พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

สูตรที่ ๒ ว่าด้วยบริษัทที่แยกเป็นพวก และที่สามัคคีกัน

 
บ้านธัมมะ
วันที่  19 ต.ค. 2564
หมายเลข  38480
อ่าน  370

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 401

สูตรที่ ๒

ว่าด้วยบริษัทที่แยกเป็นพวก และที่สามัคคีกัน


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 33]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 401

สูตรที่ ๒

ว่าด้วยบริษัทที่แยกเป็นพวก และที่สามัคคีกัน

[๒๘๘] ๔๒. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บริษัท ๒ จำพวกนี้ ๒ จำพวกเป็นไฉน คือ บริษัทที่แยกออกเป็นพวก ๑ บริษัทที่สามัคคีกัน ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็บริษัทที่แยกออกเป็นพวกเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บริษัทใดในธรรมวินัยนี้ มีภิกษุหมายมั่นทะเลาะวิวาทกัน ต่างเอาหอกคือปากทิ่มแทงกันและกันอยู่ บริษัทเช่นนี้ เรียกว่า บริษัทที่แยกกันเป็นพวก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็บริษัทที่สามัคคีกันเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บริษัทใดในธรรมวินัยนี้ มีภิกษุพร้อมเพรียงกัน ชื่นชมกัน ไม่วิวาทกัน เป็นเหมือนน้ำนมกับน้ำ ต่างมองดูกันและกันด้วยนัยน์ตาเป็นที่รักอยู่ บริษัทเช่นนี้ เรียกว่า บริษัทที่สามัคคีกัน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บริษัท ๒ จำพวกนี้แล บรรดาบริษัท ๒ จำพวกนี้ บริษัทที่สามัคคีกันเป็นเลิศ.

จบสูตรที่ ๒

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 402

อรรถกถาสูตรที่ ๒

ในสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า ภณฺฑนชาตา ความว่า เบื้องต้นของการทะเลาะ ท่านเรียกว่า แตกร้าว. การแตกร้าวนั้นเกิดแล้วแก่ภิกษุเหล่านั้น ดังนั้น จึงชื่อว่าเกิดแตกร้าว อนึ่ง ได้แก่ การทะเลาะที่เกิดขึ้นโดยกล่าวคำเป็นต้นว่า พวกเราจักให้ลงอาชญา จักให้จองจำพวกท่าน. นัยฝ่ายคฤหัสถ์พึงทราบเท่านี้ก่อน ส่วนพวกบรรพชิตที่กล่าววาจาถึงการล่วงอาบัติ ชื่อว่าเกิดทะเลาะกัน. บทว่า วิวาทาปนฺนา ได้แก่ ถึงวาทะที่ขัดแย้งกัน. บทว่า มุขสตฺตีหิ วิตุทนฺตา ความว่า วาจาเป็นทุภาษิตท่านเรียกว่า หอก คือ ปาก เพราะอรรถว่าตัดคุณความดีทั้งหลาย ทิ่ม คือ แทงกันด้วยวาจาเหล่านั้น. บทว่า สมคฺคา ความว่า ประกอบด้วยความเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ด้วยการกระทำสิ่งเหล่านี้ คือ งานเดียวกัน อุเทศเดียวกัน มีการศึกษาเสมอกัน. บทว่า ปิยจกฺขูนิ ได้แก่ ด้วยจักษุที่แสดงเมตตา หวังดีกัน.

จบอรรถกถาสูตรที่ ๒