พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

อทันตวรรคที่ ๔ ว่าด้วยจิตที่เป็นไปเพื่อประโยชน์และมิใช่ประโยชน์

 
บ้านธัมมะ
วันที่  15 ต.ค. 2564
หมายเลข  38270
อ่าน  484
  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 87

อทันตวรรคที่ ๔

ว่าด้วยจิตที่เป็นไปเพื่อประโยชน์และมิใช่ประโยชน์

[๓๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้อย่างหนึ่ง ที่ไม่ฝึกแล้ว ย่อมเป็นไป เพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่เหมือนจิต ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตที่ไม่ฝึกแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่.

[๓๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้อย่างหนึ่ง ที่ฝึกแล้ว ย่อมเป็นไป เพื่อประโยชน์อย่างใหญ่เหมือนจิต ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตที่ฝึกแล้ว ย่อมเป็นประโยชน์อย่างใหญ่

[๓๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้อย่างหนึ่ง ที่ไม่คุ้มครองแล้ว ย่อมเป็นไป เพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่เหมือนจิต ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตที่ไม่คุ้มครองแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่.

[๓๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้อย่างหนึ่ง ที่คุ้มครองแล้ว ย่อมเป็นไป เพื่อประโยชน์อย่างใหญ่เหมือนจิต ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตที่คุ้มครองแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใหญ่.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 88

[๓๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้อย่างหนึ่ง ที่ไม่รักษาแล้ว ย่อมเป็นไป เพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่เหมือนจิต ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตที่ไม่รักษาแล้ว ย่อมเป็นไป เพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่.

[๓๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้อย่างหนึ่ง ที่รักษาแล้ว ย่อมเป็นไป เพื่อประโยชน์อย่างใหญ่เหมือนจิต ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตที่รักษาแล้ว ย่อมเป็นไป เพื่อประโยชน์อย่างใหญ่.

[๓๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้อย่างหนึ่ง ที่ไม่สังวรแล้ว ย่อมเป็นไป เพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่เหมือนจิต ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตที่ไม่สังวรแล้ว ย่อมเป็นไป เพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่.

[๓๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้อย่างหนึ่ง ที่สังวรแล้ว ย่อมเป็นไป เพื่อประโยชน์อย่างใหญ่เหมือนจิต ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตที่สังวรแล้ว ย่อมเป็นไป เพื่อประโยชน์อย่างใหญ่.

[๔๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้อย่างหนึ่ง ที่ไม่ฝึกแล้ว ไม่คุ้มครองแล้ว ไม่รักษาแล้ว ไม่สังวรแล้ว ย่อมเป็นไป เพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่เหมือนจิต ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตที่ไม่ฝึกแล้ว ไม่คุ้มครองแล้ว ไม่รักษาแล้ว ไม่สังวรแล้ว ย่อมเป็นไป เพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 89

[๔๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้อย่างหนึ่ง ที่ฝึกแล้ว คุ้มครองแล้ว รักษาแล้ว สังวรแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใหญ่ เหมือนจิต ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตที่ฝึกแล้ว คุ้มครองแล้ว รักษาแล้ว สังวรแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใหญ่.

จบ อทันตวรรคที่ ๔

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 90

อรรถกถาอทันตวรรคที่ ๔

อรรถกถาสูตรที่ ๑

วรรคที่ ๔ สูตรที่ ๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า อทนฺตํ ได้แก่ มีการเสพผิด (คือมีพยศ) เหมือนช้าง และม้าเป็นต้น ที่มิได้ฝึก บทว่า จิตฺตํ ได้แก่ จิตที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจวัฏฏะ

จบ อรรถกถาสูตรที่ ๑

อรรถกถาสูตรที่ ๒

ในสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า ทนฺตํ ได้แก่ หมดพยศ คือเป็นเสมือนช้างและม้า เป็นต้นที่ฝึกแล้ว ในสูตรทั้ง ๒ นี้ ท่านกล่าวเฉพาะจิต ที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจวัฏฏะและวิวัฏฏะ ก็ในสูตรนี้ฉันใด แม้ในสูตรอื่นๆ จากสูตรนี้ ก็ฉันนั้น.

จบ อรรถกถาสูตรที่ ๒

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 91

อรรถกถาสูตรที่ ๓

ในสูตรที่ ๓ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า อคุตฺตํ ได้แก่ ไม่คุ้มครอง คือเว้นจากสติสังวร เป็นเสมือนช้างและม้า ที่ไม่คุ้มครอง (คือไม่มีคนเลี้ยง) ฉะนั้น.

จบ อรรถกถาสูตรที่ ๓

อรรถกถาสูตรที่ ๔

ในสูตรที่ ๔ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า คุตฺตํ ได้แก่ คุ้มครองแล้ว คือไม่ปล่อยสติสังวร เป็นเสมือนช้างและม้าเป็นต้น ที่ได้คุ้มครองแล้ว.

จบ อรรถกถาสูตรที่ ๔

อรรถกถสูตรที่ ๕ - ๖

ในสูตรที่ ๕ - ๖ ท่านกล่าวตามอัธยาศัยของสัตว์ ผู้จะตรัสรู้ ด้วยอำนาจ บทว่า อรกฺขิตํ ก็อรรถในบทนี้ เหมือนบทก่อน นั่นแล.

จบ อรรถกถาสูตรที่ ๕ - ๖

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 92

อรรถกถาสูตรที่ ๗ - ๘

แม้ในสูตรที่ ๗ - ๘ ก็นัยนี้เหมือนกัน แต่ในข้อนี้พึงทราบ อุปมาด้วยประตูเรือนเป็นต้น ที่ไม่ระวัง.

จบ อรรถกถาสูตรที่ ๗ - ๘

อรรถกถาสูตรที่ ๙ - ๑๐

ในสูตรที่ ๙ - ๑๐ ท่านเอาบท ๔ บทมาประกอบแล้วกล่าว ในวรรคนี้ ท่านกล่าวเฉพาะ วัฏฏะ และวิวัฏฏะ เท่านั้นแล.

จบ อรรถกถาสูตรที่ ๙ - ๑๐

จบ อรรถกถาอทันตวรรคที่ ๔