สูตรที่ ๒ ว่าด้วยความเพียรซึ่งเกิดได้ยาก ๒ อย่าง
[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 293
สูตรที่ ๒
ว่าด้วยความเพียรซึ่งเกิดได้ยาก ๒ อย่าง
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 33]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 293
สูตรที่ ๒
ว่าด้วยความเพียรซึ่งเกิดได้ยาก ๒ อย่าง
[๒๔๘] ๒. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในโลกมีความเพียรซึ่งเกิดได้ยาก ๒ อย่าง ๒ อย่างเป็นไฉน คือ ความเพียรเพื่อทำให้เกิดจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจยเภสัชบริขาร ของคฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือน ๑ ความเพียรเพื่อสละคืนอุปธิทั้งปวง ของผู้ที่ออกบวชเป็นบรรพชิต ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในโลกมีความเพียรซึ่งเกิดได้ยาก ๒ อย่างนี้แล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาความเพียร ๒ อย่างนี้ ความเพียรเพื่อสละคืนอุปธิทั้งปวงเป็นเลิศ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเริ่มตั้งความเพียรเพื่อสละคืนอุปธิทั้งปวง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล
จบสูตรที่ ๒
อรรถกถาสูตรที่ ๒
ในสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
บทว่า ปธานานิ แปลว่า ความเพียร. จริงอยู่ ความเพียรท่านเรียกว่า ปธานะ เพราะควรตั้งไว้ หรือเพราะทำความพยายาม. บทว่า ทุรภิสมฺภวานิ ความว่า ยากที่จะบังคับ คือ ยากที่จะให้เป็นไป อธิบายว่า ทำได้ยาก. บทว่า อคารํ อชฺฌาวสตํ แปลว่า อยู่ในเรือน. ด้วยคำว่า จีวรปิณฺฑปาตเสนาสนคิลานปจฺจยเภสชฺชปริกฺขารานุปฺปาทนตฺถํ ปธานํ ท่านแสดงว่า ชื่อว่าความพยายามเพื่อให้ปัจจัย ๔ มีจีวรเป็นต้นเหล่านี้
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 294
เกิดขึ้น เกิดขึ้นยาก. ความจริง การที่จะพูดว่า ท่านทั้งหลายจงให้ผ้าเพียง ๔ ศอก หรือภัตตาหารประมาณข้าวสารฟายมือหนึ่ง หรือบรรณศาลาประมาณ ๔ ศอก หรือเภสัชมีเนยใสเนยข้นเป็นต้นเพียงนิดหน่อย ดังนี้ก็ดี การนำออกให้ก็ดี ทำได้ยาก เหมือนกองทัพ ๒ ฝ่ายเข้าทำสงครามกัน. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
ทานํ จ ยุทฺธํ จ สมานมาหุ
อปฺปาปิ สนฺตา พหุกํ ชิเนนฺติ
อปฺปํปิ เจ สทฺทหาโน ททาติ
เตเนว โส โหติ สุขี ปรตฺถ.
ทานและการยุทธ์ ท่านว่าเสมอกัน สัตบุรุษถึงน้อยก็ชนะคนมากได้ ถ้ามีศรัทธา ถึงจะให้น้อย เขาย่อมมีความสุขในโลกอื่น ด้วยเหตุนั้นแหละ ดังนี้.
บทว่า อคารสฺมา อนคาริยํ ปพฺพชิตานํ ความว่า ออกจากเรือนเข้าบรรพชาอย่างผู้ไม่มีเรือน เว้นกสิกรรมและโครักขกรรมเป็นต้นที่นำประโยชน์เกื้อกูลมาแก่เรือน คือ แก่ผู้ครองเรือน. บทว่า สพฺพูปธิปฏินิสฺสคฺคตฺตํ ปธานํ ความว่า ความเพียรที่เกิดร่วมกับวิปัสสนาและมรรค เพื่อประโยชน์พระนิพพาน กล่าวคือ สลัดออกซึ่งอุปธิ คือ ขันธ์ กิเลส และอภิสังขาร. บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะความเพียร ๒ อย่างนี้เกิดได้ยาก.
จบอรรถกถาสูตรที่ ๒