พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

สูตรที่ ๖ ว่าด้วยกามราคะและทิฏฐิราคะเป็นเหตุให้วิวาทกัน

 
บ้านธัมมะ
วันที่  19 ต.ค. 2564
หมายเลข  38474
อ่าน  533

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 387

สูตรที่ ๖

ว่าด้วยกามราคะและทิฏฐิราคะเป็นเหตุให้วิวาทกัน


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 33]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 387

สูตรที่ ๖

ว่าด้วยกามราคะและทิฏฐิราคะเป็นเหตุให้วิวาทกัน

[๒๘๒] ๓๖. สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัจจานะอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำกัททมทหะ ใกล้พระนครวรณา ครั้งนั้นแล พราหมณ์อารามทัณฑะได้เข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระมหากัจจานะ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามว่า ดูก่อนท่านกัจจานะ อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัย เครื่องให้กษัตริย์กับกษัตริย์ พราหมณ์กับพราหมณ์ คฤหบดีกับคฤหบดี วิวาทกัน ท่านมหากัจจานะตอบว่า ดูก่อนพราหมณ์ เพราะเหตุเวียนเข้าไปหากามราคะ ตกอยู่ในอำนาจกามราคะ กำหนัดยินดีในกามราคะ ถูกกามราคะกลุ้มรุม และถูกกามราคะท่วมทับ แม้กษัตริย์กับกษัตริย์ พราหมณ์กับพราหมณ์ คฤหบดีกับคฤหบดี ก็วิวาทกัน.

อา. ดูก่อนกัจจานะ ก็อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย เครื่องให้สมณะกับสมณะวิวาทกัน.

มหา. ดูก่อนพราหมณ์ เพราะเหตุเข้าไปหาทิฏฐิราคะ ตกอยู่ในอำนาจทิฏฐิราคะ กำหนัดยินดีในทิฏฐิราคะ ถูกทิฏฐิราคะกลุ้มรุม และถูกทิฏฐิราคะท่วมทับ แม้สมณะกับสมณะก็วิวาทกัน.

อา. ดูก่อนกัจจานะ ก็ในโลก ยังมีใครบ้างไหม ที่ก้าวล่วงการเวียนเข้าไปหากามราคะ การตกอยู่ในอำนาจกามราคะ การกำหนัดยินดีในกามราคะ การถูกกามราคะกลุ้มรุม และการถูกกามราคะท่วมทับนี้ และก้าวล่วงการเวียนเข้าไปหาทิฏฐิราคะ การตกอยู่ในอำนาจทิฏฐิราคะ การถูกทิฏฐิราคะกลุ้มรุม และการถูกทิฏฐิราคะท่วมทับนี้เสียได้.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 388

มหา. ดูก่อนพราหมณ์ ในโลก มีท่านที่ก้าวล่วงการเวียนเข้าไปหากามราคะ การตกอยู่ในอำนาจกามราคะ การกำหนัดยินดีในกามราคะ การถูกกามราคะกลุ้มรุม และการถูกกามราคะท่วมทับนี้เสียได้ และก้าวล่วงความเวียนเข้าไปหาทิฏฐิราคะ การตกอยู่ในอำนาจทิฏฐิราคะ การกำหนัดยินดีในทิฏฐิราคะ การถูกทิฏฐิราคะกลุ้มรุม และการถูกทิฏฐิราคะท่วมทับนี้.

อา. ดูก่อนกัจจานะ ใครในโลกเป็นผู้ก้าวล่วงการเวียนเข้าไปหากามราคะ ... และการถูกทิฏฐิราคะท่วมทับนี้.

มหา. ดูก่อนพราหมณ์ ในชนบทด้านทิศบูรพา มีพระนครชื่อว่าสาวัตถี ณ พระนครสาวัตถีนั้น ทุกวันนี้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นกำลังประทับอยู่ ดูก่อนพราหมณ์ ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงก้าวล่วงการเวียนเข้าไปหากามราคะ ... และการถูกทิฏฐิราคะท่วมทับนี้ด้วย.

เมื่อท่านพระมหากัจจานะตอบอย่างนี้แล้ว พราหมณ์อารามทัณฑะลุกจากที่นั่ง ห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่งแล้ว คุกมณฑลเข่าขวาลงบนแผ่นดิน ประนมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ แล้วเปล่งอุทาน ๓ ครั้งว่า ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้ก้าวล่วงการเวียนเข้าไปหากามราคะ การตกอยู่ในอำนาจกามราคะ การกำหนัดยินดีในกามราคะ การถูกกามราคะกลุ้มรุม และการถูกกามราคะท่วมทับนี้แล้ว กับทั้งได้ก้าวล่วงการเวียนเข้าไปหาทิฏฐิราคะ การตกอยู่ในอำนาจ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 389

ทิฏฐิราคะ การกำหนัดยินดีในทิฏฐิราคะ การถูกทิฏฐิราคะกลุ้มรุม และการถูกทิฏฐิราคะท่วมทับนี้ด้วย ข้าแต่ท่านกัจจานะ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านกัจจานะ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ท่านกัจจานะประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่าคนมีจักษุจักเห็นรูปฉะนั้น ข้าแต่ท่านกัจจานะ ข้าพเจ้านี้ ขอถึงพระโคดมผู้เจริญพระองค์นั้น กับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอท่านกัจจานะจงจำข้าพเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต จำเดิมตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.

จบสูตรที่ ๖

อรรถกถาสูตรที่ ๖

ในสูตรที่ ๖ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า ปรณายํ (๑) วิหรติ ความว่า เมืองมีชื่อว่าปรณา ท่านพระมหากัจจานะเข้าไปอาศัยเมืองนั้นอยู่. บทว่า กามราควินิเวส (๒) วินิพนฺธปลิเคธปริยุฏฺานชฺโฌสานเหตุ ความว่า เพราะเวียนเข้าไปหากามราคะเป็นเหตุ ตกอยู่ในอำนาจกามราคะเป็นเหตุ มีความกำหนัดยินดีในกามราคะเป็นเหตุ เพราะกามราคะกลุ้มรุมอยู่เป็นเหตุ และท่วมทับอยู่เพราะกามราคะเป็นเหตุ. มีคำอธิบายดังนี้ เพราะกามราคะที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยกามคุณ ๕ นั้นยึดไว้เป็นต้นเป็นเหตุ เพราะถูกกามราคะพัวพัน ผูกพันไว้เพราะละโมบ คือ ตะกรามเพราะกามราคะนั้นแหละ ซึ่งเป็นเหมือนหล่มใหญ่ เพราะกลุ้มรุมอยู่เพราะกามราคะนั้นแหละ คือ ถูกกามราคะจับไว้ และเพราะ


(๑) บาลีเป็น วรณาย วิหรติ.

(๒) ม. กามราคาภินิเวส.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 390

จดจ่อเพราะกามราคะ คือ ถูกกามราคะกลืนสำเร็จเสร็จสิ้นยึดไว้. แม้ในบทว่า ทิฏฺิราค เป็นต้น ก็นัยนี้แหละ. แต่ในบทว่า ทิฏฺิราโค นี้ บัณฑิตพึงทราบว่า ได้แก่ราคะที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยทิฏฐิ ๖๒.

บทว่า ปุรตฺถิเมสุ ชนปเทสุ ความว่า จากที่ที่พระเถระอยู่ไปทางทิศตะวันออก มีสาวัตถีชนบท. พระเถระเมื่อนั่ง ก็นั่งหันหน้าไปทางทิศนั้น ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวอย่างนี้. บทว่า อุทานํ อุทาเนสิ แปลว่า เปล่งอุทาน. เหมือนอย่างว่า น้ำมันไม่อาจขังเครื่องตวงได้ ไหลล้นไป เขาเรียกว่า ล้นเหลือ และน้ำที่ไม่อาจขังเหมืองน้ำได้ไหลล้นไปนั้น เขาเรียกว่า น้ำหลาก ฉันใด คำที่เกิดแต่ปีติก็ฉันนั้นเหมือนกัน ขังหทัยไม่ได้ คือ เก็บไว้ข้างในไม่อยู่ ก็ล้นออกข้างนอกนั้น ท่านเรียกว่า อุทาน. อธิบายว่า พราหมณ์อารามทัณฑะ เปล่งคำที่เกิดแต่ปีติเห็นปานนี้.

จบอรรถกถาสูตรที่ ๖