พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

สูตรที่ ๕ ว่าด้วยบุคคลผู้มีสังโยชน์ในภายในและในภายนอก

 
บ้านธัมมะ
วันที่  19 ต.ค. 2564
หมายเลข  38473
อ่าน  461

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 364

สูตรที่ ๕

ว่าด้วยบุคคลผู้มีสังโยชน์ในภายในและในภายนอก


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 33]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 364

สูตรที่ ๕

ว่าด้วยบุคคลผู้มีสังโยชน์ในภายในและในภายนอก

[๒๘๑] ๓๕. สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี สมัยนั้นแล ท่านพระสารีบุตรอยู่ที่ปราสาทของนางวิสาขามิคารมารดา ในบุพพาราม ใกล้กรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรได้เรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นตอบรับท่านพระสารีบุตรแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่า ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย เราจักแสดงบุคคลที่มีสังโยชน์ในภายใน และบุคคลที่มีสังโยชน์ในภายนอก ท่านทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นตอบรับท่านพระสารีบุตรแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่า ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย ก็บุคคลที่มีสังโยชน์ในภายในเป็นไฉน ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมแล้วในปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย เมื่อแตกกายตายไป ภิกษุนั้นย่อมเข้าถึงหมู่เทพหมู่ใดหมู่หนึ่ง ครั้นจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว เป็นอาคามี กลับมาสู่ความเป็นผู้เช่นนี้ นี้เรียกว่า บุคคลผู้มีสังโยชน์ในภายใน เป็นอาคามี กลับมาสู่ความเป็นผู้เช่นนี้.

ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้มีสังโยชน์ในภายนอกเป็นไฉน ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมแล้วในพระปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ภิกษุนั้นย่อมบรรลุเจโตวิมุตติอัน

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 365

สงบอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงหมู่เทพหมู่ใดหมู่หนึ่ง ครั้นจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว เป็นอนาคามี ไม่กลับมาสู่ความเป็นผู้เช่นนี้ นี้เรียกว่า บุคคลผู้มีสังโยชน์ในภายนอก เป็นอนาคามี ไม่กลับมาสู่ความเป็นผู้เช่นนี้.

ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีศีล สำรวมแล้วในปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ภิกษุนั้นย่อมปฏิบัติเพื่อความหน่าย เพื่อคลาย เพื่อความดับกามทั้งหลาย ย่อมปฏิบัติเพื่อความหน่าย เพื่อคลาย เพื่อความดับภพทั้งหลาย ย่อมปฏิบัติเพื่อสิ้นตัณหา เพื่อสิ้นความโลภ ภิกษุนั้นเมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงหมู่เทพหมู่ใดหมู่หนึ่ง ครั้นจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว เป็นอนาคามี ไม่กลับมาสู่ความเป็นผู้เช่นนี้ ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย นี้เรียกว่า บุคคลมีสังโยชน์ในภายนอก เป็นอนาคามี ไม่กลับมาสู่ความเป็นผู้เช่นนี้.

ครั้งนั้นแล เทวดาที่มีจิตเสมอกันมากองค์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตรนั่นกำลังเทศนาถึงบุคคลที่มีสังโยชน์ในภายในและบุคคลที่มีสังโยชน์ในภายนอกแก่ภิกษุทั้งหลาย อยู่ที่ปราสาทของนางวิสาขามิคารมารดา ในบุพพาราม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บริษัทร่าเริง ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงพระกรุณาเสด็จไปหาท่านพระสารีบุตรจนถึงที่อยู่เถิด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับคำอาราธนาด้วยดุษณีภาพ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหายจากพระเชตวันวิหาร

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 366

ไปปรากฏเฉพาะหน้าท่านพระสารีบุตร ที่ปราสาทของนางวิสาขามิคารมารดา ในบุพพาราม เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้หรือคู้แขนที่เหยียดฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ แม้ท่านพระสารีบุตรก็ได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วนั่งลง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะท่านพระสารีบุตรว่า ดูก่อนสารีบุตร เทวดาที่มีจิตเสมอกันมากองค์เข้าไปหาเราจนถึงที่อยู่ ไหว้เรา แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วบอกว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตรกำลังเทศนาถึงบุคคลที่มีสังโยชน์ในภายในและบุคคลที่มีสังโยชน์ในภายนอกแก่ภิกษุทั้งหลาย อยู่ที่ปราสาทของนางวิสาขามิคารมารดา ในบุพพาราม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บริษัทร่าเริง ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระกรุณาเสด็จไปหาท่านพระสารีบุตรจนถึงที่อยู่เถิด ดูก่อนสารีบุตร ก็เทวดาเหล่านั้นยืนอยู่ในโอกาสแม้เท่าปลายเหล็กแหลมจดลง ๑๐ องค์บ้าง ๒๐ องค์บ้าง ๓๐ องค์บ้าง ๔๐ องค์บ้าง ๕๐ องค์บ้าง ๖๐ องค์บ้าง แต่ก็ไม่เบียดกันและกัน ดูก่อนสารีบุตร เธอก็พึงมีความคิดอย่างนี้ว่า จิตอย่างนั้น ซึ่งเป็นเหตุให้เทวดาเหล่านั้นยืนอยู่ได้ในโอกาสแม้เท่าปลายเหล็กแหลมจดลง ๑๐ องค์บ้าง ... ๖๐ องค์บ้าง เป็นจิตอันเทวดาเหล่านั้นอบรมแล้วในภพนั้นแน่นอน ดูก่อนสารีบุตร ก็ข้อนั้นเธอไม่ควรเห็นเช่นนี้ ดูก่อนสารีบุตร ก็จิตอย่างนั้น ซึ่งเป็นเหตุให้เทวดาเหล่านั้นยืนอยู่ได้ในโอกาสแม้เท้าปลายเหล็กแหลมจดลง ๑๐ องค์บ้าง ฯลฯ แต่ก็ไม่เบียดกันและกัน เทวดาเหล่านั้นได้อบรมแล้วในศาสนานี้เอง เพราะฉะนั้นแหละ สารีบุตร เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จักเป็นผู้มีอินทรีย์สงบ มีใจระงับอยู่ เธอควรศึกษา

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 367

เช่นนี้แหละ สารีบุตร กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมของผู้มีอินทรีย์สงบ มีใจระงับ จักสงบระงับ เพราะฉะนั้นแหละ สารีบุตร เธอพึงศึกษาว่า จักนำกายและจิตที่สงบระงับแล้วเท่านั้นเข้าไปในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ดูก่อนสารีบุตร เธอควรศึกษาเช่นนี้แหละ ดูก่อนสารีบุตร พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกที่ไม่ได้ฟังธรรมบรรยายนี้ ได้พากันฉิบหายเสียแล้ว.

จบสูตรที่ ๕

อรรถกถาสูตรที่ ๕

ในสูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า ปุพฺพาราเม ได้แก่ ณ อารามทางทิศตะวันออกกรุงสาวัตถี. บทว่า มิคารมาตุปาสาเท ได้แก่ เป็นปราสาทของอุบาสิกาชื่อวิสาขา. ก็อุบาสิกาวิสาขานั้น เรียกกันว่า มิคารมารดา เพราะท่านมิคารเศรษฐี (พ่อผัว) ตั้งไว้ในฐานะมารดาด้วย เพราะมีชื่อเหมือนชื่อของเศรษฐีผู้เป็นปู่ [วิสาขเศรษฐี] ซึ่งเป็นบุตรคนหัวปีด้วย. ปราสาทที่นางวิสาขาสร้าง มีห้อง ๑,๐๐๐ ห้อง ชื่อว่าปราสาทมิคารมารดา. พระเถระพักอยู่ในปราสาทนั้น. บทว่า ตตฺร โข อายสฺมา สารีปุตฺโต ความว่า พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระพักอยู่ในปราสาทนั้น.

บทว่า ภิกฺขู อามนฺเตสิ ความว่า พระเถระเรียกเวลาไหน. เพราะสูตรบางสูตรกล่าวว่า ก่อนภัตก็มี บางสูตรว่า หลังภัต บางสูตรว่า ยามแรก บางสูตรว่า ยามกลาง บางสูตรว่า ยามท้าย. ก็ปฏิปทาสูตรในสมจิตตวรรคนี้กล่าวว่า หลังภัต ฉะนั้น พระเถระจึงเรียกภิกษุทั้งหลายเวลาเย็น. ความจริงสูตรนี้ พระเถระมิได้กล่าวองค์เดียวเท่านั้น แม้

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 368

พระตถาคตก็ตรัส. ถามว่า ประทับนั่งที่ไหน ตอบว่า ประทับนั่ง ณ รัตนปราสาทของนางวิสาขา. จริงอยู่ ๒๐ พรรษา ตอนปฐมโพธิกาล พระตถาคตมิได้ประทับอยู่ประจำ ที่ใดๆ มีความผาสุก ก็เสด็จไปประทับอยู่ ณ ที่นั้นๆ นั่นแล.

พรรษาแรก ทรงประกาศธรรมจักร ณ ป่าอิสิปตนะ ให้มหาพรหม ๑๘ โกฏิดื่มน้ำอมฤต ทรงอาศัยกรุงพาราณสีประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนะ

พรรษาที่ ๒ ทรงอาศัยกรุงราชคฤห์ ประทับอยู่ ณ เวฬุวันวิหาร

พรรษาที่ ๓ และ ที่ ๔ ก็ประทับอยู่ ณ เวฬุวันวิหารนั้นแหละ

พรรษาที่ ๕ ทรงอาศัยกรุงเวสาลี ประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน

พรรษาที่ ๖ ประทับอยู่ ณ มกุลบรรพต

พรรษาที่ ๗ ประทับอยู่ (ณ ปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์) บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

พรรษาที่ ๘ ทรงอาศัยสุงสุมารคิรนคร แคว้นภัคคะ ประทับอยู่ ณ เภสกฬาวัน

พรรษาที่ ๙ ประทับอยู่ ณ กรุงโกสัมพี

พรรษาที่ ๑๐ ประทับอยู่ ณ ไพรสณฑ์ปาลิเลยยกะ

พรรษาที่ ๑๑ ประทับอยู่ ณ พราหมณคาม เมืองนาลา

พรรษาที่ ๑๒ ประทับอยู่ ณ เมืองเวรัญชา

พรรษาที่ ๑๓ ประทับอยู่ ณ จาลิยบรรพต

พรรษาที่ ๑๔ ประทับอยู่ ณ เชตวันวิหาร

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 369

พรรษาที่ ๑๕ ประทับอยู่ ณ กรุงกบิลพัสดุ์

พรรษาที่ ๑๖ ทรงโปรดอาฬวกยักษ์ ให้สัตว์แปดหมื่นสี่พันดื่มน้ำอมฤต ประทับอยู่ ณ เมืองอาฬวี

พรรษาที่ ๑๗ ประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์อีก

พรรษาที่ ๑๘ ประทับอยู่ ณ จาลิยบรรพตอีก

พรรษาที่ ๑๙ ประทับอยู่ ณ จาลิยบรรพตเหมือนกัน

พรรษาที่ ๒๐ ทรงอาศัยกรุงราชคฤห์นั่นแล ประทับอยู่.

๒๐ พรรษาแรก พระตถาคตมิได้ประทับอยู่ประจำดังกล่าวมานี้ ที่ใดๆ มีความผาสุก ก็ประทับอยู่ ณ ที่นั้นๆ นั่นแล. ต่อจากนั้น ทรงใช้เสนาสนะ ๒ แห่งเป็นประจำ. ๒ แห่ง คือที่ไหนบ้าง. คือ เชตวัน ๑ บุพพาราม ๑. เพราะเหตุไร. เพราะ ๒ ตระกูลมีคุณมาก. พระศาสดาทรงใช้สอยเสนาสนะ ๒ แห่งนั้นเป็นประจำ เพราะทรงอาศัยคุณ ซึ่งหมายถึงคุณของท่านอนาถบิณฑิกะและนางวิสาขา. แม้เสด็จจาริกไปในฤดูฝน เมื่อวันเข้าพรรษาก็ประทับอยู่ ณ เสนาสนะ ๒ แห่งนั่นแหละ. พระองค์ประทับอยู่อย่างนี้ กลางคืนประทับอยู่ ณ พระเชตวัน รุ่งขึ้นแวดล้อมไปด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี ทางประตูทิศใต้ แล้วเสด็จออกทางประตูทิศตะวันออก ทรงพักผ่อนกลางวัน ณ บุพพาราม. กลางคืนประทับอยู่ ณ บุพพาราม รุ่งขึ้นเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี ทางประตูทิศตะวันออก แล้วเสด็จออกทางประตูทิศใต้ ทรงพักผ่อนกลางวัน ณ พระเชตวัน.

ก็ในวันนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันนั่นเอง. พระพุทธเจ้าเมื่อประทับอยู่ในที่ใดที่หนึ่ง ย่อมไม่ทรงเว้นพุทธกิจ ๕

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 370

ประการเลย. พุทธกิจ ๕ ประการนั้น กล่าวไว้พิสดารแล้วในหนหลัง. บรรดากิจเหล่านั้น เวลาของกิจในปัจฉิมยาม พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูสัตวโลก ทรงเห็นว่า ชาวกรุงสาวัตถีและเหล่าสัตว์หาประมาณมิได้รอบๆ กรุงสาวัตถีในพื้นที่คาวุตหนึ่งและกึ่งโยชน์จะได้ตรัสรู้ ต่อจากนั้นทรงตรวจดูว่า เวลาไหนหนอ จักมีการตรัสรู้ ทรงเห็นว่า เวลาเย็น ทรงตรวจดูว่า เมื่อเรากล่าว จักมีการตรัสรู้ หรือว่าเมื่อสาวกกล่าว จักมีการตรัสรู้ ทรงเห็นว่า เมื่อพระสารีบุตรเถระกล่าว จักมีการตรัสรู้ ครั้นแล้วทรงตรวจดูว่า นั่งกล่าวที่ไหน จักมีการตรัสรู้ ทรงเห็นว่า นั่งที่รัตนปราสาทของนางวิสาขา ได้ทรงทราบว่า ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมมีประชุมสาวก ๓ ครั้ง พระอัครสาวกทั้งหลายมีประชุมครั้งเดียว บรรดาประชุมเหล่านั้น วันนี้จักมีประชุมสาวกของพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระ ครั้นทรงทราบแล้ว ทรงปฏิบัติพระสรีระแต่เช้าทีเดียว ทรงนุ่งสบง ห่มสุคตจีวร ทรงถือบาตรเสลมัยบาตรหิน แวดล้อมไปด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จเข้าเมืองทางประตูทิศใต้ เสด็จบิณฑบาตอยู่ ทรงทำให้ภิกษุสงฆ์หาบิณฑบาตได้ง่าย เสด็จหวนกลับออกทางประตูทิศใต้เหมือนเรือที่ต้องลม ประทับยืนอยู่นอกประตู. ลำดับนั้น พระอสีติมหาสาวก ภิกษุณีบริษัท อุบาสกบริษัท อุบาสิกาบริษัท รวมเป็นบริษัท ๔ แวดล้อมพระศาสดา. พระศาสดาตรัสเรียกพระสารีบุตรเถระมารับสั่งว่า สารีบุตร เธอควรจะไปบุพพาราม จงพาบริษัทของเธอไป. พระเถระรับพระพุทธดำรัสว่า ดีแล้ว พระพุทธเจ้าข้า แวดล้อมด้วยภิกษุบริวารของตนประมาณ ๕๐๐ รูป ได้ไปยังบุพพาราม. พระศาสดาทรงส่งพระอสีติมหาสาวกไปยังบุพพารามเหมือนกันโดยทำนองนี้แหละ พระองค์เอง

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 371

เสด็จไปพระเชตวันกับพระอานนทเถระองค์เดียวเท่านั้น. แม้พระอานนทเถระก็กระทำวัตรแด่พระศาสดาแล้วถวายบังคมกราบทูลว่า ข้าพระองค์จะไปบุพพาราม พระเจ้าข้า. ตรัสว่า ไปเถิดอานนท์. พระอานนทเถระถวายบังคมพระศาสดาแล้วได้ไปในบุพพารามนั้นทีเดียว. พระศาสดาทรงคอยอยู่ที่พระเชตวันพระองค์เดียวเท่านั้น. ก็วันนั้น บริษัท ๔ ประสงค์จะฟังธรรมกถาของพระเถระเท่านั้น. แม้พระเจ้าโกศลมหาราชก็แวดล้อมไปด้วยพลนิกาย เสด็จไปยังบุพพารามเหมือนกัน. ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีมีอุบาสก ๕๐๐ คนเป็นบริวาร ก็ได้ไปเหมือนกัน. ฝ่ายมหาอุบาสิกาวิสาขา แวดล้อมไปด้วยหญิง ๑,๐๐๐ คน ได้ไปแล้ว. ในกรุงสาวัตถี ซึ่งเป็นที่อยู่ของตระกูลที่องอาจ ๕,๗๐๐,๐๐๐ ตระกูล ชนทั้งหลาย นอกจากเด็กเฝ้าบ้าน ต่างพากันถือจุรณของหอมและดอกไม้เป็นต้นไปยังบุพพารามกันทั้งนั้น. และมนุษย์ทุกหมู่เหล่า ในที่คาวุตหนึ่ง กึ่งโยชน์ และโยชน์หนึ่ง ในหมู่บ้านที่ประตูเมืองทั้ง ๔ ได้ถือจุรณของหอมและดอกไม้เป็นต้นไปยังบุพพาราม. ทั่วทั้งวิหารได้เป็นเหมือนเกลื่อนกลาดไปด้วยดอกไม้ทั้งหลาย. แม้พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระก็ได้ไปยังวิหาร ยืนอยู่ ณ ที่เป็นเนินในบริเวณวิหาร. ภิกษุทั้งหลายช่วยกันปูลาดอาสนะถวายพระเถระ. พระเถระนั่งบนอาสนะนั้น เมื่อพระเถระผู้อุปัฏฐากกระทำวัตรแล้ว ให้โอวาทแก่ภิกษุสงฆ์ เข้าไปยังคันธกุฎี นั่งเข้าสมาบัติ. ได้เวลาตามกำหนด ท่านออกจากสมาบัติ ไปยังแม่น้ำอจิรวดี ชำระเหงื่อไคลระงับความกระวนกระวาย แล้วขึ้นจากน้ำทางท่าที่ลงนั่นแหละ ครองสบงจีวรแล้วยืนห่มสังฆาฏิ. แม้ภิกษุสงฆ์ก็ลงสรงน้ำพร้อมกัน ชำระเหงื่อไคลแล้วกลับขึ้นมาแวดล้อมพระเถระ. แม้ภายในวิหารก็ได้จัดปูลาด

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 372

ธรรมาสน์ไว้สำหรับพระเถระ. บริษัททั้ง ๔ รู้โอกาสของตนๆ จึงนั่งเว้นทางไว้. พระสารีบุตรเถระแวดล้อมด้วยภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป มายังธรรมสภา นั่งผินหน้าไปทางทิศตะวันออก จับพัดวีชนีอันวิจิตรบนรัตนบัลลังก์ที่ยกเศวตฉัตรขึ้น ซึ่งประดิษฐานอยู่บนหัวสิงห์ [รูป]. ครั้นนั่งแล้วแลดูบริษัท คิดว่า บริษัทนี้ใหญ่เหลือเกิน การแสดงธรรมเบ็ดเตล็ดมีประมาณน้อย ไม่สมควรแก่บริษัทนี้ แสดงธรรมข้อไหนจึงจักสมควรหนอ เมื่อนึกถึงพระไตรปิฎก จึงได้เห็นธรรมเทศนาว่าด้วยสังโยชน์นี้ ครั้นกำหนดธรรมเทศนาอย่างนี้แล้ว ประสงค์จะแสดงข้อนั้น จึงเรียกภิกษุทั้งหลายว่า อาวุโส ภิกฺขโว ดังนี้.

คำว่า ภิกฺขโว ไม่กล่าวว่า อาวุโส พระพุทธเจ้าทรงใช้เรียกภิกษุทั้งหลาย. ก็ท่านพระสารีบุตรนี้คิดว่า เราจักไม่เรียกเหมือนพระทศพล เมื่อจะเรียกสาวกจึงกล่าวว่า อาวุโส ภิกฺขโว ดังนี้ ด้วยความเคารพในพระศาสดา. บทว่า เอตทโวจ ความว่า ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวคำนี้ คือ บทธรรมเทศนาว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย ข้าพเจ้าจักแสดงบุคคลผู้มีสังโยชน์ภายใน และบุคคลผู้มีสังโยชน์ภายนอก ดังนี้. ก็ที่รัตนปราสาทนั้น มีเทพบุตรเป็นพระโสดาบันสิงอยู่องค์หนึ่ง พอพระพุทธเจ้าหรือพระสาวกทั้งหลายเริ่มเทศนาเท่านั้น เทพบุตรองค์นั้นก็ทราบว่า เทศนานี้จักตื้น เทศนานี้จักลึก เทศนานี้จักพาดพิงฌาน เทศนานี้จักพาดพิงวิปัสสนา เทศนานี้จักพาดพิงมรรค เทศนานี้จักพาดพิงผล เทศนานี้จักพาดพิงถึงพระนิพพาน. แม้ในวันนั้น พอพระเถระเริ่มเทศนาเท่านั้น เทพบุตรองค์นั้นก็ทราบได้ว่า พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระผู้เป็นเจ้าของเรา เริ่มเทศนาโดยทำนองใดๆ ก็ตาม เทศนานี้จักหยั่งลงถึง

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 373

วิปัสสนา พระเถระจักกล่าววิปัสสนาโดยมุขทั้ง ๖ เวลาจบเทศนา เทวดาพันโกฏิจักบรรลุพระอรหัต ส่วนเทวดาและมนุษย์ที่เป็นพระโสดาบันเป็นต้น กำหนดไม่ได้ เราจักถวายสาธุการแด่พระผู้เป็นเจ้าของเราให้สมควรแก่เทศนา จึงใช้เทวานุภาพเปล่งเสียงดัง กล่าว่า สาธุ สาธุ พระผู้เป็นเจ้า ดังนี้.

เมื่อเทวราชให้สาธุการ เหล่าเทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ปราสาท ๑,๐๐๐ องค์ซึ่งเป็นบริวาร ก็พากันให้สาธุการพร้อมกันทั้งหมดทีเดียว. ด้วยเสียงสาธุการของเทวดาเหล่านั้น เหล่าเทวดาที่อยู่ในบุพพารามได้ให้สาธุการ. ด้วยเสียงของเทวดาที่อยู่ในบุพพารามเหล่านั้น เหล่าเทวดาที่อยู่ในพื้นที่ประมาณคาวุตหนึ่งได้ให้สาธุการ ต่อจากนั้น เหล่าเทวดาผู้อยู่ในพื้นที่กึ่งโยชน เหล่าเทวดาผู้อยู่ในพื้นที่โยชน์หนึ่ง เหล่าเทวดาในจักรวาลหนึ่ง สองจักรวาล สามจักรวาล ฯลฯ รวมเป็นเหล่าเทวดาในหมื่นจักรวาล ได้ให้สาธุการโดยอุบายนี้ ด้วยประการฉะนี้. ด้วยเสียงสาธุการของเทวดาเหล่านั้น เหล่านาคที่อยู่ในแผ่นดิน และเหล่าเทวดาที่อยู่ในอากาศได้ให้สาธุการ ต่อจากนั้น เทวดาเมฆหมอก เทวดาเมฆร้อน เทวดาเมฆหนาว เทวดาเมฆฝน มหาราชทั้ง ๔ ชั้นจาตุมหาราชิกา ท้าวสักกเทวราช ชั้นดาวดึงส์ สุยามเทวราช เทวดาชั้นยามา สันตุสิตเทวราช เทวดาชั้นดุสิต นิมมานรดีเทวราช เทวดาชั้นนิมมานรดี วสวัตดีเทวราช เทวดาชั้นวสวัตดี พรหมปาริสัชชา พรหมปุโรหิตา มหาพรหมพวกปริตตาภา พวกอัปปมาณาภา พวกอาภัสสรา พวกปริตตสุภา พวกอัปปมาณสุภา พวกสุภกิณหา พวกเวหัปผลา พวกอวิหา พวกอตัปปา พวกสุทัสสา พวกสุทัสสี และเทวดาพวกอกนิฏฐา รวมเทวดาทั้งปวง

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 374

ในที่ที่พอจะฟังเสียงได้ นอกจากพวกอสัญญีและพวกอรูปาวจร ได้ให้สาธุการ. ต่อจากนั้น เหล่ามหาพรหมผู้เป็นพระขีณาสพรำพึงว่า เสียงสาธุการนี้ดังจริงหนอ มาจากพื้นแผ่นดินจนถึงชั้นอกนิฏฐา นี่เรื่องอะไรกันหนอ คิดว่า พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระ นั่งที่รัตนปราสาทของนางวิสาขาในบุพพาราม เริ่มแสดงธรรมว่าด้วยสังโยชน์ แม้พวกเราก็ควรจะเป็นกายสักขีในที่นั้น จึงได้พากันไปในที่นั้น. บุพพารามจึงเต็มไปด้วยเทวดาทั้งหลาย. ที่รอบๆ บุพพารามคาวุตหนึ่ง กึ่งโยชน์ โยชน์หนึ่ง ขยายไปทั่วจักรวาล ด้านขวาง ใต้แผ่นดิน จดขอบจักรวาล เนืองแน่นไปด้วยเหล่าเทวดาหมื่นจักรวาลมาประชุมกัน. เทวดา ๖๐ โกฏิเบื้องบน ได้ยืนเนรมิตอัตภาพให้ละเอียด ในที่เท่าปลายเหล็กแหลมจดลง.

ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรรำพึงว่า โกลาหลนี้ใหญ่จริงหนอ. นี่เรื่องอะไรกัน ได้เห็นเทวดาที่อยู่ในหมื่นจักรวาลมารวมกันอยู่ในจักรวาลเดียว อนึ่ง เพราะพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มีความจำเป็นเรื่องอธิษฐาน ทรงเห็น และให้ได้ยินเสียงโดยประมาณบริษัทเท่านั้น แต่เหล่าสาวกควรอธิษฐาน ฉะนั้น พระเถระจึงเข้าสมาบัติ ออกจากสมาบัติแล้วจึงอธิฐานด้วยมหัคคตจิตว่า ขอบริษัททั่วถึงขอบจักรวาลทั้งหมดจงเห็นเรา และเมื่อเราแสดงธรรมจงได้ยินเสียง. จำเดิมแต่เวลาที่พระเถระอธิฐาน ผู้ที่นั่งอยู่ข้างเข่าขวาพระเถระก็ตาม ที่ขอบปากจักรวาลก็ตาม ไม่มีเรื่องที่จะต้องพูดว่า พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระเป็นเช่นไร สูง ต่ำ ดำ ขาว อย่างไร. พระเถระได้ปรากฏเฉพาะหน้าของบริษัททั้งหมดที่นั่งอยู่ทุกทิศ เหมือนดวงจันทร์ที่ลอยอยู่กลางนภากาศ. แม้เมื่อพระเถระกำลังแสดงธรรมอยู่ เทวดาและมนุษย์ทั้งหมดที่นั่งอยู่ข้างเข่าขวาพระเถระก็ตาม ที่ขอบ

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 375

ปากจักรวาลก็ตาม ต่างได้ฟังเสียงพร้อมกันเลยทีเดียว. ครั้นอธิฐานแล้ว พระเถระจึงเริ่มแสดงบุคคลผู้มีสังโยชน์ภายใน.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อชฺฌตฺตํ ได้แก่ กามภพ. บทว่า พหิทฺธา ได้แก่ รูปภพและอรูปภพ. จริงอยู่ สัตว์ทั้งหลายมีเวลาอยู่ในกามภพน้อย เป็นส่วนที่ ๔ ของกัปเท่านั้น เวลา ๓ ส่วนนอกนี้ กามภพว่างเปล่า. สัตว์ทั้งหลายมีเวลาอยู่ในรูปภพมากก็จริง ถึงอย่างนั้น เพราะสัตว์เหล่านั้นมีจุติและปฏิสนธิในกามภพมาก ในรูปภพและอรูปภพน้อย และภพใดมีจุติและปฏิสนธิมาก ภพนั้นย่อมมีอาลัยบ้าง ปรารถนาบ้าง รำพึงรำพันบ้างมาก ภพใดมีจุติและปฏิสนธิน้อย ภพนั้นก็มีอาลัย ปรารถนา หรือรำพึงรำพ้นน้อย ฉะนั้น กามภพจึงชื่อว่า ภายใน รูปภพและอรูปภพจึงชื่อว่า ภายนอก แล. ฉันทราคะในกามภพกล่าวคือภายใน ชื่อว่า สังโยชน์ภายใน. ฉันทราคะในรูปภพและอรูปภพกล่าวคือภายนอก ชื่อว่า สังโยชน์ภายนอก.

อีกอย่างหนึ่ง สังโยชน์ ๕ ที่เป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ชื่อว่า สังโยชน์ภายใน. สังโยชน์ ๕ ที่เป็นไปในส่วนเบื้องบน ชื่อว่า สังโยชน์ภายนอก. ในข้อนั้นมีเนื้อความของคำดังต่อไปนี้ :-

กามธาตุ ท่านเรียกว่า เบื้องต่ำ เหล่าสัตว์ย่อมเกี่ยวข้องเรื่องต่ำๆ นั้น เพราะให้สำเร็จการเกิดในกามธาตุนั้น ฉะนั้น จึงชื่อว่าเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ. รูปธาตุและอรูปธาตุ ท่านเรียกว่า เบื้องบน เหล่าสัตว์ย่อมเกี่ยวข้องในเบื้องบนนั้น เพราะให้สำเร็จการเกิดในรูปธาตุและอรูปธาตุนั้น ฉะนั้น จึงชื่อว่าเป็นไปในส่วนเบื้องบน. บุคคลผู้ประกอบด้วยสังโยชน์ภายในมีประเภทดังกล่าวแล้ว ชื่อว่าสังโยชน์ภายใน บุคคล

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 376

ผู้ประกอบด้วยสังโยชน์ภายนอก ชื่อว่าผู้มีสังโยชน์ภายนอก ด้วยประการฉะนี้. ทั้งสองนี้จะเป็นชื่อของโลกิยชนส่วนมากที่ยังอาศัยวัฏฏะอยู่ก็หามิได้. แต่ทั้งสองนี้เป็นชื่อของพระอริยสาวกชั้นโสดาบัน สกทาคามี และอนาคามีเหล่านั้นที่กำหนดเป็น ๒ พวก. เหมือนอย่างว่า ป่าตะเคียน และป่าสาละเป็นต้น ย่อมไม่ได้ชื่อว่าเสา ว่าชื่อว่าเต้า ย่อมได้ชื่อว่าป่าตะเคียน ป่าสาละเท่านั้น แต่เมื่อใดคนใช้ขวานคมตัดต้นไม้จากป่านั้น แล้วถากโกลนรูปเป็นเสาเป็นต้น ย่อมได้ชื่อว่าเสา ว่าขื่อ ว่าเต้าเมื่อนั้น ฉันใด ปุถุชนผู้มีกิเลสหนายังกำหนดตัดภพไม่ได้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ยังไม่ได้ชื่อนั้น พระโสดาบันเป็นต้นเท่านั้นที่กำหนดตัดภพได้ ทำกิเลสให้เบาบางดำรงอยู่จึงจะได้.

อนึ่ง เพื่อให้เนื้อความนี้แจ่มแจ้ง พึงทราบอุปมาคอกลูกวัวดังต่อไปนี้. เรื่องมีว่า ชาวบ้านทำคอกลูกวัว ตอกหลักข้างในหลายหลัก ใช้เชือกผูกลูกวัว แล้วเข้าไปผูกไว้ที่หลักเหล่านั้น เมื่อเชือกไม่พอ จึงจับที่หูทั้งสองให้ลูกวัวทั้งหลายเข้าคอก พื้นที่ภายนอกไม่เพียงพอ จึงตอกหลักไว้ข้างนอกหลายหลัก แล้วทำ (ผูก) อย่างนั้นเหมือนกัน ที่คอกนั้น ลูกวัวที่ผูกไว้ข้างในบางตัวนอนข้างนอก บางตัวที่ผูกไว้ข้างนอกนอนข้างใน บางตัวที่ผูกไว้ข้างในนอนข้างใน บางตัวที่ผูกไว้ข้างนอกก็นอนข้างนอกนั่นเอง บางตัวไม่ได้ผูกไว้ ก็เที่ยวอยู่ข้างในนั่นเอง บางตัวไม่ได้ผูกไว้ เที่ยวออกข้างนอกก็มี. บรรดาลูกวัวเหล่านั้น ลูกวัวที่ผูกไว้ข้างในนอนข้างนอก เชือกที่ผูกยาว. เพราะลูกวัวตัวนั้นถูกความร้อนเป็นต้นเบียดเบียน จึงออกไปนอนรวมกับลูกวัวทั้งหลายข้างนอก. แม้ในลูกวัวที่ผูกไว้ข้างนอกเข้าไปนอนข้างใน ก็นัยนี้เหมือนกัน. ส่วนลูกวัว

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 377

ตัวใดผูกไว้ข้างในนอนข้างในนั่นเอง เชือกที่ผูกลูกวัวตัวนั้นสั้น. แม้ในลูกวัวที่ผูกไว้ข้างนอก นอนข้างนอก ก็นัยนี้แหละ. ลูกวัวทั้งสองพวกนั้น คงวนเวียนหลักอยู่ในคอกนั้นเองตลอดวัน. แต่ลูกวัวตัวใดไม่ได้ผูกไว้ข้างใน ย่อมเที่ยวอยู่ในกลุ่มลูกวัวทั้งหลายในคอกนั้นเอง. ลูกวัวตัวที่นอนนี้ ถูกดึงหูปล่อยเข้าไปในกลุ่มลูกวัวทั้งหลาย ก็ไม่ไปที่อื่น คงเดินอยู่ในกลุ่มนั้นเอง. ลูกวัวที่ไม่ได้ผูกไว้ข้างนอกก็ตาม ที่เที่ยวอยู่ในคอกนั้นเองก็ตาม ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน.

ในอุปมานั้น พึงทราบว่า ภพ ๓ เหมือนคอกลูกวัว. อวิชชาเหมือนหลักในคอกลูกวัว. สังโยชน์ ๑๐ เหมือนเชือกผูกลูกวัวที่หลัก. เหล่าสัตว์ที่เกิดในภพ ๓ เหมือนลูกวัว. พระโสดาบันและพระสกทาคามีในรูปภพและอรูปภพ เหมือนลูกวัวที่ผูกไว้ข้างใน นอนข้างนอก. พระอริยบุคคลเหล่านั้นอยู่ในรูปภพและอรูปภพนั้นก็จริง ถึงอย่างนั้น สังโยชน์ก็ยังเข้าไปพัวพันท่านเหล่านั้นไว้ในกามาวจรภพ. แม้ปุถุชนในรูปภพและอรูปภพ ก็สงเคราะห์เข้าในกามาวจรภพนั้นเหมือนกัน เพราะอรรถว่ายังละสังโยชน์อะไรไม่ได้. จริงอยู่ แม้ปุถุชนนั้นอยู่ในรูปภพและอรูปนั้นก็จริง ถึงอย่างนั้น สังโยชน์ก็ยังเข้าไปพัวพันเขาไว้ในกามาวจรภพเหมือนกัน. พระอนาคามีในกามาวจรภพ เหมือนลูกวัวที่ผูกไว้ข้างนอก นอนข้างใน. ด้วยว่า พระอนาคามีนั้น อยู่ในกามาวจรภพก็จริง ถึงอย่างนั้น สังโยชน์ก็ยังเข้าไปพัวพันท่านไว้ในรูปภพและอรูปภพเหมือนกัน. พระโสดาบันและพระสกทาคามีในกามาวจรภพ เหมือนลูกวัวที่ผูกไว้ข้างใน นอนข้างใน. ด้วยว่า ท่านเหล่านั้นอยู่ในกามาวจรภพเองบ้าง สังโยชน์เข้าไปพัวพันท่านไว้ในกามาวจรภพบ้าง. พระอนาคามีในรูปภพ

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 378

และอรูปภพ เหมือนลูกวัวที่ผูกไว้ข้างนอก นอนข้างนอก ด้วยว่า ท่านอยู่ในรูปภพและอรูปภพนั้นเองบ้าง สังโยชน์เข้าไปพัวพันท่านไว้ในรูปภพและอรูปภพบ้าง. พระขีณาสพในกามาวจรภพ เหมือนลูกวัวที่ไม่ได้ผูกไว้ข้างใน ท่องเที่ยวอยู่ข้างใน. พระขีณาสพในรูปภพและอรูปภพ เหมือนลูกวัวที่ไม่ได้ผูกไว้ข้างนอก เที่ยวอยู่ข้างนอก. ก็บรรดาสังโยชน์ทั้งหลาย สังโยชน์ ๓ เหล่านี้ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ไม่ห้ามบุคคลผู้กำลังจะไป (สู่รูปภพและอรูปภพ) ผู้ไปแล้วก็กลับมาได้อีก (คือ กลับมาสู่กามโลก) . แต่สังโยชน์ ๒ เหล่านี้ คือ กามฉันทะ พยาบาท อันบุคคลไม่ข่มไว้ด้วยสมาบัติ หรือไม่ถอนออกด้วยมรรค ย่อมไม่อาจเพื่อให้เกิดในรูปภพและอรูปภพได้.

บุรุษวางถุงรัตนะ ๒ ถุงไว้ข้างตัว แบ่งรัตนะ ๗ ประการให้แก่บริษัทที่มาหาเต็มคนละ ๒ มือ ครั้นให้รัตนะถุงแรกอย่างนี้แล้ว แม้ถุงที่ ๒ ก็ให้อย่างนั้นเหมือนกัน แม้ฉันใด พระสารีบุตรเถระก็ฉันนั้นเหมือนกัน ตั้งบท ๒ บทเหล่านี้ว่า อชฺฌตฺตสํโยชนํ จ อาวุโส ปุคฺคลํ เทเสสฺสามิ พหิทฺธาสํโยชนญฺจ ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย ข้าพเจ้าจักแสดงบุคคลผู้มีสังโยชน์ภายใน และบุคคลผู้มีสังโยชน์ภายนอก ดังนี้ เป็นหัวข้อไว้ก่อน บัดนี้ เพื่อจะแสดงรายละเอียดแก่บริษัท ๘ เหล่า จึงเริ่มกถาอย่างพิสดารนี้ว่า กตโม จาวุโส ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้มีสังโยชน์ภายในเป็นอย่างไร ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิธ แปลว่า ในศาสนานี้. บทว่า สีลวา โหติ ความว่า เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยจตุปาริสุทธิศีล. พระสุธรรมเถระผู้อยู่ทีปวิหารกล่าวว่า พระเถระยกจตุปาริสุทธิศีลขึ้นแสดงด้วยคำเพียงเท่านี้

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 379

แล้วแสดงเชฏฐกศีลในบาลีประเทศนั้นอย่างพิสดาร ด้วยบทนี้ว่า ปาฏิโมกฺขสํวรสํวุโต สำรวมโดยปาติโมกขสังวร ด้วยประการฉะนี้. ฝ่ายพระจูฬนาคเถระผู้ทรงพระไตรปิฎก อันเตวาสิกของพระสุธรรมเถระกล่าวว่า พระสารีบุตรเถระกล่าวถึงปาติโมกขสังวร แม้ด้วยบททั้งสอง เพราะปาติโมกขสังวรนั่นแหละเป็นศีล ส่วน ๓ อย่างนอกนี้ ย่อมมีฐานะที่เรียกได้ว่า ศีล ดังนี้. เมื่อไม่คล้อยตาม ท่านยังกล่าวยิ่งขึ้นไปว่า เพียงรักษาทวาร ๖ เท่านั้น ก็ชื่อว่าอินทริยสังวร เพียงให้ปัจจัยเกิดขึ้นโดยธรรมโดยสม่ำเสมอ ก็ชื่อว่าอาชีวปาริสุทธิศีล เพียงพิจารณาปัจจัยที่ได้มาว่า นี้มีประโยชน์ ดังนี้ แล้วบริโภค ก็ชื่อว่าปัจจยสันนิสสิตศีล แต่ปาติโมกขสังวรเป็นศีลโดยตรง ภิกษุผู้มีปาติโมกขสังวรแตก ไม่ควรจะกล่าวว่า จักรักษาข้อที่เหลือไว้ได้ เหมือนคนศีรษะขาด ก็ไม่ควรกล่าวว่า จักรักษามือเท้าไว้ได้ฉะนั้น ส่วนภิกษุผู้มีปาติโมกขสังวรไม่ด่างพร้อย ย่อมสามารถรักษาข้อที่เหลือให้เป็นปกติได้อีก เหมือนคนศีรษะยังไม่ขาด ย่อมรักษาชีวิตไว้ได้ฉะนั้น พระสารีบุตรเถระจึงแสดงปาติโมกขสังวรด้วยบทว่า สีลวา เมื่อจะให้ปาฏิโมกขสังวรนั้นพิสดาร จึงกล่าวว่า ปาฏิโมกฺขสํวรสํวุโต เป็นต้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปาฏิโมกฺขสํวรสํวุโต ความว่า ผู้ประกอบด้วยความสำรวมในพระปาติโมกข์. บทว่า อาจารโคจรสมฺปนฺโน ความว่า ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร. บทว่า อณุมตฺเตสุ แปลว่า มีประมาณน้อย. บทว่า วชฺเชสุ ได้แก่ ในอกุศลธรรมทั้งหลาย. บทว่า ภยทสฺสาวี แปลว่า เห็นเป็นภัย. บทว่า สมาทาย แปลว่า ถือเอาโดยชอบ. บทว่า สิกฺขติ สิกฺขาปเทสุ ความว่า สมาทานศึกษาสิกขาบทนั้นๆ. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า สมาทาย สิกฺขติ สิกฺขาปเทสุ ความว่า

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 380

บรรดาสิกขาบททั้งหลาย คือ บรรดาส่วนแห่งสิกขาบททั้งหลาย สิกขาบทข้อใดข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นไปทางกายก็ตาม ทางวาจาก็ตาม ที่ควรศึกษา ถือเอาสิกขาบทนั้นๆ ทั้งหมดโดยชอบศึกษา. ในเรื่องนี้มีความย่อ ดังนี้. ก็บททั้งหลายมีปาฏิโมกขสังวรเป็นต้น เหล่านี้ทั้งหมด กล่าวไว้อย่างพิสดารแล้วในคัมภีร์วิสุทธิมรรค และจตุปาริสุทธิศีลก็แสดงแยกแยะไว้แล้ว โดยอาการทั้งปวง.

บทว่า อญฺตรํ เทวนิกายํ ความว่า หมู่เทพจำพวกใดจำพวกหนึ่ง ในบรรดาหมู่เทพชั้นกามาวจร ๖. บทว่า อาคามี โหติ ความว่า เป็นผู้มาเกิดในเบื้องต่ำ. บทว่า อาคนฺตา อิตฺถตฺตํ ความว่า เป็นผู้มาสู่ความเป็นอย่างนี้ คือ ความเป็นขันธ์ของมนุษย์นี่แหละ. พระเถระแสดงว่า เป็นผู้เกิดในภพนั้น หรือเกิดในภพสูงขึ้นไปก็หามิได้ ย่อมเป็นผู้มาเกิดในภพเบื้องต่ำอีกนั่นเอง. ด้วยองค์นี้ ท่านกล่าวถึงมรรคเบื้องต่ำทั้ง ๒ และผลทั้ง ๒ ของภิกษุที่เจริญธาตุกัมมัฏฐาน. ผู้เป็นสุกขวิปัสสก. บทว่า อญฺตรํ สนฺตํ เจโตวิมุตฺตึ ความว่า จตุตถฌานสมาบัติอย่างใดอย่างหนึ่งในสมาบัติ ๘. ด้วยว่า จตุตถฌานสมาบัตินั้นเรียกว่า สงบ เพราะกิเลสที่เป็นข้าศึกสงบ และเรียกว่า เจโตวิมุตติ เพราะใจพ้นจากกิเลสเหล่านั้นนั่นแล. บทว่า อญฺตรํ เทวนิกายํ ได้แก่ เทพนิกายจำพวกใดจำพวกหนึ่ง ในเทพนิกายชั้นสุทธาวาส ๕. บทว่า อนาคนฺตา อิตฺถตฺตํ ความว่า ไม่มาสู่ความเป็นปัญจขันธ์นี้อีก. พระเถระแสดงว่า ไม่เกิดขึ้นภพเบื้องต่ำ จะเกิดในภพสูงขึ้นไปเท่านั้น หรือปรินิพพานในภพนั้นเอง. ด้วยองค์นี้ ท่านกล่าวถึงมรรค ๓ และผล ๓ ของภิกษุผู้ประกอบการบำเพ็ญสมาธิ.

บทว่า กามานํเยว นิพฺพิทาย ได้แก่ เพื่อต้องการหน่าย คือ เบื่อ

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 381

กามทั้งสอง. บทว่า วิราคาย ได้แก่ เพื่อต้องการคลายกำหนัด. บทว่า นิโรธาย ได้แก่ เพื่อต้องการทำให้เป็นไปไม่ได้. บทว่า ปฏิปนฺโน โหติ ได้แก่ เป็นผู้บำเพ็ญข้อปฏิบัติ. ด้วยคำเพียงเท่านี้ ย่อมเป็นอันพระเถระกล่าวอนาคามิมรรควิปัสสนา เพื่อต้องการให้ความกำหนัดที่เป็นไปในกามคุณ ๕ ของพระโสดาบันและของพระสกทาคามีสิ้นไป. บทว่า ภวานํเยว ได้แก่ ซึ่งภพ ๓. ด้วยบทนี้ ย่อมเป็นอันพระเถระกล่าวอรหัตตมรรควิปัสสนา เพื่อต้องการให้ความกำหนัดในภพของพระอนาคามีสิ้นไป. ด้วยบทว่า โส ตณฺหกฺขยาย ปฏิปนฺโน โหติ เธอเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นตัณหา แม้นี้ เป็นอันพระเถระกล่าวอนาคามิมรรควิปัสสนา เพื่อทำให้ตัณหาที่เป็นไปในกามคุณ ๕ ของพระโสดาบันและพระสกทาคามีนั้นแลสิ้นไป. ด้วยบทว่า โส โลภกฺขยาย เธอเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นโลภะ แม้นี้ เป็นอันพระเถระกล่าวอรหัตตมรรควิปัสสนา เพื่อต้องการให้ความโลภในภพของพระอนาคามีสิ้นไป. บทว่า อญฺญตรํ เทวนิกายํ ได้แก่ เทพนิกายจำพวกใดจำพวกหนึ่ง ในชั้นสุทธาวาสทั้งหลายนั่นแหละ. บทว่า อนาคนฺตา อิตฺถตฺตํ ความว่า ไม่มาสู่ความเป็นขันธปัญจกนี้. เป็นผู้ไม่เกิดในภพเบื้องต่ำ เป็นผู้เกิดในภพสูงขึ้นไปเท่านั้น หรือปรินิพพานในภพนั้นเอง. พระเถระกล่าวมรรคและผล ๒ เบื้องต่ำของภิกษุผู้เจริญธาตุกัมมัฏฐาน ผู้สุกขวิปัสสก ด้วยองค์แรก กล่าวมรรคและผล ๓ ของภิกษุผู้ประกอบการบำเพ็ญสมาธิด้วยองค์ที่ ๒ ด้วยประการฉะนี้.

ด้วยบทว่า โส กามานํ เธอเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อดับเสียซึ่งกามทั้งหลายนี้ พระเถระกล่าวอนาคามิมรรควิปัสสนาเบื้องสูง เพื่อให้ความกำหนัดที่

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 382

เป็นไปในกามคุณ ๕ ของพระโสดาบันและพระสกทาคามีทั้งหลายสิ้นไป. ด้วยบทว่า โส ภวานํเยว เธอเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อตัดเสียซึ่งภพทั้งหลายนั่นเทียว นี้พระเถระกล่าวอรหัตตมรรควิปัสสนาเบื้องสูง เพื่อต้องการให้ความกำหนัดในภพของพระอนาคามีสิ้นไป. ด้วยบทว่า โส ตณฺหกฺขยาย เธอเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นตัณหา นี้พระเถระกล่าวอนาคามิมรรควิปัสสนาเบื้องสูง เพื่อให้ตัณหาที่เป็นไปในกามคุณ ๕ ของพระโสดาบันและพระสกทาคามีทั้งหลายสิ้นไป. ด้วยบทว่า โส โลภกฺขยาย เธอเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นโลภะ นี้พระเถระกล่าวอรหัตตมรรควิปัสสนาเบื้องสูง เพื่อให้โลภะของพระอนาคามีสิ้นไป. พระเถระกล่าววิปัสสนาด้วยหัวข้อทั้ง ๖ เทศนาไปตามลำดับอนุสนธิอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้. เวลาจบเทศนา เทวดาพันโกฏิบรรลุพระอรหัต. และที่เป็นพระโสดาบันเป็นต้น นับไม่ถ้วน. เมื่อตรัสมหาสมยสูตรก็ดี มงคลสูตรก็ดี จูฬราหุโลวาทสูตร เทวดาพันโกฏิบรรลุพระอรหัต เหมือนในสมาคมนี้. เทวดาและมนุษย์ที่เป็นพระโสดาบันเป็นต้น นับไม่ถ้วน.

บทว่า สมจิตฺตา เทวตา ความว่า เทวดาทั้งหลาย ชื่อว่าเหล่าสมจิตตา เพราะความที่มีจิตละเอียดเสมอกัน. ด้วยว่า เทวดาเหล่านั้นทั้งหมด เนรมิตอัตภาพของตนให้ละเอียดคล้ายจิต เหตุนั้นจึงชื่อว่า สมจิตตา. ชื่อว่า สมจิตตา ด้วยเหตุอื่นๆ ก็มี. พระเถระกล่าวสมาบัติก่อน แต่มิได้กล่าวถึงกำลังของสมาบัติ เทวดาทั้งปวงได้มีความคิดเป็นอย่างเดียวกันว่า พวกเราจักอัญเชิญพระทศพลให้ตรัสกำลังของสมาบัติ เหตุนั้นจึงชื่อว่า สมจิตตา. เหตุอีกอย่างหนึ่ง พระเถระกล่าวทั้งสมาบัติ ทั้งกำลังของสมาบัติ โดยปริยายหนึ่ง. เทวดาทั้งหลายตรวจดูว่า ใครบ้าง

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 383

หนอมาสมาคมนี้ ใครไม่มา ทราบว่า พระตถาคตไม่เสด็จมา ทั้งหมดได้มีความคิดเป็นอย่างเดียวกันว่า พวกเราจักอัญเชิญพระตถาคต ทำบริษัทให้บริบูรณ์ เหตุนี้บ้างจึงชื่อว่า สมจิตตา. เหตุอีกอย่างหนึ่ง เทวดาทั้งหลายทั้งปวงทีเดียว ได้มีความคิดเป็นอย่างเดียวกันว่า ใครๆ ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นภิกษุ ภิกษุณีก็ตาม เทวดา มนุษย์ก็ตาม จะไม่เคารพ เพราะคิดว่าเทศนาเรื่องนี้เป็นสาวกภาษิต (ไม่ใช่พุทธภาษิต) พวกเราจักอัญเชิญพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำเทศนาเรื่องนี้ให้เป็นสัพพัญญูภาษิต เทศนาเรื่องนี้จักเป็นที่ตั้งแห่งความเคารพในอนาคตด้วยอาการอย่างนี้ เหตุนี้บ้างจึงชื่อว่า สมจิตตา. เหตุอีกอย่างหนึ่ง เทวดาเหล่านั้นทั้งหมดเป็นผู้ได้สมาบัติอย่างเดียวกันบ้าง ได้อารมณ์อย่างเดียวกันบ้าง เหตุนั้นจึงชื่อว่า สมจิตตา อย่างนี้ก็มี.

บทว่า หฏฺา ได้แก่ ยินดี รื่นเริง บันเทิงใจ. บทว่า สาธุ เป็น นิบาต ในอรรถว่า วิงวอน. บทว่า อนุกมฺปํ อุปาทาย ความว่า อาศัยความอนุเคราะห์ กรุณาเอ็นดูพระเถระ. ความจริงในฐานะแม้นี้ ไม่มีกิจที่จะต้องอนุเคราะห์พระเถระ. ในวันที่พระศาสดากำลังตรัสเวทนากัมมัฏฐานแก่ทีฆนขปริพาชกผู้เป็นหลาน ที่ประตูถ้ำสูกรขาตะ พระเถระยืนถือก้านตาลถวายงานพัดพระศาสดาอยู่ ได้สำเร็จสาวกบารมีญาณ โดยไม่ต้องชี้แจง เหมือนคนบริโภคโภชนะที่เขาคดไว้เพื่อผู้อื่นบรรเทาความหิว และเหมือนคนเอาเครื่องประดับที่เขาจัดไว้เพื่อผู้อื่นมาสวมศีรษะตน ในวันนั้นแหละ ชื่อว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุเคราะห์แล้ว. เทวดาทั้งหลายทูลวิงวอนพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดเสด็จไปอนุเคราะห์เหล่าเทวดาและมนุษย์ที่เหลือซึ่งอยู่ ณ ที่นั้น. บทว่า

 
  ข้อความที่ 21  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 384

พลวา ปุริโส ความว่า คนกำลังน้อยไม่สามารถจะคู้แขนเข้าหรือเหยียดแขนออกได้ฉับพลัน คนมีกำลังเท่านั้นสามารถ เหตุนั้น ท่านจึงกล่าวดังนี้. บทว่า สมฺมุเข ปาตุรโหสิ ความว่า ได้ปรากฏในที่พร้อมหน้า คือ ต่อหน้าทีเดียว.

บทว่า ภควา เอตทโวจ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคำนี้ คือ เหตุที่พระองค์เสด็จมา โดยนัยว่า อิธ สารีปุตฺต เป็นต้น. เล่ากันมาว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้มีพระดำริอย่างนี้ว่า ถ้าคนพาลอกตัญญูบางคน ไม่ว่าเป็นภิกษุ ภิกษุณีก็ตาม เป็นอุบาสก อุบาสิกาก็ตาม จะพึงคิดอย่างนี้ว่า พระสารีบุตรเถระได้บริษัทมากมายเหลือเกิน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่อาจจะทรงอดกลั้นเรื่องอย่างนี้ได้ จึงเสด็จมาทรงตั้งบริษัทด้วยความริษยา ผู้นั้นคิดประทุษร้ายเรา ดังนี้ จะพึงบังเกิดในอบาย. พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสถึงเหตุที่พระองค์เสด็จมา ได้ตรัสพระพุทธดำรัสว่า อิธ สารีปุตฺต เป็นต้น. ครั้นตรัสถึงเหตุที่พระองค์เสด็จมาอย่างนี้แล้ว บัดนี้เพื่อจะตรัสกำลังแห่งสมาบัติ จึงตรัสพระพุทธดำรัสว่า ตา โข ปน สารีปุตฺต เทวตา ทสปิ หุตฺวา เป็นต้น. ในบาลีประเทศนั้น ควรจะนำเนื้อความมาด้วยอำนาจยศบ้าง ด้วยอำนาจสมาบัติบ้าง. จะกล่าวด้วยอำนาจยศก่อน เทวดาพวกเป็นใหญ่มาก ได้ยืนอยู่ในที่แห่งละ ๑๐ องค์ เทวดาพวกเป็นใหญ่น้อยกว่าพวกนั้น ได้ยืนอยู่ในที่แห่งละ ๒๐ องค์. เทวดาพวกเป็นใหญ่น้อยกว่าพวกนั้น ฯลฯ ได้ยืนอยู่ในที่แห่งละ ๖๐ องค์. ส่วนด้วยอำนาจสมาบัติ พึงทราบดังนี้ เทวดาเหล่าใดเจริญสมาบัติชั้นประณีต เทวดาเหล่านั้น ได้ยืนอยู่ในที่แห่งละ ๖๐ องค์. เทวดาเหล่าใดเจริญสมาบัติต่ำกว่านั้น เทวดาเหล่านั้น ได้ยืน

 
  ข้อความที่ 22  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 385

อยู่ในที่แห่งละ ๕๐ องค์. เทวดาเหล่าใดเจริญสมาบัติต่ำกว่านั้น ฯลฯ เทวดาเหล่านั้น ได้ยืนอยู่ในที่แห่งละ ๑๐ องค์. อีกอย่างหนึ่ง เทวดาเหล่าใดเจริญสมาบัติขั้นต่ำ เทวดาเหล่านั้น ได้ยืนอยู่ในที่แห่งละ ๑๐ องค์ เทวดาเหล่าใดเจริญสมาบัติประณีตกว่านั้น เทวดาเหล่านั้น ได้ยืนอยู่ในที่แห่งละ ๒๐ องค์ เทวดาเหล่าใดเจริญสมาบัติประณีตกว่านั้น ฯลฯ เทวดาเหล่านั้น ได้ยืนอยู่ในที่แห่งละ ๖๐ องค์.

บทว่า อารคฺคโกฏินิตุทนมตฺเต แปลว่า ในที่ว่างพอจดปลายเข็มลงได้. บทว่า น จ อญฺมญฺํ พฺยาพาเธนฺติ ความว่า ถึงยืนอยู่ในที่แคบอย่างนี้ ก็ไม่เบียดกัน ไม่สีกัน ไม่กดกัน ไม่ดันกันเลย มิได้มีเหตุที่จะต้องพูดว่า มือท่านบีบเรา เท้าท่านเบียดเรา ท่านยืนเหยียบเรา ดังนี้. บทว่า ตตฺถ นูน ได้แก่ ในภพนั้นเป็นแน่. บทว่า ตถา จิตฺตํ ภาวิตํ ความว่า จิตอันเทวดาเหล่านั้นอบรมด้วยอาการนั้น. บทว่า เยน ตา เทวตา ความว่า จิตที่เทวดาอบรมด้วยอาการนั้น จึงเป็นเหตุให้เทวดาเหล่านั้นแม้มีจำนวน ๑๐ ฯลฯ ก็ยืนอยู่ได้และไม่เบียดกันและกัน. บทว่า อิเธว โข ได้แก่ ในศาสนา หรือในมนุษยโลก. เป็นสัตตมีวิภัตติ. ความว่า ในศาสนานี้แหละ ในมนุษยโลกนี้แหละ. จริงอยู่ จิตอันเทวดาเหล่านั้นอบรมแล้ว ในมนุษยโลกนี้แหละ และในศาสนานี้แหละ ซึ่งเป็นเหตุที่เทวดาเหล่านั้นบังเกิดในรูปภพที่มีอยู่ ก็แล เทวดาเหล่านั้นมาจากรูปภพนั้นแล้ว เนรมิตอัตภาพละเอียดยืนอยู่อย่างนี้. บรรดาเทวดาเหล่านั้น แม้เทวดาที่ทำมรรคและผล ๓ ให้บังเกิดในศาสนาของพระกัสสปทศพลจะมีอยู่ก็จริง ถึงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำว่า พระสัพพัญญูพุทธเจ้าทั้งหลาย มีอนุสนธิตามต่อเนื่องอย่างเดียวกัน ศาสนา

 
  ข้อความที่ 23  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 386

คำสอนอย่างเดียวกัน เมื่อทรงทำศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์อื่นๆ เป็นพระพุทธศาสนานี้แล จึงตรัสว่า อิเธว โข สารีปุตฺต ดังนี้ พระตถาคตตรัสกำลังแห่งสมาบัติ ด้วยพระพุทธดำรัสเพียงเท่านี้.

บัดนี้ เมื่อจะตรัสอนุสาสนีตามระบบ ปรารภพระสารีบุตรเถระ จึงตรัสว่า ตสฺมาติห สารีปุตฺต ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะเหตุที่เทวดาเหล่านั้นทำสมาบัติที่มีอยู่ในภพนี้แหละให้บังเกิดแล้วจึงได้บังเกิดในภพที่มีอยู่. บทว่า สนฺตินฺทฺริยา แปลว่า มีอินทรีย์สงบ เพราะอินทรีย์ทั้ง ๕ สงบ เย็น ประณีต. บทว่า สนฺตมานสา แปลว่า มีใจสงบ เพราะใจสงบ เย็น ประณีต. บทว่า สนฺตํเยวุปหารํ อุปหริสฺสาม ความว่า พวกเราจักเสนอความนับถือบูชาด้วยกายและใจ ซึ่งเป็นความนับถือบูชาอันสงบ เย็น ประณีต ทีเดียว. บทว่า สพฺรหฺมจารีสุ ได้แก่ ในสหธรรมิกทั้งหลายผู้ประพฤติธรรมชั้นสูงที่เสมอกัน มีเป็นผู้มีอุเทศอันเดียวกันเป็นต้น. ด้วยพระพุทธดำรัสนี้ว่า เอวญฺหิ เต สารีปุตฺต สิกฺขิตพฺพํ ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงทำเทศนาให้เป็นภาษิตของพระสัพพัญญูพุทธะโดยฐานเพียงเท่านี้. บทว่า อนสฺสุํ แปลว่า เสีย เสียหาย. บทว่า เย อิมํ ธมฺมปริยายํ นาสฺโสสุํ ความว่า พวกนักบวชผู้นับถือลัทธิอื่น อาศัยทิฏฐิของตนที่ลามก เปล่าสาระ ไร้ประโยชน์ ไม่ได้ฟังธรรมเทศนานี้ เห็นปานนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจบเทศนาตามอนุสนธิ ด้วยประการฉะนี้.

จบอรรถกถาสูตรที่ ๕