พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

สูตรที่ ๗ ว่าด้วยชื่อว่าเป็นบัณฑิตและเป็นเถระ มิใช่เพราะเป็นคนแก่

 
บ้านธัมมะ
วันที่  19 ต.ค. 2564
หมายเลข  38475
อ่าน  345

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 390

สูตรที่ ๗

ว่าด้วยชื่อว่าเป็นบัณฑิตและเป็นเถระ มิใช่เพราะเป็นคนแก่


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 33]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 390

สูตรที่ ๗

ว่าด้วยชื่อว่าเป็นบัณฑิตและเป็นเถระ มิใช่เพราะเป็นคนแก่

[๒๘๓] ๓๗. สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัจจานะอยู่ที่ป่าคุนทาวัน ใกล้เมืองมธุรา ครั้งนั้นแล พราหมณ์กัณฑรายนะเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระมหากัจจานะ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามว่า ดูก่อนท่านกัจจานะ ข้าพเจ้าได้ฟังมาว่า ท่านสมณะกัจจานะ หาอภิวาท ลุกขึ้นต้อนรับพวกพราหมณ์ที่ชราแก่เฒ่าล่วงกาล

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 391

ผ่านวัย หรือเชื้อเชิญด้วยอาสนะไม่ ดูก่อนท่านกัจจานะ ข่าวที่ได้ฟังมานั้นจริงแท้ เพราะท่านกัจจานะ หาอภิวาท ลุกขึ้นต้อนรับพวกพราหมณ์ที่ชราแก่เฒ่าล่วงกาลผ่านวัย หรือเชื้อเชิญด้วยอาสนะไม่ ดูก่อนกัจจานะ การกระทำเช่นนี้นั้นเป็นการไม่สมควรแท้.

ท่านพระมหากัจจานะตอบว่า ดูก่อนพราหมณ์ ภูมิคนแก่และภูมิเด็ก ที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงรู้ทรงเห็นพระองค์นั้นตรัสไว้มีอยู่ ดูก่อนพราหมณ์ ถึงแม้จะเป็นคนแก่มีอายุ ๘๐ ปี ๙๐ ปี หรือ ๑๐๐ ปี แต่กำเนิดก็ดี แต่เขายังบริโภคกาม อยู่ในท่ามกลางกาม ถูกความเร่าร้อนเพราะกามแผดเผา ถูกกามวิตกเคี้ยวกินอยู่ ยังเป็นผู้ขวนขวายเพื่อแสวงหากาม เขาก็ย่อมถึงการนับว่าเป็นพาล ไม่ใช่เถระโดยแท้ ดูก่อนพราหมณ์ ถึงแม้ว่าจะเป็นเด็ก ยังเป็นหนุ่ม มีผมดำสนิท ประกอบด้วยความเป็นหนุ่มอันเจริญ ยังตั้งอยู่ในปฐมวัย แต่เขาไม่บริโภคกาม ไม่อยู่ในท่ามกลางกาม ไม่ถูกความเร่าร้อนเพราะกามแผดเผา ไม่ถูกกามวิตกเคี้ยวกิน ไม่ขวนขวายเพื่อแสวงหากาม เขาก็ย่อมถึงการนับว่าเป็นบัณฑิต เป็นเถระแน่แท้ทีเดียวแล.

ทราบว่า เมื่อท่านพระมหากัจจานะกล่าวอย่างนี้แล้ว พราหมณ์กัณฑรายนะได้ลุกจากที่นั่งแล้วห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ไหว้เท้าของภิกษุที่หนุ่มด้วยเศียรเกล้า กล่าวว่า พระผู้เป็นเจ้าแก่ ตั้งอยู่แล้วในภูมิคนแก่ เรายังเด็ก ตั้งอยู่ในภูมิเด็ก ข้าแต่ท่านกัจจานะ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านกัจจานะ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ท่านพระกัจจานะประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 392

คนมีจักษุจักเห็นรูปฉะนั้น ข้าแต่ท่านกัจจานะ ข้าพเจ้านี้ ขอถึงพระโคดมผู้เจริญพระองค์นั้น กับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระกัจจานะจงจำข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.

จบสูตรที่ ๗

อรรถกถาสูตรที่ ๗

ในสูตรที่ ๗ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า คุนฺทาวเน ได้แก่ ณ ป่าซึ่งมีชื่ออย่างนี้. บทว่า อุปสงฺกมิ ความว่า กัณฑรายนพราหมณ์ได้ทราบข่าวเล่ากันมาว่า พระมหากัจจานะเถระเห็นคนคราวพ่อของตนก็ตาม คราวปู่ก็ตาม คราวทวดก็ตาม ไม่กราบไหว้ ไม่ลุกต้อนรับ ไม่เชื้อเชิญให้นั่ง ดังนี้ คิดว่า ไม่มีใครสามารถแก้เรื่องเพียงเท่านี้ให้สำเร็จได้ เราจักเข้าไปข่มท่าน ดังนี้ รับประทานอาหารเช้าแล้ว เข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่. บทว่า ชิณฺเณ ได้แก่ ผู้คร่ำคร่าเพราะชรา. บทว่า วุฑฺเฒ ได้แก่ ผู้เจริญโดยวัย. บทว่า มหลฺลเก ได้แก่ ผู้แก่โดยชาติ (เกิดมานาน). บทว่า อทฺธคเต ได้แก่ ผู้ผ่านเวลายาวนาน. บทว่า วโยอนุปฺปตฺเต ได้แก่ ผู้อยู่ถึงปัจฉิมวัย.

บทว่า ตยิทํ โภ กจฺจาน ตเถว ความว่า ท่านกัจจานะผู้เจริญ ข้อใดที่พวกข้าพเจ้าได้ฟังมาอย่างชัดเจน ข้อนั้นก็สมกับเรื่องที่ข้าพเจ้าได้เห็นนี้ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น คำว่า น หิ ภวํ กจฺจาโน พฺราหฺมเณ นี้ กัณฑรายนพราหมณ์กล่าวหมายถึงตนเอง.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 393

นัยว่า ข้อนั้นมีอธิบายดังนี้ว่า ท่านกัจจานะผู้เจริญเห็นพวกเราผู้เป็นคนแก่ขนาดนี้ ก็ไม่มีแม้เพียงการกราบไหว้ แม้เพียงการลุกต้อนรับ แม้เพียงการเชื้อเชิญให้ที่นั่ง. บทว่า น สมฺปนฺนเมว แปลว่า ไม่เหมาะเลย คือ ไม่สมควรทีเดียว. พระเถระฟังคำของพราหมณ์แล้ว คิดว่า พราหมณ์นี้ไม่รู้จักคนแก่ ไม่รู้จักเด็ก จำเราจักบอกคนแก่และเด็กแก่เขา ดังนี้ เมื่อจะขยายเทศนา จึงกล่าวคำว่า อตฺถิ พฺราหฺมณ เป็นต้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ชานตา ได้แก่ ผู้รู้นัยทั้งปวง. บทว่า ปสฺสตา ได้แก่ ผู้เห็นนัยนั้นนั่นแหละ เหมือนเห็นผลมะขามป้อมที่วางไว้ในมือ. บทว่า วุฑฺฒภูมิ ได้แก่ เหตุที่ทำให้เป็นคนแก่. บทว่า ทหรภูมิ ได้แก่ เหตุที่ทำให้เป็นเด็ก. บทว่า อสีติโก ได้แก่ มีวัย ๘๐ ปี. บทว่า กาเม ปริภุญฺชติ ความว่า ยังต้องการบริโภคกามทั้ง ๒ คือ วัตถุกาม และกิเลสกาม. บทว่า กามมชฺฌาวสติ ความว่า ยังอยู่ คือ ครองกามทั้ง ๒ อย่าง เหมือนเจ้าของเรือนอยู่ครองเรือน. บทว่า กามปริเยสนาย อุสฺสุโก ความว่า ยังขวนขวายเพื่อแสวงหากามทั้ง ๒ อย่าง. บทว่า โส พาโล น เถโรเตฺวว สงฺขํ คจฺฉติ ความว่า บุคคลนั้นไม่นับว่าเป็นเถระ นับว่าเป็นเด็ก คือ คนปัญญาอ่อนโดยแท้ สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า

น เตน จ เถโร โหติ

เยนสฺส ปลิตํ สิโร

ปริปกฺโก วโย ตสฺส

โมฆชิณฺโณติ วุจฺจติ

บุคคลจะเป็นเถระ เพราะเหตุที่มีผมหงอกบนศีรษะก็หามิได้ ผู้นั้นมีวัยหง่อมแล้ว เรียกว่า คนแก่เปล่า.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 394

บทว่า ทหโร แปลว่า เด็กรุ่น. บทว่า ยุวา ได้แก่ ประกอบด้วยความเป็นหนุ่ม. บทว่า สุสูกาฬเกโส แปลว่า มีผมดำสนิท บทว่า ภเทฺรน โยพฺพเนน สมนฺนาคโต ความว่า บุคคลชื่อว่าเป็นคนหนุ่ม เพราะประกอบด้วยความเป็นหนุ่มใด ท่านแสดงความเป็นหนุ่มนั้นว่า ภทฺรก กำลังเจริญ. บทว่า ปฐเมน วยสา ความว่า อายุ ๓๓ ปี ชื่อว่าปฐมวัย ประกอบด้วยปฐมวัยนั้น. บทว่า ปณฺฑิโต เถโรเตฺวว สงฺขํ คจฺฉติ ความว่า บุคคลนั้น คือ เห็นปานนี้ นับว่าเป็นบัณฑิตด้วย เป็นเถระด้วยแล. สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า

ยมฺหิ สจฺจญฺจ ธมฺโม จ

อหึสา สํยโม ทโม

สเว วนฺตมโล ธีโร

โส เถโรติ ปวุจฺจติ

ผู้ใดมีสัจจะ เที่ยงธรรม ไม่เบียดเบียน สำรวม ฝึกฝน ผู้นั้นแหละเป็นผู้คายกิเลสดุจธุลีแล้ว เป็นปราชญ์ เราเรียกว่าเถระ

จบอรรถกถาสูตรที่ ๗