กิเลสนั้นละยาก และละเอียดจริงๆ

 
chatchai.k
วันที่  16 ต.ค. 2564
หมายเลข  38273
อ่าน  101

ถ้าใครเข้าใจว่าละได้ง่ายๆ เพียงแต่ปล่อยวาง และคิดว่าไม่ได้พอใจในสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไม่ติด ไม่ข้อง เป็นผู้ที่ละวางแล้ว โดยที่ปัญญายังไม่เกิดขึ้นรู้ลักษณะของ สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็แสดงว่า ผู้นั้นไม่ได้รู้ลักษณะของความติดหรือ ความพอใจที่สะสมมานาน และมีอยู่ตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน


อกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง ซึ่งจำแนกออกเป็น ๙ จำพวก เพื่อจะได้เห็นลักษณะของสภาพกิจการงาน ของอกุศลเจตสิกทั้ง ๑๔ ดวงว่าต่างกันอย่างไร

แม้ว่าอกุศลเจตสิกมี ๑๔ ดวง แต่จำแนกเป็นอกุศลธรรม ๙ จำพวก คือ

๑. อาสวะ ๔

๒. โอฆะ ๔

๓. โยคะ ๔

๔. อุปาทาน ๔

๕. กายคันถะ ๔

๖. นิวรณ์ ๕

๗. อนุสัย ๗

๘. สังโยชน์ ๑๐

๙. กิเลส ๑๐

สำหรับอาสวะ ๔ ธรรมอื่นนอกจากอาสวะ ๔ นี้ ไม่ใช่อาสวะ

ถึงแม้ว่าอกุศลเจตสิกมี ๑๔ ดวง แต่โลภเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิต ๘ ดวง เป็นกามาสวะ โลภเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ดวง เป็นภวาสวะ ทิฏฐิเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง เป็นทิฏฐาสวะ อวิชชาสวะ ได้แก่ โมหเจตสิกซึ่งเกิดกับอกุศลจิตทุกดวง รวมเป็นโลภเจตสิก ๑ ทิฏฐิเจตสิก ๑ และโมหเจตสิก ๑ ซึ่งเป็นอาสวะ ๔

แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่อกุศลเจตสิกทุกประเภทเป็นอาสวะ แต่เฉพาะโลภเจตสิก ทิฏฐิเจตสิก และโมหเจตสิก เป็นอาสวะ

สำหรับอาสวะ ๔ นั้น กามาสวะ คือ ความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งไหลไป คล้อยไปตามอารมณ์ที่ปรากฏทุกขณะ ผู้ที่จะดับกามาสวะได้ คือ อนาคามิมรรคจิต ต้องบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอนาคามี จึงดับกามสวะได้

ภวาสวะ คือ ความพอใจในรูปภพ อรูปภพ ความติดใจในฌาน ซึ่งอรหัตตมรรคจิตดับได้ ความพอใจอันเกิดร่วมกับสัสสตทิฏฐิ อันโสตาปัตติมรรคดับได้

ทิฏฐาสวะ คือ ความเห็นผิดจากความเป็นจริงของสภาพธรรมทั้งปวง โสตาปัตติมรรคจิตดับได้

อวิชชาสวะ คือ ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม เกิดกับอกุศลจิตทุกดวง อรหัตตมรรคละได้

เรื่องของอาสวะ ๔ ไม่มีปัญหา เพราะมีข้อความที่ชัดเจนว่า มรรคจิตใดดับ อาสวะใด

อาสวะ ได้แก่ เจตสิกเพียง ๓ ดวง คือ โลภเจตสิก เป็น กามาสวะ เกิดกับโลภมูลจิตทั้ง ๘ ดวง นอกจากนั้น โลภเจตสิกที่เกิดกับ โลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ เป็น ภวาสวะ

ทิฏฐิเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ เป็น ทิฏฐาสวะ

โมหเจตสิกซึ่งเกิดกับอกุศลจิตทุกดวง เป็น อวิชชาสวะ

ธรรมอื่น คือ อกุศลเจตสิกนอกจากนี้ ไม่ใช่อาสวะ คือ ไม่ใช่ธรรมที่หมักดองไว้นาน หรือว่าไหลไป หลากไปอยู่ตลอดเวลาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

การศึกษาเรื่องของอกุศลจิต ๑๒ ดวง และอกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง ซึ่งจำแนกออกเป็นอกุศลธรรม ๙ จำพวกนี้ ควรจะน้อมมาพิจารณาสภาพธรรมที่ตนเองเพื่อให้เข้าใจชัด และเพื่ออบรมเจริญปัญญาที่จะดับอกุศลธรรมจำพวกนั้นๆ ได้เป็นสมุจเฉทโดยถูกต้อง เพราะว่ากิเลสนั้นละยาก และละเอียดจริงๆ

ถ้าใครเข้าใจว่าละได้ง่ายๆ เพียงแต่ปล่อยวาง และคิดว่าไม่ได้พอใจในสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไม่ติด ไม่ข้อง เป็นผู้ที่ละวางแล้ว โดยที่ปัญญายังไม่เกิดขึ้นรู้ลักษณะของ สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็แสดงว่า ผู้นั้นไม่ได้รู้ลักษณะของความติดหรือ ความพอใจที่สะสมมานาน และมีอยู่ตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน จนกระทั่งนอกจากจะเป็นอาสวะ เป็นโอฆะ เป็นโยคะแล้ว ยังเป็นอุปาทานด้วย

ซึ่งในชีวิตประจำวันจะเห็นได้จริงๆ ว่า วันหนึ่งๆ คงจะมีเวลาเพื่อที่จะศึกษาธรรม อ่าน ฟัง พิจารณา หรือระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏบ้าง แต่เมื่อเทียบขณะที่สนใจธรรม อ่านธรรม พิจารณาธรรม ศึกษาธรรม สนทนาธรรม หรือขณะที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ กับขณะอื่นๆ จะเห็นได้ว่า น้อยเหลือเกิน เพราะขณะที่กำลังสนทนาธรรม หรือกำลังคิดถึงเรื่องธรรม กำลังพิจารณาธรรม ก็เพียงชั่วครู่ชั่วยาม เดี๋ยวเดียวจริงๆ เรื่องอื่นซึ่งเป็นเรื่องของรูป เรื่องของเสียง เรื่องของกลิ่น เรื่องของรส เรื่องของโผฏฐัพพะ เรื่องของความยินดีพอใจในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ ในสุขต่างๆ ก็เข้ามาทันที

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า โลภะละยากจริงๆ และความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะซึ่งเป็นกามุปาทาน ก็ทำให้เกิดความยึดมั่น พอใจ ต้องการที่จะได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะมาเพื่อตน เพราะฉะนั้น ก็มีความสำคัญในตน เมื่อมีความยินดีพอใจสะสมติดแน่นในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็เกิดความยึดมั่นว่า เป็นตัวตน เป็นเราขึ้น

ที่มา ฟัง และ อ่านเพิ่มเติม

ชุด อกุศลธรรม ๙ กอง แผ่นที่ 1 ตอนที่ 1

ชุด อกุศลธรรม ๙ กอง


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ