๖. สกุณัคฆีสูตร ว่าด้วยอารมณ์โคจร
[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 386
๖. สกุณัคฆีสูตร
ว่าด้วยอารมณ์โคจร
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 30]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 386
๖. สกุณัคฆีสูตร
ว่าด้วยอารมณ์โคจร
[๖๙๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีแล้ว เหยี่ยวโฉบลงจับนกมูลไถโดยรวดเร็ว ครั้งนั้น นกมูลไถกำลังถูกเหยี่ยวนำไป ได้รำพันอย่างนี้ว่า เราเป็นผู้อับโชค มีบุญน้อย ที่เที่ยวไปในถิ่นของผู้อื่น อันมิใช่ถิ่นหากิน. ถ้าวันนี้ เราไปเที่ยวในถิ่นอันเป็นของบิดาตน ซึ่งควรเที่ยวไปไซร้ เหยี่ยวตัวนี้เราอาจต่อสู้ได้.
เหยี่ยวจึงถามว่า แน่ะนกมูลไถ ก็ถิ่นซึ่งเป็นของบิดาตน อันเป็นที่หากินของเจ้าเป็นเช่นไร.
นกมูลไถตอบว่า คือ ที่ๆ มีก้อนดิน ซึ่งเขาทำการไถไว้.
ครั้งนั้น เหยี่ยวหยิ่งในกำลังของตน อวดอ้างกำลังของตน ปล่อยนกมูลไถไป พร้อมด้วยบอกว่า เจ้าจงไปเถิด นกมูลไถ เจ้าจะไปแม้ในที่นั้นก็ไม่พ้นเราได้. นกมูลไถจึงไปยังที่ๆ มีก้อนดินซึ่งเขาทำการไถไว้ ขึ้นสู่ก้อนใหญ่ ยืนท้าเหยี่ยวอยู่ว่า แน่ะเหยี่ยว บัดนี้ท่านจงมาจับเราเถิด แน่ะเหยี่ยว บัดนี้ท่านจงมาจับเราเถิด. ครั้งนั้น เหยี่ยวหยิ่งในกำลังของตน อวดอ้างในกำลังของตน จึงห่อปีกทั้ง ๒ โฉบนกมูลไถโดยรวดเร็ว. ครั้งใด นกมูลไถรู้ว่าเหยี่ยวนี้โฉบลงมาเร็วจะจับเรา ครั้งนั้น ก็หลบเข้าซอกดินนั่นเอง. เหยี่ยวยังอกให้กระแทกดิน (ตาย) ในที่นั้นเทียว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องนกมูลไถเที่ยวไปในถิ่นอื่น อันมิใช่ถิ่นหากิน ย่อมเป็นเช่นนี้แล.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 387
[๖๙๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายอย่าเที่ยวไปในอารมณ์อื่น อันมิใช่โคจร. เมื่อเธอทั้งหลายเที่ยวไปในอารมณ์อื่น อันมิใช่โคจร มารจักได้ช่อง มารจักได้อารมณ์. ก็อารมณ์อื่นอันมิใช่โคจรของภิกษุ คืออะไร. คือ กามคุณ ๕. กามคุณ ๕ เป็นไฉน. คือ รูปอันพึงรู้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด เสียงที่พึงรู้ด้วยโสต... กลิ่นที่พึงรู้ด้วยฆานะ... รสที่พึงรู้ด้วยชิวหา. โผฏฐัพพะที่พึงรู้ด้วยกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้ คือ อารมณ์อื่น มิใช่โคจรของภิกษุ.
[๗๐๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวไปในอารมณ์ ซึ่งเป็นของบิดาตน อันเป็นโคจร เมื่อเธอทั้งหลายเที่ยวไปในอารมณ์ ซึ่งเป็นของบิดาตน อันเป็นโคจร มารจักไม่ได้ช่อง มารจักไม่ได้อารมณ์. ก็อารมณ์อันเป็นของบิดา อันเป็นโคจร คืออะไร. คือสติปัฏฐาน ๔. สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน. ภิกษุในธรรมวินัย ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่... ย่อมพิจารณาเห็นในจิตอยู่... ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้คือ อารมณ์ซึ่งเป็นของบิดาตน อันเป็นโคจรของภิกษุ.
จบสกุณัคฆีสูตรที่ ๖
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 388
อรรถกถาสกุณัคฆีสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในสกุณัคฆีสูตรที่ ๖.
บทว่า สกุณคฺฆิ ได้แก่ ชื่อว่า สกุณัคฆิ เพราะอรรถว่า ฆ่านก. คำนั่นเป็นชื่อของเหยี่ยว. บทว่า สหสา อชฺฌปฺปตฺตา ได้แก่ โฉบลงโดยเร็ว เพราะความโลภ. บทว่า อลกฺขิกา ได้แก่เป็นผู้หมดสิริ. บทว่า อปฺปปุญฺา แปลว่า เป็นผู้มีบุญน้อย. บทว่า สจชฺช มยํ ตัดบทเป็น สเจ อชฺช มยํ ถ้าวันนี้เรา. บทว่า นงฺคลกฏกรณํ ได้แก่ การทำนาด้วยไถ คือไถใหม่ๆ อธิบายว่าที่นา. บทว่า เลณฺฑุฏฺานํ แปลว่า ที่แตกระแหง. บทว่า อวาทมานา คือเหยี่ยวเมื่อหยิ่ง อธิบายว่า กล่าวสรรเสริญกำลังของตนด้วยดี. บทว่า มหนฺตํ เลณฺฑุํ อภิรูหิตฺวา ความว่า นกมูลไถ กำหนดที่ก้อนดิน ๓ ก้อน ตั้งอยู่ โดยสัณฐานดังเตาไฟว่า เมื่อเหยี่ยวบินมาข้างนี้เราจักหลีกไปข้างโน้น เมื่อบินมาข้างโน้น เราจักหลีกไปข้างนี้ ดังนี้ ขึ้นก้อนดินก้อนหนึ่ง ในก้อนดิน ๓ ก้อนเหล่านั้น ยืนท้าอยู่. บทว่า สนฺธาย ได้แก่ หลุบปีกดุจลู่อก คือตั้งไว้ด้วยดี. บทว่า พหุ อาคโต โข มยายํ ความว่า นกมูลไถรู้ว่าเหยี่ยวนี้มาสู่ที่ไกลกว่าเพื่อต้องการเรา บัดนี้จักจับเราไม่ให้เหลือแต่น้อย ดังนี้ จึงหลบเข้าไปในระหว่างดินนั้นแล คล้ายน้ำอ้อยงบติดอยู่ที่พื้น. บทว่า อุรํ ปจฺจตาเฬสิ ความว่า เหยี่ยวเมื่อไม่สามารถดำรงความเร็วไว้ได้ เพราะแล่นไปด้วยคิดว่า เราจักจับตัดหัวของนกมูลไถครั้งเดียว กระแทกอกที่ดินนั้น ในทันใดนั้นเอง หัวใจของมันแตกแล้ว ครั้งนั้น นกมูลไถร่าเริงยินดี ว่าเราเห็นหลังของศัตรู ดังนี้ จึงเดินไปมาตรงหัวใจของเหยี่ยวนั้น.
จบอรรถกถาสกุณัคฆีสูตรที่ ๖