พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. สคารวสูตร นิวรณ์เป็นเหตุให้มนต์ไม่แจ่มแจ้ง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  9 ต.ค. 2564
หมายเลข  37840
อ่าน  369

[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 321

๕. สคารวสูตร

นิวรณ์เป็นเหตุให้มนต์ไม่แจ่มแจ้ง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 30]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 321

๕. สคารวสูตร

นิวรณ์เป็นเหตุให้มนต์ไม่แจ่มแจ้ง

[๖๐๑] สาวัตถีนิทาน. ครั้งนั้น พราหมณ์ชื่อว่าสคารวะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

[๖๐๒] ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้มนต์แม้ที่บุคคลกระทำการสาธยายไว้นาน ไม่แจ่มแจ้งในบางคราว ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่มิได้กระทำการสาธยาย. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้มนต์แม้ที่มิได้กระทำการสาธยายเป็นเวลานาน ก็ยังแจ่มแจ้งในบางคราว ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่กระทำการสาธยาย.

[๖๐๓] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ดูก่อนพราหมณ์ สมัยใดแล บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยกามราคะ อันกามราคะเหนี่ยวรั้งไป และไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งกามราคะที่บังเกิดขึ้นแล้ว ตามความเป็นจริง สมัยนั้น เขาไม่รู้ไม่เห็นแม้ซึ่งประโยชน์ตนตามความเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์บุคคลอื่นตามความเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองอย่างตามความเป็นจริง มนต์แม้ที่กระทำการสาธยายไว้นาน ก็ไม่แจ่มแจ้งได้ ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่มิได้กระทำการสาธยาย.

[๖๐๔] ดูก่อนพราหมณ์ เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำ ซึ่งระคนด้วยสีครั่ง สีเหลือง สีเชียว สีแดงอ่อน บุรุษผู้มีจักษุ เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น ไม่พึงรู้ ไม่พึงเห็นตามความเป็นจริงได้ ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 322

สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยกามราคะ อันกามราคะเหนี่ยวรั้งไป และไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งกามราคะที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง ในสมัยนั้น เขาย่อมไม่รู้ ไม่เห็นแม้ซึ่งประโยชน์ตนตามความเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์บุคคลอื่นตามความเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองนั้นตามความเป็นจริง มนต์แม้ที่กระทำการสาธยายไว้นาน ก็ไม่แจ่มแจ้งได้ ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่มิได้กระทำการสาธยาย.

[๖๐๕] ดูก่อนพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยพยาบาท อันพยาบาทเหนี่ยวรั้งไป และย่อมไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งพยาบาทที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง...

[๖๐๖] ดูก่อนพราหมณ์ เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำ ซึ่งร้อนเพราะไฟเดือดพล่าน มีไอพลุ่งขึ้น บุรุษผู้มีจักษุ เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น ไม่พึงรู้ไม่พึงเห็นตามความเป็นจริง ฉันใดฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยพยาบาท อันพยาบาทเหนี่ยวรั้งไป และย่อมไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งพยาบาทที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง..

[๖๐๗] ดูก่อนพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยถีนมิทธะ อันถีนมิทธะเหนี่ยวรั้งไป ย่อมไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งถีนมิทธะที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง...

[๖๐๘] ดูก่อนพราหมณ์ เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำ อันสาหร่ายและจอกแหนปกคลุมไว้ บุรุษผู้มีจักษุ เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น ไม่พึงรู้ ไม่พึงเห็นตามความเป็นจริง ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยถีนมิทธะ อันถีนมิทธะเหนี่ยวรั้งไว้ และย่อมไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งถีนมิทธะที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง...

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 323

[๖๐๙] ดูก่อนพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยอุทธัจจกุกกุจจะ อันอุทธัจจกุกกุจจะเหนี่ยวรั้งไป และย่อมไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งอุทธัจจกุกกุจจะที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง...

[๖๑๐] ดูก่อนพราหมณ์ เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำ อันลมพัดต้องแล้วหวั่นไหว กระเพื่อม เกิดเป็นคลื่น บุรุษผู้มีจักษุ เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น ไม่พึงรู้ ไม่พึงเห็นตามความเป็นจริง ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยอุทธัจจกุกกุจจะ อันอุทธัจจกุกกุจจะเหนี่ยวรั้งไป และย่อมไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งอุทธัจจกุกกุจจะที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง...

[๖๑๑] ดูก่อนพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง ในสมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยวิจิกิจฉา อันวิจิกิจฉาเหนี่ยวรั้งไป และไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งวิจิกิจฉาที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง สมัยนั้น เขาย่อมไม่รู้ ไม่เห็นแม้ซึ่งประโยชน์ตนตามความเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์บุคคลอื่นตามความเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองอย่างตามความเป็นจริง มนต์แม้ที่กระทำการสาธยายไว้นาน ก็ไม่แจ่มแจ้งได้ ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่มิได้กระทำการสาธยาย.

[๖๑๒] ดูก่อนพราหมณ์ เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำที่ขุ่นมัวเป็นเปือกตมอันบุคคลวางไว้ในที่มืด บุรุษผู้มีจักษุ เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น ไม่พึงรู้ไม่พึงเห็นตามความเป็นจริง ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยยวิจิกิจฉา อันวิจิกิจฉาเหนี่ยวรั้งไป และย่อมไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งวิจิกิจฉาที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง สมัยนั้น เขาย่อมไม่รู้ไม่เห็นแม้ซึ่งประโยชน์ตนตามความเป็นจริง แม้ซึ่ง

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 324

ประโยชน์บุคคลอื่นตามความเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองอย่างตามความเป็นจริง มนต์ที่กระทำการสาธยายไว้นาน ก็ไม่แจ่มแจ้งได้ ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่มิได้กระทำการสาธยาย.

[๖๑๓] ดูก่อนพราหมณ์ นี้แลเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้มนต์แม้ที่กระทำการสาธยายไว้นาน ไม่แจ่มแจ้งในบางคราว ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่มิได้กระทำการสาธยาย.

[๖๑๔] ดูก่อนพราหมณ์ ส่วนสมัยใด บุคคลมีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยกามราคะ ไม่ถูกกามราคะเหนี่ยวรั้งไป และย่อมรู้ ย่อมเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งกามราคะที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง สมัยนั้น เขาย่อมรู้ ย่อมเห็นแม้ซึ่งประโยชน์ตนตามความเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์บุคคลอื่นตามความเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองอย่างตามความเป็นจริง มนต์แม้ที่มิได้กระทำการสาธยายเป็นเวลานาน ย่อมแจ่มแจ้งได้ ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่กระทำการสาธยาย.

[๖๑๕] ดูก่อนพราหมณ์ เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำอันไม่ระคนด้วยสีครั่ง สีเหลือง สีเขียว หรือสีแดงอ่อน บุรุษผู้มีจักษุ เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น พึงรู้ พึงเห็นตามความเป็นจริง ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใด บุคคลมีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยกามราคะ ไม่ถูกกามราคะเหนี่ยวรั้งไป และย่อมรู้ ย่อมเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งกามราคะที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง ฯลฯ

[๖๑๖] ดูก่อนพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมัยใด บุคคลมีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยพยาบาท ไม่ถูกพยาบาทเหนี่ยวรั้งไป และย่อมรู้ ย่อมเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งพยาบาทที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง ฯลฯ

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 325

[๖๑๗] ดูก่อนพราหมณ์ เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำที่ไม่ร้อน เพราะไฟไม่เดือดพล่าน ไม่เกิดไอ บุรุษผู้มีจักษุ เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น พึงรู้ พึงเห็นตามความเป็นจริงได้ ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใด บุคคลมีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยพยาบาท ไม่ถูกพยาบาทเหนี่ยวรั้งไป และย่อมรู้ ย่อมเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งพยาบาทที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง ฯลฯ

[๖๑๘] ดูก่อนพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมัยใด บุคคลมีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยถีนมิทธะ ไม่ถูกถีนมิทธะเหนี่ยวรั้งไป และย่อมรู้ ย่อมเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งถีนมิทธะที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง ฯลฯ

[๖๑๙] ดูก่อนพราหมณ์ เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำอันสาหร่ายและจอกแหนไม่ปกคลุมไว้ บุรุษผู้มีจักษุ เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น พึงรู้ พึงเห็นตามความเป็นจริงได้ ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใด บุคคลมีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยถีนมิทธะ ไม่ถูกถีนมิทธะเหนี่ยวรั้งไป และย่อมรู้ ย่อมเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งถีนมิทธะที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง ฯลฯ

[๖๒๐] ดูก่อนพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมัยใด บุคคลมีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยอุทธัจจกุกกุจจะ ไม่ถูกอุทธัจจกุกกุจจะเหนี่ยวรั้งไป และย่อมรู้ ย่อมเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งอุทธัจจกุกกุจจะที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง ฯลฯ

[๖๒๑] ดูก่อนพราหมณ์ เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำอันลมไม่พัดต้องแล้ว ไม่หวั่นไหว ไม่กระเพื่อม ไม่เกิดเป็นคลื่น บุรุษผู้มีจักษุ เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น พึงรู้ พึงเห็นตามความเป็นจริงได้ ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใด บุคคลมีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยอุทธัจจกุกกุจจะ ไม่ถูกอุทธัจจกุกกุวสจะเหนี่ยวรั้งไป และย่อมรู้ย่อมเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งอุทธัจจกุกกุจจะที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง ฯลฯ

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 326

[๖๒๒] ดูก่อนพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมัยใด บุคคลมีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยวิจิกิจฉา ไม่ถูกวิจิกิจฉาเหนี่ยวรั้งไป และย่อมรู้ ย่อมเห็นอุบายเป็นเครี่องสลัดออกซึ่งวิจิกิจฉาที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง ฯลฯ

[๖๒๓] ดูก่อนพราหมณ์ เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำอันใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว อันบุคคลวางไว้ในที่แจ้ง บุรุษผู้มีจักษุ เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น พึงรู้ พึงเห็นตามความเป็นจริงได้ ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใด บุคคลมีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยวิจิกิจฉา ไม่ถูกวิจิกิจฉาเหนี่ยวรั้งไป และ ย่อมรู้ ย่อมเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งวิจิกิจฉาที่บังเกิดขึ้นและตามความเป็นจริง สมัยนั้น เขาย่อมรู้ ย่อมเห็นแม้ซึ่งประโยชน์ตนตามความเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์บุคคลอื่นตามความเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองอย่างตามความเป็นจริง มนต์แม้ที่มิได้กระทำการสาธยายเป็นเวลานาน ย่อมแจ่มแจ้งได้ ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่กระทำการสาธยาย.

[๖๒๔] ดูก่อนพราหมณ์ นี้แลเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้มนต์แม้ที่มิได้กระทำการสาธยายเป็นเวลานาน ก็ยังแจ่มแจ้งได้ในบางคราว ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่กระทำการสาธยาย.

[๖๒๕] ดูก่อนพราหมณ์ โพชฌงค์แม้ทั้ง ๗ นี้ มิใช่เป็นธรรมกั้น มิใช่เป็นธรรมห้าม ไม่เป็นอุปกิเลสของใจ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งผล คือ วิชชาและวิมุตติ. โพชฌงค์ ๗ เป็นไฉน. คือสติสัมโพชฌงค์ ฯลฯ อุเบกขาสัมโพชฌงค์. ดูก่อนพราหมณ์ โพชฌงค์ ๗ นี้แล มิใช่เป็นธรรมกั้น มิใช่เป็นธรรมห้าม ไม่เป็นอุปกิเลสของใจ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งผล คือ วิชชาและวิมุตติ.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 327

[๖๒๖] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนั้นแล้ว สคารวพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคคมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ขอพระโคดมผู้เจริญโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะจนตลอดชีวิต จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป.

จบสคารวสูตรที่ ๕

อรรถกถาสคารวสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในสคารวสูตรที่ ๕.

บทว่า ปเคว แปลว่า ก่อนทีเดียว. บทว่า กามราคปริยุฏฺิเตน ได้แก่ อันกามราคะเหนี่ยวไว้. บทว่า กามราคปเรเตน ได้แก่ ไปตามกามราคะ. บทว่า นิสฺสรณํ ความว่า อุบายเครี่องสลัดออกซึ่งกามราคะ มี ๓ อย่างคือ วิกขัมภนนิสสรณะ สลัดออกด้วยการข่มไว้ ตทังคนิสสรณะ สลัดออกชั่วคราว สมุจเฉทนิสสรณะ สลัดออกได้เด็ดขาด. ในอุบายเครื่องสลัดออก ๓ อย่างนี้ ปฐมฌานในอสุภะ ชื่อว่า สลัดออกด้วยการข่มไว้. วิปัสสนา ชื่อว่า สลัดออกได้ชั่วคราว อรหัตตมรรค ชื่อว่า สลัดออกได้เด็ดขาด. อธิบายว่า เขาย่อมไม่รู้อุบายเครื่องสลัดออกแม้สามอย่างนั้น. ในบทว่า อตฺตตฺถมฺปีติ เป็นต้น ประโยชน์ตนกล่าวคืออรหัต ชื่อว่า ประโยชน์ของตน. ประโยชน์ของผู้ถวายปัจจัยทั้งหลาย ชื่อว่า ประโยชน์ของคนอื่น. ประโยชน์แม้สองอย่างนั้นแล ชื่อว่า ประโยชน์ทั้งสอง ในวาระทั้งปวงพึงทราบเนื้อความโดยนัยนี้.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 328

ส่วนความต่างกันดังนี้ ก็ในบทว่า พฺยาปาทสฺส นิสฺสรณํ เป็นต้น มีอุบายเครื่องสลัดออกสองอย่าง คือ วิกขัมภนนิสสรณะ การสลัดออกด้วยการข่มไว้ และสมุจเฉทนิสสรณะ การสลัดออกได้เด็ดขาด. ในอุบายทั้ง ๒ นั้น ปฐมฌานในเมตตา สลัดพยาบาทออกได้ด้วยการข่ม. อนาคามิมรรคสลัดพยาบาทออกได้เด็ดขาด. อาโลกสัญญา สลัดถีนมิทธะออกได้ด้วยการข่ม. อรหัตตมรรคสลัดออกได้เด็ดขาด. สมถกัมมัฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง สลัดอุทธัจจกุกกุจจะออกได้ด้วยการข่ม. ส่วนในอุทธัจจกุกกุจจะนี้ อรหัตตมรรคเป็นเครื่องสลัดอุทธัจจะออกได้เด็ดขาด. อนาคามิมรรค เป็นเครื่องสลัดกุกกุจจะออกได้เด็ดขาด. การกำหนดธรรมเป็นเครื่องสลัดวิจิกิจฉาออกได้ด้วยการข่ม. ปฐมมรรค เป็นเครื่องสลัดออกได้เด็ดขาด.

ส่วนในข้อนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอุปมามีบทว่า เสยฺยถาปิ พฺราหฺมณ อุทปตฺโต สํสฏฺโ ลาขาย วา เป็นต้นใด ในอุปมาเหล่านั้น บทว่า อุทปตฺโต ได้แก่ ภาชนะเต็มด้วยน้ำ. บทว่า สํสฏฺโ ได้แก่ ระคนด้วยอำนาจทำสีให้ต่างกัน. บทว่า อุสฺมาทกชาโต คือมีไอพลุ่งขึ้น. บทว่า เสวาลปณกปริโยนทฺโธ ความว่า อันสาหร่ายอันต่างด้วยพืชงาเป็นต้น หรืออันจอกแหนมีสีหลังเขียวเกิดขึ้นปิดหลังน้ำปกคลุมไว้. บทว่า วาเตริโต ได้แก่ ถูกลมพัดหวั่นไหว. บทว่า อาวิโล คือ ไม่ใส. บทว่า ลุฬิโต คือ ไม่นิ่ง. บทว่า กลลีภูโต คือ เปือกตม. บทว่า อนฺธกาเร นิกฺขิตฺโต ได้แก่ อันบุคคลวางไว้ในที่ไม่สว่าง มีระหว่างฉางเป็นต้นเป็นประเภท. ในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงกลับเทศนาจากภพทั้งสาม แล้วทรงให้เทศนาจบลงด้วยธรรมอันเป็นยอดคืออรหัต. ส่วนพราหมณ์ตั้งอยู่แล้วในทางอันสงบ.

จบอรรถกถาสคารวสูตรที่ ๕