า มีประโยชน์ในที่ทั้งปวง.

จบอัคคิสูตรที่ ๓

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 309

อรรถกถาอัคคิสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในอัคคิสูตรที่ ๓.

บทว่า สติญฺจ ขฺวาหํ ภิกฺขเว สพฺพตฺถิกํ วทามิ ความว่า เรากล่าวสติแล ว่าเหมือนเกลือสะตุ และเหมือนอำมาตย์ผู้ประกอบการงานทั้งปวงอันบุคคลพึงปรารถนาในที่ทั้งปวง. เกลือสะตุย่อมอยู่ แม้ในกับข้าวทั้งปวงฉันใด และอำมาตย์ผู้ประกอบการงานทั้งปวง ย่อมทำหน้าที่รบ ทำหน้าที่ปรึกษาบ้าง ทำหน้าที่สนับสนุนบ้าง รวมความว่า ย่อมทำกิจทุกอย่างให้สำเร็จได้ฉันใด การข่มจิตที่ฟุ้งซ่าน การยกจิตที่หดหู่ก็ฉันนั้น ดังนั้น กิจแม้ทั้งหมดจะสำเร็จได้ด้วยสติ เว้นสติเสียหาอาจยังกิจนั้นให้สำเร็จได้ไม่ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงตรัสอย่างนี้. ในพระสูตรนี้ พระองค์ตรัสโพชฌงค์ อันเป็นวิปัสสนาส่วนเบื้องต้นอย่างเดียว.

จบอรรถกถาอัคคิสูตรที่ ๓