พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

สูตรที่ ๑ ว่าด้วยพละ ๒ อย่าง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  18 ต.ค. 2564
หมายเลข  38447
อ่าน  382

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 307

อธิกรณวรรคที่ ๒

สูตรที่ ๑

ว่าด้วยพละ ๒ อย่าง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 33]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 307

อธิกรณวรรคที่ ๒

สูตรที่ ๑

ว่าด้วยพละ ๒ อย่าง

[๒๕๗] ๑๑. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พละ ๒ อย่างนี้ ๒ อย่างเป็นไฉน คือ ปฏิสังขานพละ ๑ ภาวนาพละ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิสังขานพละเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมพิจารณาดังนี้ว่า วิบากของกายทุจริตแล ชั่วช้าทั้งในชาตินี้และในภพหน้า วิบากของวจีทุจริต ชั่วช้าทั้งในชาตินี้และในภพหน้า วิบากของมโนทุจริต ชั่วช้าทั้งในชาตินี้และในภพหน้า ครั้นเขาพิจารณาดังนี้แล้ว ย่อมละกายทุจริต เจริญกายสุจริต ย่อมละวจีทุจริต เจริญวจีสุจริต ย่อมละมโนทุจริต เจริญมโนสุจริต บริหารตนให้บริสุทธิ์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าปฏิสังขานพละ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภาวนาพละเป็นไฉน ในพละ ๒ อย่างนั้น ภาวนาพละนี้เป็นพละของพระเสขะ ก็บุคคลนั้นอาศัยพละที่เป็นของพระเสขะ ย่อมละราคะ ละโทสะ ละโมหะเสียได้เด็ดขาด ครั้นละราคะ ละโทสะ ละโมหะได้เด็ดขาดแล้ว ย่อมไม่ทำกรรมที่เป็นอกุศล ย่อมไม่เสพกรรมที่เป็นบาป ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าภาวนาพละ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พละ ๒ อย่างนี้แล.

จบสูตรที่ ๑

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 308

อธิกรณวรรคที่ ๒

อรรถกถาสูตรที่ ๑

อธิกรณวรรคที่ ๒ สูตรที่ ๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า พลานิ ความว่า ชื่อว่า พละ ด้วยอรรถอะไร ชื่อว่าพละ ด้วยอรรถว่าไม่เป็นที่ตั้งแห่งความหวั่นไหว คือ ด้วยอรรถว่าครอบงำได้ยาก และย่ำยีไม่ได้. บทว่า ปฏิสงฺขานพลํ ได้แก่ กำลังคือการพิจารณา. บทว่า ภาวนาพลํ ได้แก่ กำลังคือการพอกพูน กำลังคือการพัฒนา. บทว่า สุทฺธํ อตฺตานํ นี้ พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล. บทว่า ตตฺร ได้แก่ ในพละ ๒ อย่างนั้น. บทว่า ยทิทํ ตัดบทเป็น ยํ อิทํ นี้ใด. บทว่า เสขเมตํ พลํ ความว่า ภาวนาพละนั่น ได้แก่ กำลังญาณของพระเสขะ ๗ จำพวก. บทว่า เสขํ หิ โส ภิกฺขเว พลํ อาคมฺม ความว่า ปรารภ หมาย คือ อาศัยกำลังญาณของพระเสขะ ๗ จำพวก. บทว่า ปชหติ ความว่า ละได้ด้วยมรรค. ด้วยบทว่า ปหาย นี้ ตรัสถึงผล. บทว่า ยํ ปาปํ ความว่า สิ่งใดเป็นบาป คือ ลามก. ก็เพราะบุคคลเจริญพละทั้ง ๒ อย่างเหล่านี้แล้ว จึงบรรลุพระอรหัตได้ ฉะนั้น พึงทราบว่า พละชั้นยอดเยี่ยม มิได้ทรงจัดไว้ในที่นี้.

จบอรรถกถาสูตรที่ ๑