พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. ปฐมปาปณิกสูตร องค์คุณของพ่อค้ากับของภิกษุ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  20 ต.ค. 2564
หมายเลข  38640
อ่าน  480

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 57

ปฐมปัณณาสก์

รถการวรรคที่ ๒

๙. ปฐมปาปณิกสูตร

องค์คุณของพ่อค้ากับของภิกษุ

อรรถกถา ปฐมปาปณิกสูตร 58

พ่อค้าผู้ไม่ตั้งใจทําการงาน 58

ภิกษุไม่ตั้งใจฝึกสมาธิ 59


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 57

๙. ปฐมปาปณิกสูตร

องค์คุณของพ่อค้ากับของภิกษุ

[๔๕๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าผู้ประกอบด้วยองค์ ๓ ย่อมเป็นผู้อภัพ เพื่อจะได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้ก็ดี เพื่อจะทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้ทวีขึ้นก็ดี องค์ ๓ คืออะไร คือ พ่อค้าไม่ตั้งการงานอย่างดีในตอนเช้า ไม่ตั้งการงานอย่างดีในตอนกลางวัน ไม่ตั้งการงานอย่างดีในตอนเย็น พ่อค้าผู้ประกอบด้วยองค์ ๓ นี้แล ภิกษุทั้งหลาย ย่อมเป็นผู้อภัพ เพื่อจะได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้ก็ดี เพื่อจะทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้ทวีขึ้นก็ดี

ฉันเดียวกันนั่นแล ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ย่อมเป็นผู้อภัพ เพื่อจะบรรลุกุศลธรรมที่ยังไม่บรรลุก็ดี เพื่อทำกุศลธรรมที่บรรลุแล้วให้เจริญขึ้นก็ดี ธรรม ๓ คืออะไร คือ ภิกษุไม่ตั้งสมาธินิมิตอย่างดีในตอนเช้า ไม่ตั้งสมาธินิมิตอย่างดีในตอนกลางวัน ไม่ตั้งสมาธินิมิตอย่างดีในตอนเย็น ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ นี้แล ย่อมเป็นผู้อภัพ เพื่อจะบรรลุกุศลธรรมที่ยังไม่บรรลุก็ดี เพื่อทำกุศลธรรมที่บรรลุแล้วให้เจริญขึ้นก็ดี

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าผู้ประกอบด้วยองค์ ๓ ย่อมเป็นผู้อาจเพื่อจะได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้ก็ดี เพื่อทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้ทวีขึ้นก็ดี องค์ ๓ คืออะไร คือ พ่อค้าตั้งการงานอย่างดีในตอนเช้า ตั้งการงานอย่างดีในตอนกลางวัน ตั้งการงานอย่างดีในตอนเย็น พ่อค้าผู้ประกอบด้วยองค์ ๓ นี้แล ย่อมเป็นผู้อาจเพื่อจะได้บริโภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้ก็ดี เพื่อทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้ทวีขึ้นก็ดี

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 58

ฉันเดียวกันนั่นแล ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ย่อมเป็นผู้อาจเพื่อบรรลุกุศลธรรมที่ยังไม่บรรลุก็ดี เพื่อทำกุศลธรรมที่บรรลุแล้วให้เจริญก็ดี ธรรม ๓ คืออะไร คือ ภิกษุตั้งสมาธินิมิตอย่างดีในตอนเช้า ตั้งสมาธินิมิตอย่างดีในตอนกลางวัน ตั้งสมาธินิมิตอย่างดีในตอนเย็น ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ นี้แล ย่อมเป็นผู้อาจเพื่อบรรลุกุศลธรรมที่ยังไม่บรรลุก็ดี เพื่อทำกุศลธรรมที่ได้บรรลุแล้วให้เจริญขึ้นก็ดี.

จบปฐมปาปณิกสูตรที่ ๙

อรรถกถาปฐมปาปณิกสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในปฐมปาปณิกสูตรที่ ๙ ดังต่อไปนี้ :-

พ่อค้าผู้ไม่ตั้งใจทำการงาน

บทว่า ปาปณิโก แปลว่า พ่อค้าในตลาด เจ้าของร้าน. คำว่า ปาปณิโก นั่น เป็นชื่อของพ่อค้าผู้เปิดร้านขายของ. บทว่า อภพฺโพ แปลว่า เป็นบุคคลไม่เหมาะสม.

บทว่า น สกฺกจฺจํ กมฺมนฺตํ อธิฏฺาติ ความว่า การงานที่ตั้งใจ ทำอย่างใดจึงจะนับว่ามั่นคง งานที่ตั้งใจไว้ย่อมสำเร็จสมความตั้งใจด้วยประการใด เขาไม่ตั้งใจทำให้สำเร็จด้วยตนเองอย่างนั้น. ในบทว่า น สกฺกจฺจํ กมฺมนฺตํ อธิฏฺาติ นั้น พึงทราบอธิบายดังต่อไปนี้

เวลาเช้ามืด พ่อค้าลุกขึ้นตามประทีป แต่ไม่นั่งจัดสินค้า ชื่อว่าไม่ตั้งใจทำงานโดยเคารพ ในเวลาเช้า. ด้วยว่า พ่อค้าผู้นี้จะไม่ได้เป็นเจ้าของ พลาดโอกาสสิ่งของที่ควรจะได้ ที่มีโอกาสทั้ง ๓ เป็นปัจจัย คือ สิ่งของที่

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 59

พวกโจรลักในตอนกลางคืน รีบมาตลาดด้วยคิดว่า เราจักปล่อยของนี้ให้พ้นมือของเรา แล้วขายให้โดยราคาย่อมเยา ๑ ของที่คนจำนวนมากผู้เป็นคู่แข่งแย่งซื้อ แย่งขาย เวลากลางคืนอยู่ในเมือง เช้ามืดไปตลาดซื้อเอา ๑ หรือของที่ผู้คนประสงค์จะไปยังชนบท จะรีบไปตลาดแต่เช้าแล้วซื้อเอา ๑ ในเวลาที่คนอื่นพักรับประทานอาหารกัน เขาก็กลับมารับประทานอาหารบ้าง คือ เก็บสินค้าแต่เช้าตรู่ แล้วกลับไปบ้าน รับประทานอาหารแล้วนอนหลับ ตอนเย็นจึงกลับมายังร้านตลาดอีกครั้งหนึ่ง อย่างนี้ ชื่อว่าไม่ตั้งใจทำการงานโดยเคารพในเวลาเที่ยงวัน.

ด้วยพ่อค้านั้น จะไม่ได้เป็นเจ้าของ หมดโอกาส สิ่งของที่ควรจะได้ อันมีโอกาสทั้งสองเป็นปัจจัย คือ สิ่งที่พวกโจรมาปล่อยไม่ทันในตอนเช้าตรู่ แต่เวลากลางวัน ขณะที่คนอื่นๆ ยังไม่สัญจรไปมา พวกโจรก็จะไปยังร้านตลาด แล้วขายให้ด้วยราคาถูก ๑ สิ่งใดที่พวกอิสรชนผู้มีบุญใช้คนไปให้นำมาในเวลารับประทานอาหาร ด้วยสั่งว่า ควรจะได้สิ่งนี้ๆ มาจากร้านตลาด ๑.

ส่วนเวลาเย็น จนกระทั่งถึงเวลาที่เขาตีบอกยาม เขาก็ไม่ตามประทีป แล้วนั่งภายในร้านตลาด อย่างนี้ ชื่อว่าไม่ตั้งใจทำงานโดยเคารพในเวลาเย็น.

ด้วยว่าพ่อค้านั้น จะไม่ได้เป็นเจ้าของ สิ่งของที่ควรได้ ที่มีโอกาสนั้นเป็นปัจจัย คือ สิ่งของที่พวกโจรมาปล่อยไม่ทัน ทั้งเวลาเช้าและเวลากลางวัน แต่กลับไปยังร้านตลาดในตอนเย็น แล้วขายให้ด้วยราคาถูก.

ภิกษุไม่ตั้งใจฝึกสมาธิ

บทว่า น สกฺกจฺจํ สมาธินิมิตฺตํ อธิฏฺาติ ความว่า ภิกษุไม่เข้าสมาธิโดยกิริยาที่เคารพ.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 60

ก็ในบทว่า น สกฺกจฺจํ สมาธินิมิตฺตํ นี้ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้

ภิกษุทำวัตรที่ลานเจดีย์และลานโพธิ์แล้ว เข้าไปสู่เสนาสนะ แต่ว่าไม่ยอมนั่งเข้าสมาบัติ จนถึงเวลาภิกษาจาร ชื่อว่าไม่ตั้งใจกำหนดนิมิตโดยเคารพ. ส่วนเวลาภายหลังฉันภัตตาหาร เธอกลับจากบิณฑบาตแล้วเข้าไปยังที่พักกลางคืนและที่พักกลางวัน แต่ว่าไม่นั่งเข้าสมาบัติจนถึงเวลาเย็น ชื่อว่าไม่ตั้งใจกำหนดสมาธินิมิตโดยเคารพในเวลาเที่ยงวัน.

อนึ่ง เวลาเย็น เธอไหว้เจดีย์ ทำการบำรุงพระเถระ แล้วเข้าไปสู่เสนาสนะ แต่ว่าไม่ยอมนั่งเข้าสมาบัติตลอดปฐมยาม ชื่อว่าไม่ตั้งใจกำหนดสมาธินิมิตโดยเคารพในเวลาเย็น.

ส่วนความหมาย พึงทราบตามนัยตรงกันข้ามกับที่กล่าวแล้วในสุกปักษ์.

อนึ่ง ในบทนี้ ในที่ที่ท่านกล่าวไว้ว่า สมาปตฺตึ อปฺเปตฺวา เข้าสมาบัติ เมื่อไม่มีสมาบัติ แม้วิปัสสนาก็ควร และในบทว่า สมาธินิมิตฺตํ แม้อารมณ์ของสมาธิก็ควรเช่นกัน. สมจริงดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า แม้สมาธิ ก็ชื่อว่าสมาธินิมิต แม้อารมณ์ของสมาธิ ก็ชื่อว่าสมาธินิมิต.

จบอรรถกถาปฐมปาปณิกสูตรที่ ๙