พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

สูตรที่ ๕ ว่าด้วยบริษัทหยากเหยื่อ และบริษัทใสสะอาด

 
บ้านธัมมะ
วันที่  19 ต.ค. 2564
หมายเลข  38483
อ่าน  359

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 406

สูตรที่ ๕

ว่าด้วยบริษัทหยากเยื่อ และบริษัทใสสะอาด


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 33]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 406

สูตรที่ ๕

ว่าด้วยบริษัทหยากเยื่อ และบริษัทใสสะอาด

[๒๙๑] ๔๕. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บริษัท ๒ จำพวกนี้ ๒ จำพวกเป็นไฉน คือ บริษัทหยากเยื่อ ๑ บริษัทใสสะอาด ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็บริษัทหยากเยื่อเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในบริษัทใดในธรรมวินัยนี้ ย่อมถึงฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บริษัทเช่นนี้ เรียกว่า บริษัทหยากเยื่อ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็บริษัทใสสะอาดเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในบริษัทใดในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่ถึงฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาบริษัท ๒ จำพวกนี้ บริษัทใสสะอาดเป็นเลิศ.

จบสูตรที่ ๕

อรรถกถาสูตรที่ ๕

ในสูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยต่อไปนี้.

บทว่า ปริสกสโฏ ได้แก่ บริษัทกาก บริษัทหยากเยื่อ อธิบายว่า บริษัทไม่มีประโยชน์. บทว่า ปริสมณฺโฑ ได้แก่ บริษัทผ่องใส อธิบายว่า บริษัทผู้มีประโยชน์. บทว่า ฉนฺทาคตึ คจฺฉนฺติ ความว่า ลุอคติเพราะความพอใจ อธิบายว่า ทำสิ่งที่ไม่ควรทำ. แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้แหละ.

ก็การลุอคติ ๔ เหล่านี้ จะมีขึ้นในการแบ่งสิ่งของและในสถานที่วินิจฉัยอธิกรณ์ ใน ๒ อย่างนั้น จะกล่าวในการแบ่งสิ่งของก่อน เมื่อสิ่งของไม่เป็นที่ชอบใจถึงแก่พวกภิกษุที่เป็นภาระของตน ในฐานะที่ตนต้องเลี้ยงดู เปลี่ยนสิ่งของนั้น ให้สิ่งของที่ชอบใจ ชื่อว่าลุฉันทาคติ.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 407

แต่เมื่อสิ่งของเป็นที่ชอบใจถึงแก่พวกภิกษุที่มิได้เป็นภาระของตน เปลี่ยนสิ่งของนั้นเสีย ให้สิ่งของไม่เป็นที่ชอบใจไป ชื่อว่าลุโทสาคติ. เมื่อไม่รู้วัตถุคือสิ่งของที่ควรจะแบ่งและหลักเกณฑ์ ชื่อว่าลุโมหาคติ. เปลี่ยนให้สิ่งของที่ชอบใจแก่คนปากจัดหรือคนอาศัยพระราชาเป็นต้น เพราะกลัวว่า เมื่อเราให้สิ่งของไม่เป็นที่ชอบใจ คนพวกนี้จะพึงทำความพินาศให้ ชื่อว่าลุภยาคติ. แต่ผู้ใดไม่ดำเนินอย่างนี้ เป็นตราชูของคนทั้งปวง วางตนเป็นกลาง มีความพอดี สิ่งใดถึงแก่ผู้ใด ก็ให้สิ่งนั้นแหละแก่ผู้นั้น ผู้นี้ชื่อว่าไม่ลุอคติ ๔ อย่าง. ส่วนในสถานวินิจฉัยอธิกรณ์ พึงทราบดังนี้ กล่าวครุกาบัติของภิกษุผู้เป็นภาระของตน ระบุว่าเป็นลหุกาบัติ ชื่อว่าลุฉันทาคติ. กล่าวลหุกาบัติของภิกษุพวกอื่น ระบุว่าเป็นครุกาบัติ ชื่อว่าลุโทสาคติ. ไม่รู้การออกจากอาบัติและกองอาบัติ ชื่อว่าลุโมหาคติ. กล่าวอาบัติหนักจริงๆ ของภิกษุปากจัด หรือภิกษุที่พระราชาทั้งหลายบูชา ระบุว่าเป็นอาบัติเบา เพราะกลัวว่า เมื่อเรากล่าวอาบัติ ระบุว่าเป็นอาบัติหนัก ภิกษุนี้จะพึงทำความพินาศให้ ชื่อว่าลุภยาคติ. แต่ผู้ใดกล่าวตามเป็นจริงทุกอย่างของคนทั้งปวง ชื่อว่าไม่ลุอคติทั้ง ๔ อย่างแล.

จบอรรถกถาสูตรที่ ๕