๘. พรหมสูตร สติปัฏฐาน ๔ เป็นทางอันเอก
[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 450
๘. พรหมสูตร
สติปัฏฐาน ๔ เป็นทางอันเอก
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 30]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 450
๘. พรหมสูตร
สติปัฏฐาน ๔ เป็นทางอันเอก
[๗๕๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า แรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ อชปาลนิโครธ แทบฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหลีกออก เร้นอยู่ในที่ลับ ได้เกิดความปริวิตกขึ้นในพระหฤทัยอย่างนี้ว่า ทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อล่วงความโศกและความร่ำไร เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำนิพพานให้แจ้ง คือ สติปัฏฐาน ๔. สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน. ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาโทมนัสในโลกเสีย. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่... พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่... พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย. ทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อล่วงความโศกและความร่ำไร เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำนิพพานให้แจ้ง คือ สติปัฏฐาน ๔.
[๗๕๕] ครั้งนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมทราบความปริวิตกในพระหฤทัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วด้วยใจ จึงหายตัวจากพรหมโลกมาปรากฏเบื้องพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้ หรือ คู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น. ท้าวสหัมบดีพรหมกระทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วได้กราบทูลว่า
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 451
[๗๕๖] ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อล่วงความโศกและความร่ำไร เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำนิพพานให้แจ้ง คือ สติปัฏฐาน ๔. สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน. ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่... พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่... พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย. ทางนี้เป็นทางไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อล่วงความโศกและความร่ำไร เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์โทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำนิพพานให้แจ้ง คือ สติปัฏฐาน ๔.
[๗๕๗] ท้าวสหัมบดีพรหมได้กราบทูลอย่างนี้แล้ว ครั้นแล้วได้กราบทูลนิคมคาถาต่อไปอีกว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงเห็นความสิ้นชาติและที่สุดชาติ ทรงอนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล ทรงทราบทางเป็นที่ไปอันเอก ในกาลก่อน ชนทั้งหลายข้ามโอฆะได้แล้วด้วยทางนี้ ในอนาคตก็จักข้ามด้วยทางนี้ และในบัดนี้ ก็ข้ามอยู่ด้วยทางนี้.
จบพรหมสูตรที่ ๘
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 452
อรรถกถาพรหมสูตร
พึงทราบอธิบายในพรหมสูตรที่ ๘
บทว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หรือว่าภิกษุทั้งหลาย... ในกาย ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมแสดงว่า ภิกษุทั้งหลายย่อมไม่มีในกาลนั้นเทียว แม้เมื่อเป็นอย่างนี้ ผู้ใดเจริญสติปัฏฐาน ผู้นั้นชื่อว่า เป็นภิกษุ เพราะทำลายกิเลสได้ จึงตรัสแล้วอย่างนี้.
บทว่า เอกายนํ ที่ไปอันเอก คือ ทางเดี่ยว. บทว่า ชาติขยนฺตทสฺสี ทรงเห็นความสิ้นชาติและที่สุดชาติ ความว่า ชื่อว่า นิพพาน เพราะอรรถว่า สิ้น และเพราะอรรถว่า ที่สุดแห่งชาติ. อธิบายว่า เห็นนิพพานนั้น. บทว่า ทรงทราบหนทาง ความว่า ทรงทราบหนทางที่เป็นทางเอก กล่าวคือทางเป็นไปอันเอก. ทางคือสติปัฏฐานที่เป็นส่วนเบื้องต้น ท่านเรียกว่า ทางเป็นที่ไปเบื้องหน้าอย่างเอก. อธิบายว่า ทรงรู้ทางนั้น.
จบอรรถกถาพรหมสูตรที่ ๘