สูตรที่ ๓ ว่าด้วยธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเดือดร้อน ๒ อย่าง
[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 295
สูตรที่ ๓
ว่าด้วยธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเดือดร้อน ๒ อย่าง
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 33]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 295
สูตรที่ ๓
ว่าด้วยธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเดือดร้อน ๒ อย่าง
[๒๔๙] ๓. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเดือดร้อน ๒ อย่าง ๒ อย่างเป็นไฉน คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำแต่กายทุจริต มิได้ทำกายสุจริต ทำแต่วจีทุจริต มิได้ทำวจีสุจริต ทำแต่มโนทุจริต มิได้ทำมโนสุจริต เขาเดือดร้อนอยู่ว่า เรากระทำแต่กายทุจริต มิได้ทำกายสุจริต ทำแต่วจีทุจริต มิได้ทำวจีสุจริต ทำแต่มโนทุจริต มิได้ทำมโนสุจริต ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเดือดร้อน ๒ อย่างนี้แล.
จบสูตรที่ ๓
อรรถกถาสูตรที่ ๓
ในสูตรที่ ๓ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
บทว่า ตปนียา ความว่า ชื่อว่าเป็นที่ตั้งแห่งความเดือดร้อนใจ เพราะเหล่าสัตว์ย่อมร้อนใจทั้งในโลกนี้และโลกอื่น. บทว่า ตปฺปติ ความว่า ย่อมเดือดร้อนโดยเดือดร้อนใจ คือ ย่อมเศร้าโศก เหมือนนันทยักษ์ เหมือนนันทมาณพ เหมือนนันทโคฆาต เหมือนเทวทัต และเหมือนสองพี่น้อง.
เล่ากันมาว่า พี่น้องสองคนนั้น ฆ่าโคแล้วแบ่งเนื้อเป็นสองส่วน. ต่อนั้น น้องชายพูดกะพี่ชายว่า ฉันมีเด็กหลายคน พี่ให้ไส้โคเหล่านี้แก่ฉันเถิด. พี่พูดกะน้องว่า เนื้อทั้งหมดเราแบ่งเป็นสองส่วนแล้ว แกจะมา
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 296
หวังอะไรอีก แล้วตีน้องเสียตาย แต่เมื่อเหลียวดูเห็นน้องตาย จึงคิดได้ว่า เราทำกรรมหนักเสียแล้ว. เขาเศร้าโศกมาก. ในที่ยืนก็ตาม ที่นั่งก็ตาม เขานึกถึงแต่กรรมนั้นเท่านั้น ไม่ได้ความสบายใจ. แม้โอชารสที่เขากลืนดื่มและเคี้ยวกินเข้าไป ก็ไม่ซาบซ่านในร่างกายของเขา. ร่างกายของเขาจึงเป็นเพียงหนังหุ้มกระดูกเท่านั้น. ครั้งนั้น พระเถระรูปหนึ่งเห็นเขา จึงถามว่า อุบาสก ท่านก็มีข้าวน้ำเพียงพอ แต่ไฉนจึงเหลือเพียงหนังหุ้มกระดูกเท่านั้น ท่านมีกรรมอะไรๆ ที่ทำให้ร้อนใจอยู่หรือ. เขารับว่า มีขอรับ ท่าน แล้วบอกเรื่องทั้งหมด. พระเถระพูดกะเขาว่า อุบาสก ท่านทำกรรมหนัก ท่านผิดในที่ไม่น่าผิด. เขาทำกาละแล้วบังเกิดในนรกด้วยกรรมนั้นเอง. คนที่ร้อนใจเพราะวจีทุจริต เช่น สุปปพุทธศากยะ พระโกกาลิกะ และนางจิญจมาณวิกาเป็นต้น.
จบอรรถกถาสูตรที่ ๓