พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. ทุติยปาปณิกสูตร คุณสมบัติของพ่อค้ากับของภิกษุ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  20 ต.ค. 2564
หมายเลข  38641
อ่าน  956

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 61

ปฐมปัณณาสก์

รถการวรรคที่ ๒

๑๐. ทุติยปาปณิกสูตร

คุณสมบัติของพ่อค้ากับของภิกษุ

อรรถกถา ทุติยปาปณิกสูตร 63

พ่อค้าผู้มีปัญญา 63


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 61

๑๐. ทุติยปาปณิกสูตร

คุณสมบัติของพ่อค้ากับของภิกษุ

[๔๕๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าประกอบด้วยองค์ ๓ ย่อมถึงความใหญ่ความไพบูลย์ในโภคทรัพย์ไม่นานเลย องค์ ๓ คืออะไร คือ พ่อค้าเป็นผู้มีดวงตา ๑ ฉลาด ๑ ถึงพร้อมด้วยที่พึ่งอาศัย ๑

ก็พ่อค้าเป็นผู้มีดวงตาอย่างไร พ่อค้ารู้สินค้าว่า สินค้าสิ่งนี้ ซื้ออย่างนี้ ขายอย่างนี้ เป็นต้นทุนเท่านี้ กำไรเท่านี้ อย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าชื่อว่าเป็นผู้มีดวงตา

พ่อค้าเป็นผู้ฉลาดอย่างไร พ่อค้าเป็นผู้เข้าใจที่จะซื้อและที่จะขาย อย่างนี้แล พ่อค้าชื่อว่าฉลาด

พ่อค้าถึงพร้อมด้วยที่พึ่งอาศัยอย่างไร คฤหบดีทั้งหลายก็ดี บุตรของคฤหบดีทั้งหลายก็ดี ที่มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก ย่อมรู้จักพ่อค้านั้นอย่างนี้ว่า พ่อค้าผู้เจริญผู้นี้แหละ เป็นคนมีดวงตาด้วย ฉลาดด้วย มีกำลังพอที่จะเลี้ยงบุตรภริยา และแถมพกให้เราบ้างตามเวลาอันควร คฤหบดีและบุตรของคฤหบดีเหล่านั้น ย่อมรับรองพ่อค้านั้นด้วยโภคะทั้งหลายว่า แน่ะ สหายพ่อค้า แต่นี้ไป เชิญท่านนำโภคะไปเลี้ยงบุตรภริยา และจงแถมพกให้เราบ้างตามเวลาอันควรเถิด อย่างนี้แล พ่อค้าชื่อว่าถึงพร้อมด้วยที่พึ่งอาศัย.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าประกอบด้วยองค์ ๓ นี้แล ย่อมถึงความใหญ่ความไพบูลย์ในโภคทรัพย์ไม่นานเลย

ฉันเดียวกันนั่นแล ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๓ ย่อมถึงความใหญ่ความไพบูลย์ในกุศลธรรมทั้งหลายไม่นานเลย. ธรรม ๓ คืออะไร คือ ภิกษุเป็นผู้มีดวงตา ๑ มีเพียร ๑ ถึงพร้อมด้วยที่พึ่งอาศัย ๑.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 62

ก็ภิกษุเป็นผู้มีดวงตาอย่างไร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ตามจริงว่า นี่ทุกข์ ... นี่ทุกขสมุทัย (เหตุเกิดทุกข์) ... นี่ทุกขนิโรธ (ความดับทุกข์) ... นี่ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์) อย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีดวงตา.

ภิกษุเป็นผู้มีเพียรอย่างไร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ปรารภความเพียรเพื่อละเสียซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลาย เพื่อยังกุศลธรรมทั้งหลายให้ถึงพร้อม แข็งขันบากบั่นมั่นคงไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีเพียร.

ภิกษุเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยที่พึ่งอาศัยอย่างไร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ภิกษุเหล่าใดเป็นพหูสูต คล่องอาคม ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา เธอเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นตามกาลอันควร ไต่ถามปัญหาว่า ท่านเจ้าข้า ข้อนี้อย่างไร อะไรเป็นความหมายแห่งธรรมนี้. ท่านเหล่านั้นย่อมเปิดเผยข้อที่ลี้ลับ ทำข้อที่ลึกให้ตื้น และบรรเทาความเคลือบแคลงในธรรมทั้งหลายที่น่าเคลือบแคลงแก่เธอได้ อย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าถึงพร้อมด้วยที่พึ่งอาศัย

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๓ นี้แล ย่อมถึงความใหญ่ความไพบูลย์ในกุศลธรรมทั้งหลายไม่นานเลย.

จบทุติยปาปณิกสูตรที่ ๑๐

จบรถการวรรคที่ ๒

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 63

อรรถกถาทุติยปาปณิกสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้:-

พ่อค้าผู้มีปัญญา

บทว่า จกฺขุมา ความว่า พ่อค้าเป็นผู้มีปัญญาจักษุ. บทว่า วิธุโร ความว่า เป็นผู้มีธุระอันสำคัญ คือ มีธุระอันสูงสุด ได้แก่ ประกอบด้วยวิริยะที่สัมปยุตด้วยญาณ. บทว่า นิสฺสยสมฺปนฺโน คือ ถึงพร้อมด้วยที่พึ่ง ได้แก่ ถึงพร้อมด้วยที่พำนัก.

บทว่า ปณิยํ ได้แก่ สินค้าที่ขาย. ในบทนั้นว่า เอตฺตกํ มูลํ ภวิสฺสติ เอตฺตโก อุทฺรโย มีอธิบายว่า สินค้าที่ซื้อมานั้น โดยการซื้อมีปริยายดังที่ตรัสไว้ว่า ซื้ออย่างนี้ ขายอย่างนี้. สินค้านั้นจัดเป็นทุน คือ จำนวนที่ซื้อมาเท่านี้ ฉะนั้น เมื่อจำหน่ายสินค้านั้นไป ในการจำหน่ายสินค้าจักมีกำไรเท่านี้ คือ เพิ่มขึ้นเท่านี้.

บทว่า กุสโล โหติ ปณิยํ เกตุญฺจ วิกเกตุญฺจ ความว่า พ่อค้าผู้ฉลาด ไปหาซื้อยังที่ที่สินค้าหาได้ง่าย และไปขายยังที่ที่สินค้าหาได้ยาก ชื่อว่าเป็นผู้ฉลาดในที่นี้ เขาย่อมได้ลาภเพิ่มขึ้น ๑๐ เท่าบ้าง ๒๐ เท่าบ้าง.

บทว่า อทฺธา ได้แก่ อิสรชน คือ ผู้ถึงพร้อมด้วยทรัพย์ที่เก็บไว้จำนวนมาก. บทว่า มหทฺธนา ได้แก่ ผู้มีทรัพย์มาก ด้วยอำนาจเครื่องใช้สอย. บทว่า มหาโภคา ได้แก่ ผู้มีโภคะมาก ด้วยสิ่งของที่เป็นเครื่องอุปโภคและบริโภค. บทว่า ปฏิพโล ได้แก่ ชื่อว่าเป็นผู้สามารถ เพราะถึงพร้อมด้วยกำลังกายและกำลังความรู้. บทว่า อมฺหากญฺจ กาเลน กาลํ อนุปฺปาเทตุํ ความว่า เพื่อเพิ่มให้ดอกเบี้ยอันเกิดจากทรัพย์ที่เขาหยิบยืมไป

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 64

เป็นต้นทุน แก่เราทั้งหลายตามกาลอันสมควร. บทว่า นิปตนฺติ แปลว่า เชื้อเชิญ. บาลีเป็น นิปทนฺติ ก็มี. ความหมายก็ทำนองนี้แหละ.

บทว่า กุสลานํ ธมฺมานํ อุปสมฺปทาย ความว่า เพื่อความสมบูรณ์ คือ เพื่อได้เฉพาะซึ่งกุศลธรรมทั้งหลาย. บทว่า ถามวา ความว่า ประกอบด้วยความรู้. บทว่า ทฬฺหปรกฺกโม ความว่า ประกอบด้วยความบากบั่น ด้วยความรู้อันมั่นคง. บทว่า อนิกฺขิตฺตธุโร ความว่า ไม่ทอดทิ้งธุระอย่างนี้ว่า เรายังไม่ถึงจุดหมายปลายทาง จักไม่วางธุระ คือ ความเพียรนี้.

บทว่า พหุสฺสุตา ความว่า ชื่อว่าเป็นพหูสูต เพราะมีพระพุทธพจน์อันได้สดับตรับฟังมามาก ด้วยสามารถแห่งนิกาย ๑ หรือ ๒ นิกายเป็นต้น. บทว่า อาคตาคมา ความว่า นิกาย ๑ ชื่อว่าอาคม ๑. ๒ นิกาย ชื่อว่า ๒ อาคม. ๕ นิกาย ชื่อว่า ๕ อาคม. ในอาคมทั้ง ๕ เหล่านี้ ผู้ใดมีมาแม้อาคมเดียว คือ มีความช่ำชอง ได้แก่ ได้รับยกย่อง (เพียงอาคมเดียว) คนเหล่านั้นชื่อว่า อาคตาคมา.

บทว่า ธมฺมธรา ได้แก่ ผู้ทรงไว้ซึ่งพระสุตตันตปิฎก. บทว่า วินยธรา ได้แก่ ผู้ทรงไว้ซึ่งพระวินัยปิฎก. บทว่า มาติกาธรา ได้แก่ ผู้ทรงไว้ซึ่งมาติกาทั้งสอง. บทว่า ปริปุจฺฉติ ได้แก่ ซักถามถึงประโยชน์และสิ่งที่ไม่ใช่ประโยชน์ ถึงเหตุและสิ่งที่ไม่ใช่เหตุ. บทว่า ปริปญฺหติ ได้แก่ รู้ คือ ไตร่ตรอง กำหนด (๑) เอาว่า เราจักถามธรรมวินัย ชื่อนี้. ข้อความที่เหลือในพระสูตรง่ายทั้งนั้น.

ก็ในพระสูตรนี้ ปัญญามีมาก่อน ความเพียรและการคบหากัลยาณมิตรมาภายหลัง. ในข้อนั้น ไม่พึงเข้าใจความอย่างนี้ว่า บรรลุพระอรหัตก่อนแล้ว


(๑) ปาะว่า อญฺาตุํ ลภติ ปริคฺคณฺหติ ฉบับพม่าเป็น อญฺาติ ตุเลติ ปริคฺคณฺหาติ แปลตามฉบับพม่า.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 65

จึงบำเพ็ญเพียร แล้วคบหากัลยาณมิตรภายหลัง. ธรรมดาพระธรรมเทศนา จะมีการกำหนดโดยปริยายเบื้องต่ำ ปริยายเบื้องสูง หรือโดยส่วนทั้ง ๒ บ้าง. แต่ในพระสูตรนี้ พึงทราบกำหนดโดยปริยายเบื้องสูงเท่านั้น. เพราะฉะนั้น เมื่อจะตรัส ก็ทรงแสดงการอาศัยคบหากัลยาณมิตรไว้ก่อน แล้วทรงแสดงความเพียรไว้ท่ามกลาง แล้วจึงตรัสบอกพระอรหัตในภายหลัง.

จบทุติยปาปณิกสูตรที่ ๑๐

จบรถการวรรควรรณนาที่ ๒

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ญาตกสูตร ๒. สรณียสูตร ๓. ภิกขุสูตร ๔. จักกวัตติสูตร ๕. ปเจตนสูตร ๖. อปัณณกสูตร ๗. อัตตสูตร ๘. เทวสูตร ๙. ปฐมปาปณิกสูตร ๑๐. ทุติยปาปณิกสูตร และอรรถกถา.