พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. มานทินนสูตร ผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ได้อนาคามิผล

 
บ้านธัมมะ
วันที่  11 ต.ค. 2564
หมายเลข  37887
อ่าน  331

[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 474

๑๐. มานทินนสูตร

ผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ได้อนาคามิผล


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 30]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 474

๑๐. มานทินนสูตร (๑)

ผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ได้อนาคามิผล

[๗๙๓] นิทานต้นสูตรเหมือนกัน. ก็สมัยนั้น มานทินนคฤหบดี อาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ครั้งนั้น มานทินนคฤหบดีเรียกบุรุษคนหนึ่งมาสั่งว่า มานี่แน่ะ บุรุษผู้เจริญ ท่านจงเข้าไปหาพระอานนท์ถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว จงกราบเท้าทั้งสองของท่านด้วยเศียรเกล้า ตามคำของเราว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ มานทินนคฤหบดีอาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก เขาขอกราบเท้าทั้งสองของท่านพระอานนท์ด้วยเศียรเกล้า ดังนี้ และจงเรียนอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ได้โปรดเถิด ขอท่านพระอานนท์จงอาศัยความอนุเคราะห์ เข้าไปยังนิเวศน์ของมานทินนคฤหบดีเถิด. บุรุษนั้นรับคำมานทินนคฤหบดีแล้ว เข้าไปหาพระอานนท์ถึงที่อยู่ นมัสการท่านพระอานนท์แล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้วได้เรียนท่านพระอานนท์ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ มานทินนคฤหบดีอาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ท่านขอกราบเท้าทั้งสองของท่านพระอานนท์ด้วยเศียรเกล้า และสั่งให้เรียนอย่างนั้นว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ได้โปรดเถิด ขอท่านพระอานนท์อาศัยความอนุเคราะห์ เข้าไปยังนิเวศน์ของมานทินนคฤหบดีเถิด. ท่านพระอานนท์รับคำด้วยดุษณีภาพ. ครั้งนั้น เวลาเช้า ท่านพระอานนท์นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังนิเวศน์ของมานทินนคฤหบดี แล้วนั่งบนอาสนะที่เขาปูถวาย. ครั้นแล้วได้ถามมานทินนคฤหบดีว่า ดูก่อนคฤหบดี ท่านพอจะอดทนได้หรือ พอจะยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนาย่อมคลายลงไม่กำเริบขึ้นหรือ ความทุเลาปรากฏ ความกำเริบไม่


(๑) อรรถกถาว่า มีเนื้อความง่าย

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 475

ปรากฏหรือ. มานทินนคฤหบดีตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมอดทนไม่ได้ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของกระผมยังกำเริบหนัก ไม่เสื่อมคลายไปเลย ความกำเริบยังปรากฏอยู่ ความทุเลาไม่ปรากฏ.

[๗๙๔] ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมอันทุกขเวทนาเห็นปานนี้กระทบแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่... พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่... พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย.

[๗๙๕] ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็สังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องต่ำ ๕ เหล่าใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ กระผมยังไม่แลเห็นสังโยชน์ข้อใดข้อหนึ่งที่ยังละไม่ได้แล้วในตน. ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ดูก่อนคฤหบดี เป็นลาภของท่าน ท่านได้ดีแล้ว อนาคามิผลอันท่านกระทำให้แจ้งแล้ว.

จบมานทินนสูตรที่ ๑๐

จบสีลัฏฐิติวรรคที่ ๓

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สีลสูตร ๒. ฐิติสูตร ๓. ปริหานสูตร ๔. สุทธกสูตร ๕. พราหมณสูตร ๖. ปเทสสูตร ๗. สมัตตสูตร ๘. โลกสูตร ๙. สิริวัฑฒสูตร ๑๐. มานทินนสูตร