พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

สูตรที่ ๖ ว่าด้วยเหตุปัจจัยให้สัตว์ตายแล้วเข้าถึงทุคติและสุคติ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  18 ต.ค. 2564
หมายเลข  38452
อ่าน  392

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 319

สูตรที่ ๖

ว่าด้วยเหตุปัจจัยให้สัตว์ตายแล้วเข้าถึงทุคติและสุคติ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 33]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 319

สูตรที่ ๖

ว่าด้วยเหตุปัจจัยให้สัตว์ตายแล้วเข้าถึงทุคติและสุคติ

[๒๖๒] ๑๖. ครั้งนั้นแล พราหมณ์คนหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถานพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ดูก่อนพราหมณ์ เพราะเหตุแห่งการประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือ ประพฤติเป็นอธรรม สัตว์บางพวกในโลกนี้ เมื่อแตกกายตายไป จึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก.

พ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์.

ภ. ดูก่อนพราหมณ์ เพราะเหตุแห่งการประพฤติสม่ำเสมอ คือ ประพฤติเป็นธรรม สัตว์บางพวกในโลกนี้ เมื่อแตกกายตายไป จึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์.

พ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ท่านพระโคดมทรง

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 320

ประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปฉะนั้น ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม กับทั้งพระธรรมและภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ. ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.

จบสูตรที่ ๖

อรรถกถาสูตรที่ ๖

ในสูตรที่ ๖ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า อญฺตโร ได้แก่ พราหมณ์คนหนึ่งไม่ปรากฏชื่อ. บทว่า เยน ในคำว่า เยน ภควา เตนุปสงฺกมิ นี้ เป็นตติยาวิภัตติ ลงในอรรถแห่งสัตตมีวิภัตติ. เพราะฉะนั้น พึงทราบเนื้อความในที่นี้อย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในที่ใด พราหมณ์เข้าไปเฝ้าในที่นั้น. อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบเนื้อความในที่นี้อย่างนี้ว่า พวกเทวดาและมนุษย์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเหตุใด พราหมณ์เข้าไปเฝ้าด้วยเหตุนั้น. ก็พราหมณ์นั้นควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเหตุอะไร. ด้วยความประสงค์บรรลุคุณวิเศษนานัปการ เหมือนฝูงนกเข้าหาต้นไม้ใหญ่ที่ออกผลเป็นนิจ ด้วยความต้องการกินผลไม้อร่อยๆ. อนึ่ง บทว่า อุปสงฺกมิ ท่านอธิบายว่า ไปแล้ว. บทว่า อุปสงฺกมิตฺวา เป็นคำแสดงถึงความสิ้นสุดของการเข้าไปเฝ้า. อีกอย่างหนึ่ง ท่านอธิบายว่า ผู้ที่ไปอย่างนี้ ไปยังที่ใกล้กว่านั้น กล่าวคือ ใกล้ชิดพระผู้มีพระภาคเจ้า. บทว่า ภควตา สทฺธึ สมฺโมทิ ความว่า พราหมณ์แม้นั้นได้มีความชื่นชมกับ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 321

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น อย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามพราหมณ์ถึงเรื่องพอทนได้เป็นต้น คือ ได้ถึงความชื่นชมอย่างเดียวกัน เหมือนน้ำร้อนกับน้ำเย็น. ก็กถาชื่อสัมโมทนียะ เพราะให้เกิดความชื่นชม กล่าวคือ ปีติและปราโมทย์ และเพราะภาวะที่ควรชื่นชม ซึ่งชื่นชมด้วยคำเป็นต้นว่า พอทนหรือ ท่านพระโคดมพอเป็นไปได้หรือ ท่านพระโคดมและสาวกของท่านพระโคดมมีอาพาธน้อย มีโรคน้อย กระปรี้กระเปร่า มีกำลัง อยู่สบายดีหรือ ชื่อสาราณียะ เพราะสมควรให้ระลึกถึงกันตลอดกาลนาน ระลึกอยู่เรื่อยๆ และเพราะภาวะที่ควรระลึก เพราะมีความไพเราะทั้งอรรถะและพยัญชนะ ชื่อว่า สัมโมทนียะ เพราะเป็นสุขเมื่อฟัง ชื่อว่า สาราณียะ เพราะเป็นสุขเมื่อระลึกถึง อนึ่ง ชื่อว่า สัมโมทนียะ เพราะพยัญชนะบริสุทธิ์ ชื่อว่า สาราณียะ เพราะอรรถะบริสุทธิ์ พราหมณ์เสร็จการกล่าวสัมโมทนียกถา สาราณียกถา คือ ให้จบสิ้นโดยอเนกปริยายอย่างนี้ด้วยประการฉะนี้แล้ว ประสงค์จะทูลถามเรื่องที่ตนมา จึงนั่งลง ณ ที่อันสมควร. ศัพท์ว่า เอกมนฺตํ แสดงภาวนปุงสกะ เหมือนในประโยคเป็นต้นว่า วิสมํ จนฺทิมสุริยา ปริวตฺตนฺติ พระจันทร์และพระอาทิตย์โคจรไม่เท่ากัน ดังนี้ ฉะนั้น พึงทราบเนื้อความในที่นี้อย่างนี้ว่า นั่งอย่างที่ผู้นั่งนั่งในที่อันสมควร. อีกอย่างหนึ่ง บทนี้เป็นทุติยาวิภัตติ ลงในอรรถแห่งสัตตมีวิภัตติ. บทว่า นิสีทิ ได้แก่ เข้าไปใกล้. ธรรมดาคนฉลาด เข้าไปหาผู้ที่มีฐานะเป็นครู ย่อมนั่งในที่อันสมควร ด้วยความเป็นผู้ฉลาดในเรื่องนั่ง. และพราหมณ์นี้ก็เป็นคนหนึ่งในบรรดาคนฉลาดเหล่านั้น ฉะนั้น จึงนั่ง ณ ที่อันสมควร.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 322

ถามว่า นั่งอย่างไร จึงชื่อว่านั่ง ณ ที่อันสมควร. แก้ว่า นั่งเว้นโทษของการนั่ง ๖ อย่าง. โทษของการนั่ง ๖ อย่าง อะไรบ้าง. โทษของการนั่ง ๖ อย่าง คือ ไกลเกินไป ใกล้เกินไป นั่งเหนือลม นั่งที่สูง นั่งตรงหน้าเกินไป นั่งข้างหลังเกินไป. ผู้นั่งไกลเกินไป ถ้าต้องการจะพูด ก็ต้องพูดเสียงดัง. นั่งใกล้เกินไป ย่อมจะเสียดสี. นั่งเหนือลม ย่อมจะเบียดเบียนด้วยกลิ่นตัว. นั่งที่สูง ย่อมประกาศว่าไม่เคารพ. นั่งตรงหน้าเกินไป ถ้าต้องการจะดู ก็จะสบตากัน. นั่งข้างหลังเกินไป ถ้าต้องการจะดู ก็จะต้องยื่นคอดู. เพราะฉะนั้น พราหมณ์แม้นี้จึงนั่งเว้นโทษของการนั่ง ๖ อย่างเหล่านี้ เหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า นั่งลง ณ ที่อันสมควร.

บทว่า เอตทโวจ ความว่า คำถามมี ๒ อย่าง คือ คำถามของคฤหัสถ์ ๑ คำถามของบรรพชิต ๑ ใน ๒ อย่างนั้น คำถามของคฤหัสถ์มาโดยนัยเป็นต้นว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล. คำถามของบรรพชิตมาโดยนัยนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้หรือหนอแล. ก็พราหมณ์นี้เมื่อจะถามคำถามของคฤหัสถ์ซึ่งสมควรแก่ตน จึงได้กราบทูลคำนี้ คือ คำเป็นต้นว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม อะไรหนอเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย. บรรดาบทเหล่านั้น บททั้งสองว่า เหตุปจฺจโย นี้ เป็นคำแสดงไขถึงเหตุนั่นเอง. บทว่า อธมฺมจริยา วิสมจริยาเหตุ แปลว่า เพราะเหตุแห่งความประพฤติไม่เรียบร้อย กล่าวคือ ความประพฤติผิดธรรม อธิบายว่า เพราะความประพฤตินั้นเป็นเหตุ เพราะความประพฤตินั้นเป็นปัจจัย. ในบทนั้น มีอรรถของบทดังนี้ ความประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ชื่อว่าความประพฤติผิดธรรม อธิบายว่า การกระทำที่ไม่เป็นธรรม ความประพฤติที่ไม่เรียบร้อย หรือความ

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 323

ประพฤติซึ่งกรรมอันไม่เรียบร้อย เหตุนั้นจึงชื่อว่าความประพฤติไม่เรียบร้อย. ความประพฤติไม่เรียบร้อยนั่นด้วย เป็นความประพฤติผิดธรรมด้วย เหตุนั้นจึงชื่อว่าความประพฤติไม่เรียบร้อย เป็นความประพฤติผิดธรรม. แม้ในธรรมฝ่ายขาว ก็พึงทราบเนื้อความโดยอุบายนี้ แต่โดยใจความ ในที่นี้ พึงทราบว่า อกุศลกรรมบถ ๑๐ ชื่อว่าความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ความประพฤติผิดธรรม กุศลกรรมบถ ๑๐ ชื่อว่าความประพฤติเรียบร้อย กล่าวคือ ความประพฤติถูกธรรม.

อภิกฺกนฺต ศัพท์ ในคำว่า อภิกฺกนฺตํ โภ โคตน อภิกฺกนฺตํ โภ โคตม นี้ แปลว่า สิ้นไป ดี งาม และน่าอนุโมทนายิ่ง. แปลว่า สิ้นไป ได้ในประโยคเป็นต้นว่า อภิกฺกนฺตา ภนฺเต รตฺติ นิกฺขนฺโต ปฐโม ยาโม จิรนิสินฺโน ภิกฺขุสงฺโฆ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีสิ้นไปแล้ว ปฐมยามล่วงไปแล้ว ภิกษุสงฆ์นั่งนานแล้ว. แปลว่า ดี ได้ในประโยคเป็นต้นว่า บุคคล ๔ คนเหล่านี้ คนนี้ดีกว่าและประณีตกว่า. แปลว่า งาม ได้ในคาถาเป็นต้นว่า

ใครมีวรรณะงามยิ่งนัก รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ รุ่งเรืองด้วยยศ ยังทิศทั้งปวงให้สว่างไสว ไหว้เท้าของเรา.

แปลว่า น่าอนุโมทนายิ่ง ได้ในคำเป็นต้นว่า น่าอนุโมทนายิ่ง พระเจ้าข้า. แม้ในที่นี้ อภิกฺกนฺต ศัพท์ ก็แปลว่า น่าอนุโมทนายิ่งนั่นแล. และเพราะแปลว่า น่าอนุโมทนายิ่ง ฉะนั้น พึงทราบว่า ท่านอธิบายไว้ว่า ดียิ่ง พระโคดมผู้เจริญ ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 324

ท่านผู้รู้ย่อมพูดซ้ำ เพราะความกลัว โกรธ สรรเสริญ รีบด่วน ตื่นตระหนก ร่าเริง โศก และเลื่อมใส.

ก็ อภิกฺกนฺต ศัพท์นี้ พึงทราบว่า ท่านกล่าว ๒ ครั้งในที่นี้ ด้วยอำนาจความเลื่อมใส และด้วยอำนาจความสรรเสริญ ตามลักษณะดังกล่าวมานี้. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อภิกฺกนฺตํ แปลว่า น่าปรารถนายิ่ง คือ น่าพอใจยิ่ง อธิบายว่า ดียิ่ง. ในสองศัพท์นั้น ด้วย อภิกฺกนฺต ศัพท์หนึ่งพราหมณ์ชมเทศนา อีกศัพท์หนึ่งชมความเลื่อมใสของตน. แลในที่นี้มีอธิบายดังนี้ว่า พราหมณ์ชมพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมายเอาเนื้อความ ๒ เนื้อความว่า ดียิ่ง พระโคดมผู้เจริญ คือ ธรรมเทศนาของพระโคดมผู้เจริญดียิ่ง และข้าพระองค์เลื่อมใส ก็เพราะอาศัยเทศนาของพระโคดมผู้เจริญ. พระดำรัสของพระโคดมผู้เจริญดียิ่ง เพราะดียิ่ง เพราะให้บรรลุคุณ พึงประกอบเหมือนกันด้วยบทมีอาทิอย่างนี้ว่า เพราะให้เกิดศรัทธา เพราะให้เกิดปัญญา เพราะมีอรรถ เพราะมีพยัญชนะ เพราะบทตื้น เพราะอรรถลึก เพราะสะดวกหู เพราะถึงใจ เพราะไม่ยกตน เพราะไม่ข่มท่าน เพราะเย็นด้วยกรุณา เพราะตรัสด้วยปัญญา เพราะเป็นทางที่น่ารื่นรมย์ เพราะข่มศัตรูได้ เพราะสบายแก่ผู้ฟัง เพราะน่าพิจารณา และเพราะเกื้อกูล. แม้ต่อจากนั้น ก็ยังชมเทศนาด้วยอุปมาถึง ๔ ข้อทีเดียว. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิกฺกุชฺชิตํ ได้แก่ ตั้งคว่ำหน้า หรือเอาหน้าไว้ล่าง. บทว่า อุกฺกุชฺเชยฺย แปลว่า หงายหน้า. บทว่า ปฏิจฺฉนฺนํ ได้แก่ ปกปิดด้วยหญ้าเป็นต้น. บทว่า วิวเรยฺย แปลว่า หงายหน้าขึ้น. บทว่า มูฬฺหสฺส ได้แก่ คนหลงทิศ.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 325

บทว่า มคฺคํ อาจิกฺเขยฺย ความว่า จูงมือไปบอกว่าทางนี้. บทว่า อนฺธกาเร ได้แก่ มืด ๔ อย่าง คือ แรม ๑๔ ค่ำ เที่ยงคืน ไพรสัณฑ์ทึบ เมฆหนา. เนื้อความของบทที่ยากเท่านี้ มีอธิบายดังต่อไปนี้ พระโคดมผู้เจริญให้ข้าพระองค์ผู้หันหลังให้พระสัทธรรม ตกอยู่ในอสัทธรรม ออกจากอสัทธรรมได้ เหมือนคนบางคนหงายของที่คว่ำ ทรงเปิดคำสอนที่ถูก มิจฉาทิฏฐิปกปิดเดิมแต่ศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสปะอันตรธาน เหมือนเปิดของที่ปิด ทรงทำให้แจ้งซึ่งทางสวรรค์และนิพพานแก่ข้าพระองค์ผู้ดำเนินทางชั่ว ทางผิด เหมือนบอกทางแก่คนหลง ทรงประกาศธรรมแก่ข้าพระองค์ด้วยทรงชูประทีป คือ เทศนา กำจัดความมือคือโมหะที่ปกปิดพระรัตนตรัยนั้นแก่ข้าพระองค์ผู้จมอยู่ในที่มืดคือโมหะ ไม่เห็นรูปแห่งพุทธรัตนะเป็นต้น เหมือนคนส่องประทีปน้ำมันในที่มืด. เพราะทรงประกาศโดยปริยายเหล่านี้ เป็นอันทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย. พราหมณ์ชมเทศนาอย่างนี้แล้ว มีจิตเลื่อมใสในพระรัตนตรัยเพราะเทศนานี้ เมื่อกระทำอาการของผู้ที่เลื่อมใส จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า เอสาหํ ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอสาหํ ตัดบทเป็น เอโส อหํ แปลว่า ข้าพระองค์นี้. บทว่า ภวนฺตํ โคตมํ สรณํ คจฺฉามิ ความว่า ข้าพระองค์ขอถึง คือ คบ เสพ นั่งใกล้ ซึ่งพระโคดมผู้เจริญ ด้วยความประสงค์นี้ว่า พระโคดมผู้เจริญเป็นที่พึ่ง เป็นที่ไปในเบื้องหน้า เป็นผู้กำจัดความชั่ว และเป็นผู้ประทานประโยชน์เกื้อกูลแก่ข้าพระองค์ อธิบายว่า ทราบ คือ รู้อย่างนี้. ก็ธาตุเหล่าใดมีความว่า ไป ธาตุเหล่านั้นมีความว่า รู้ ก็มี ฉะนั้น ความของบทว่า คจฺฉามิ นี้ ท่านจึงกล่าวว่า ชานามิ พุชฺฌามิ ข้าพระองค์ทราบ คือ รู้ ดังนี้. ในบทว่า

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 326

ธมฺมญฺจ ภิกฺขุสงฺฆญฺจ นี้ ชื่อว่าธรรม เพราะทรงเหล่าสัตว์ผู้บรรลุมรรค และทำนิโรธให้แจ้ง ปฏิบัติตามคำสั่งสอน ไม่ให้ตกไปในอบาย ๔ โดยอรรถ ได้แก่ อริยมรรคและพระนิพพาน. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาสังขตธรรมทั้งหลาย อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ เรากล่าวว่า เป็นยอดของสังขตธรรมเหล่านั้น. ว่าโดยพิสดาร มิใช่แต่อริยมรรคและพระนิพพานเท่านั้นที่ชื่อว่าธรรม ที่จริง แม้ปริยัติธรรมกับอริยผลก็ชื่อว่าธรรม. สมจริงดังที่ตรัสไว้ในฉัตตมาณวกวิมานวัตถุว่า

ราควิราคมเนชมโสกํ

ธมฺมมสงฺขตมปฺปฏิกูลํ

มธุรมิมํ ปคุณํ สุวิภตฺตํ

ธมฺมมิมํ สรณตฺถมุเปหิ.

เธอจงเข้าถึงธรรมเครื่องสำรอกราคะ ไม่หวั่นไหว ไม่เศร้าโศก เป็นอสังขตธรรม ไม่ปฏิกูล งาม คล่องแคล่ว จำแนกไว้ดีแล้ว นี้ ว่าเป็นสรณะเถิด.

บทว่า ราควิราโค ในที่นี้ ตรัสหมายถึงมรรค. บทว่า อเนชมโสกํ ได้แก่ ผล. ธมฺมมสงฺขตํ ได้แก่ นิพพาน. บทว่า อปฺปฏิกูลํ มธุรมิมํ ปคุณํ สุวิภตฺตํ ได้แก่ ธรรมขันธ์ทั้งหมดที่จำแนกเป็น ๓ ปิฎก. ชื่อว่าสงฆ์ เพราะเกี่ยวเนื่องกันโดยทิฏฐิและศีล. สงฆ์นั้นโดยอรรถ ได้แก่ กลุ่มพระอริยบุคคล ๘. สมจริงดังที่ตรัสไว้ในวิมานวัตถุนั้นแหละว่า

ยตฺถ จ ทินฺนมหปฺผลมาหุ

จตูสุ สุจีสุ ปุริสยุเคสุ

อฏฺ จ ปุคฺคลธมฺมทสา เต

สงฺฆมิมํ สรณตฺถมุเปหิ.

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 327

เธอจงเข้าถึงสงฆ์ คือ คนสะอาด ๔ คู่ เป็นพระอริยบุคคล ๘ ซึ่งบัณฑิตกล่าวว่า ทานที่ถวายท่านแล้วมีผลมากนี้ ว่าเป็นสรณะเถิด.

หมู่แห่งภิกษุทั้งหลาย ชื่อภิกษุสงฆ์. พราหมณ์ประกาศการถึงสรณะ ๓ ประการ ด้วยคำเพียงเท่านี้. เพื่อความเป็นผู้ฉลาดในสรณคมน์เหล่านั้น แม้ในที่นี้ก็ควรทราบวิธีนี้ว่า สรณคมน์ของผู้ที่ถึงสรณะมี ๒ ประเภท คือ สรณคมน์ประเภท ๑ อานิสงส์แห่งสรณคมน์ประเภท ๑. คืออย่างไร. พึงทราบโดยเนื้อความของบทก่อน ชื่อว่าสรณะ เพราะอรรถว่า กำจัด อธิบายว่า ฆ่าเครื่องเศร้าหมองรอบๆ คือ ความสะดุ้ง ความทุกข์ และทุคติ ทำให้พินาศด้วยสรณคมน์นั่นแหละ ของผู้ที่ถึงสรณะ. คำว่า สรณคมน์ นี้ เป็นชื่อของพระรัตนตรัย. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า พุทธ เพราะกำจัดภัยของเหล่าสัตว์ ด้วยให้สิ่งที่เป็นประโยชน์เป็นไป ให้ออกจากสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์. ชื่อว่า ธรรม เพราะยกสัตว์ให้ข้ามจากกันดารคือภพ และเพราะทำความเบาใจแก่สัตว์โลก ชื่อว่า สงฆ์ เพราะทำสักการะแม้มีประมาณน้อยกลับได้ผลไพบูลย์. ฉะนั้น พระรัตนตรัยจึงเป็นสรณะ โดยปริยายแม้นี้ จิตตุปบาทที่กำจัดกิเลสได้ด้วยความเลื่อมใสและความเคารพพระรัตนตรัยนั้น ที่เป็นไปโดยอาการ คือ ความเป็นผู้มีพระรัตนตรัยนั้นเป็นเบื้องหน้า ชื่อว่าสรณคมน์ สัตว์ที่มีความพร้อมเพรียงด้วยสรณคมน์นั้น ถึงสรณะ คือ ถึงรัตนะ ๓ เหล่านี้ ว่าเป็นสรณะ ด้วยจิตตุปบาทมีประการดังกล่าวแล้ว อธิบายว่า เข้าถึงรัตนะ ๓ เหล่านี้ว่า เป็นที่ไปในเบื้องหน้าอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้. ก็สรณคมน์ของผู้ที่ถึงสรณะ พึงทราบเพียงเท่านี้ก่อน. ก็ในประเภทแห่งสรณคมน์

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 328

สรณคมน์มี ๒ ประเภท คือ ที่เป็นโลกุตระประเภท ๑ ที่เป็นโลกิยะประเภท ๑. ใน ๒ ประเภทนั้น สรณคมน์ที่เป็นโลกุตระ สำหรับผู้ที่เห็นอริยสัจแล้ว โดยอารมณ์ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ โดยกิจ ย่อมสำเร็จในพระรัตนตรัยทั้งสิ้น ด้วยการตัดขาดอุปกิเลสด้วยสรณคมน์ในมรรคขณะ. สรณคมน์ที่เป็นโลกิยะสำหรับพวกปุถุชน โดยอารมณ์ มีพุทธคุณเป็นต้นเป็นอารมณ์ ย่อมสำเร็จด้วยการข่มอุปกิเลสด้วยสรณคมน์แล. สรณคมน์นั้น โดยอรรถ ได้แก่ การได้ศรัทธาในวัตถุ ๓ มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น และสัมมาทิฏฐิที่มีศรัทธาเป็นมูล. ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ท่านเรียกว่า ทิฏฐุชุกรรม. สรณคมน์นี้นั้นเป็นไปโดยอาการ ๔ คือ โดยการมอบถวายตน ๑ โดยความเป็นผู้มีพระรัตนตรัยเป็นเบื้องหน้า ๑ โดยเข้าถึงความเป็นศิษย์ ๑ โดยการนอบน้อม ๑. ใน ๔ อย่างนั้น ที่ชื่อว่าการมอบถวายตน ได้แก่ การสละตนถวายแด่พระพุทธเจ้าเป็นต้นอย่างนี้ว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอมอบถวายตนแด่พระพุทธเจ้า แด่พระธรรม แด่พระสงฆ์. ที่ชื่อว่าความเป็นผู้มีพระรัตนตรัยเป็นเบื้องหน้า ได้แก่ ความเป็นผู้มีพระรัตนตรัยเป็นเบื้องหน้าอย่างนี้ว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้ามีพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นเบื้องหน้า ขอท่านทั้งหลายจงทรงจำข้าพเจ้าไว้ ดังนี้. ที่ชื่อว่าเข้าถึงความเป็นศิษย์ ได้แก่ การเข้าถึงความเป็นศิษย์อย่างนี้ว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าเป็นอันเตวาสิก (ศิษย์) ของพระพุทธเจ้า ของพระธรรม ของพระสงฆ์ ขอท่านทั้งหลายจงทรงจำข้าพเจ้าไว้ ดังนี้. ที่ชื่อว่าทำความนอบน้อม ได้แก่ การทำความเคารพอย่างยิ่งในพระพุทธเจ้าเป็นต้นอย่างนี้ว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอกระทำอภิวาท การลุกขึ้นรับ อัญชลีกรรม

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 329

สามีจิกรรม แด่วัตถุ ๓ มีพระพุทธเจ้าเป็นต้นเท่านั้น ขอท่านทั้งหลายจงทรงจำข้าพเจ้าไว้ ดังนี้. เมื่อทำอาการ ๔ อย่างนี้แม้อย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมเป็นอันรับสรณคมน์แล้วทีเดียว. อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบการมอบถวายตนแม้อย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าขอสละตนแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอสละตนแด่พระธรรม แด่พระสงฆ์ ข้าพเจ้าขอสละชีวิต ดังนี้ เป็นอันข้าพเจ้าสละตนแล้วทีเดียว เป็นอันข้าพเจ้าสละชีวิตแล้วทีเดียว ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ พระพุทธเจ้าเป็นสรณะ เป็นที่เร้น เป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า จนสุดสิ้นชีวิต ด้วยประการฉะนี้. การเข้าถึงความเป็นศิษย์ พึงเห็นเช่นสรณคมน์ของพระมหากัสสปะแม้อย่างนี้ว่า ถ้าข้าพเจ้าจะพึงเห็นพระศาสดา ก็ขอเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้น ถ้าข้าพเจ้าจะพึงเห็นพระสุคต ก็ขอเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้น ถ้าข้าพเจ้าจะพึงเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ขอเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้น. ความเป็นผู้มีพระรัตนตรัยเป็นเบื้องหน้า พึงทราบอย่างสรณคมน์ของอาฬวกยักษ์เป็นต้น แม้อย่างนี้ว่า

โส อหํ วิจริสฺสามิ

คามา คามํ ปุรา ปุรํ

นมสฺสมาโน สมฺพุทฺธํ

ธมฺมสฺส จ สุธมฺมตํ.

ข้าพเจ้านั้น จักเที่ยวไป จากบ้านสู่บ้าน จากเมืองสู่เมือง ขอนมัสการพระพุทธเจ้า และพระธรรมของพระองค์อันเป็นธรรมดี ดังนี้แล.

ครั้งนั้นแล พราหมณ์พรหมายุ ลุกจากอาสนะ ห่มผ้าเฉวียงบ่า หมอบศีรษะลงแทบพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า จูบพระยุคลบาท นวดด้วยฝ่ามือ และประกาศชื่อว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้า

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 330

พราหมณ์พรหมายุ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าพราหมณ์พรหมายุ การทำความนอบน้อม พึงเห็นแม้อย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้. ก็การทำความนอบน้อมนี้นั้น มี ๔ อย่าง ด้วยอำนาจญาติ, ภัย, อาจารย์ และทักขิเณยยบุคคล, ใน ๔ อย่างนั้น สรณคมน์ย่อมมีได้ด้วยการทำความนอบน้อมแก่ทักขิเณยยบุคคล มิใช่มีด้วย ๓ อย่างนอกนี้. ด้วยว่า สรณะอันบุคคลถือด้วยอำนาจคนประเสริฐนั่นแล ขาดก็ด้วยอำนาจคนประเสริฐเหมือนกัน ฉะนั้น ผู้ใดเป็นศากยะก็ตาม เป็นโกลิยะก็ตาม ไหว้ด้วยคิดว่า พระพุทธเจ้าเป็นพระญาติของเรา ดังนี้ สรณะย่อมไม่เป็นอันผู้นั้นรับเลย. อีกอย่างหนึ่ง ผู้ใดไหว้ด้วยความกลัวว่า พระสมณโคดมเป็นผู้ที่พระราชาบูชา มีอานุภาพมาก เมื่อเราไม่ไหว้ จะพึงทำความพินาศให้ ดังนี้ สรณะย่อมไม่เป็นอันผู้นั้นรับเหมือนกัน. ผู้ใดระลึกถึงอะไรๆ ที่ตนเล่าเรียนในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ และเล่าเรียนอนุสาสนี ครั้งเป็นพระพุทธเจ้า เห็นปานนี้ว่า

เอเกน โภเค ภุญฺเชยฺย

ทฺวีหิ กมฺมํ ปโยชเย

จตุตฺถญฺจ นิธาเปยฺย

อาปทาสุ ภวิสฺสติ.

บุคคลพึงใช้ทรัพย์ส่วนหนึ่งกินอยู่ ใช้ทรัพย์ ๒ ส่วนประกอบการงาน ส่วนที่ ๔ พึงเก็บไว้ เผื่อคราวอันตราย ดังนี้.

แล้วไหว้ด้วยคิดว่า เป็นอาจารย์ของเรา ดังนี้ สรณะย่อมไม่เป็นอันผู้นั้นรับเหมือนกัน. แต่ผู้ใดไหว้ด้วยคิดว่า ผู้นี้เป็นอัครทักขิเณยยบุคคลในโลก สรณะย่อมเป็นอันผู้นั้นรับแล้วทีเดียว. ผู้ที่รับสรณะอย่างนี้แล้ว เป็นอุบาสกก็ตาม เป็นอุบาสิกาก็ตาม ไหว้ญาติแม้บวชในพวกอัญญเดียรถีย์

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 331

ด้วยคิดว่า ผู้นี้เป็นญาติของเรา ดังนี้ สรณคมน์ไม่ขาด จะป่วยกล่าวไปไยถึงผู้ที่มิได้บวช ไหว้พระราชาด้วยอำนาจความกลัวว่า ธรรมดาว่า พระราชานั้น เพราะเขาบูชากันทั่วประเทศ เมื่อเราไม่ไหว้ จะพึงทำความพินาศให้ ดังนี้ ก็เหมือนกัน แม้ไหว้เดียรถีย์ผู้สอนศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยคิดว่า ผู้นี้เป็นอาจารย์ของเรา สรณคมน์ไม่ขาด พึงทราบประเภทแห่งสรณคมน์ ด้วยประการฉะนี้. และในที่นี้ สรณคมน์ที่เป็นโลกุตระ มีสามัญญผล ๔ เป็นวิบากผล มีความสิ้นทุกข์ทั้งหมดเป็นอานิสังสผล. สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า

โย จ พุทฺธญฺจ ธมฺมญฺจ

สงฺฆญฺจ สรณํ คโต

จตฺตาริ อริยสจฺจานิ

สมฺมปฺปญฺาย ปสฺสติ

ทุกฺขํ ทุกฺขสมุปฺปาทํ

ทุกฺขสฺส จ อติกฺกมํ

อริยญฺจฏฺงฺคิกํ มคฺคํ

ทุกฺขูปสมคามินํ

เอตํ โข สรณํ เขมํ

เอตํ สรณมุตฺตมํ

เอตํ สรณมาคมฺม

สพฺพทุกฺขา ปมุจฺจติ.

ผู้ใดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะ ผู้นั้นย่อมเห็นอริยสัจ ๔ ด้วยปัญญาอันชอบ คือ เห็นทุกข์ ทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ และอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ซึ่งให้ถึงความสงบทุกข์ นั่นแลเป็นสรณะอันเกษม นั่นเป็นสรณะสูงสุด ผู้อาศัยสรณะนี้ ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ดังนี้.

อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบอานิสังสผลของสรณคมน์นั้น แม้ด้วยสามารถความไม่เข้าไปยึดโดยความเป็นของเที่ยงเป็นต้น. สมจริงดังที่

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 332

ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิจะพึงเข้ายึดสังขารอะไรๆ ว่าเที่ยง ว่าเป็นสุข เข้าถึงธรรมอะไรๆ ว่าเป็นตัวตน ฆ่าแม่ ฆ่าพ่อ ฆ่าพระอรหันต์ คิดร้ายทำพระตถาคตถึงห้อเลือด ทำลายสงฆ์ อุทิศศาสดาอื่น นั่นมิใช่ฐานะที่จะมีได้. แต่ทั้งภวสมบัติ ทั้งโภคสมบัติ ก็เป็นผลของสรณคมน์ที่เป็นโลกิยะนั่นเอง. สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า

เยเกจิ พุทฺธํ สรณํ คตาเส

น เต คมิสฺสนฺติ อปายภูมึ

ปหาย มานุสํ เทหํ

เทวกายํ ปริปูเรสฺสนฺติ

ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ชนเหล่านั้นจักไม่ไปสู่อบายภูมิ เขาละกายมนุษย์แล้ว จักทำกายเทพให้บริบูรณ์ ดังนี้.

ท่านกล่าวไว้อีกอย่างหนึ่งว่า ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพ พร้อมด้วยเทวดา ๘๔,๐๐๐ เข้าไปหาท่านมหาโมคคัลลานะถึงที่อยู่ ฯลฯ ท่านมหาโมคคัลลานะได้กล่าวคำนี้กะท้าวสักกะจอมเทพ ผู้ยืนอยู่ ณ ที่อันสมควรว่า ดูก่อนจอมเทพ การถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ มีประโยชน์จริง ดูก่อนจอมเทพ เพราะเหตุที่ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะนั่นแหละ สัตว์บางพวกในโลกนี้ เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เขาทั้งหลายย่อมเหนือเทวดาอื่นๆ โดยฐานะ ๑๐ ประการ คือ อายุทิพย์ วรรณะทิพย์ สุข ยศ อธิปไตยทิพย์ รูป เสียง กลิ่น รส และ โผฏฐัพพะ อันเป็นทิพย์. ในพระธรรมและพระสงฆ์ก็นัยนี้. อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบผลวิเศษแห่งสรณคมน์ แม้ด้วยอำนาจเวลามสูตรเป็นต้น.

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 333

ผลแห่งสรณคมน์พึงทราบอย่างนี้. แลในสรณคมน์ ๒ อย่างนั้น สรณคมน์ที่เป็นโลกิยะ ย่อมเศร้าหมองด้วยไม่รู้ สงสัย และรู้ผิดเป็นต้นในพระรัตนตรัย ย่อมไม่มีผลรุ่งโรจน์ ไม่มีผลแผ่ไพศาล. สรณคมน์ที่เป็นโลกุตระ ไม่มีเศร้าหมอง. อนึ่ง สรณคมน์ที่เป็นโลกิยะ มี ๒ ชนิด คือ ชนิดมีโทษ ๑ ชนิดไม่มีโทษ ๑. ใน ๒ ชนิดนั้น ชนิดมีโทษย่อมมีได้ด้วยการมอบถวายตนในศาสดาอื่นเป็นต้น ชนิดนั้นมีผลไม่น่าปรารถนา. ชนิดไม่มีโทษ ย่อมมีได้ด้วยกาลกิริยา [ตาย] ชนิดนั้นไม่มีผล เพราะไม่มีวิบาก. ส่วนสรณคมน์ที่เป็นโลกุตระ ไม่มีขาดเลยทีเดียว. ด้วยว่า แม้ในระหว่างภพ พระอริยสาวกก็ไม่อุทิศศาสดาอื่น พึงทราบความเศร้าหมอง และความขาดแห่งสรณคมน์อย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.

บทว่า อุปาสกํ มํ ภวํ โคตโม ธาเรตุ ความว่า ขอท่านพระโคดมผู้เจริญจงทรงจำ คือ จงทรงทราบข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ผู้นี้เป็นอุบาสก ดังนี้. เพื่อความเป็นผู้ฉลาดในเรื่องของอุบาสก พึงทราบข้อเบ็ดเตล็ดในที่นี้ดังนี้ว่า อุบาสกคือใคร เหตุไรจึงเรียกอุบาสก อุบาสกมีศีลเท่าไร มีอาชีวะอย่างไร มีวิบัติอย่างไร มีสมบัติอย่างไร. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โก อุปาสโก ได้แก่ คฤหัสถ์บางคนที่ถึงสรณะสาม. สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนมหานามะ บุคคลเป็นอุบาสกด้วยเหตุใดแล บุคคลเป็นผู้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ ดูก่อนมหานามะ บุคคลย่อมเป็นอุบาสกด้วยเหตุเพียงนี้แล. ถามว่า เหตุไรจึงเรียกอุบาสก แก้ว่า เรียกว่า อุบาสก เพราะนั่งใกล้พระรัตนตรัย คือ เรียกเขาว่า อุบาสก เพราะนั่งใกล้พระพุทธเจ้า เรียกว่า อุบาสก เพราะนั่งใกล้พระธรรม พระสงฆ์. ถามว่า อุบาสกมีศีล

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 334

เท่าไร แก้ว่า มีเจตนาเครื่องงดเว้นบาป ๕ ข้อ. อย่างที่ตรัสว่า ดูก่อนมหานามะ ด้วยเหตุใดแล อุบาสกเป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต เป็นผู้งดเว้นจากอทินนาทาน จากกาเมสุมิจฉาจาร จากมุสาวาท จากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ดูก่อนมหานามะ อุบาสกย่อมมีศีลด้วยเหตุเพียงนี้แล. ถามว่า มีอาชีวะอย่างไร แก้ว่า ละเว้นการค้าขายที่ผิด ๕ อย่าง เลี้ยงชีพโดยธรรมโดยเหมาะสม. สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การค้าขาย ๕ อย่าง อุบาสกไม่พึงกระทำ ๕ อย่างอะไรบ้าง คือ ขายศัสตรา ขายสัตว์ ขายเนื้อ ขายน้ำเมา ขายยาพิษ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การค้าขาย ๕ อย่างเหล่านี้แล อุบาสกไม่พึงกระทำ. ถามว่า มีวิบัติอย่างไร แก้ว่า ศีลวิบัติและอาชีววิบัตินั้นแหละ เป็นวิบัติของอุบาสก. อีกอย่างหนึ่ง กิริยาที่เป็นเหตุให้อุบาสกนี้เป็นผู้ต่ำช้า มัวหมอง เลวทราม แม้นั้น พึงทราบว่า เป็นวิบัติของอุบาสกนั้น. กิริยาที่ว่านั้น โดยความก็คือธรรม ๕ ประการ มีความเป็นผู้ไม่มีศรัทธาเป็นต้น. เหมือนอย่างที่ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุบาสกประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นอุบาสกต่ำช้า เป็นอุบาสกมัวหมอง เป็นอุบาสกเลวทราม ธรรม ๕ ประการอะไรบ้าง คือ เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๑ ทุศีล ๑ ถือมงคลตื่นข่าว คิดเชื่อมงคล ไม่เชื่อกรรม ๑ แสวงหาเขตบุญนอกพุทธศาสนา ๑ ไม่บำเพ็ญบุญแต่ในพุทธศาสนา ๑ ดังนี้. ถามว่า มีสมบัติอย่างไร. แก้ว่า ศีลสมบัติและอาชีวสมบัตินั่นแหละ เป็นสมบัติของอุบาสก ธรรม ๕ ประการ มีศรัทธาเป็นต้น ทำอุบาสกนั้นให้เป็นอุบาสกแก้วเป็นต้น. เหมือนอย่างที่ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุบาสกประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นอุบาสก

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 335

แก้ว อุบาสกปทุม และอุบาสกบุณฑริก ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ เป็นผู้มีศรัทธา ๑ มีศีลบริสุทธิ์ ๑ ไม่ถือมงคลตื่นข่าว คือ เชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล ๑ ไม่แสวงหาเขตบุญนอกพุทธศาสนา ๑ บำเพ็ญบุญแต่ในพุทธศาสนา ๑ ดังนี้.

อคฺค ศัพท์ ในบทว่า อชฺชตคฺเค นี้ ย่อมปรากฏในความว่า (แปลว่า) เป็นต้น ปลาย ส่วน และประเสริฐที่สุด. ปรากฏในความว่า เป็นต้น ในประโยคเป็นต้นว่า แน่ะนายประตูเพื่อนรัก ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ท่านจงกันประตูพวกนิครนถ์ชายหญิง ดังนี้. ในความว่า ปลาย ในประโยคเป็นต้นว่า พึงเอาปลายนิ้วนั่นแหละจดปลายนิ้ว ปลายอ้อย ปลายไผ่ ดังนี้. ในความว่า ส่วน ในประโยคเป็นต้นว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้แบ่งส่วนของมีรสเปรี้ยว หรือส่วนน้ำผึ้ง ตามส่วนของวิหาร หรือตามส่วนของบริเวณ ดังนี้. ในความว่า ประเสริฐที่สุด ในประโยคเป็นต้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์เหล่าใดไม่มีเท้าก็ตาม ฯลฯ บรรดาสัตว์เหล่านั้น เรากล่าวพระตถาคตว่า ประเสริฐที่สุด ดังนี้. ก็ในที่นี้ อคฺค ศัพท์นี้ พึงเห็นในความว่า เป็นต้น. ฉะนั้น ในบทว่า อชฺชตคฺเค นี้ พึงเห็นความอย่างนี้ว่า ทำวันนี้ให้เป็นต้น (ตั้งต้นแต่วันนี้เป็นต้นไป) บทว่า อชฺชตํ แปลว่า ความเป็นวันนี้. ปาฐะว่า อชฺชทคฺเค ดังนี้ก็มี. อักษรทำหน้าที่เชื่อมบท. ความว่า ทำวันนี้ให้เป็นต้น.

บทว่า ปาณุเปตํ ความว่า เข้าถึงด้วยลมปราณทั้งหลาย คือ เข้าถึงชั่วเวลาที่ชีวิตของข้าพระองค์ยังเป็นไปอยู่. ขอท่านพระโคดมผู้เจริญ จงทรงจำ คือ ทรงทราบข้าพระองค์ว่า ไม่มีศาสดาอื่น เป็นอุบาสกผู้ถึง

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 336

สรณะด้วยไตรสรณคมน์ เป็นกัปปิยการก ถ้าแม้จะมีใครเอาดาบคมกริบมาตัดศีรษะของข้าพระองค์ ข้าพระองค์ก็จะไม่ยอมกล่าวพระพุทธเจ้าว่าไม่ใช่พระพุทธเจ้า พระธรรมว่าไม่ใช่พระธรรม หรือพระสงฆ์ว่าไม่ใช่พระสงฆ์ พราหมณ์ (ไม่ปรากฏนาม) ถึงสรณะด้วยการมอบถวายตนอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้ ปวารณาด้วยปัจจัย ๔ แล้วลุกจากอาสะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า กระทำประทักษิณ ๓ รอบแล้วหลีกไป แล.

จบอรรถกถาสูตรที่ ๖