พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. อโยนิโสสูตร ว่าด้วยธรรมที่บ่งบอกว่าเป็นพาลหรือบัณฑิต

 
บ้านธัมมะ
วันที่  20 ต.ค. 2564
หมายเลข  38626
อ่าน  378

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 11

ปฐมปัณณาสก์

พาลวรรคที่ ๑

๕. อโยนิโสสูตร

ว่าด้วยธรรมที่บ่งบอกว่าเป็นพาลหรือบัณฑิต


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 11

๕. อโยนิโสสูตร

ว่าด้วยธรรมที่บ่งบอกว่าเป็นพาลหรือบัณฑิต

[๔๔๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ พึงทราบได้ว่า เป็นพาล ธรรม ๓ ประการคืออะไรบ้าง คือ ตั้งปัญหาโดยไม่แยบคาย แก้ปัญหาโดยไม่แยบคาย อนึ่ง คนอื่นแก้ปัญหาได้แยบคายด้วยถ้อยคำอันกลมกล่อมสละสลวยได้เหตุผลแล้วไม่อนุโมทนา บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล พึงทราบเถิดว่า เป็นคนพาล

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ พึงทราบได้ว่า เป็นบัณฑิต ธรรม ๓ ประการคืออะไรบ้าง คือ ตั้งปัญหาโดยแยบคาย แก้ปัญหาโดยแยบคาย อนึ่ง คนอื่นแก้ปัญหาได้แยบคายด้วยถ้อยคำอันกลมกล่อมสละสลวยได้เหตุผลแล้วอนุโมทนา บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ภิกษุทั้งหลาย พึงทราบเถิดว่า เป็นบัณฑิต.

จบอโยนิโสสูตรที่ ๕

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 12

อรรถกถาอโยนิโสสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในอโยนิโสสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้:-

บทว่า อโยนิโส ปญฺหํ กตฺตา โหติ ความว่า คนพาลย่อมทำสิ่งที่ไม่เป็นปัญหานั่นแลให้เป็นปัญหา เพราะคิดไม่ถูกวิธี เหมือนพระโลฬุทายีเถระเมื่อถูกถามว่า อุทายี ที่ตั้งของอนุสสติมีเท่าไรหนอแล ก็คิดว่า ขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในภพก่อน จักเป็นที่ตั้งของอนุสสติ ดังนี้แล้ว ทำสิ่งที่ไม่เป็นปัญหาให้เป็นปัญหาฉะนั้น.

บทว่า อโยนิโส ปญฺหํ วิสชฺเชตา โหติ ความว่า ก็คนพาลแม้เมื่อจะวิสัชนาปัญหาที่คิดได้อย่างนี้ (๑) ก็กลับวิสัชนาโดยไม่แยบคาย คล้ายพระเถระนั้นนั่นแล โดยนัยมีอาทิว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมระลึกถึงขันธ์ที่อาศัยอยู่ในภพก่อนได้มากมาย คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง คือ ย่อมกล่าวสิ่งที่ไม่เป็นปัญหานั่นแล ว่าเป็นปัญหา.

ในบทว่า ปริมณฺฑเลหิ ปทพฺยญฺชเนหิ นี้ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้

บทนั่นแล ชื่อว่าบทพยัญชนะ เพราะทำความหมายให้ปรากฏ บทพยัญชนะนั้นที่กล่าว ทำอักษรให้บริบูรณ์ ไม่ให้เสียความหมายของพยัญชนะ ๑๐ อย่าง ชื่อว่าเป็นปริมณฑล (กลมกลืน). อธิบายว่า ด้วยบทพยัญชนะเห็นปานนี้.

บทว่า สิลิฏฺเหิ ได้แก่ ที่ชื่อว่าสละสลวย เพราะมีบทอันสละสลวย.

บทว่า อุปคเตหิ ได้แก่ เข้าถึงผลและเหตุ.


(๑) ปาฐะว่า จินฺติตํ ปุน ฉบับพม่าเป็น เอวํ จินฺติตํ ปน แปลตามฉบับพม่า

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 13

บทว่า นาพฺภนุโมทิตา (๑) ความว่า คนพาลย่อมไม่อนุโมทนา คือ ไม่ยินดีปัญหาของบุคคลอื่นที่วิสัชนาโดยแยบคายอย่างนี้ คือ ที่วิสัชนาทำให้สมบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง. เหมือนพระโลฬุทายีเถระไม่อนุโมทนาปัญหาของพระสารีบุตรฉะนั้น. เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า

อาวุโสสารีบุตร ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาสเลย ที่พระอนาคามีนั้นล่วงเลยความเป็นสหายของเหล่าเทพผู้มีกวฬิงการาหารเป็นภักษา เข้าถึงหมู่เทพที่เป็นมโนมยะหมู่ใดหมู่หนึ่งแล้ว จะพึงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธก็ได้ จะพึงออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธก็ได้ ฐานะนี้ไม่มีเลย.

ในคำว่า โยนิโส ปญฺหํ กตฺตา เป็นต้น พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้

บัณฑิตคิดปัญหาโดยแยบคายแล้ว ย่อมวิสัชนาปัญหาโดยแยบคายเหมือนพระอานนทเถระฉะนั้น. เป็นความจริง พระเถระถูกพระศาสดาตรัสถามว่า ดูก่อนอานนท์ ที่ตั้งของอนุสสติมีเท่าไรหนอแล ก็คิดโดยแยบคายก่อนว่า นี้จักเป็นปัญหา เมื่อจะวิสัชนาโดยแยบคาย จึงทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุในศาสนานี้ สงัดแล้วเทียวจากกามทั้งหลาย ฯลฯ แล้วเข้าจตุตถฌานอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่ตั้งของอนุสสตินี้ที่เจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน.

บทว่า อพฺภานุโมทิตา โหติ ความว่า บัณฑิตย่อมอนุโมทนาโดยแยบคาย เหมือนพระตถาคตอนุโมทนาฉะนั้น. เป็นความจริง พระตถาคต เมื่อพระอานนท์เถระวิสัชนาปัญหาแล้ว ก็ตรัสพระดำรัสมีอาทิว่า ดีแล้ว


(๑) ปาฐะว่า นาพฺภนุโมทิตา เป็นบาลีเดิม แต่ในอรรถกถาเป็น นาภินุโมทติ.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 14

ดีแล้ว อานนท์ ถ้าอย่างนั้น อานนท์ เธอจงทรงจำที่ตั้งแห่งอนุสสติทั้ง ๖ นี้ไว้เถิด อานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีสติก้าวไปข้างหน้า มีสติถอยหลังกลับ.

จบอรรถกถาอโยนิโสสูตรที่ ๕