พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. มักกฏสูตร ว่าด้วยอารมณ์อันมิใช่โคจร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  11 ต.ค. 2564
หมายเลข  37864
อ่าน  394

[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 389

๗. มักกฏสูตร

ว่าด้วยอารมณ์อันมิใช่โคจร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 30]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 389

๗. มักกฏสูตร

ว่าด้วยอารมณ์อันมิใช่โคจร

[๗๐๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถิ่นแห่งขุนเขาชื่อหิมพานต์ อันไปได้ยาก ขรุขระ ไม่เป็นที่เที่ยวไปทั้งของฝูงลิงทั้งของหมู่มนุษย์ มีอยู่. ถิ่นแห่งขุนเขาชื่อหิมพานต์ อันไปได้ยาก ขรุขระ เป็นที่เที่ยวไปของฝูงลิงเท่านั้น ไม่ใช่ของหมู่มนุษย์ มีอยู่. ภูมิภาคแห่งขุนเขาชื่อหิมพานต์ ราบเรียบ น่ารื่นรมย์ เป็นที่เที่ยวไปทั้งของฝูงลิงทั้งของหมู่มนุษย์ มีอยู่. ณ ที่นั้น พวกพรานวางตังไว้ในทางเดินของฝูงลิงเพื่อดักลิง. ในลิงเหล่านั้น ลิงเหล่าใดไม่โง่ ไม่ลอกแลก ลิงเหล่านั้น เห็นตังนั้น ย่อมหลีกออกห่าง. ส่วนลิงใดโง่ ลอกแลก ลิงตัวนั้นเข้าไปใกล้ตังนั้นเอามือจับ มือก็ติดตัง มันจึงเอามือข้างที่สองจับ ด้วยคิดว่า จักปลดมือออก มือข้างที่สองติดตังอีก มันจึงเอาเท้าจับ ด้วยคิดว่า จักปลดมือทั้งสองออก เท้าก็ติดตังอีก มันจึงเอาเท้าข้างที่สองจับ ด้วยคิดว่า จักปลดมือทั้งสองและเท้าออก เท้าที่สองติดตังอีก มันจึงเอาปากกัด ด้วยคิดว่า จักปลดมือทั้งสองและเท้าทั้งสองออก ปากก็ติดตังอีก. ลิงตัวนั้นถูกตรึง ๕ ประการอย่างนี้แล นอนถอนใจ ถึงความพินาศ ถึงความฉิบหายแล้ว อันพรานจะพึงกระทำได้ตามความปรารถนา. พรานแทงลิงตัวนั้นแล้ว จึงดึงออกทิ้งไว้ในที่นั้นเอง ไม่ปล่อยไป หลีกไปตามความปรารถนา. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องลิงเที่ยวไปในถิ่นอื่น อันมิใช่ที่ควรเที่ยวไปย่อมเป็นเช่นนี้แหละ.

[๗๐๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายว่า เที่ยวไปในอารมณ์อื่น อันมิใช่โคจร เมื่อเธอทั้งหลายเที่ยวไปในอารมณ์อื่น

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 390

อันมิใช่โคจร มารจักได้ช่อง มารจักได้อารมณ์. ก็อารมณ์อื่นอันมิใช่โคจรของภิกษุคืออะไร. คือ กามคุณ ๕. กามคุณ ๕ เป็นไฉน. คือ รูปที่พึงรู้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด เสียงที่พึงรู้ด้วยโสต... กลิ่นที่พึงรู้ด้วยฆานะ... รสที่พึงรู้ด้วยชิวหา... โผฏฐัพพะที่พึงรู้ด้วยกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้ คือ อารมณ์อื่นอันมิใช่โคจรของภิกษุ.

[๗๐๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวไปในอารมณ์ซึ่งเป็นของบิดาตน อันเป็นโคจร เมื่อเธอทั้งหลายเที่ยวไปในอารมณ์ซึ่งเป็นของบิดาตน อันเป็นโคจร มารจักไม่ได้ช่อง มารจักไม่ได้อารมณ์. ก็อารมณ์อันเป็นของบิดาตน อันเป็นโคจรของภิกษุ คืออะไร. คือ สติปัฏฐาน ๔. สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่... ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่... ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้ คือ อารมณ์ซึ่งเป็นของบิดาตน อันเป็นโคจรของภิกษุ.

จบมักกฏสูตรที่ ๗

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 391

อรรถกถามักกฏสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในมักกฏสูตรที่ ๗.

บทว่า ทุคฺคา แปลว่า ไปยาก. บทว่า จารี แปลว่า เป็นที่เที่ยว. บทว่า เลปํ โอฑฺเฑนฺติ ความว่า พวกพรานทำตังผสมด้วยยางต้นไทรย้อยเป็นต้น กำหนดว่า ที่นั้นๆ เป็นที่เดินประจำของพวกลิง ดังนี้ แล้ววางไว้ที่กิ่งต้นไม้เป็นต้น. บทว่า ปญฺโจฑฺฑิโต ความว่า ลิงถูกตรึงในที่ทั้ง ๕ เหมือนสาแหรกอันตนสอดไม้คานเข้าไปแล้ว จับไว้ฉะนั้น. บทว่า ถุนํ เสติ ได้แก่ นอนถอนใจอยู่.

จบอรรถกถามักกฏสูตรที่ ๗