พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. ฐิติสูตร ว่าด้วยการตั้งอยู่แห่งพระสัทธรรม

 
บ้านธัมมะ
วันที่  11 ต.ค. 2564
หมายเลข  37879
อ่าน  338

[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 462

๒. ฐิติสูตร

ว่าด้วยการตั้งอยู่แห่งพระสัทธรรม


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 30]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 462

๒. ฐิติสูตร

ว่าด้วยการตั้งอยู่แห่งพระสัทธรรม

[๗๗๐] นิทานต้นสูตรเหมือนกัน ท่านพระภัททะนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ถามท่านพระอานนท์ว่า

[๗๗๑] ดูก่อนท่านอานนท์ อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ไม่ได้นาน ในเมื่อพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว. และอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้นาน ในเมื่อพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว.

ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ดีละๆ ท่านภัททะ ท่านช่างคิด ช่างเฉียบแหลม ช่างไต่ถามเหมาะๆ. ก็ท่านถามอย่างนี้หรือว่า ดูก่อนท่านอานนท์ อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ไม่ได้นาน ในเมื่อพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว. และอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้นาน ในเมื่อพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว.

ภ. อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.

[๗๗๒] อา. ดูก่อนท่านผู้มีอายุ เพราะบุคคลไม่ได้เจริญ ไม่ได้กระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔ พระสัทธรรมจึงตั้งอยู่ไม่ได้นาน ในเมื่อพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว. และเพราะบุคคลเจริญ กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ พระสัทธรรมจึงตั้งอยู่ได้นาน ในเมื่อพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว. สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกาย

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 463

ในกายอยู่. มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย. ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่... ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่... ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย. ดูก่อนท่านผู้มีอายุ เพราะบุคคลไม่ได้เจริญ ไม่ได้กระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้แล พระสัทธรรมจึงตั้งอยู่ไม่ได้นาน ในเมื่อพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว. และเพราะบุคคลได้เจริญ ได้กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้แล พระสัทธรรมจึงตั้งอยู่ได้นาน ในเมื่อพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว.

จบฐิติสูตรที่ ๒

อรรถกถาฐิติสูตร

ในฐิติสูตรที่ ๒ คำว่า ย่อมมีการเสื่อมสูญแห่งพระสัทธรรม (๑) ได้แก่ ย่อมมีความเสื่อมหายด้วยอำนาจบุคคล. จริงอยู่ ภิกษุใด ตอนที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายยังทรงพระชนม์อยู่ ไม่เจริญสติปัฏฐาน ๔ พระสัทธรรมของภิกษุนั้น ก็เป็นอันหายไป เหมือนพระสัทธรรมของพระเทวทัตเป็นต้น. ในสูตรนี้ ตรัสถึงความสูญหายแห่งธรรมของบุคคลนั้นแล.

จบอรรถกถาฐิติสูตรที่ ๒


(๑) พม่าไม่มี แห่งพระสัทธรรม