พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. ทุจริตสูตร ว่าด้วยทุจริต และสุจริต

 
บ้านธัมมะ
วันที่  11 ต.ค. 2564
หมายเลข  37905
อ่าน  369

[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 493

๗. ทุจริตสูตร

ว่าด้วยทุจริต และสุจริต


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 30]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 493

๗. ทุจริตสูตร

ว่าด้วยทุจริต และสุจริต

[๘๓๑] ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ฯลฯ แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์ ซึ่งข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว จะพึงเป็นผู้ผู้เดียว หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวเถิด.

[๘๓๒] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เพราะฉะนั้นแหละ เธอจงชำระเบื้องต้นในกุศลธรรมให้บริสุทธิ์เสียก่อน ก็อะไรเป็นเบื้องต้นของกุศลธรรม เธอจักละกายทุจริต เจริญกายสุจริต จักละวจีทุจริต เจริญวจีสุจริต จักละมโนทุจริต เจริญมโนสุจริต.

[๘๓๓] ดูก่อนภิกษุ เมื่อใดแล เราจักละกายทุจริต เจริญกายสุจริต จักละวจีทุจริต เจริญวจีสุจริต จักละมโนทุจริต เจริญมโนสุจริต เมื่อนั้น เธอพึงอาศัยศีลดำรงอยู่ในศีลแล้ว เจริญสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน เธอจงพิจารณาเห็นกายในกายอยู่... ในเวทนาอยู่... ในจิตอยู่... จงพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย เมื่อใดแล เธอจักอาศัยศีลดำรงอยู่ในศีลแล้ว เจริญสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ อย่างนี้ เมื่อนั้น เธอพึงหวังความเจริญในกุศลธรรมได้ทีเดียว ตลอดคืนหรือวันที่จักมาถึง ไม่มีความเสื่อมเลย ฯลฯ ก็แลภิกษุรูปนั้น เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย.

จบทุจริตสูตรที่ ๗

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 494

อรรถกถาทุจริตสูตร

สูตรที่ ๗. กายสุจริตและวจีสุจริตเป็นปาฏิโมกขสังวรศีล มโนสุจริต เป็นศีลอีก ๓ ชนิด เพราะเหตุนั้น จึงเป็นอันว่าจตุปาริสุทธิศีล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงไว้แล้ว. โดยนัยนี้ แม้กรรมบถสามข้อหลัง ในกุศลกรรมบถสิบ ในปปัญจสูตร และในอีกเก้าสูตร ก็พึงทราบว่าเป็นศีลด้วย. คำที่เหลือ ตื้นทั้งนั้นแล.

จบอรรถกถาทุจริตสูตรที่ ๗