พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. ปฐมเสทกสูตร ผู้รักษาผู้อื่นชื่อว่ารักษาตน

 
บ้านธัมมะ
วันที่  11 ต.ค. 2564
หมายเลข  37876
อ่าน  363

[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 453

๙. ปฐมเสทกสูตร

ผู้รักษาผู้อื่นชื่อว่ารักษาตน


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 30]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 453

๙. ปฐมเสทกสูตร

ผู้รักษาผู้อื่นชื่อว่ารักษาตน

[๗๕๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ นิคมของชาวสุมภะ ชื่อเสทกะ ในสุมภชนบท. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว คนจัณฑาลผู้เป็นนักไต่ราว ยกไม้ไผ่ขึ้นตั้งไว้แล้ว เรียกศิษย์ชื่อเมทกถาลิกะมาบอกว่า ดูก่อนเมทกถาลิกะผู้เป็นสหาย มาเถิดมาขึ้นไม้ไผ่ แล้วยืนอยู่บนคอของเรา. เมทกถาลิกะผู้เป็นศิษย์รับคำของนักไต่ราวแล้วขึ้นราวไม้ไผ่ ยืนอยู่บนคอของอาจารย์ ครั้งนั้นแล คนจัณฑาลนักไต่ราวจึงพูดกะเมทกถาลิกะผู้เป็นศิษย์ว่า ดูก่อนเมทกถาลิกะผู้เป็นสหาย ท่านจงรักษาเรา เราจักรักษาท่าน เราทั้งสองต่างคุ้มครองกันและกัน ต่างรักษากันและกันอย่างนี้ จักแสดงศิลปะ จักได้ลาภ และจักลงจากราวไม้ไผ่ได้โดยสวัสดี.

[๗๕๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่ออาจารย์กล่าวอย่างนี้แล้ว เมทกถาลิกะผู้เป็นศิษย์ได้กล่าวตอบว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ ก็เรื่องนี้จักเป็นอย่างนั้นหามิได้ ท่านจงรักษาตน ผมก็จักรักษาตน เราทั้งสองต่างคุ้มครองตน ต่างรักษาตนอย่างนี้ จักแสดงศิลปะ จักได้ลาภ แสะจักลงจากไม้ไผ่ได้โดยสวัสดี. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เหตุผลในข้อนั้นมีดังนี้ เหมือนศิษย์ชื่อเมทกถาลิกะได้พูดกะอาจารย์ ฉะนั้น. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอพึงเสพสติปัฏฐานด้วยคิดว่า เราจักรักษาตน พึงเสพสติปัฏฐานด้วยคิดว่า เราจักรักษาผู้อื่น. บุคคลผู้รักษาตน ย่อมชื่อว่ารักษาผู้อื่น บุคคลผู้รักษาผู้อื่น ชื่อว่ารักษาตน.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 454

[๗๖๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้รักษาตน ย่อมชื่อว่ารักษาผู้อื่นอย่างไร. ที่ชื่อว่ารักษาผู้อื่นด้วยการส้องเสพ ด้วยการเจริญ ด้วยการกระทำให้มาก. บุคคลผู้รักษาตน ย่อมชื่อว่ารักษาผู้อื่นอย่างนี้แล.

[๗๖๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้รักษาผู้อื่น ย่อมชื่อว่ารักษาตนอย่างไร. ที่ชื่อว่ารักษาตนด้วยความอดทน ด้วยความไม่เบียดเบียน ด้วยความมีจิตประกอบด้วยเมตตา ด้วยความเอ็นดู. บุคคลผู้รักษาผู้อื่น ย่อมชื่อว่ารักษาตนอย่างนี้แล.

[๗๖๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอพึงเสพสติปัฏฐานด้วยคิดว่า เราจักรักษาตน พึงเสพสติปัฏฐานด้วยคิดว่า เราจักรักษาผู้อื่น. บุคคลผู้รักษาตน ย่อมชื่อว่ารักษาผู้อื่น บุคคลผู้รักษาผู้อื่น ย่อมชื่อว่ารักษาตน.

จบปฐมเสทกสูตรที่ ๙

อรรถกถาปฐมเสทกสูตร

พึงทราบอธิบายในปฐมเสทกสูตรที่ ๙.

บทว่า ในนิคมชื่อสุมภะ ได้แก่ ในชนบทที่มีชื่ออย่างนี้. คำว่า เมทกถาลิกะ คือ ได้ชื่ออย่างนี้ด้วยอำนาจอิตถีลิงค์. ในบทว่า ท่านจงรักษาเรา เราจะรักษาท่าน นี้มีอธิบายว่า คนจัณฑาลนั้นมีลัทธิว่า อาจารย์เมื่อไม่จับเอาไม้ไผ่ที่ลูกศิษย์ยกขึ้นแล้ว จับไว้ให้ดี ไม่ไปทิศที่แล่นไปแล้ว.ๆ และไม่แลดูปลายไม้ไผ่ตลอดเวลาทั้งหมดชื่อว่าไม่รักษาลูกศิษย์. ลูกศิษย์ที่อาจารย์ไม่รักษาแล้วอย่างนี้ตกไปย่อมแหลกละเอียด. แต่ว่า อาจารย์

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 455

จับไม้ไผ่ไว้อย่างดี ไปตามทิศที่ลูกศิษย์แล่นไปๆ นั้น และตรวจดูปลายไม้ไผ่ตลอดเวลาทั้งหมด ชื่อว่าย่อมรักษาศิษย์นั้น. แม้ลูกศิษย์ที่ไต่ไปข้างโน้นข้างนี้ เหนื่อยเหมือนเนื้อวิ่งไปอยู่ ก็ชื่อว่าไม่รักษาอาจารย์. เพราะว่าเมื่อเป็นอย่างนี้ ปลายไม้ไผ่ที่คมกล้า ที่วางไว้บนพื้นหรือบนหน้าผากอาจารย์ ก็จะพึงทำลายที่อาจารย์นั้นแล้วไป ไม้ไผ่ก็จะไม่โอนไปเพราะครบอาการ ศิษย์เมื่อไม่เอนไปข้างนั้น เหมือนดึงไม้ไผ่นั้นมาแบ่งออกเป็นส่วนจากส่วนหนึ่ง แล้วให้จับเสาค้ำธาตุ ตั้งสติมั่น นั่งไม่ไหวทีเดียว ย่อมรักษาอาจารย์. อาจารย์ ขอท่านจงรักษาตน กระผมก็จะรักษาตน ในคำนี้มีอธิบายนี้ดังว่ามานี้แล. อาจารย์ เมื่อจับไม้ไผ่ให้มั่นดี ไปตามทิศที่ศิษย์ไต่ไปๆ และตรวจดูปลายไม้ไผ่ตลอดเวลาทั้งหมด ชื่อว่ารักษาตนนั่นเทียว ไม่ชื่อว่ารักษาศิษย์. ฝ่ายศิษย์แบ่งกายให้เป็นส่วนๆ จากส่วนหนึ่ง แล้วให้เสาค้ำธาตุ ตั้งสติมั่นดี นั่งนิ่ง ชื่อว่ารักษาตนทีเดียว ไม่ชื่อว่ารักษาอาจารย์.

บทว่า กายนั้นในนั้น ความว่า ศิษย์ชื่อว่า เมทกถาลิกะกล่าวอุบายใดกะอาจารย์ อุบายนั้น เหตุนั้นก็ใช้ได้ในเหตุนั้น. บทว่า พึงเสพสติปัฏฐาน ความว่า เพื่อเสพสติปัฏฐาน ๔. บทว่า ด้วยการส้องเสพ ความว่า ด้วยการเสพกรรมฐาน. คำว่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อรักษาตน ชื่อว่ารักษาผู้อื่นอย่างนี้ ความว่า ภิกษุใดละกามราคะเป็นต้น เสพมูลกรรมฐาน ทั้งในที่พักกลางคืนและกลางวัน ย่อมบรรลุพระอรหัต. ทีนั้นคนอื่นเห็นเธอเข้า คิดว่า ภิกษุนี้ ช่างดีแท้หนอ เป็นผู้ปฏิบัติชอบ แล้วยังจิตให้เลื่อมใสในภิกษุนั้น ครั้นตายไปก็ไปสวรรค์ บุคคลนี้เมื่อรักษาตน ก็ชื่อว่ารักษาคนอื่นด้วย. คำว่า ด้วยความอดทน ได้แก่ ด้วยความอดทน. คือความอดกลั้น. คำว่า ด้วยความไม่เบียดเบียน คือ ด้วยความสงสารที่

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 456

เป็นไปกับส่วนเบื้องต้น. คำว่า ด้วยความเป็นผู้มีจิตที่ประกอบด้วยความหวังดี คือด้วยความรักที่เป็นไปกับส่วนเบื้องต้น. คำว่า ด้วยความเอ็นดู หมายถึงด้วยความบันเทิงอันเป็นไปกับส่วนเบื้องต้นแห่งความค่อยๆ เจริญ. ในคำว่า เมื่อรักษาคนอื่นก็ชื่อว่ารักษาตน นี้มีอธิบายว่า ภิกษุไปสู่ที่พักกลางคืนหรือที่พักกลางวันแล้ว ทำฌานหมวดสามหรือหมวดสี่ในพรหมวิหารให้เกิดแล้ว เอาฌานเป็นที่รองรับมาพิจารณาสังขาร เจริญวิปัสสนาจนได้เป็นพระอรหันต์นี้ ก็พึงทราบว่า เมื่อรักษาคนอื่นก็ชื่อว่ารักษาตนด้วย.

จบอรรถกถาปฐมเสทกสูตรที่ ๙