พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

อนาปัตติวรรคที่ ๑๒ ว่าด้วยผู้ทําให้พระสัทธรรมอันตรธาน

 
บ้านธัมมะ
วันที่  16 ต.ค. 2564
หมายเลข  38328
อ่าน  426
  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 178

อนาปัตติวรรคที่ ๑๒

ว่าด้วยผู้ทำให้พระสัทธรรมอันตรธาน

[๑๓๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพวกที่แสดงอนาบัติว่า เป็นอาบัติ ฯลฯ ที่แสดงอาบัติว่า เป็นอนาบัติ ฯลฯ ที่แสดงลหุกาบัติว่า เป็นครุกาบัติ ฯลฯ ที่แสดงครุกาบัติว่า เป็นลหุกาบัติ ฯลฯ ที่แสดงอาบัติชั่วหยาบว่า เป็นอาบัติไม่ชั่วหยาบ ฯลฯ ที่แสดงอาบัติไม่ชั่วหยาบว่า เป็นอาบัติชั่วหยาบ ฯลฯ ที่แสดงอาบัติมีส่วนเหลือว่า เป็นอาบัติไม่มีส่วนเหลือ ฯลฯ ที่แสดง อาบัติไม่มีส่วนเหลือว่า เป็นอาบัติมีส่วนเหลือ ฯลฯ ที่แสดงอาบัติทำคืน ได้ว่าเป็นอาบัติทำคืนไม่ได้ ฯลฯ ที่แสดงอาบัติทำคืนไม่ได้ว่า เป็นอาบัติทำคืนได้ ภิกษุเหล่านั้นชื่อว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อไม่เป็นสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนัตถะ เพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความทุกข์แก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย ทั้งย่อมประสบบาปใช่บุญเป็นอันมาก และย่อมทำให้สัทธรรมนี้ อันตรธาน.

[๑๓๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพวกที่แสดงอนาบัติว่า เป็นอนาบัติ ภิกษุเหล่านั้นชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออัตถะ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทั้งย่อมประสบบุญเป็นอันมาก และย่อมดำรงสัทธรรมนี้ไว้มั่น.

[๑๓๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพวกที่แสดงอาบัติว่า เป็นอาบัติ ภิกษุเหล่านั้นชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 179

แก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออัตถะ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทั้งย่อมประสบบุญเป็นอันมาก และย่อมดำรงสัทธรรมนี้ไว้มั่น.

[๑๓๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพวกที่แสดงลหุกาบัติว่า เป็นลหุกาบัติ ฯลฯ ที่แสดงครุกาบัติว่า เป็นครุกาบัติ ฯลฯ ที่แสดงอาบัติชั่วหยาบว่า อาบัติชั่วหยาบ ฯลฯ ที่แสดงอาบัติไม่ชั่วหยาบว่า เป็นอาบัติไม่ชั่วหยาบ ฯลฯ ที่แสดงอาบัติที่มีส่วนเหลือว่า เป็นอาบัติมีส่วน เหลือ ฯลฯ ที่แสดงอาบัติไม่มีส่วนเหลือว่า เป็นอาบัติไม่มีส่วนเหลือ ฯลฯ ที่แสดงอาบัติทำคืนได้ว่า เป็นอาบัติทำคืนได้ ฯลฯ ที่แสดงอาบัติทำคืนไม่ได้ว่า เป็นอาบัติทำคืนไม่ได้ ภิกษุเหล่านั้นชื่อว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออัตถะ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทั้งย่อมประสบบุญเป็นอันมาก และย่อมดำรงสัทธรรมนี้ไว้มั่น.

จบ อนาปัตติวรรคที่ ๑๒

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 180

อรรถกถาอนาปัตติวรรคที่ ๑๒

ก็ในอนาปัตติวรรคที่ ๑๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

ในคำว่า อนาปตฺตึ อาปตฺติ เป็นต้น อนาบัติที่ท่านกล่าวไว้ ในที่นั้นๆ ว่า ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุ ผู้ไม่รู้อยู่ ไม่มีไถยจิต ไม่ประสงค์จะให้ตาย ไม่ประสงค์จะอวด ไม่ประสงค์จะปล่อย (สุกกะ) ดังนี้ ชื่อว่า อนาบัติ. อาบัติที่ท่านกล่าวไว้โดยนัย มีอาทิว่า เป็นอาบัติแก่ภิกษุ ผู้รู้อยู่ ผู้มีไถยจิต ดังนี้ ชื่อว่า อาบัติ. อาบัติ ๕ กอง ชื่อว่า ลหุกาบัติ (อาบัติเบา) อาบัติ ๒ กอง ชื่อว่า ครุกาบัติ (อาบัติหนัก) อาบัติ ๒ กอง ชื่อทุฎฐุลลลาบัติ (อาบัติชั่วหยาบ) อาบัติ ๕ กอง ชื่อว่า อทุฏฐุลลาบัติ (อาบัติไม่ชั่วหยาบ) อาบัติ ๖ กอง ชื่อว่า สาวเสสาบัติ (อาบัติที่มีส่วนเหลือ) อาบัติปาราชิก ๑ กอง ชื่อว่า อนาวเสสาบัติ (อาบัติที่ไม่มีส่วนเหลือ) อาบัติที่มีส่วนเหลือ นั่นแหละ ชื่อว่า อาบัติที่ทำคืนได้ อาบัติที่ไม่มีส่วนเหลือ นั่นแหละ ชื่อว่า อาบัติที่ทำคืนไม่ได้. คำที่เหลือในที่ทั้งปวงมีอรรถง่ายทั้งนั้น.

จบ อรรถกถา อนาปัตติวรรคที่ ๑๒