พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. อภยสูตร ความไม่รู้ความไม่เห็นมีเหตุมีปัจจัย

 
บ้านธัมมะ
วันที่  9 ต.ค. 2564
หมายเลข  37841
อ่าน  373

[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 329

๖. อภยสูตร

ความไม่รู้ความไม่เห็นมีเหตุมีปัจจัย


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 30]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 329

๖. อภยสูตร

ความไม่รู้ความไม่เห็นมีเหตุมีปัจจัย

[๖๒๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น อภัยราชกุมารเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ตรัสทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

[๖๒๘] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ปุรณกัสสปกล่าวอย่างนั้นว่า เหตุไม่มี ปัจจัยไม่มี เพื่อความไม่รู้ เพื่อความไม่เห็น ความไม่รู้ ความไม่เห็น ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย เหตุไม่มี ปัจจัยไม่มี เพื่อความรู้ เพื่อความเห็น ความรู้ ความเห็น ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ดังนี้. ในเรื่องนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้อย่างไร.

[๖๒๙] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ดูก่อนราชกุมาร เหตุมี ปัจจัยมี เพื่อความไม่รู้ เพื่อความไม่เห็น ความไม่รู้ ความไม่เห็น มีเหตุ มีปัจจัย เหตุมี ปัจจัยมี เพื่อความรู้ เพื่อความเห็น ความรู้ ความเห็น มีเหตุ มีปัจจัย.

[๖๓๐] อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหตุเป็นไฉน ปัจจัยเป็นไฉน เพื่อความไม่รู้ เพื่อความไม่เห็น ความไม่รู้ ความไม่เห็น มีเหตุ มีปัจจัย อย่างไร.

[๖๓๑] พ. ดูก่อนราชกุมาร สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยกามราคะ อันกามราคะเหนี่ยวรั้งไป และย่อมไม่รู้ ไม่เห็น อุบายเป็นเครื่อง

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 330

สลัดออกซึ่งกามราคะที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง แม้ข้อนี้แล ก็เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เพื่อความไม่รู้ เพื่อความไม่เห็น ความไม่รู้ ความไม่เห็น มีเหตุ มีปัจจัย แม้ด้วยประการฉะนี้.

[๖๓๒] ดูก่อนราชกุมาร อีกประการหนึ่ง สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยพยาบาท...

[๖๓๓] ดูก่อนราชกุมาร อีกประการหนึ่ง สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยถีนมิทธะ...

[๖๓๔] ดูก่อนราชกุมาร อีกประการหนึ่ง สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยอุทธัจจกุกกุจจะ...

[๖๓๕] ดูก่อนราชกุมาร อีกประการหนึ่ง สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่าน ด้วยวิจิกิจฉา อันวิจิกิจฉาเหนี่ยวรั้งไป และย่อมไม่รู้ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งวิจิกิจฉาที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง แม้ข้อนี้แล ก็เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เพื่อความไม่รู้ เพื่อความไม่เห็น ความไม่รู้ ความไม่เห็น มีเหตุ มีปัจจัย ด้วยประการฉะนี้.

[๖๓๖] อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมปริยายนี้ ชื่ออะไร.

พ. ดูก่อนราชกุมาร ธรรมเหลานี้ ชื่อ นิวรณ์.

อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นิวรณ์เป็นอย่างนี้ ข้าแต่พระสุคต นิวรณ์เป็นอย่างนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลถูกนิวรณ์แม้อย่างเดียวครอบงำแล้วไม่พึงรู้ ไม่พึงเห็นตามความเป็นจริงได้ จะกล่าวไปไยถึงการถูกนิวรณ์ทั้ง ๕ ครอบงำแล้ว.

[๖๓๗] อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เหตุเป็นไฉน ปัจจัยเป็นไฉน เพื่อความรู้ เพื่อความเห็น ความรู้ ความเห็น มีเห็น มีปัจจัย อย่างไร.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 331

[๖๓๘] พ. ดูก่อนราชกุมาร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ เธอเจริญสติสัมโพชฌงค์อยู่ ย่อมรู้ ย่อมเห็นตามความเป็นจริง ด้วยจิตนั้น แม้ข้อนี้แล ก็เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เพื่อความรู้ เพื่อความเห็น ความรู้ ความเห็น มีเหตุ มีปัจจัย ด้วยประการฉะนี้.

[๖๓๙] ดูก่อนราชกุมาร อีกประการหนึ่ง ฯลฯ ภิกษุย่อมเจริญ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ เธอเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์อยู่ ย่อมรู้ ย่อมเห็นตามความเป็นจริง ด้วยจิตนั้น แม้ข้อนี้แล ก็เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เพื่อความรู้ เพื่อความเห็น ความรู้ ความเห็น มีเหตุ มีปัจจัย ด้วยประการฉะนี้.

[๖๔๐] อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมปริยายนี้ ชื่ออะไร.

พ. ดูก่อนราชกุมาร ธรรมเหล่านี้ ชื่อ โพชฌงค์.

อ. ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า โพชฌงค์เป็นอย่างนี้ ข้าแต่พระสุคต โพชฌงค์เป็นอย่างนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลผู้ประกอบด้วยโพชฌงค์แม้อย่างเดียว พึงรู้ พึงเห็นตามความเป็นจริงได้ จะกล่าวไปไยถึงการที่ประกอบด้วยโพชฌงค์ทั้ง ๗ เล่า. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ขึ้นภูเขาคิชฌกูฏ แม้ความเหน็ดเหนื่อยกาย ความเหน็ดเหนื่อยใจของข้าพระองค์ ก็สงบระงับแล้ว และธรรมข้าพระองค์ก็ได้บรรลุแล้ว.

จบอภยสูตรที่ ๖

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 332

อรรถกถาอภยสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในอรรถกถาอภยสูตรที่ ๖.

บทว่า อญฺาณาย อทสฺสนาย ได้แก่ เพื่อความไม่รู้ เพื่อความไม่เห็น. บทว่า ตคฺฆ ภควา นีวรณา ได้แก่ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า นิวรณ์โดยส่วนเดียว. บทว่า กายกิลมโถ คือ ความกระวนกระวายทางกาย. บทว่า จิตฺตกิลมโถ คือ ความกระวนกระวายทางจิต. บทว่า โสปิ เม ปฏิปฺปสฺสทฺโธ ความว่า ได้ยินว่า ความกระวนกระวายกายของพระราชกุมารนั้น เข้าไปยังที่สัปปายะแห่งฤดูก็เยือกเย็น นั่งในสำนักของพระศาสดาก็สงบระงับแล้ว. เมื่อกายนั้นสงบ แม้ความกระวนกระวายจิต ก็สงบ โดยคล้อยตามกายนั้นแล. อีกอย่างหนึ่ง ความกระวนกระวายกายและจิตแม้ทั้งสองนั้นของพระราชกุมารนั้น พึงทราบว่า สงบระงับแล้วด้วยมรรคนั้นแล

จบอรรถกถาอภยสูตรที่ ๖

จบหมวด ๖ แห่งโพชฌงค์ที่ ๖ แห่งโพชฌงค์สังยุต

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อาหารสูตร ๒. ปริยายสูตร ๓. อัคคิสูตร ๔. เมตตาสูตร ๕. สคารวสูตร ๖. อภยสูตร

จบหมวด ๖ แห่งโพชฌงค์ที่ ๖ แห่งโพชฌงค์สังยุต