๕. หัตถกสูตร ว่าด้วยผู้มีความสุขแท้
[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 142
ปฐมปัณณาสก์
เทวทูตวรรคที่ ๔
๕. หัตถกสูตร
ว่าด้วยผู้มีความสุขแท้
หัตถกกุมารทูลถามพระพุทธเจ้า 145
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 142
๕. หัตถกสูตร
ว่าด้วยผู้มีความสุขแท้
[๔๗๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับบนลาดใบไม้ในป่าสิงสปาวัน ใกล้ทางโค ในแคว้นอาฬวี ครั้งนั้น เจ้าชายหัตถกะ อาฬวกะ ทรงดำเนินด้วยพระบาทเที่ยวมา ทอดพระเนตรเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนลาดใบไม้ในป่าสิงสปาวัน ใกล้ทางโค ครั้นแล้ว เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง เจ้าชายหัตถกะ อาฬวกะ ผู้ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้าบรรทมเป็นสุขอยู่หรือ พระพุทธเจ้าข้า?
พ. อย่างนั้น เจ้าชาย ตถาคตนอนเป็นสุข บรรดาคนที่นอนเป็นสุขในโลก ตถาคตเป็นคนหนึ่ง
หัตถกะ. พระพุทธเจ้าข้า ราตรีฤดูเหมันต์ (นี่ก็) หนาว หน้าอันตรัฏฐกะ (นี่ก็) เป็นคราวหิมะตก พื้นดินก็เป็นรอยโคขรุขระ ลาดใบไม้ก็บาง (ร่ม) ใบต้นไม้ก็โปร่ง ผ้ากาสายะก็เย็น ทั้งลมเวรัมพวาตอันเย็นก็พัดมา กระนี้แล้วพระผู้มีพระภาคเจ้ายังรับสั่งว่า อย่างนั้น เจ้าชาย ตถาคตนอนเป็นสุข บรรดาคนที่นอนเป็นสุขในโลก ตถาคตเป็นคนหนึ่ง.
พ. เจ้าชาย ถ้ากระนั้น ตถาคตจักย้อนถามท่านในข้อนี้ พอพระทัยอย่างใด พึงทรงตอบอย่างนั้น ท่านจะทรงสำคัญว่ากระไร? เจ้าชายมีเรือน
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 143
ยอดอันฉาบปูนทั้งภายในทั้งภายนอกจนลมลอดไม่ได้ มีประตูอันลงกลอนสนิท มีหน้าต่างปิดได้ ของคฤหบดีก็ดี ของบุตรคฤหบดีก็ดี ในเรือนยอดนั้น มีเตียงอันลาดด้วยผ้าโคณกะ ลาดด้วยผ้าปฏิกะ ลาดด้วยผ้าปฏลิกะ มีฟูกอันโอ่โถงหุ้มด้วยหนังกทลิมฤค ประกอบด้วยผ้าคาดเบื้องบน มีหมอนสีแดงสองข้าง อนึ่ง ในนั้นประทีปน้ำมันส่องสว่าง มีภริยา ๔ นาง เฝ้าปรนนิบัติอยู่ด้วยอาการเป็นที่พึงพอใจ ท่านทรงสำคัญข้อนี้ว่ากระไร เจ้าชาย เขานอนเป็นสุขหรือไม่ หรือว่าท่านทรงเห็นอย่างไรในข้อนี้.
หัตถกะ. เขาคงนอนเป็นสุข พระพุทธเจ้าข้า บรรดาคนที่นอนเป็นสุขในโลก เขาก็เป็นคนหนึ่ง.
พ. ท่านจะทรงสำคัญข้อนี้ว่ากระไร? เจ้าชาย ความเร่าร้อนทางกายก็ดี ทางใจก็ดี ที่เกิดเพราะราคะ ... โทสะ ... โมหะ ซึ่งเป็นเหตุจะให้เขาเร่าร้อน นอนเป็นทุกข์ จะพึงเกิดขึ้นแก่คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้นบ้างหรือไม่หนอ.
หัตถกะ. เกิด พระพุทธเจ้าข้า.
พ. คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้นเร่าร้อน ด้วยความเร่าร้อนที่เกิดเพราะราคะ ... โทสะ ... โมหะใด จึงนอนเป็นทุกข์ ราคะ ... โทสะ ... โมหะนั้น ตถาคตละเสียแล้ว มีมูลอันขาดแล้ว ทำให้เหมือนตอตาลแล้ว ทำให้ไม่มีในภายหลังแล้ว มีอันไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา เพราะเหตุนั้น ตถาคตจึงนอนเป็นสุข.
นิคมคาถา
พราหมณ์ผู้ดับ (เครื่องร้อน) สนิทแล้ว นอนเป็นสุขในกาลทั้งปวงแล ผู้ใด
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 144
ไม่ติดในกามทั้งหลาย ผู้นั้นเป็นคนเย็น หาอุปธิมิได้ ตัดเครื่องข้องทั้งปวง กำจัดความกระวนกระวายในหทัย เข้าไปสงบแล้ว ถึงความสงบใจ นอนเป็นสุข.
จบหัตถกสูตรที่ ๕
อรรถกถาหัตถกสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในหัตถกสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-
หัตถกราชบุตร
บทว่า อาฬวิยํ แปลว่า ในแคว้นอาฬวี. บทว่า โคมคฺเค แปลว่า ทางไปของฝูงโค. บทว่า ปณฺณสนฺตเร ได้แก่ บนเครื่องลาดด้วยใบไม้ที่หล่นเอง.
บทว่า อถ (๑) ความว่า เมื่อพระตถาคตเจ้าทรงปูลาดจีวรผืนใหญ่ของพระสุคตลงบนเครื่องลาดที่กวาดเอาใบไม้ที่หล่นเองมากองไว้ ในป่าประดู่ลาย ชิดทางหลวงสายตรง ที่เป็นทางโคเดิน (แยกออกไป) อย่างนี้แล้ว ประทับนั่งขัดสมาธิ.
บทว่า หตฺถโก อาฬวโก ได้แก่ ราชบุตรชาวเมืองอาฬวี ทรงได้พระนามว่า (หัตถกะ) อย่างนั้น เพราะเสด็จจากมือ (ของอาฬวกยักษ์) ไปสู่พระหัตถ์ (ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า).
(๑) ปาฐะว่า อถาปิ ฉบับพม่าเป็น อถาติ (เป็นบทตั้ง) แปลตามฉบับพม่า.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 145
เหตุเกิดเทศนา
บทว่า เอตทโวจ ความว่า หัตถกราชบุตรได้กราบทูลคำนั้น คือ คำมีอาทิว่า กจฺจิ ภนฺเต ภควา.
ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเสด็จไปประทับนั่งยังที่นั้นเล่า (และ) เพราะเหตุไร พระราชกุมารจึงเสด็จไปในที่นั้น?
ตอบว่า อันดับแรก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นเหตุเกิดพระธรรมเทศนา ซึ่งมีเรื่องเป็นต้นเหตุให้เกิดอยู่แล้ว จึง (เสด็จไป) ประทับนั่งในที่นั้น ฝ่ายพระราชกุมารเสด็จลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ มีอุบาสก ๕๐๐ คนห้อมล้อม กำลังเสด็จดำเนินไปยังที่ที่พระพุทธเจ้า (ประทับอยู่) แยกออกจากทางใหญ่ ยึดทางโคเดิน เสด็จไปด้วยพระประสงค์ว่า เราจะเลือกเก็บดอกไม้คละกันไป เพื่อใช้ประโยชน์เป็นเครื่องบูชาพระพุทธเจ้า ดังนี้แล้ว ทอดพระเนตรเห็นพระศาสดา จึงเข้าไปเฝ้าถวายบังคมแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง พระราชกุมารนั้น เสด็จไปที่นั้น ด้วยเหตุดังพรรณนามานี้.
หัตถกกุมารทูลถามพระพุทธเจ้า
บทว่า สุขมสยิตฺถ ความว่า (หัตถกกุมาร ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า) พระผู้มีพระภาคเจ้า บรรทมเป็นสุขดีหรือ. บทว่า อนฺตรฏฺโก ความว่า ในระหว่างเดือน ๓ กับเดือน ๔ เป็นกาลเวลา (ที่หิมะตก) อยู่ ๘ วัน. อธิบายว่า กาลเวลาที่หิมะตก เรียกว่า อันตรัฏฐกะ (อยู่ในระหว่าง) เพราะในช่วงปลายเดือน ๓ มีอยู่ ๔ วัน (และ) ในช่วงต้นเดือน ๔ มีอยู่อีก ๔ วัน.
บทว่า หิมปาตสมโย แปลว่า สมัยที่หิมะตก. บทว่า ขรา ได้แก่ หยาบ หรือแข็ง. บทว่า โคกณฺฎกหตา ความว่า ตรงที่ที่โคเหยียบย่ำ ซึ่งมีฝนตกใหม่ๆ โคลนทะลักขึ้นจากช่องกีบเท้าโคไปตั้งอยู่. โคลนนั้นแห้ง
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 146
เพราะลมและแดด เป็นเหมือนฟันเลื่อยกระทบเข้าแล้วเจ็บ หัตถกกุมารหมายเอาโคลนนั้น จึงกล่าวว่า โคกัณฏกหตาภูมิ. อนึ่ง มีความหมายว่า แผ่นดินที่แยกออกเพราะช่องกีบเท้าโค.
บทว่า เวรมฺโพ วาโต วายติ ความว่า ลมย่อมพัดมาจากทิศทั้ง ๔. ก็ลมที่พัดมาจากทิศเดียว ๒ ทิศ หรือ ๓ ทิศ ไม่เรียกว่า ลมเวรัมพา.
พระศาสดาทรงดำริว่า พระราชกุมารนี้ไม่รู้จักบุคคลที่อยู่เป็นสุข ไม่รู้จักบุคคลที่อยู่เป็นทุกข์ในโลก เราจักทำให้พระราชกุมารนั้นรู้จักให้ได้ เมื่อจะทรงขยายพระธรรมเทศนาให้สูงขึ้น จึงตรัสคำนี้ว่า เตนหิ ราชกุมาร. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยถา เต ขเมยฺย ความว่า (พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามพระราชกุมารว่า) พึงชอบใจแก่พระองค์โดยประการใด. บทว่า อิธสฺส ได้แก่ พึงมีโลกนี้.
บทว่า โคณกตฺถโต ความว่า แท่น (บัลลังก์) ที่ปูลาดด้วยผ้าโกเชาว์สีดำที่มีขนยาว ๔ นิ้ว. บทว่า ปฏิกตฺถโต ความว่า ปูลาดด้วยเครื่องปูลาดสีขาวทำด้วยขนแกะ. บทว่า ปฏลิกตฺถโต ความว่า ปูลาดด้วยเครื่องปูลาดที่ทำด้วยดอกไม้และขนแกะที่หนา. บทว่า กทฺทลิมิคปวร ปจฺจตฺถรโณ ความว่า ปูลาดด้วยเครื่องปูลาดชั้นดีทำด้วยหนังกวาง. เล่ากันมาว่า เครื่องปูลาดชนิดนั้น เขาทำโดยลาดหนังกวางไว้บนผ้าขาวแล้วเย็บ. บทว่า สอุตฺตรจฺฉโท ได้แก่ (แท่น) พร้อมทั้งเครื่องมุงบังข้างบน อธิบายว่า พร้อมทั้งเพดานแดงซึ่งผูกไว้ข้างบน. บทว่า อุภโต โลหิตกูปธาโน ได้แก่ หมอนสีแดงที่วางไว้ทั้งสองด้านของแท่น.
บทว่า ปชาปติโย ได้แก่ ภริยาทั้งหลาย. บทว่า มนาเปน ปจฺจุปฏฺิตา อสฺสุ ความว่า พึงได้รับการปรนนิบัติ ด้วยวิธีปรนนิบัติ
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 147
ที่น่าชอบใจ. บทว่า กายิกา วา ความว่า ความเร่าร้อนที่ยังกายอันประกอบด้วยทวาร ๕ ให้กำเริบ. บทว่า เจตสิกา วา ได้แก่ ทำมโนทวารให้กำเริบ.
บทว่า โส ราโค ตถาคตสฺส ปหีโน ความว่า ราคะเห็นปานนั้น พระตถาคตละได้แล้ว. ส่วนราคะที่เขามีอยู่ ไม่ชื่อว่าพระตถาคตละ. แม้ในโทสะและโมหะ ก็มีนัย (ความหมายอย่างเดียวกัน) นี้แล.
บทว่า พฺราหฺมโณ คือ บุคคลผู้ลอยบาปได้แล้ว ได้แก่ พราหมณ์ คือ พระขีณาสพ ชื่อว่าดับสนิท เพราะดับกิเลสได้สนิท. บทว่า น ลิปฺปติ กาเมสุ ความว่า ไม่ติดอยู่ในวัตถุกามและกิเลสกามด้วยเครื่องฉาบทาคือตัณหาและทิฏฐิ. บทว่า สีติภูโต ความว่า ชื่อว่าเย็น เพราะไม่มีกิเลสเป็นเหตุให้เร่าร้อนในภายใน. บทว่า นิรูปธิ ความว่า ชื่อว่าไม่มีอุปธิ เพราะไม่มีอุปธิคือกิเลส.
บทว่า สพฺพา อาสตฺติโย เฉตฺวา ความว่า กิเลสทั้งหลายมีตัณหาเป็นต้น เรียกว่าเครื่องข้อง. (พราหมณ์) ตัดกิเลสเครื่องข้องเหล่านั้นทั้งหมด ซึ่งแผ่ซ่านไปในอารมณ์ทั้งหลายมีรูปเป็นต้น. บทว่า วิเนยฺย หทเย ทรํ ความว่า กำจัดคือระงับความกระวนกระวายที่อยู่ในใจ. บทว่า สนฺตึ ปปฺปุยฺย เจตโส ความว่า ถึงการดับกิเลสแห่งจิต. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า เจตโส นั่นเป็นกรณะ (ตติยาวิภัติ). อธิบายว่า บรรลุนิพพานด้วยจิต เหมือนในประโยคเป็นต้นว่า สพฺพํ เจตสา สมนฺนาหริตฺวา แปลว่า ประมวลทุกสิ่งมาด้วยใจ.
จบอรรถกถาหัตถกสูตรที่ ๕