พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. มหาปุริสสูตร ว่าด้วยผู้เป็นมหาบุรุษ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  11 ต.ค. 2564
หมายเลข  37868
อ่าน  414

[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 411

นาฬันทวรรค ที่ ๒

๑. มหาปุริสสูตร

ว่าด้วยผู้เป็นมหาบุรุษ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 30]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 411

นาฬันทวรรค ที่ ๒

๑. มหาปุริสสูตร (๑)

ว่าด้วยผู้เป็นมหาบุรุษ

[๗๒๔] สาวัตถีนิทาน. ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า มหาบุรุษๆ ดังนี้ บุคคลจะเป็นมหาบุรุษได้ด้วยเหตุเท่าไรหนอแล. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนสารีบุตร เราเรียกว่า มหาบุรุษ เพราะเป็นผู้มีจิตหลุดพ้น เราไม่เรียกว่า มหาบุรุษ เพราะเป็นผู้มีจิตยังไม่หลุดพ้น.

[๗๒๕] ดูก่อนสารีบุตร ก็บุคคลเป็นผู้มีจิตหลุดพ้นอย่างไร. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่. มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย. เมื่อเธอพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ จิตย่อมคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น. ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่... ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่... ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัด อภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย. เมื่อพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ จิตย่อมคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น. ดูก่อนสารีบุตร บุคคลเป็นผู้มีจิตหลุดพ้นอย่างนี้แล. เราเรียกว่า มหาบุรุษ เพราะเป็นผู้มีจิตหลุดพ้น เราไม่เรียกว่า มหาบุรุษ เพราะเป็นผู้มีจิตยังไม่หลุดพ้น.

จบมหาปุริสสูตรที่ ๑


(๑) ไม่มีอรรถกถาแก้