พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. ภยสูตร ว่าด้วยผู้เป็นภัยและไม่เป็นภัย

 
บ้านธัมมะ
วันที่  20 ต.ค. 2564
หมายเลข  38621
อ่าน  599

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 1

ปฐมปัณณาสก์

พาลวรรคที่ ๑

๑. ภยสูตร

ว่าด้วยผู้เป็นภัยและไม่เป็นภัย


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 1

พระสุตตันตปิฎก

อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต

เล่มที่ ๑ ภาคที่ ๓

ปฐมปัณณาสก์

พาลวรรคที่ ๑

๑. ภยสูตร

ว่าด้วยผู้เป็นภัยและไม่เป็นภัย

[๔๔๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกะ คฤหบดี พระนครสาวัตถี พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายในที่นั้นแล ด้วยพระพุทธพจน์ว่า ภิกฺขโว (แน่ะ ภิกษุทั้งหลาย) ภิกษุเหล่านั้น กราบทูลขานรับต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคำว่า ภทนฺเต (พระพุทธเจ้าข้า) แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภัยอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ภัยทั้งปวงนั้น ย่อมเกิดแต่คนพาล หาเกิดแต่บัณฑิตไม่ อุปัทวะอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น อุปัทวะทั้งปวงนั้น ย่อมเกิดแต่คนพาล หาเกิดแต่บัณฑิตไม่ อุปสรรคอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น อุปสรรคทั้งปวงนั้น ย่อมเกิดแต่คนพาล หาเกิดแต่บัณฑิตไม่.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 2

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนไฟลุกจากเรือนที่มุงบังด้วยต้นอ้อ หรือจากเรือนที่มุงบังด้วยหญ้าแล้ว ย่อมไหม้กระทั่งเรือนยอดที่ฉาบปูน ทั้งภายในทั้งภายนอกจนลมลอดไม่ได้ มีประตูอันลงกลอนสนิท มีหน้าต่างปิดได้ ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภัย ... อุปัทวะ ... อุปสรรคอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ย่อมเกิดแต่คนพาล หาเกิดแต่บัณฑิตไม่ ฉันนั้น

ดังนี้แล ภิกษุทั้งหลาย คนพาลมีภัย บัณฑิตไม่มีภัย คนพาลมีอุปัทวะ บัณฑิตไม่มีอุปัทวะ คนพาลมีอุปสรรค บัณฑิตไม่มีอุปสรรค ภิกษุทั้งหลาย ภัย ... อุปัทวะ... อุปสรรค แต่บัณฑิตหามีไม่.

เพราะเหตุนั้น ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกในข้อนี้อย่างนี้ว่า บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓ ประการเหล่าใด พึงรู้ว่าเป็นพาล เราทั้งหลายจักละเสียซึ่งธรรม ๓ ประการนั้น บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓ ประการเหล่าใด พึงรู้ว่าเป็นบัณฑิต เราทั้งหลายจักถือธรรมนั้นประพฤติ ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล.

จบภยสูตรที่ ๑

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 3

อรรถกถาอังคุตตรนิกาย ชื่อ มโนรถปูรณี

ติกนิปาตวรรณนา

พาลวรรควรรณนาที่ ๑

อรรถกถาภยสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในภยสูตรที่ ๑ แห่งติกนิบาต ดังต่อไปนี้ :-

ในบทว่า ภยานิ เป็นต้น ความที่จิตสะดุ้งกลัว ชื่อว่า ภัย. อาการที่จิตไม่เป็นสมาธิ ชื่อว่า อุปัทวะ. อาการที่จิตติดขัด คือ อาการที่จิตข้องอยู่ในอารมณ์นั้นๆ ชื่อว่า อุปสรรค.

พึงทราบความแตกต่างกันแห่งภัย อุปัทวะ และอุปสรรคเหล่านั้น ดังต่อไปนี้

พวกโจรอาศัยอยู่ตามภูเขา และถิ่นทุรกันดาร ส่งข่าวไปถึงชาวชนบทว่า พวกเราจักเข้าปล้นหมู่บ้านของพวกท่านในวันโน้น ตั้งแต่เวลาที่ได้สดับข่าวนั้น ชาวชนบทเหล่านั้นก็พากันหวาดกลัว. อาการอย่างนี้ ชื่อว่าอาการที่จิตสะดุ้งกลัว.

ชาวชนบทก็พากันคิดว่า ทำอย่างไรดีเล่า พวกโจรโกรธพวกเราแล้ว จะพึงนำความฉิบหายมาให้เราเป็นแน่ ดังนี้แล้ว ฉวยคว้าทรัพย์สมบัติที่พอหยิบฉวยติดมือไปได้ เข้าป่าพร้อมกับฝูงสัตว์ทวิบทจตุบาท นอนตามพื้นดินอยู่ในป่านั้นๆ ถูกแมลงมีเหลือบและยุงเป็นต้นกัด ก็พากันหลบเข้าไปยังระหว่างพุ่มไม้ เหยียบตอไม้และหนาม. ความฟุ้งซ่านของชาวชนบทเหล่านั้น ผู้ท่องเที่ยวไปอยู่อย่างนั้น ชื่อว่าอาการที่จิตไม่เป็นสมาธิ.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 4

หลังจากนั้น เมื่อพวกโจรไม่มาตามวันที่ได้บอกไว้ ชาวชนบทก็คิดกันว่า ชะรอยจักเป็นข่าวลวง พวกเราจักกลับเข้าหมู่บ้าน ดังนี้แล้ว พากันขนข้าวของกลับเข้าหมู่บ้าน. ครั้งนั้น พวกโจรทราบว่า ชาวชนบทเหล่านั้นพากันกลับเข้าหมู่บ้านแล้ว จึงพากันมาล้อมหมู่บ้านไว้ จุดไฟเผาที่ประตู สังหารผู้คนจำนวนมาก ปล้นเอาทรัพย์สมบัติทั้งหมดไป. บรรดาชาวชนบทเหล่านั้น พวกที่เหลือจากถูกโจรสังหารก็พากันดับไฟ แล้วนั่งจับเจ่าอยู่ในที่นั้นๆ มีร่มเงาซุ้มประตู และเงาฝาเรือนเป็นต้น หวนโศกเศร้าถึงสิ่งที่สูญเสียไป. อาการที่จิตข้องอยู่อย่างนี้ ชื่อว่าอาการที่จิตเกี่ยวข้องอยู่ในอารมณ์นั้น.

บทว่า นฬาคารา ได้แก่ เรือนที่มุงและบังด้วยไม้อ้อ ส่วนเครื่องเรือนที่เหลือในเรือนไม้อ้อนี้ ทำจากไม้. แม้ในเรือนหญ้าก็มีนัยนี้แล. บทว่า กูฏาคารานิ ได้แก่ เรือนที่ยกยอด. บทว่า อุลฺลิตฺตาวลิตฺตานิ ได้แก่ ฉาบทั้งข้างในและข้างนอก. บทว่า นิวาตานิ ได้แก่ ลมเข้าไปไม่ได้. บทว่า ผุสิตคฺคฬานิ ได้แก่ บานประตูที่ติดเข้าสนิทที่กรอบเช็ดหน้า เพราะเป็นของที่นายช่างผู้ฉลาดทำไว้. บทว่า ปิหิตกวาฏานิ ได้แก่ ติดบานประตูแล้ว. ด้วยสองบทนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ตรัสหมายถึงบานประตูและหน้าต่างที่ปิดไว้ประจำ แต่ตรัสคุณสมบัติเท่านั้น. ก็บานประตูและหน้าต่างเหล่านั้น ย่อมปิดและเปิดได้ทุกขณะที่ต้องการ.

บทว่า พาลโต อุปฺปชฺชนฺติ ความว่า อุปสรรคทั้งหลายย่อมเกิดขึ้น เพราะอาศัยคนพาลทั้งนั้น. เป็นความจริง คนที่ไม่เป็นบัณฑิต เป็นพาล เมื่อปรารถนาความเป็นพระราชา ความเป็นอุปราช หรือปรารถนาตำแหน่งใหญ่อย่างอื่น ก็จะชักชวนเอาลูกกำพร้าพ่อ ผู้โง่เง่าเหมือนตนจำนวนเล็กน้อย แล้วเกลี้ยกล่อมว่า มาเถิดเธอทั้งหลาย ฉันจักทำพวกเธอให้เป็นใหญ่ ซ่องสุม

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 5

อยู่ตามภูเขาและป่าทึบเป็นต้น แล้วบุกเข้าที่หมู่บ้านแถวชายแดน ทำหมู่บ้านให้เสียหาย แล้วตีทั้งนิคม ทั้งชนบท ตามลำดับ.

ผู้คนปรารถนาสถานที่ที่ปลอดภัย จึงพากันทิ้งบ้านเรือนหลีกหนีไป. ทั้งภิกษุ ภิกษุณีที่อาศัยคนเหล่านั้นอยู่ ก็พากันละทิ้งสถานที่อยู่ของตนๆ หลีกไป. ในสถานที่ที่ท่านเหล่านั้นไปแล้ว ทั้งภิกษา ทั้งเสนาสนะ ก็หาได้ยาก. ภัยย่อมมาถึงบริษัททั้ง ๔ อย่างนี้แล.

แม้ในบรรพชิตทั้งหลาย ภิกษุผู้เป็นพาล ๒ รูป วิวาทกัน แล้วต่างเริ่มโจทกันและกัน จึงเกิดความวุ่นวายใหญ่หลวงขึ้น เหมือนพวกภิกษุชาวเมืองโกสัมพีฉะนั้น. ภัยย่อมมาถึงบริษัท ๔ เหมือนกัน ก็ภัยเหล่าใดเกิดขึ้นดังว่ามานี้ ภัยเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นมาจากคนพาล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยังเทศนาให้จบลงตามอนุสนธิ ดังว่ามานี้แล.

จบอรรถกถาภยสูตรที่ ๑