พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

สูตรที่ ๓ ว่าด้วยพละ ๒ อย่าง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  18 ต.ค. 2564
หมายเลข  38449
อ่าน  352

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 312

สูตรที่ ๓

ว่าด้วยพละ ๒ อย่าง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 33]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 312

สูตรที่ ๓

ว่าด้วยพละ ๒ อย่าง

[๒๕๙] ๑๓. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พละ ๒ อย่างนี้ ๒ อย่างเป็นไฉน คือ ปฏิสังขานพละ ๑ ภาวนาพละ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปฏิสังขานพละเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมพิจารณาดังนี้ว่า วิบากของกายทุจริต ชั่วช้าทั้งในชาตินี้และในภพเบื้องหน้า วิบากของวจีทุจริต ชั่วช้าทั้งในชาตินี้และในภพเบื้องหน้า วิบากของมโนทุจริต ชั่วช้าทั้งในชาตินี้และในภพเบื้องหน้า ครั้นเขาพิจารณาดังนี้แล้ว ย่อมละกายทุจริต เจริญกายสุจริต ย่อมละวจีทุจริต เจริญวจีสุจริต ย่อมละมโนทุจริต เจริญมโนสุจริต บริหารตนให้บริสุทธิ์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าปฏิสังขานพละ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภาวนาพละเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติ และสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ บรรลุทุติยฌาน ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่ มีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 313

นี้เรียกว่าภาวนาพละ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พละ ๒ อย่างนี้แล.

จบสูตรที่ ๓

อรรถกถาสูตรที่ ๓

ในสูตรที่ ๓ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

เนื้อความพระบาลีของฌาน ๔ ว่า วิวิจฺเจว กาเมหิ เป็นต้น และนัยแห่งภาวนา ได้กล่าวไว้พิสดารในคัมภีร์วิสุทธิมรรคโดยประการทั้งปวงทีเดียว. ก็ฌาน ๔ เหล่านี้ ภิกษุรูปหนึ่งเจริญเพื่อต้องการให้จิตแน่วแน่ รูปหนึ่งเจริญเพื่อต้องการเป็นบาทแห่งวิปัสสนา รูปหนึ่งเจริญเพื่อต้องการเป็นบาทแห่งอภิญญา รูปหนึ่งเจริญเพื่อต้องการเป็นบาทแห่งนิโรธ รูปหนึ่งเจริญเพื่อความวิเศษแห่งภพ. แต่ในสูตรนี้ ฌาน ๔ เหล่านั้น ทรงประสงค์เป็นบาทแห่งวิปัสสนา. จริงอยู่ ภิกษุนี้เข้าถึงฌานเหล่านี้แล้วออกจากสมาบัติ พิจารณาสังขาร กำหนดเหตุปัจจัย และกำหนดนามรูปพร้อมทั้งปัจจัย ประชุมอินทรีย์ พละ และโพชฌงค์ บรรลุพระอรหัต. ฌานเหล่านี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสระคนกันทั้งที่เป็นโลกิยะและที่เป็นโลกุตระ. อนึ่ง ความเป็นเลิศในพละ ๒ แม้นี้ พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล.

จบอรรถกถาสูตรที่ ๓