๑๐. ภิกขุนีสูตร ผู้มีจิตตั้งมั่นในสติปัฏฐาน ๔ ย่อมรู้คุณวิเศษ
[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 402
๑๐. ภิกขุนีสูตร
ผู้มีจิตตั้งมั่นในสติปัฏฐาน ๔ ย่อมรู้คุณวิเศษ
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 30]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 402
๑๐. ภิกขุนีสูตร
ผู้มีจิตตั้งมั่นในสติปัฏฐาน ๔ ย่อมรู้คุณวิเศษ
[๗๑๔] สาวัตถีนิทาน. ครั้งนั้น เวลาเช้า ท่านพระอานนท์นุ่งแล้วถือบาตรและจีวรเข้าไปยังสำนักของนางภิกษุณีแห่งหนึ่ง แล้วนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้. ครั้งนั้น ภิกษุณีมากรูปเข้าไปหาท่านพระอานนท์ ไหว้ท่านพระอานนท์แล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้ว จึงพูดกะท่านพระอานนท์ว่า ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ ภิกษุณีมีมากรูปในธรรมวินัยนี้
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 403
มีจิตตั้งมั่นดีแล้วในสติปัฏฐาน ๔ ย่อมรู้คุณวิเศษอันยิ่งอย่างอื่นจากคุณวิเศษในกาลก่อน. ท่านพระอานนท์ตอบว่า น้องหญิง ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง มีจิตตั้งมั่นดีแล้วในสติปัฏฐาน ๔ ภิกษุหรือภิกษุณีรูปนั้นพึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักรู้คุณวิเศษอันยิ่งอย่างอื่นจากคุณวิเศษในกาลก่อน. ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ยังภิกษุณีเหล่านั้นให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมมีกถา แล้วลุกจากอาสนะหลีกไป.
[๗๑๕] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เที่ยวไปบิณฑบาตในพระนครสาวัตถีแล้ว ในเวลาปัจฉาภัต กลับจากบิณฑบาตเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเช้านี้ข้าพระองค์นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังสำนักนางภิกษุณีแห่งหนึ่ง แล้วนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้. ครั้งนั้น ภิกษุณีมากรูปเข้ามาหาข้าพระองค์ ไหว้ข้าพระองค์แล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้วได้พูดกะข้าพระองค์ว่า ข้าแต่ท่านพระอานนท์ผู้เจริญ ภิกษุณีมากรูปในธรรมวินัยนี้ มีจิตตั้งมั่นดีแล้วในสติปัฏฐาน ๔ ย่อมรู้คุณวิเศษอันยิ่งอย่างอื่นจากคุณวิเศษในกาลก่อน. เมื่อภิกษุณีทั้งหลายพูดอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ตอบว่า น้องหญิง ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง มีจิตตั้งมั่นดีแล้วในสติปัฏฐาน ๔ ภิกษุหรือภิกษุณีรูปนั้นพึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักรู้คุณวิเศษอันยิ่งอย่างอื่นจากคุณวิเศษในกาลก่อน.
[๗๑๖] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง มีจิตตั้งมั่นดีแล้วในสติปัฏฐาน ๔ ภิกษุหรือภิกษุณีรูปนั้นพึ่งหวังข้อนี้ได้ว่า จักรู้คุณวิเศษอันยิ่งอย่างอื่นจากคุณวิเศษในกาลก่อน. สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 404
[๗๑๗] ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย. เมื่อเธอพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ความเร่าร้อนมีกายเป็นอารมณ์ เกิดขึ้นในกายก็ดี ความหดหู่แห่งจิตเกิดขึ้นก็ดี จิตฟุ้งซ่านไปในภายนอกก็ดี. ภิกษุนั้นพึงตั้งจิตไว้ให้มั่นในนิมิต อันเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อเธอตั้งจิตไว้มั่นในนิมิต อันเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ ปราโมทย์ย่อมเกิด เมื่อเธอปราโมทย์ ปีติย่อมเกิด เมื่อเธอมีใจประกอบด้วยปีติ กายย่อมระงับ เธอมีกายระงับแล้ว ย่อมเสวยสุข เมื่อเธอมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น. เธอย่อมพิจารณาเห็นอย่างนี้ว่า เราตั้งจิตไว้เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นสำเร็จแก่เราแล้ว บัดนี้เราจะคุมจิตไว้. เธอคุมจิตไว้ และไม่ตรึก ไม่ตรอง ย่อมรู้ชัดว่า เราไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีสติ ในภายใน เป็นผู้มีความสุข ดังนี้.
[๗๑๘] ดูก่อนอานนท์ อีกประการหนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารพาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่... ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่... ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย. เมื่อเธอพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ ความเร่าร้อนมีธรรมเป็นอารมณ์เกิดขึ้นในกายก็ดี ความหดหู่แห่งจิตเกิดขึ้นก็ดี จิตฟุ้งซ่านไปในภายนอกก็ดี. ภิกษุนั้นพึงตั้งจิตไว้ให้มั่นในนิมิต อันเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อเธอตั้งจิตไว้มั่นในนิมิต อันเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ ปราโมทย์ย่อมเกิด เมื่อเธอปราโมทย์ ปีติย่อมเกิด เมื่อเธอมีใจประกอบด้วยปีติ กายย่อมระงับ เธอมีกายระงับแล้ว ย่อมเสวยสุข เมื่อเธอมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น. เธอย่อมพิจารณาเห็นอย่างนี้ว่า เราตั้งจิตไว้เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นสำเร็จแก่เราแล้ว
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 405
บัดนี้เราจะคุมจิตไว้. เมื่อเธอคุมจิตไว้ และไม่ตรึก ไม่ตรอง ย่อมรู้ชัดว่าเราไม่มีวิตก เราไม่มีวิจาร มีสติในภายใน เป็นผู้มีความสุข ดังนี้ ดูก่อนอานนท์ ภาวนาย่อมมีเพราะตั้งจิตไว้ ด้วยประการฉะนี้แล.
[๗๑๙] ดูก่อนอานนท์ ก็ภาวนาย่อมมีเพราะไม่ตั้งจิตไว้ในภายนอกอย่างไร. ดูก่อนอานนท์ ภิกษุมิได้ตั้งจิตไว้ในภายนอก ย่อมรู้ชัดว่า จิตอันเรามิได้ตั้งไว้ในภายนอก ในลำดับนั้น เธอย่อมรู้ชัดว่า จิตของเราไม่ได้ฟุ้งซ่านไปข้างหลังและข้างหน้า พ้นแล้วมิได้ตั้งอยู่ ก็แลในกาลนั้น เธอย่อมรู้ชัดว่า เราย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ เป็นผู้มีความสุข ดังนี้.
[๗๒๐] ดูก่อนอานนท์ ภิกษุมิได้ตั้งจิตไว้ในภายนอก ย่อมรู้ชัดว่า จิตอันเรามิได้ตั้งไว้ในภายนอก ในลำดับนั้น เธอย่อมรู้ชัดว่า จิตของเราไม่ฟุ้งซ่านไปข้างหลังและข้างหน้า พ้นแล้ว มิได้ตั้งอยู่ ก็แลในกาลนั้น เธอย่อมรู้ชัดว่า เราย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ เป็นผู้มีความสุข ดังนี้.
[๗๒๑] ดูก่อนอานนท์ ภิกษุมิได้ตั้งจิตไว้ในภายนอก ย่อมรู้ชัดว่า จิตอันเรามิได้ตั้งไว้ในภายนอก ในลำดับนั้น เธอย่อมรู้ชัดว่า จิตของเราไม่ฟุ้งซ่านไปข้างหลังและข้างหน้า พ้นแล้ว มิได้ตั้งอยู่ ก็แลในกาลนั้น เธอย่อมรู้ชัดว่า เราย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ เป็นผู้มีความสุข ดังนี้.
[๗๒๒] ดูก่อนอานนท์ ภิกษุมิได้ตั้งจิตไว้ในภายนอก ย่อมรู้ชัดว่า จิตอันเรามิได้ตั้งไว้ในภายนอก ในลำดับนั้น เธอย่อมรู้ชัดว่า จิตของเรามิได้ฟุ้งซ่านไปข้างหลังและข้างหน้า พ้นแล้ว มิได้ตั้งอยู่ ก็แลในกาลนั้น เธอย่อม
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 406
รู้ชัดว่า เราย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ เป็นผู้มีความสุข ดังนี้.
[๗๒๓] ดูก่อนอานนท์ ภาวนาย่อมมีเพราะไม่ได้ตั้งจิตไว้อย่างนี้แล ดูก่อนอานนท์ ภาวนาย่อมมีเพราะตั้งจิตไว้ เราแสดงแล้ว ภาวนาย่อมมี เพราะมิได้ตั้งจิตไว้ เราก็แสดงแล้ว ด้วยประการฉะนี้แล. ดูก่อนอานนท์ กิจอันใดอันศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์ ผู้อนุเคราะห์ มุ่งความอนุเคราะห์จะพึงทำแก่สาวกทั้งหลาย กิจอันนั้น เรากระทำแล้วแก่เธอทั้งหลาย. อานนท์ นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง. เธอทั้งหลายจงเพ่งพินิจ อย่าประมาท อย่าได้มีความร้อนใจในภายหลัง นี้เป็นอนุศาสนีของเรา สำหรับเธอทั้งหลาย.
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระอานนท์ปลื้มใจ ชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วแล.
จบภิกขุนีสูตรที่ ๑๐
จบอัมพปาลิวรรคที่ ๑
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 407
อรรถกถาภิกขุนีสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในภิกขุนีสูตรที่ ๑๐
บทว่า เตนุปสงฺกมิ ความว่า พระอานนท์เข้าไปหาด้วยคิดว่า เราจักให้พวกภิกษุณีผู้บำเพ็ญกัมมัฏฐานมีอยู่ในสำนักนั้น เกิดความขวนขวายแล้ว จักบอกกัมมัฏฐานแก่เธอเหล่านั้น. บทว่า อุฬารํ ปุพฺเพนาปรํ วิเสสํ ความว่า ย่อมรู้คุณวิเศษอันยิ่งอย่างอื่นจากคุณวิเศษในเบื้องต้น. การกำหนดมหาภูตรูปในบทนั้น เป็นคุณวิเศษในเบื้องต้น การกำหนดอุปาทายรูป ชื่อว่าคุณวิเศษในเบื้องปลาย การกำหนดสกลรูป เป็นคุณวิเศษในเบื้องต้นก็อย่างนั้น การกำหนดอรูป ชื่อว่า คุณวิเศษในเบื้องปลาย การกำหนดรูปและอรูปเป็นคุณวิเศษในเบื้องต้น. การกำหนดปัจจัย ชื่อว่า คุณวิเศษในเบื้องปลาย. การเห็นนามรูปพร้อมทั้งปัจจัย เป็นคุณวิเศษในเบื้องต้น. การยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ ชื่อว่า คุณวิเศษในเบื้องปลาย อธิบายว่า ย่อมรู้คุณวิเศษอันยิ่งเบื้องปลายจากคุณวิเศษในเบื้องต้นอย่างนี้.
บทว่า กายารมฺมโณ ความว่า เธอย่อมพิจารณาเห็นกายใด และความเร่าร้อนเพราะกิเลสย่อมเกิดขึ้น เพราะทำกายนั้นแลให้เป็นอารมณ์. บทว่า พหิทฺธา วา จิตฺตํ วิกฺขิปติ ความว่า จิตตุปบาทย่อมฟุ้งไปในภายนอก คือในอารมณ์มากบ้าง. บทว่า กิสฺมิฺจิเทว ปสาทนีเย นิมิตฺเต จิตฺตํ ปณิทหิตพฺพํ ความว่า เมื่อความเร่าร้อนเพราะกิเลส ความหดหู่ และความฟุ้งซ่านไปในภายนอกเกิดขึ้นแล้ว ไม่พึงประพฤติไปตามความยินดีของกิเลส คือพึงตั้งจิตไว้ในกัมมัฏฐาน ในนิมิต อันเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส คือนำความเลื่อมใสมาให้อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ในฐานะอย่างใด
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 408
อย่างหนึ่ง ในบรรดาพระพุทธเจ้าเป็นต้น. บทว่า จิตฺตํ สมาธิยติ ความว่า จิตรับอารมณ์โดยชอบ ย่อมตั้งมั่นดี. บทว่า ปฏิสํหรามิ ได้แก่ เราจะคุมจิต จากฐานะอันเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส อธิบายว่า เราจะทำจิตนั้นให้มุ่งตรงต่อมูลกัมมัฏฐาน. บทว่า โส ปฏิสํหรติ เจว ความว่า เธอส่งจิตมุ่งตรงต่อมูลกัมมัฏฐาน. บทว่า น จ วิตกฺเกติ น จ วิจาเรติ ความว่า ไม่ตรึกถึงกิเลส ไม่ตรองถึงกิเลส. บทว่า อวิตกฺโกมฺหิ อวิจาโร ความว่า เราไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร โดยวิตกวิจารในกิเลส. บทว่า อชฺฌตฺตํ สติมา สุขมสฺมิ ความว่า เธอย่อมรู้ชัดว่า เรามีสติ และมีความสุขดังนี้ ด้วยสติที่ดำเนินไปในภายในอารมณ์.
บทว่า เอวํ โข อานนฺท ปณิธาย ภาวนา โหติ ความว่า อานนท์ ภาวนามีก็เพราะตั้งจิตไว้อย่างนี้. ก็ภาวนาของภิกษุนี้ ผู้ถือเอากัมมัฏฐานไปเพื่อบรรลุพระอรหัต เมื่อความเร่าร้อนในกายเป็นต้น เกิดขึ้นแล้ว พักกัมมัฏฐานนั้นไว้ ยังจิตให้เลื่อมใส ด้วยการระลึกในพระพุทธคุณเป็นต้น ทำให้เป็นที่ตั้งแห่งการงาน ดำเนินไปแล้ว เหมือนการเดินไปของคนแบกอ้อยหนักมาก ไปยังโรงหีบอ้อย ในเวลาเหนื่อยแล้วและเหนื่อยแล้ว วางลงบนแผ่นดิน เคี้ยวกินท่อนอ้อยแล้ว ก็แบกไปอีกฉะนั้น. เพราะฉะนั้น พระองค์จึงตรัสว่า ภาวนามีเพราะตั้งใจไว้. พึงทราบการเสวยสุขในผลสมาบัติของภิกษุนี้ ผู้บำเพ็ญกัมมัฏฐานถึงที่สุดแล้ว ได้บรรลุพระอรหัต เหมือนคนนั้นนำอ้อยหนักนั้นไปยังโรงหีบอ้อย บีบอ้อยเสร็จแล้ว ดื่มรสฉะนั้น.
บทว่า พหิทฺธา ความว่า ละมูลกัมมัฏฐานไปในอารมณ์อื่นภายนอก บทว่า อปฺปณิธาย แปลว่า มิได้ตั้งจิตไว้. ในบทว่า อถ ปจฺฉา ปุเร อสงฺขิตฺตํ วิมุตฺตํ อปฺปณิหิตนฺติ ปชานาติ นี้ พึงทราบความหมายด้วยอำนาจกัมมัฏฐานบ้าง ด้วยอำนาจสรีระบ้าง ด้วยอำนาจเทศนาบ้าง.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 409
ในบทเหล่านั้น พึงทราบในกัมมัฏฐานก่อน ความเชื่อมั่นต่อกัมมัฏฐาน ชื่อว่า ข้างหน้า พระอรหัต ชื่อว่า ข้างหลัง. ในธรรมเหล่านั้น ภิกษุรูปใดถือเอามูลกัมมัฏฐาน ไม่ปล่อยโอกาสให้ความเร่าร้อนในกิเลส ความหดหู่ หรือความฟุ้งซ่านไปในภายนอก เกิดขึ้นได้ เมื่อเริ่มวิปัสสนา มีจิตมั่น ไม่ติด ย่อมบรรลุพระอรหัต เหมือนเทียมโคที่ฝึกดีให้แล่นไป และเหมือนใส่ลิ่มสีเหลี่ยมที่ถากไว้ในช่องสี่เหลี่ยม. ภิกษุรูปนั้นชื่อว่า ย่อมรู้ชัดว่า จิตไม่ฟุ้งซ่านไปข้างหลังและข้างหน้า พ้นแล้ว มิได้ตั้งอยู่ ด้วยอำนาจความเชื่อมั่นในกัมมัฏฐาน กล่าวคือข้างหน้า และพระอรหัตกล่าวคือข้างหลัง.
ส่วนในสรีระ ข้อปลายนิ้วเท้า ชื่อว่า ข้างหน้า กระโหลกศีรษะ ชื่อว่า ข้างหลัง. ในสองอย่างเหล่านั้น ภิกษุรูปใด มุ่งมั่นในกระดูกข้อปลายนิ้วเท้า เมื่อกำหนดกระดูกด้วยอำนาจการกำหนดสี สัณฐาน ทิศ โอกาส เหมือนฟาดฟ่อนข้าวเหนียว ห้ามความเกิดแห่งความเร่าร้อน เพราะกิเลสในระหว่างเป็นต้น บำเพ็ญภาวนาไปจนถึงกระโหลกศีรษะ. ภิกษุรูปนั้น ชื่อว่า ย่อมรู้ชัดว่า จิตของเราไม่ฟุ้งซ่านไปข้างหลังและข้างหน้า พ้นแล้ว มิได้ตั้งอยู่ ด้วยอำนาจแห่งข้อนิ้วปลายเท้า กล่าวคือข้างหน้า และแห่งกระโหลกศีรษะ กล่าวคือข้างหลัง.
แม้ในเทศนา ผมทั้งหลายชื่อว่า ข้างหน้าด้วยการแสดงอาการ ๓๒ มัตถลุงคัง (มันสมอง) ชื่อว่า ข้างหลัง. ในสองอย่างเหล่านั้น ภิกษุรูปใดมุ่งมั่นในผม กำหนดจับผมเป็นต้น ด้วยอำนาจ สี สัณฐาน ทิศ โอกาส ห้ามความเกิดแห่งความเร่าร้อนในกิเลสในระหว่าง บำเพ็ญภาวนาไปจนถึงมันสมอง. ภิกษุรูปนั้น ชื่อว่า ย่อมรู้ชัดว่า จิตของเราไม่ฟุ้งซ่านไปข้างหลังและข้างหน้า พ้นแล้ว มิได้ตั้งอยู่ ด้วยอำนาจผมกล่าวคือข้างหน้า และแห่งมันสมอง กล่าวคือข้างหลัง.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 410
บทว่า เอวํ โข อานนฺท อปฺปณิธาย ภาวนา โหติ ความว่า ดูก่อนอานนท์ ภาวนาย่อมมี เพราะมิได้ตั้งจิตไว้อย่างนี้ ก็กัมมัฏฐานภาวนาของภิกษุนี้ ย่อมเป็นไป เพราะห้ามความเกิดขึ้นแห่งความเร่าร้อนทางกายเป็นต้น แห่งการเริ่มภาวนา เพื่อบรรลุพระอรหัต เหมือนคนได้น้ำอ้อยงบหนัก เมื่อนำไปยังเรือนของตน ไม่พักในระหว่าง เคี้ยวกินก่อนน้ำอ้อยงบเป็นต้น ที่ใส่ไว้ในพก ย่อมหยั่งเข้าไปบ้านของตน ฉะนั้น เพราะฉะนั้น พระองค์จึงตรัสว่า ภาวนาย่อมมีเพราะมิได้ตั้งจิตไว้. พึงทราบการเสวยความสุขในผลสมาบัติของภิกษุนี้ ผู้บำเพ็ญกัมมัฏฐานถึงที่สุดแล้ว บรรลุพระอรหัตเหมือนคนนั้นนำน้ำอ้อยงบหนักไปยังบ้านของตนแล้ว บริโภคพร้อมด้วยพวกญาติ ฉะนั้น. ในพระสูตรนี้ ตรัสบุพภาควิปัสสนา คำที่เหลือในบททั้งปวงง่ายทั้งนั้นแล.
จบอรรถกถาภิกขุนีสูตรที่ ๑๐
จบอรรถกถาอัมพปาลิวรรคที่ ๑
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อัมพปาลิสูตร ๒. สติสูตร ๓. ภิกขุสูตร ๔. โกสลสูตร ๕. อกุสลราสิสูตร ๖. สกุณัคฆีสูตร ๗. มักกฏสูตร ๘. สูทสูตร ๙. คิลานสูตร ๑๐. ภิกขุนีสูตร พร้อมทั้งอรรถกถา.