พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. สูทสูตร ว่าด้วยการสําเหนียกและไม่สําเหนียกนิมิต

 
บ้านธัมมะ
วันที่  11 ต.ค. 2564
หมายเลข  37865
อ่าน  546

[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 391

๘. สูทสูตร

ว่าด้วยการสําเหนียกและไม่สําเหนียกนิมิต


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 30]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 391

๘. สูทสูตร

ว่าด้วยการสำเหนียกและไม่สำเหนียกนิมิต

[๗๐๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนพ่อครัวผู้เขลา ไม่ฉลาดเฉียบแหลม บำรุงพระราชาหรือมหาอำมาตย์ของพระราชาด้วยสูปะต่างชนิด มีรสเปรี้ยวจัดบ้าง ขมจัดบ้าง เผ็ดจัดบ้าง หวานจัดบ้าง มีรสเฝื่อนบ้าง ไม่เฝื่อนบ้าง เค็มบ้าง จืดบ้าง. พ่อครัวนั้น... ไม่สังเกตรสอาหารของตน ว่า วันนี้ ภัตและสูปะของเราชนิดนี้ท่านชอบใจ หรือท่านรับสูปะนี้ หรือท่านหยิบสูปะนี้มาก หรือท่านชมสูปะนี้ วันนี้ ภัตและสูปะของเรามีรสเปรี้ยวจัด ท่านชอบใจ หรือท่านรับสูปะมีรสเปรี้ยวจัด หรือท่านหยิบเอาสูปะมีรส

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 392

เปรี้ยวจัดมาก หรือท่านชมสูปะมีรสเปรี้ยวจัด วันนี้ ภัตและสูปะของเรามีรสขมจัด... มีรสเผ็ดจัด... มีรสหวานจัด... มีรสเฝื่อน... มีรสไม่เฝื่อน... มีรสเค็ม... วันนี้ ภัตและสูปะของเรามีรสจืดท่านชอบใจ หรือท่านรับสูปะมีรสจืด หรือท่านหยิบเอาสูปะมีรสจืดมาก หรือท่านชมสูปะมีรสจืด ดังนี้. พ่อครัวนั้น... ย่อมไม่ได้เครื่องนุ่งห่ม ไม่ได้ค่าจ้าง ไม่ได้รางวัล. ข้อนั้นเพราะเหตุไร. เพราะพ่อครัวนั้นเป็นคนเขลา ไม่ฉลาดเฉียบแหลม ไม่สังเกตเครื่องหมายอาหารของตน ฉันใด.

[๗๐๕] ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้เป็นผู้เขลา ไม่ฉลาดเฉียบแหลม ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย. เมื่อเธอพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ จิตย่อมไม่ตั้งมั่น ยังละอุปกิเลสไม่ได้ เธอไม่สำเหนียกนิมิตนั้น ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่... ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่... ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย. เมื่อเธอพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ จิตย่อมไม่ตั้งมั่น ยังละอุปกิเลสไม่ได้ เธอไม่สำเหนียกนิมิตนั้น. ภิกษุนั้น... ย่อมไม่ได้ธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และไม่ได้สติสัมปชัญญะ. ข้อนั้นเพราะเหตุไร. เพราะภิกษุนั้นเป็นผู้เขลา ไม่ฉลาดเฉียบแหลม ไม่สำเหนียกนิมิตแห่งจิตของตน.

[๗๐๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนพ่อครัวผู้มีปัญญาฉลาดเฉียบแหลม บำรุงพระราชาหรือมหาอำมาตย์ของพระราชาด้วยสูปะต่างชนิด มีรสเปรี้ยวจัดบ้าง ขมจัดบ้าง เผ็ดจัดบ้าง หวานจัดบ้าง มีรสเฝื่อนบ้าง ไม่เฝื่อนบ้าง มีรสเค็มบ้าง จืดบ้าง พ่อครัวนั้นย่อมสังเกตรสอาหารของตนว่า วันนี้ ภัตและสูปะของเราชนิดนี้ ท่านชอบใจ หรือท่านรับสูปะนี้ หรือหยิบ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 393

เอาสูปะนี้มาก หรือท่านชมสูปะนี้ วันนี้ ภัตและสูปะของเรามีรสเปรี้ยวจัด... วันนี้ ภัตและสูปะของเรามีรสขมจัด... มีรสเผ็ดจัด... มีรสหวานจัด... มีรสเฝื่อน... มีรสไม่เฝื่อน... มีรสเค็ม.. วันนี้ ภัตและสูปะของเรามีรสจืดท่านชอบใจ หรือท่านรับสูปะมีรสจืด หรือท่านหยิบเอาสูปะมีรสจืดมาก หรือท่านชมสูปะมีรสจืด ดังนี้ พ่อครัวนั้นย่อมได้เครื่องนุ่งห่ม ได้ค่าจ้าง ได้รางวัล. ข้อนั้นเพราะเหตุไร. เพราะพ่อครัวนั้นเป็นคนมีปัญญา ฉลาดเฉียบแหลม สังเกตรสอาหารของตน ฉันใด.

[๗๐๗] ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีปัญญา ฉลาดเฉียบแหลม ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย เมื่อเธอพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ จิตย่อมตั้งมั่น ละอุปกิเลสได้ เธอย่อมสำเหนียกนิมิตนั้น ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่... ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่... ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย เมื่อเธอพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ จิตย่อมตั้งมั่น ละอุปกิเลสได้ เธอย่อมสำเหนียกในนิมิตนั้น ภิกษุนั้นย่อมได้ธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และได้สติ สัมปชัญญะ. ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร. เพราะภิกษุนั้นเป็นผู้มีปัญญา ฉลาดเฉียบแหลม สำเหนียกนิมิตแห่งจิตของตน.

จบสูทสูตรที่ ๘

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 394

อรรถกถาสูทสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในสูทสูตรที่ ๘

บทว่า สูโท แปลว่า คนทำกับข้าว. บทว่า นานจฺจเยหิ คือ ต่างชนิด อธิบายว่า ต่างอย่าง. อีกอย่างหนึ่ง ปาฐะนี้ก็เหมือนกัน. บทว่า อมฺพิลคฺเคหิ ได้แก่ มีส่วนเปรี้ยว. ในบททั้งปวงก็นัยนี้แล. บทว่า อภิหรติ ได้แก่ เหยียดมือออกเพื่อต้องการรับ. บทว่า พหุํ คณฺหาติ ความว่า เมื่อรับมากโดยรับครั้งเดียวก็ดี รับบ่อยๆ ก็ดี ก็ชื่อว่า รับมากอยู่นั่นเอง. บทว่า อภิหารานํ ความว่า รางวัลที่เขายกขึ้นร้อยหนึ่ง หรือพันหนึ่งนำไป. บทว่า อุปกฺลิเลสา ได้แก่ นิวรณ์ ๕ อย่าง. บทว่า นิมิตฺตํ น อุคฺคณฺหาติ ความว่า ภิกษุย่อมไม่รู้ว่า กัมมัฏฐานนี้ของเรา จดถึงอนุโลมญาณ หรือ โคตรภูญาณแล้วดังนี้ ย่อมไม่สามารถจะจับนิมิตแห่งจิตของตนได้. ในพระสูตรนี้ พระองค์ตรัสสติปัฏฐานอันเป็นบุพภาควิปัสสนาแล.

จบอรรถกถาสูทสูตรที่ ๘