การล่วงศีล
ในพระไตรปิฎกทั้งหมด เป็นเรื่องที่พระผู้มีพระภาคทรงพร่ำสอนจริงๆ เพื่อที่จะให้สติเกิด ในขณะฟัง ให้ระลึกได้ ให้รู้ในลักษณะของรูปธรรมและนามธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
ขอกล่าวถึงการที่จะล่วงศีล สำหรับบุคคลซึ่งสะสมปัจจัยเจริญสติปัญญามาพร้อมที่จะเป็นพระอริยเจ้า เช่น นางขุชชุตตรา สาวใช้ของพระนางสามาวดี มเหสีของพระเจ้าอุเทน ก่อนที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ท่านก็ยักยอกค่าดอกไม้วันละ ๔ กหาปณะ ก็เป็นไปได้ สะสมเหตุปัจจัยมามากพร้อมที่จะเป็นอริยสาวกในชาตินั้น แต่เพราะว่าสติเกิดขึ้นและกิเลสก็ท่วมทับ สติเกิดขึ้น กิเลสก็ท่วมทับ ก็ต้องฟันฝ่า และอบรมเจริญไปจนกว่าจะถึงชาติสุดท้ายที่จะได้เป็นพระอริยสาวก แต่กิเลสที่สะสมมาก็มีปัจจัยทำให้ท่านยักยอกค่าดอกไม้วันละ ๔ กหาปณะ ก่อนที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม
เป็นความวิจิตรของชีวิต แต่ละท่านที่ได้กระทำอกุศลกรรมมาพร้อมทั้งการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ในชาติสุดท้ายที่จะได้เป็นพระอริยเจ้า ชีวิตของท่านก็แตกต่างกันไปตามผลของกรรมที่เกิดขึ้นจากการกระทำที่ได้กระทำแล้วในอดีต ทำให้ชีวิตของอริยสาวกทั้งหลายวิจิตรต่างกัน ทั้งในวิบากกรรม ทั้งในกิเลสที่ยังมีปัจจัยให้เกิดขึ้นก่อนที่จะได้เป็นพระอริยเจ้า
หลานชายของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีคนหนึ่งชื่อเขมะ เป็นบุตรเศรษฐีในชาติก่อนโน้น ท่านได้เคยกระทำธงทอง บูชาเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของ พระมหากัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า และได้ตั้งความปรารถนาว่า ขอให้ผลแห่งบุญนี้เป็นปัจจัยให้สตรีทั้งหลายเว้นจากญาติสาโลหิต เมื่อเห็นตนแล้วขอให้มีความรักใคร่
ดูความวิจิตรของกิเลสของผู้ที่จะได้เป็นพระอริยสาวก มีความปรารถนาที่วิจิตรต่างๆ กัน ดังนั้น เมื่อเกิดเป็นเขมะบุตรเศรษฐี หลานของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เวลาที่สตรีทั้งหลายเห็นท่านก็เกิดรักใคร่ ซึ่งเขมะเศรษฐีบุตรก็ได้ล่วงศีลข้อกาเมสุมิจฉาจารอยู่เนืองๆ จนกระทั่งถูกราชบุรุษจับได้ นำตัวไปถวายพระเจ้าปเสนทิโกศล เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถาม ก็ทรงทราบว่าเป็นหลานของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีซึ่งเป็นอุปัฏฐาก ผู้บำรุงพระพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียง เพราะฉะนั้น พระเจ้า ปเสนทิโกศลก็ให้ปล่อยตัวไป เพราะเห็นว่าถ้าลงโทษหลานชายแล้ว จะพลอยทำให้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีต้องได้รับความอับอายขายหน้าจากมหาชนด้วย ซึ่งเขมะบุตรเศรษฐีก็ได้ล่วงศีลอีกเนืองๆ จนราชบุรุษจับตัวได้ถึง ๓ ครั้ง นำไปถวายพระเจ้าปเสนทิโกศลถึง ๓ ครั้ง พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ให้ปล่อยตัวไปถึง ๓ ครั้ง แต่ภายหลังท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้พาเขมะบุตรเศรษฐีไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงโทษของการล่วงศีลข้อกาเมสุมิจฉาจาร เมื่อเขมะบุตรเศรษฐีได้ฟังธรรม ก็บรรลุเป็นพระโสดาบัน มิได้ล่วงศีลข้อกาเมสุมิจฉาจารอีกต่อไป
เพราะฉะนั้น ทุกท่านจะรีบร้อนไปถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้ไหม ตามความเป็นจริง กิเลสอะไรเกิดบ้างวันนี้ สติระลึกรู้บ้างหรือเปล่า ถ้าไม่ระลึก ไม่รู้สภาพธรรมที่เป็นเพียงนามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะๆ แล้ว ในวันหนึ่งๆ ก็วิจิตรต่างกันไป ในแต่ละภพ แต่ละชาติ ก็วิจิตรต่างกันไปอีก ถ้าสติไม่เกิด ไม่ระลึกรู้ตามความเป็นจริง ก็ไม่สามารถจะดับกิเลสได้
ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าชีวิตจริงของท่านจะยุ่งเหยิง ยุ่งยาก ซับซ้อนมากมายด้วยทุกข์ทับถมนานาประการอย่างไรก็ตาม ก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น ซึ่งสติจะต้องอบรมเจริญด้วยการระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ตรงตามความเป็นจริงในขณะที่ปรากฏ และปัญญาก็จะต้องศึกษา สำเหนียก เทียบเคียง พิจารณา ค้นคว้าให้รู้ชัด ประจักษ์แจ้งจริงๆ ในสภาพที่เป็นนามธรรม ในสภาพที่เป็นรูปธรรม จนกระทั่งเป็นปัญญาที่เพิ่มขึ้นถึงความสมบูรณ์เป็นลำดับขั้น จึงสามารถที่จะรู้แจ้งเป็นพระอริยเจ้าได้
ถ้าเข้าใจว่า กิเลสมีปัจจัยสะสมมามากพร้อมที่จะเกิดทุกโอกาส ก็จะเห็นเหตุผลว่า ด้วยเหตุใดพระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงพร่ำสอน ซ้ำแล้ว ซ้ำอีก ในเรื่องของสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
ในพระไตรปิฎกทั้งหมด เป็นเรื่องที่พระผู้มีพระภาคทรงพร่ำสอนจริงๆ เพื่อที่จะให้สติเกิด ในขณะฟัง ให้ระลึกได้ ให้รู้ในลักษณะของรูปธรรมและนามธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ถ้าประมาท ไม่เห็นโทษของกิเลส ก็จะไม่เห็นคุณประโยชน์เลยว่า ทำไมพระผู้มีพระภาคจึงทรงพร่ำสอนอย่างนี้ ครั้งเดียวก็น่าจะพอ ใช่ไหม แต่พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า ในขณะใดที่มีปัจจัยให้สติเกิดระลึกได้ สติก็เกิดระลึกได้เพียงชั่วขณะ ต่อจากนั้นกิเลสก็มีกำลังพร้อมที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้นเป็นอกุศลธรรมต่อไป ด้วยเหตุนี้ จึงได้ทรงพร่ำสอนไว้ทุกประการ
ที่มา ...