พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

สูตรที่ ๘ ว่าด้วยบริษัทที่เรียบร้อย และไม่เรียบร้อย

 
บ้านธัมมะ
วันที่  19 ต.ค. 2564
หมายเลข  38486
อ่าน  340

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 414

สูตรที่ ๘

ว่าด้วยบริษัทที่เรียบร้อย และไม่เรียบร้อย


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 33]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 414

สูตรที่ ๘

ว่าด้วยบริษัทที่เรียบร้อย และไม่เรียบร้อย

[๒๙๔] ๔๘. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บริษัท ๒ จำพวกนี้ ๒ จำพวกเป็นไฉน คือ บริษัทไม่เรียบร้อย ๑ บริษัทเรียบร้อย ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็บริษัทไม่เรียบร้อยเป็นไฉน ในบริษัทใดในธรรมวินัยนี้ กรรมฝ่ายอธรรมเป็นไป กรรมฝ่ายธรรมไม่เป็นไป กรรมที่ไม่เป็นวินัยเป็นไป กรรมที่เป็นวินัยไม่เป็นไป กรรมฝ่ายอธรรมรุ่งเรือง กรรมฝ่ายธรรมไม่รุ่งเรือง กรรมที่ไม่เป็นวินัยรุ่งเรือง กรรมที่เป็นวินัยไม่รุ่งเรือง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บริษัทนี้เรียกว่า บริษัทไม่เรียบร้อย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะบริษัทเป็นผู้ไม่เรียบร้อย กรรมฝ่ายอธรรมจึงเป็นไป กรรมฝ่ายธรรมจึงไม่เป็นไป กรรมที่ไม่เป็นวินัยจึงเป็นไป กรรมที่เป็นวินัยจึงไม่เป็นไป กรรมฝ่ายอธรรมจึงรุ่งเรือง กรรมที่เป็นธรรมจึงไม่รุ่งเรือง กรรมที่ไม่เป็นวินัยจึงรุ่งเรือง กรรมที่เป็นวินัยจึงไม่รุ่งเรือง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็บริษัทเรียบร้อยเป็นไฉน ในบริษัทใดในธรรมวินัยนี้ กรรมฝ่ายธรรมเป็นไป กรรมฝ่ายอธรรมไม่เป็นไป กรรมที่เป็นวินัยเป็นไป กรรมที่ไม่เป็นวินัยไม่เป็นไป กรรมฝ่ายธรรมรุ่งเรือง กรรมฝ่ายอธรรมไม่รุ่งเรือง กรรมที่เป็นวินัยรุ่งเรือง กรรมที่ไม่เป็นวินัยไม่รุ่งเรือง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บริษัทนี้เรียกว่า บริษัทเรียบร้อย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะบริษัทเรียบร้อย กรรมฝ่ายธรรมจึงเป็นไป กรรมฝ่ายอธรรมจึงไม่เป็นไป กรรมที่เป็นวินัยจึงเป็นไป กรรมที่ไม่เป็นวินัยจึงไม่เป็นไป กรรมฝ่ายธรรมจึงรุ่งเรือง กรรมฝ่ายอธรรมจึงไม่รุ่งเรือง กรรมที่เป็นวินัยจึงรุ่งเรือง กรรมที่ไม่เป็นวินัยจึงไม่รุ่งเรือง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บริษัท ๒ จำพวกนี้แล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดา

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 415

บริษัท ๒ จำพวกนี้ บริษัทที่เรียบร้อยเป็นเลิศ.

จบสูตรที่ ๘

อรรถกถาสูตรที่ ๘

ในสูตรที่ ๘ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า วิสมา ได้แก่ ชื่อว่าไม่เรียบร้อย เพราะอรรถว่า พลั้งพลาด บทว่า สมา ได้แก่ ชื่อว่าเรียบร้อย เพราะอรรถว่าไม่พลั้งพลาด. บทว่า อธมฺมกมฺมานิ ได้แก่ กรรมนอกธรรม. บทว่า อวินยกมฺมานิ ได้แก่ กรรมนอกวินัย.

จบอรรถกถาสูตรที่ ๘