พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. ปาฏิโมกขสูตร ว่าด้วยปาฏิโมกขสังวร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  11 ต.ค. 2564
หมายเลข  37904
อ่าน  446

[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 490

๖. ปาฏิโมกขสูตร

ว่าด้วยปาฏิโมกขสังวร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 30]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 490

๖. ปาฏิโมกขสูตร

ว่าด้วยปาฏิโมกขสังวร

[๘๒๗] ครั้งนั้น พระภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์ ซึ่งข้าพระองค์ได้ฟังแล้วจะพึงเป็นผู้ผู้เดียว หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวเถิด.

[๘๒๘] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ดูก่อนภิกษุ เพราะฉะนั้นแหละ เธอจงชำระเบื้องต้นในกุศลธรรมให้บริสุทธิ์เสียก่อน ก็อะไรเป็นเบื้องต้นของกุศลธรรม เธอจงสำรวมในปาฏิโมกขสังวร จงถึงพร้อมด้วยมารยาทและโคจร เห็นภัยในโทษมีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย.

[๘๒๙] ดูก่อนภิกษุ เมื่อใดแล เธอจักสำรวมในปาฏิโมกขสังวร จักถึงพร้อมด้วยมารยาทและโคจร เห็นภัยในโทษมีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย เมื่อนั้น เธออาศัยศีลดำรงอยู่ในศีลแล้ว พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน ดูก่อนภิกษุ เธอจงพิจารณาเห็นกายในกายอยู่... ในเวทนาอยู่... ในจิตอยู่... พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย เมื่อใด เธอจักอาศัยศีลดำรงอยู่ในศีลแล้ว เจริญสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ อย่างนี้ เมื่อนั้น เธอพึงหวังความเจริญในกุศลธรรมได้ทีเดียว ตลอดคืนหรือวันที่จักมาถึง ไม่มีความเสื่อม.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 491

[๘๓๐] ครั้งนั้นแล ภิกษุนั้นชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้ากระทำประทักษิณ แล้วหลีกไป ภิกษุนั้นเป็นผู้ผู้เดียว หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ไม่นานนักก็กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้นมิได้มี ก็แลภิกษุนั้นเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย.

จบปาฏิโมกขสูตรที่ ๖

อรรถกถาปาฏิโมกขสูตร

ปาฏิโมกขสังวรสูตรที่ ๖. คำว่า ผู้สำรวมด้วยความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงศีลที่ประเสริฐที่สุดของศีลทั้ง ๔ อย่าง จึงได้ตรัสอย่างนี้. ท่านปีฏกจุลนาคเถระกล่าวว่า ศีล ก็คือการสำรวมในพระปาฏิโมกข์นั่นเอง. ท่านค้านว่า ขึ้นชื่อว่าฐานะที่ว่าอีก ๓ ข้อ เป็นศีล ไม่มี เมื่อไม่ยอมเห็นด้วยอย่างเด็ดขาดจึงกล่าวไว้. ที่ชื่อว่า อินทริยสังวร ก็สักว่าที่เป็นไปในทวาร ๖ เท่านั้น อาชีวปาริสุทธิ ก็สักว่าที่เกิดปัจจัยขึ้นโดยถูกต้องตามทำนองคลองธรรมเท่านั้น. ชื่อว่า ปัจจัยนิสสิต ก็ตรงที่พิจารณาว่าเพื่อประโยชน์นี้ในปัจจัยที่ได้มาแล้วบริโภค (เพราะฉะนั้น) ว่าโดยตรง ศีลก็คือการสำรวมในพระปาฏิโมกข์เท่านั้น. ปาฏิโมกขสังวรนั้น ของภิกษุใดแตกแล้ว ภิกษุนี้ก็ไม่พึงกล่าวได้ว่า

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 492

จะรักษาศีลที่เหลือไว้ได้เพราะเหมือนคนหัวขาด ไม่มีทางจะรักษามือเท้าไว้ได้ ฉะนั้น. ส่วนปาฏิโมกขสังวรนั้น ของภิกษุใดไม่เสียหาย ภิกษุนี้ก็สามารถเพื่อทำศีลที่เหลือให้กลับเป็นปกติได้อีกแล้วรักษาข้ออื่น เหมือนคนหัวไม่ขาดสามารถรักษาชีวิตไว้ได้ฉะนั้น. เพราะฉะนั้น ศีลก็คือปาฏิโมกขสังวรนั่นเอง. ด้วยความสำรวมในพระปาฏิโมกข์นั้น. คำว่า ผู้สำรวมแล้ว หมายความว่า ผู้สำรวม เข้าถึงคือประกอบด้วยความสำรวมในพระปาฏิโมกข์. คำว่า ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร คือสมบูรณ์ทั้งอาจาระ ทั้งโคจร. คำว่า อณุมตฺเตสุ คือมีประมาณเล็กน้อย. คำว่า โทษ คือในธรรมที่เป็นอกุศล คำว่า มีปกติเห็นภัย คือเห็นเป็นของน่ากลัวโดยปกติ. คำว่า ยึดมั่น คือถือไว้อย่างถูกต้อง. คำว่า จงศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย ได้แก่ การยึดถือศึกษาสิกขาบทนั้นๆ ในสิกขาบททั้งหลาย คือก็สิกขาบทไรๆ ที่เกี่ยวกับกายหรือที่เกี่ยวกับวาจาที่ต้องศึกษาในส่วนสิกขา ในสิกขาบททั้งหลายนั้นใดจงสมาทานศึกษาสิกขาบททั้งหมดนั้น ด้วยประการฉะนี้. นี้เป็นความย่อในพระสูตรนี้ ส่วนความพิสดาร ท่านกล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค. ด้วยประการฉะนี้ ในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแต่ปาฏิโมกขสังวรศีลเท่านั้น.

จบอรรถกถาปฏิโมกขสูตรที่ ๖