พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

สูตรที่ ๗ ว่าด้วยเหตุปัจจัยให้สัตว์ตายแล้วเข้าถึงทุคติและสุคติ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  18 ต.ค. 2564
หมายเลข  38453
อ่าน  378

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 336

สูตรที่ ๗

ว่าด้วยเหตุปัจจัยให้สัตว์ตายแล้วเข้าถึงทุคติและสุคติ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 33]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 336

สูตรที่ ๗

ว่าด้วยเหตุปัจจัยให้สัตว์ตายแล้วเข้าถึงทุคติและสุคติ

[๒๖๓] ๑๗. ครั้งในแล พราหมณ์ชานุสโสณีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ดูก่อนพราหมณ์ เพราะกระทำด้วย เพราะไม่กระทำด้วย สัตว์บางพวกในโลกนี้ เมื่อแตกกายตายไป จึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก.

ชา. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ เมื่อแตกกายตายไป เข้าถึงสุคติโสกสวรรค์.

พ. ดูก่อนพราหมณ์ เพราะกระทำด้วย เพราะไม่กระทำด้วย สัตว์บางพวกในโลกนี้ เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 337

ชา. ข้าพระองค์ย่อมไม่รู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งภาษิต ที่ท่านพระโคดมตรัสแล้วโดยย่อได้โดยพิสดาร ขอประทานวโรกาส ขอท่านพระโคดมจงทรงแสดงธรรม โดยที่ข้าพระองค์จะพึงรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งภาษิตที่ท่านพระโคดมตรัสแล้วโดยย่อได้โดยพิสดารเถิด.

พ. ดูก่อนพราหมณ์ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง จงตั้งใจให้ดี เราจักกล่าว พราหมณ์ชานุสโสณีได้ทูลสนองพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระพุทธวจนะดังนี้ว่า ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมทำแต่กายทุจริต มิได้ทำกายสุจริต ย่อมทำแต่วจีทุจริต มิได้ทำวจีสุจริต ย่อมทำแต่มโนทุจริต มิได้ทำมโนสุจริต ดูก่อนพราหมณ์ เพราะกระทำด้วย เพราะไม่การทำด้วย สัตว์บางพวกในโลกนี้ เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ดูก่อนพราหมณ์ ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมทำแต่กายสุจริต มิได้ทำกายทุจริต ย่อมทำแต่วจีสุจริต มิได้ทำวจีทุจริต ย่อมทำแต่มโนสุจริต มิได้ทำมโนทุจริต ดูก่อนพราหมณ์ เพราะกระทำด้วย เพราะไม่กระทำด้วย สัตว์บางพวกในโลกนี้ เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์.

ชา. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่าคนมีจักษุจักเห็นรูปฉะนั้น ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม กับทั้งพระธรรมและภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.

จบสูตรที่ ๗

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 338

อรรถกถาสูตรที่ ๗

ในสูตรที่ ๗ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

คำว่า ชาณุสฺโสณี (๑) ในบทว่า ชาณุสฺโสณี นี้ เป็นตำแหน่ง. ตำแหน่งอะไร. ตระกูลใดได้ตำแหน่ง ตระกูลนั้นท่านเรียกว่า ตระกูลชาณุสโสณี (ตระกูลที่เป็นเหตุให้ได้ตำแหน่งนั้น ท่านเรียกว่า ตระกูลชาณุสโสณี). ด้วยว่า พราหมณ์นี้เรียกกันว่า ชาณุสโสณี เพราะเกิดในตระกูลนั้น และเพราะได้สักการะตำแหน่งชาณุสโสณีแต่ราชสำนัก. บทว่า เตนุปสงฺกมิ ความว่า พราหมณ์ทราบมาว่า พระสมณโคดมเป็นบัณฑิต เป็นผู้เฉียบแหลม เป็นพหูสูต คิดว่า ถ้าพระสมณโคดมนั้น จักรู้ประเภทลิงค์ วิภัตติ และการกเป็นต้นไซร้ พระองค์จักรู้สิ่งที่พวกเรารู้เท่านั้น หรือว่าสิ่งที่พวกเราไม่รู้พระองค์ก็รู้ พระองค์จักตรัสสิ่งที่พวกเรารู้เท่านั้น หรือว่าสิ่งที่พวกเราไม่รู้พระองค์ก็ตรัส เขาถือธงคือมานะชูขึ้นทันที แวดล้อมไปด้วยบริวารเป็นอันมาก เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ.

บทว่า กตตฺตา จ พฺราหฺมณ อกตตฺตา จ ความว่า พระศาสดาทรงสดับคำของพราหมณ์นั้นแล้ว มีพระดำริว่า พราหมณ์นี้มาในที่นี้ มิใช่ประสงค์จะรู้ แต่มาเพื่อแสวงหาเนื้อความ จึงได้ถือธงคือมานะชูขึ้นทันทีที่มา จะมีอะไรหนอ เมื่อเราบอกโดยวิธีที่พราหมณ์นี้จะรู้ทั่วถึงเนื้อความของปัญหา จักมีความเจริญ หรือว่าบอกโดยวิธีที่พราหมณ์ยังไม่รู้ทั่วถึง จึงจักมีความเจริญ ทรงทราบว่า บอกโดยวิธีที่พราหมณ์ไม่รู้ จักมีความเจริญ จึงตรัสว่า กตตฺตา จ พฺราหฺมณ อกตตฺตา จ ดังนี้. พราหมณ์ได้ฟังดังนั้นแล้ว คิดว่า พระสมณโคดม


(๑) บาลี ชานุสฺโสณี.อานิสังสผล

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 339

ตรัสถึงการบังเกิดในนรก เพราะทำก็มี เพราะไม่ทำก็มี ข้อนี้รู้ได้ยาก มืดตื้อ เพราะตรัสถึงการบังเกิดในที่แห่งเดียวด้วยเหตุถึงสองอย่าง เราไม่มีที่พึ่งในเรื่องนี้ แต่ถ้าเราจะนิ่งเสียเลย ถึงเวลาพูดในท่ามกลางพวกพราหมณ์ พราหมณ์ทั้งหลายจะพึงกล่าวกะเราอย่างนี้ว่า ท่านยกธงคือมานะชูขึ้นทันทีที่มาในสำนักของพระสมณโคดม ถูกเข้าคำเดียวเท่านั้นก็นิ่งเงียบ พูดอะไรไม่ออก ท่านจะพูดในที่นี้ทำไม ฉะนั้น ก็ต้องทำเป็นไม่แพ้ จักถามปัญหาในการไปสวรรค์อีก จึงเริ่มปัญหาที่สองว่า กึ ปน โภ โคตม ดังนี้. อนึ่ง พราหมณ์นั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า เราจักรู้ปัญหาเบื้องล่างด้วยปัญหาเบื้องบน จักรู้ปัญหาเบื้องบนด้วยปัญหาเบื้องล่าง. ฉะนั้น พราหมณ์จึงถามปัญหานี้. พระศาสดามีพระดำริโดยนัยก่อนนั่นเอง เมื่อจะตรัสโดยวิธีที่พราหมณ์ไม่รู้ จึงตรัสว่า กตตฺตา จ พฺราหฺมณ อกตตฺตา จ ดังนี้อีก. เมื่อพราหมณ์ไม่อาจจะดำรงอยู่ในเรื่องนั้นได้ จึงตกลงใจว่า เรื่องนั้นจงยกไว้ คนที่มาสำนักของคนขนาดนี้ ควรจะรู้เรื่องแล้วไป เราจักละวาทะของตน อนุวัตรตามพระสมณโคดม แสวงหาประโยชน์ จักชำระทางไปสู่ปรโลก เมื่อจะอาราธนาพระศาสดา จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า น โข อหํ ดังนี้. ลำดับนั้น พระศาสดาทรงทราบว่า พราหมณ์ลดมานะลงแล้ว เมื่อจะทรงขยายเทศนาให้สูงขึ้น จึงตรัสว่า เตนหิ พฺราหฺมณ เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เตนหิ แสดงถึงเหตุ. อธิบายว่า เพราะพราหมณ์นั้น เมื่อไม่รู้เนื้อความของพระดำรัสที่ตรัสโดยย่อ จึงอาราธนาให้แสดงโดยพิสดาร. ฉะนั้น คำที่เหลือในที่นี้ ง่ายทั้งนั้นแล.

จบอรรถกถาสูตรที่ ๗