พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. ทูตสูตร ว่าด้วยเทวทูต ๓ จําพวก

  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 148

๖. ทูตสูตร

ว่าด้วยเทวทูต ๓ จำพวก

[๔๗๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เทวทูต ๓ นี้ ๓ คืออะไรบ้าง คือ บุคคลลางคนในโลกนี้ ประพฤติทุจริตด้วยกาย ... ด้วยวาจา ... ด้วยใจ บุคคลนั้นครั้นประพฤติทุจริตด้วยกาย ... ด้วยวาจา ... ด้วยใจแล้ว เพราะกายแตกตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก นิรยบาลทั้งหลายต่างก็จับบุคคลนั้นที่แขนไปแสดงแก่พญายมว่า ข้าแต่เทวะ บุรุษผู้นี้เป็นคนไม่เกื้อกูลมารดา ... บิดา ... สมณะ ... พราหมณ์ ไม่อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในสกุล ขอพระองค์จงลงทัณฑ์แก่บุรุษนี้เถิด.

พญายมซักไซ้ไล่เลียงเทวทูตที่หนึ่งกะบุรุษนั้นว่า ดูก่อนพ่อ เจ้าไม่ได้เห็นเทวทูตที่หนึ่งซึ่งปรากฏอยู่ในหมู่มนุษย์หรือ.

บุรุษนั้นตอบว่า ไม่ได้เห็น เจ้าข้า.

พญายม. เจ้าไม่ได้เห็นหรือ ในหมู่มนุษย์ หญิงหรือชายที่แก่แล้ว มีอายุ ๘๐ ปีบ้าง ๙๐ ปีบ้าง ๑๐๐ ปีบ้าง เป็นคนชราหลังโกง ค่อม กรานไม้เท้าเดินงกเงิ่น กระสับกระส่าย สิ้นความเป็นหนุ่มสาวแล้ว ฟันหัก ผมหงอก เกรียน หัวล้าน ตัวเป็นเกลียวตกกระ.

บุรุษนั้น. ได้เห็น เจ้าข้า.

พญายม. เจ้าน่ะ เป็นผู้ใหญ่รู้เดียงสาแล้ว ไม่ได้คำนึงบ้างหรือว่า ถึงตัวเราก็มีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงความแก่ไปได้ มาเราจะทำความดีด้วยกายวาจาใจเถิด.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 149

บุรุษนั้น. เปล่าเลย เจ้าข้า มัวประมาทเสีย.

พญายม. เจ้าไม่ได้ทำความดีด้วยกายวาจาใจ เพราะมีความประมาท แน่ละ เขาจะต้องทำกะเจ้าตามฐานที่ประมาท ก็แต่ว่า บาปกรรมนั่นน่ะ มารดา ... บิดาก็มิได้ทำให้เลย พี่น้องชาย ... พี่น้องหญิง ก็มิได้ทำให้ มิตร อำมาตย์ ... ญาติสายโลหิตก็มิได้ทำให้ เทวดาก็มิได้ทำให้ สมณพราหมณ์ก็มิได้ทำให้ เจ้าทำเองแท้ๆ เจ้าก็จะต้องรับผลของบาปกรรมนั้นเอง

พญายม ครั้นซักไซ้ไล่เลียงเทวทูตหนึ่งแล้ว จึงซักไซ้ไล่เลียงเทวทูตที่สองว่า เจ้าไม่ได้เห็นเทวทูตที่สองอันปรากฏอยู่ในหมู่มนุษย์หรือ.

บุรุษนั้นตอบว่า ไม่ได้เห็น เจ้าข้า.

พญายม. เจ้าไม่ได้เห็นหรือ ในหมู่มนุษย์ หญิงหรือชายที่ป่วย เจ็บไข้หนัก นอนเกลือกมูตรและกรีสของตน มีคนพยุงให้ลุก ... ให้นอน.

บุรุษนั้น. ได้เห็น เจ้าข้า.

พญายม. เจ้าเป็นผู้ใหญ่รู้เดียงสาแล้ว ไม่ได้คำนึงบ้างหรือว่า ถึงตัวเราก็มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงความเจ็บไข้ไปได้ มาเราจะทำความดีด้วยกายวาจาใจเถิด.

บุรุษนั้น. เปล่าเลย เจ้าข้า มัวประมาทเสีย.

พญายม. เจ้าไม่ได้ทำความดีด้วยกายวาจาใจ เพราะมีความประมาท แน่ละ เขาจะต้องทำกะเจ้าตามฐานที่ประมาท ก็แต่ว่า บาปกรรมนั้นนั่น มารดา ... บิดาก็มิได้ทำให้เลย ฯลฯ เจ้าทำเองแท้ๆ เจ้าก็จะต้องรับผลของบาปกรรมนั้นเอง.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 150

พญายม ครั้นซักไซ้ไล่เลียงเทวทูตที่สองแล้ว จึงซักไซ้ไล่เลียงเทวทูตที่สามว่า เจ้าไม่ได้เห็นเทวทูตที่สามอันปรากฏอยู่ในหมู่มนุษย์หรือ.

บุรุษนั้นตอบว่า ไม่ได้เห็น เจ้าข้า.

พญายม. เจ้าไม่ได้เห็นหรือ ในหมู่มนุษย์ หญิงหรือชายที่ตายแล้วหนึ่งวันบ้าง ... สองวันบ้าง ... สามวันบ้าง ขึ้นพอง เขียว น้ำเหลืองไหล.

บุรุษนั้น. ได้เห็น เจ้าข้า.

พญายม. เจ้าเป็นผู้ใหญ่รู้เดียงสาแล้ว ไม่ได้คำนึงบ้างหรือว่า ถึงตัวเราก็มีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงความตายไปได้ มาเราจะทำความดีด้วยกายวาจาใจเถิด.

บุรุษนั้น. เปล่าเลย เจ้าข้า มัวประมาทเสีย.

พญายม. เจ้าไม่ได้ทำความดีด้วยกายวาจาใจ เพราะมีความประมาท แน่ละ เขาจะต้องทำกะเจ้าตามฐานที่ประมาท ก็แต่ว่า บาปกรรมนั้นนั่น มารดา ... บิดาก็มิได้ทำให้เลย ฯลฯ เจ้าทำเองแท้ๆ เจ้าก็จะต้องรับผลของบาปกรรมนั้นเอง.

พญายม ครั้นซักไซ้ไล่เลียงเทวทูตที่สามกะบุรุษนั้นแล้วก็นิ่งอยู่.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกนิรยบาลทำกรรมกรณ์ ชื่อเบญจพิธพันธนะกะบุรุษนั้น คือ เอาตาปูเหล็กแดงตรึงมือ ๒ ข้าง เท้า ๒ ข้าง และกลางอก บุรุษนั้นเสวยทุกขเวทนาอันกล้า หนัก เผ็ดร้อนอยู่ ณ ที่นั้น และไม่ตายตลอดเวลาที่บาปกรรมยังไม่สิ้น.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 151

พวกนิรยบาล จับบุรุษนั้นนอนลง แล้วถากด้วยขวานผึ่ง ... ตั้งเอาเท้าขึ้นศีรษะลงแล้วถากด้วยพร้า ... จับเอาเทียมรถให้แล่นไปแล่นมาบนพื้นอันร้อนลุกเป็นเปลวช่วงโชติ ... บังคับให้ขึ้นลงภูเขาเถ้าถ่านอันร้อนลุกโชน ... จับเอาเท้าขึ้นศีรษะลง ทุ่มลงไปในโลหกุมภีอันร้อนแดงลุกเป็นแสง บุรุษนั้นถูกต้มอยู่ในนั้นจนตัวพอง เมื่อถูกต้มจนตัวพองอยู่ในนั้น ลางทีก็โผล่ขึ้นมา ลางทีก็จมลงไป ลางทีก็ลอยขวางไป บุรุษนั้นเสวยทุกขเวทนาอันกล้า หนัก เผ็ดร้อนอยู่ ณ ที่นั้น และไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมยังไม่สิ้น.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกนิรยบาลจับบุรุษนั้นไปลงมหานรก ก็มหานรกนั้น

มีสี่มุม สี่ประตู แบ่งออกเป็นส่วนๆ มีกำแพงเหล็กล้อมรอบ ครอบด้วย (ฝา) เหล็ก พื้นก็ล้วนไปด้วยเหล็กร้อนลุกโชน แผ่ (ความร้อน) ไปถึง ๑๐๐ โยชน์โดยรอบ ตั้งอยู่ทุกเมื่อ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีแล้ว ความปริวิตกนี้ได้มีแก่พญายมว่า ได้ยินว่า ชนเหล่าใดทำกรรมทั้งหลายที่เป็นบาปในโลก ชนเหล่านั้นย่อมถูกทำกรรมกรณ์ต่างๆ เช่นอย่างนี้ เจ้าประคุณ ขอให้ข้าฯ ได้เป็นมนุษย์เถิด กับขอพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพึงบังเกิดในโลก ขอให้ข้าฯ ได้เข้าใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ขอพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นพึงทรงแสดงธรรม และขอให้ข้าฯ พึงรู้ทั่วถึงธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเถิด

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 152

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราได้ฟังเรื่องนั้นต่อผู้อื่น เป็นสมณะหรือพราหมณ์ก็ตามจึงมากล่าวอย่างนี้หามิได้ ที่จริงเรากล่าวเรื่องที่เราได้รู้เอง ได้เห็นเอง แจ่มแจ้งเองทีเดียว.

คนเหล่าใดถูกเทวทูตเตือนแล้วยังประมาทอยู่ คนเหล่านั้นย่อมเข้าถึงกายอันเลว โศกเศร้าสิ้นกาลนาน

ฝ่ายคนเหล่าใด เป็นสัตบุรุษผู้สงบในโลกนี้ ถูกเทวทูตเตือนแล้วไม่ประมาทในธรรมของพระอริยเจ้าเสมอไป เห็นภัยในเพราะอุปาทานอันเป็นแดนเกิดแห่งชาติและมรณะ เลิกยึดถือ หลุดพ้นไปเพราะสิ้นชาติและมรณะ คนเหล่านั้น ถึงความเกษมเป็นสุข ดับทุกข์ได้ในชาติปัจจุบัน พ้นเวรภัยทั้งปวง ล่วงทุกข์ทั้งหมด.

จบทูตสูตรที่ ๖

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 153

อรรถกถาทูตสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในทูตสูตรที่ ๖ ดังต่อไปนี้ :-

เทวทูต

บทว่า เทวทูตานิ ได้แก่ เทวทูตทั้งหลาย. ก็ในบทว่า เทวทูตานิ นี้ มีความหมายของคำดังต่อไปนี้ มัจจุชื่อว่า เทวะ ทูตของเทวะนั้น ชื่อว่า เทวทูต อธิบายว่า คนแก่ คนเจ็บ และคนตาย เรียกว่า เทวทูต เพราะเป็นเหมือนเตือนอยู่ว่า บัดนี้ ท่านกำลังเข้าไปใกล้ความตาย โดยมุ่งหมายจะให้เกิดความสังเวช.

อนึ่ง ชื่อว่าเทวทูต เพราะหมายความว่า เป็นทูตเหมือนเทวดาบ้าง. อธิบายว่า เมื่อเทวดาตกแต่งประดับประดา แล้วยืนพูดอยู่ในอากาศว่า ท่านจักตายในวันโน้น คำพูดของเทวดานั้นคนต้องเชื่อ ฉันใด แม้คนแก่ คนเจ็บ และคนตาย ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อปรากฏก็เป็นเหมือนเตือนอยู่ว่า แม้ท่านก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา และคำพูดนั้นของคนแก่ คนเจ็บ และคนตายเหล่านั้น ก็เป็นเหมือนคำพยากรณ์ของเทวดา เพราะไม่เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นเลย เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าเทวทูต เพราะเป็นทูตเหมือนเทวดา.

อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าเป็นเทวทูต เพราะเป็นทูตของวิสุทธิเทพก็ได้ อธิบายว่า พระโพธิสัตว์ทุกองค์ เห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวชเท่านั้นก็ถึงความสังเวชแล้วออกบวช. คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช ชื่อว่าเทวทูต เพราะเป็นทูตของวิสุทธิเทพทั้งหลายบ้าง ดังพรรณนามานี้.

แต่ในสูตรนี้ ท่านกล่าวว่า เทวทูตานิ เพราะลิงควิปัลลาส.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 154

พญายมถามเทวทูต

ถามว่า เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเริ่มคำว่า กาเยน ทุจฺจริตํ เป็นต้นไว้?

ตอบว่า เพื่อทรงแสดงถึงกรรมของผู้เข้าถึงฐานะที่เป็นเหตุ (ให้พญายม) ซักถามถึงฐานะของเทวทูตทั้งหลาย (๑).

จริงอยู่ สัตว์นี้ย่อมบังเกิดในนรกด้วยกรรมนี้. พญายมราชย่อมซักถามเทวทูตทั้งหลาย. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กาเยน ทุจฺจริตํ จรติ ความว่า ประพฤติทุจริต ๓ อย่างทางกายทวาร. บทว่า วาจาย ความว่า ประพฤติทุจริต ๔ อย่างทางวจีทวาร. บทว่า มนสา ความว่า ประพฤติทุจริต ๓ อย่างทางมโนทวาร.

นายนิรยบาลมีจริงหรือไม่?

ในบทว่า ตเมนํ ภิกฺขเว นิรยปาลา นี้ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ พระเถระบางพวกกล่าวว่า นายนิรยบาลไม่มีหรอก กรรมต่างหากเป็นเหมือนหุ่นยนต์สร้างเหตุการณ์ขึ้น. คำนั้นถูกคัดค้านไว้ในคัมภีร์อภิธรรมแล้วแล โดยนัยเป็นต้นว่า ในนรกมีนายนิรยบาล และว่า ใช่แล้วผู้สร้างเหตุการณ์ก็มีอยู่ เปรียบเหมือนในมนุษยโลก ผู้สร้างเหตุการณ์คือกรรมมีอยู่ฉันใด ในนรก นายนิรยบาลก็มีอยู่ฉันนั้นเหมือนกัน.

พญายมคือเวมานิกเปรต

บทว่า ยมสฺส รญฺโ ความว่า พญาเวมานิกเปรต ชื่อว่าพญายม เวลาหนึ่งเสวยสมบัติ มีต้นกัลปพฤกษ์ทิพย์ อุทยานทิพย์ และเหล่านางฟ้อนทิพย์ เป็นต้น ในวิมานทิพย์ เวลาหนึ่งเสวยผลของกรรม. พญายมผู้ตั้ง


(๑) ปาฐะว่า เทวตานุยฺญฺชนฏ านุปกฺกมทสฺสนตฺถํ ฉบับพม่าเป็น เทวทูตานุยุญฺชนฏฺ านุปกฺกม กมฺมทสฺสนฺตํว แปลตามฉบับพม่า.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 155

อยู่ในธรรมมีอยู่. และพญายมอย่างนั้น ก็มิได้มีอยู่แต่พระองค์เดียว แต่ว่ามีอยู่ถึง ๔ พระองค์ ที่ ๔ ประตู.

อธิบายศัพท์ อมัตเตยยะ อพรหมัญญะ

บทว่า อมตฺเตยฺโย ความว่า บุคคลผู้เกื้อกูลแก่มารดา ชื่อว่ามัตเตยยะ อธิบายว่า เป็นผู้ปฏิบัติชอบในมารดา ผู้ไม่เกื้อกูลแก่มารดา ชื่อว่าอมัตเตยยะ อธิบายว่า ผู้ปฏิบัติผิดในมารดา. แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้แล.

ในบทว่า อพฺรหฺมญฺโ นี้ มีอธิบายว่า พระขีณาสพชื่อว่าเป็นพราหมณ์ บุคคลผู้ปฏิบัติผิดในพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าอพรหมัญญะ.

บทว่า สมนุยุญฺชติ ความว่า พญายมให้นำระเบียบในการซักถามมาซักถาม. แต่เมื่อให้ยืนยันลัทธิ ชื่อว่าซักไซ้. เมื่อถามถึงเหตุ ชื่อว่าซักฟอก. ด้วยบทว่า นาทฺทสํ (ข้าพเจ้ามิได้เห็น) สัตว์นรกกล่าวอย่างนั้น หมายถึงว่าไม่มีเทวทูตอะไรๆ ที่ถูกส่งไปในสำนักของตน.

พญายมเตือน

ครั้งนั้น พญายมทราบว่า ผู้นี้ยังกำหนดความหมายของคำพูดไม่ได้ ต้องการจะให้เขากำหนด จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า อมฺโภ ดังนี้กะเขา. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ชิณฺณํ ได้แก่ ทรุดโทรมเพราะชรา. บทว่า โคปานสิวงฺกํ ได้แก่ โกง เหมือนกลอนเรือน. บทว่า โภคฺคํ ได้แก่ งุ้มลง. พญายมแสดงถึงภาวะที่บุคคลนั้น (มีหลัง) โกงนั่นแล ด้วยบทว่า โภคฺคํ แม้นี้.

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 156

บทว่า ทณฺฑปรายนํ คือ มีไม้เท้าเป็นที่พึ่ง ได้แก่ มีไม้เท้าเป็นเพื่อน. บทว่า ปเวธมานํ แปลว่า สั่นอยู่. บทว่า อาตุรํ ได้แก่ อาดูรเพราะชรา. บทว่า ขณฺฑทนฺตํ ได้แก่ ชื่อว่ามีฟันหัก เพราะอานุภาพของชรา. บทว่า ปลิตเกสํ แปลว่า มีผมขาว (หงอก). บทว่า วิลูนํ ได้แก่ ศีรษะล้าน เหมือนถูกใครถอนเอาผมไป. บทว่า ขลิตสิรํ ได้แก่ ศีรษะล้านมาก. บทว่า วลิตํ ได้แก่ เกิดริ้วรอย. บทว่า ติลกาหตคตฺตํ ได้แก่ มีตัวลายพร้อยไปด้วยจุดขาวจุดดำ. บทว่า ชราธมฺโม ความว่า มีชราเป็นสภาพ คือ ไม่พ้นจากชราไปได้ ธรรมดาว่า ชราย่อมเป็นไปในภายในตัวเรามีเอง แม้ในสองบทต่อมาว่า พฺยาธิธมฺโม มรณธมฺโม ก็มีนัยความหมายอย่างเดียวกันนี้แล.

เทวทูตที่ ๑

ในบทว่า ปมํ เทวทูตํ สมนุยุญฺชิตฺวา นี้ พึงทราบอธิบายดังต่อไปนี้ ธรรมดาว่า สัตว์ผู้ทรุดโทรมเพราะชรา ย่อมกล่าวโดยใจความอย่างนี้ว่า ดูเถิดท่านผู้เจริญทั้งหลาย แม้ข้าพเจ้าก็ได้เป็นหนุ่มสมบูรณ์ด้วยพลังขา พลังแขน และความว่องไวเหมือนท่านมาแล้ว (แต่ว่า) ความสมบูรณ์ด้วยพลังและความว่องไวเหล่านั้นของข้าพเจ้านั้น หายไปหมดแล้ว แม้มือและเท้าของข้าพเจ้าก็ไม่ทำหน้าที่ของมือและเท้า ข้าพเจ้ากลายมาเป็นคนอย่างนี้ ก็เพราะไม่พ้นจากชรา ก็แลไม่ใช่แต่เฉพาะข้าพเจ้าเท่านั้น ถึงพวกท่านก็ไม่พ้นจากชราไปได้เหมือนกัน เหมือนอย่างว่า ชรามาแก่ข้าพเจ้าฉันใด ชราก็จักมา

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 157

แม้แก่พวกท่านฉันนั้น เพราะชรานั้นมาอย่างที่กล่าวมานี้ในวันข้างหน้านั่นแล ขอให้ท่านทั้งหลายจงทำแต่ความดีเถิด. ด้วยเหตุนั้น สัตว์ผู้ทรุดโทรมเพราะชรานั้น จึงชื่อว่า เป็นเทวทูต.

เทวทูตที่ ๒

บทว่า อาพาธิกํ แปลว่า คนเจ็บ. บทว่า ทุกฺขิตํ แปลว่า มีทุกข์. บทว่า พาฬฺหคิลานํ แปลว่า เป็นไข้หนักเหลือประมาณ. แม้ในที่นี้ ธรรมดาว่า สัตว์ผู้เจ็บป่วยย่อมกล่าวโดยใจความอย่างนี้ว่า ดูเถิดท่านผู้เจริญทั้งหลาย แม้ข้าพเจ้าก็เป็นคนไม่มีโรคเหมือนพวกท่านมาแล้ว แต่ว่าบัดนี้ ข้าพเจ้านั้นถูกความเจ็บป่วยครอบงำ จมอยู่กับปัสสาวะอุจจาระของตน แม้แต่จะ (ยันกาย) ลุกขึ้นก็ยังไม่สามารถ มือเท้าของข้าพเจ้าแม้จะมีอยู่ ก็ทำหน้าที่ของมือเท้าไม่ได้ ข้าพเจ้ากลายเป็นคนเช่นนี้ ก็เพราะไม่พ้นไปจากพยาธิ (ความเจ็บไข้) ก็แลไม่ใช่แต่เฉพาะข้าพเจ้าเท่านั้น แม้พวกท่านก็ไม่พ้นจากพยาธิเหมือนกัน เหมือนอย่างว่า พยาธิมาแก่ข้าพเจ้าฉันใด พยาธิก็จักมาแม้แก่พวกท่านฉันนั้น เพราะพยาธินั้นมาอย่างที่กล่าวมานี้ในวันข้างหน้าแน่ ขอให้ท่านทั้งหลายจงทำแต่ความดีเถิด. เพราะเหตุนั้น สัตว์ผู้เจ็บป่วยนั้น จึงชื่อว่า เป็นเทวทูต.

เทวทูตที่ ๓

ในบทว่า เอกาหมตํ เป็นต้น พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ สัตว์นั้นตายได้วันเดียว เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่าเอกาหมตะ. (ท่านไม่เห็น) สัตว์ตายในวันเดียวนั้น (หรือ). แม้ในสองบทต่อมา (คือ ทฺวีหมตํ วา ตีหมตํ วา) ก็มีนัยนี้แล. ซากศพ ชื่อว่า อุทธุมาตกะ เพราะขึ้นพองโดยภาวะที่อืด สูงขึ้นตามลำดับนับตั้งแต่สิ้นชีวิตไป เหมือนสูบที่เต็มด้วยลมฉะนั้น.

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 158

ซากศพที่มีสี (เขียว) ขึ้นปริไปทั่ว เรียกว่า วินีละ วินีละนั้นเอง ชื่อว่าวินีลกะ. (ท่านไม่เห็น) ซากศพที่เขียวคล้ำนั้น (หรือ). อีกอย่างหนึ่ง ซากศพที่เขียวคล้ำนั้น นับว่าน่ารังเกียจเพราะเป็นของน่าเกลียด. บทว่า วิปุพฺพกํ ได้แก่ ซากศพที่มีน้ำเหลืองไหลเยิ้ม. อธิบายว่า ซากศพที่เปรอะเปื้อนไปด้วยน้ำเหลืองที่ไหลออกจากที่ที่แตกปริ.

ในบทว่า ตติยํ เทวทูตํ นี้ มีอธิบายว่า ธรรมดาว่า สัตว์ตายย่อมบอกเป็นความหมายอย่างนี้ว่า ดูเถิด ท่านผู้เจริญทั้งหลาย (จงดู) ข้าพเจ้าถูกทอดทิ้งไว้ในป่าช้าผีดิบ ถึงความเป็นสภาพที่พองอืดเป็นต้น ก็ข้าพเจ้ากลายเป็นเช่นนี้ ก็เพราะไม่พ้นจากความตาย ก็แลไม่ใช่แต่เฉพาะข้าพเจ้าเท่านั้น แม้พวกท่านก็ไม่พ้นจากความตายเหมือนกัน เหมือนอย่างว่า ความตายมาแก่ข้าพเจ้าฉันใด ก็จักมาแก่พวกท่านฉันนั้น เพราะความตายนั้นจะมาอย่างที่กล่าวมานี้ในวันข้างหน้าแน่ ขอให้ท่านทั้งหลายจงทำแต่ความดีเถิด. ด้วยเหตุนั้น สัตว์ตายนั้นจึงจัด เป็นเทวทูต.

ใครถูกถามถึงเทวทูต - ใครไม่ถูกถาม

ถามว่า ก็การถามถึงเทวทูตนี้ ใครได้ ใครไม่ได้ (ใครถูกถาม ใครไม่ถูกถาม). ตอบว่า บุคคลใดทำบาปไว้มาก บุคคลนั้น (ตายแล้ว) ไปเกิดในนรกทันที. แต่บุคคลใดทำบาปไว้นิดหน่อย บุคคลนั้นย่อมได้ (ถูกถาม).

อุปมาเหมือนราชบุรุษจับโจรได้พร้อมของกลาง ย่อมทำโทษที่ควรทำทันที ไม่ต้องวินิจฉัยละ แต่ผู้ที่เขาสงสัย จับได้ เขาจะนำไปยังที่สำหรับวินิจฉัย. บุคคลนั้นย่อมได้รับการวินิจฉัย ฉันใด ข้ออุปไมยนี้ก็ฉันนั้น. เพราะผู้ที่มีบาปกรรมนิดหน่อย ย่อมระลึกได้ตามธรรมดาของตนเองบ้าง ถูกเตือนให้ระลึกจึงระลึกได้บ้าง.

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 159

ตัวอย่างผู้ที่ระลึกได้ตามธรรมดาของตน

ในการระลึกได้เองและถูกเตือนให้ระลึกนั้น มีตัวอย่างดังต่อไปนี้

ทมิฬชื่อทีฆชยันตะระลึกได้เองตามธรรมดาของตน. เล่ากันว่า ทมิฬนั้นเอาผ้าแดงบูชาอากาสเจดีย์ (เจดีย์ระฟ้า) ที่สุมนคิริมหาวิหาร ต่อมา (ตายไป) บังเกิดในที่ใกล้อุสสุทนรก ได้ฟังเสียงเปลวไฟ (๑) จึงหวนระลึกถึงผ้า (แดง) ที่ตนเอาบูชา (อากาสเจดีย์) เขาจึง (จุติ) ไปบังเกิดในสวรรค์.

มีอีกคนหนึ่ง ถวายผ้าสาฎกเนื้อเกลี้ยงแก่ภิกษุหนุ่มผู้เป็นบุตร เวลาที่ทอดผ้าไว้แทบเท้า (พระลูกชาย) ก็ถือเอานิมิตในเสียงว่า แผ่นผ้าๆ ได้. ต่อมาบุรุษนั้น (ก็ตายไป) บังเกิดในที่ใกล้อุสสุทนรก หวนระลึกถึงผ้าสาฎกนั้นได้ เพราะ (ได้ยิน) เสียงเปลวไฟ จึง (จุติ) ไปบังเกิดในสวรรค์.

ชนทั้งหลายผู้เกิดในนรก ระลึกถึงกุศลกรรมได้ตามธรรมดาของตนแล้ว (จุติไป) บังเกิดในสวรรค์ ดังพรรณนามานี้ก่อน.

ส่วนสัตว์ผู้ระลึกไม่ได้ตามธรรมดาของตน พญายมย่อมถามถึงเทวทูต ๓. บรรดาสัตว์เหล่านั้น ลางตนระลึกได้เพียงเทวทูตที่ ๑ เท่านั้น (แต่) ลางคนระลึกได้ถึงเทวทูตที่ ๒ และที่ ๓. สัตว์ใดระลึกไม่ได้ด้วยเทวทูตทั้ง ๓ พญายมจะเตือนสัตว์นั้นให้ระลึกได้เอง.

ตัวอย่างผู้ถูกเตือน

เล่ากันมาว่า อำมาตย์คนหนึ่งบูชาพระมหาเจดีย์ด้วยดอกมะลิ ๑ หม้อ แล้วได้แบ่งส่วนบุญให้แก่พญายม. นายนิรยบาลทั้งหลายได้นำเขาผู้บังเกิดในนรกด้วยอกุศลกรรมไปยังสำนักพญายม. เมื่อเขาระลึกถึงกุศลไม่ได้ด้วยเทวทูตทั้ง ๓ พญายมจึงตรวจดูเอง พลางเตือนเขาให้ระลึกว่า ท่านได้บูชาพระมหาเจดีย์ด้วยดอกมะลิ ๑ หม้อ แล้วได้แบ่งส่วนบุญให้เรามิใช่หรือ?


(๑) ปาฐะว่า ชาลสทฺทํ ฉบับพม่าเป็น อคฺคิชาลสทฺทํ แปลตามฉบับพม่า

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 160

เวลานั้นเขาก็ระลึกได้ (ขึ้นมาทันทีจึงจุติ) ไปบังเกิดยังเทวโลก ฝ่ายพญายม แม้ตรวจดูด้วยพระองค์เองแล้ว เมื่อไม่เห็นก็จะทรงนิ่งเสีย ด้วยทรงดำริว่า สัตว์นี้จักเสวยทุกข์มหันต์.

การลงโทษในนรก

บทว่า ตตฺตํ อโยขีลํ ความว่า นายนิรยบาลทั้งหลายจับอัตภาพ (สูงใหญ่) ประมาณ ๓ คาวุต ให้นอนหงายบนพื้นโลหะที่ไฟลุกโชน แล้วเอาหลาวเหล็กขนาดเท่าต้นตาลแทงเข้าไปที่มือขวา ที่มือซ้ายเป็นต้น (ก็ทำ) เหมือนกัน. นายนิรยบาลจะจับสัตว์นรกนั้นให้นอนคว่ำหน้าบ้าง ตะแคงซ้ายบ้าง ตะแคงขวาบ้าง เหมือนให้นอนหงายแล้วลงโทษฉันนั้นเหมือนกัน.

บทว่า สํเวเสตฺวา ความว่า (นายนิรยบาล) จับอัตภาพประมาณ ๓ คาวุตให้นอนบนพื้นโลหะที่ไฟลุกโชน. บทว่า กุารีหิ ความว่า ถากด้วยผึ่งใหญ่ขนาดเท่าหลังคาเรือนด้านหนึ่ง. เลือดไหลนองเป็นแม่น้ำ. เปลวไฟลุกโชนจากพื้นโลหะไปติดที่ที่ถูกถาก. ทุกข์มหันต์เกิดขึ้น (แก่สัตว์นรก) ส่วนนายนิรยบาลทั้งหลาย เมื่อถากก็ถากให้เป็น ๘ เหลี่ยมบ้าง ๖ เหลี่ยมบ้าง เหมือนตีเส้นบรรทัดถากไม้. บทว่า วาสีหิ คือ ด้วยมีดทั้งหลาย มีขนาดเท่ากระด้งใหญ่.

บทว่า รเถ โยเชตฺวา ความว่า (นายนิรยบาลทั้งหลาย) เทียมสัตว์นรกนั้นให้ลากรถพร้อมกับแอก เชือก แปรก ล้อรถ ทูบ และปฏัก ซึ่งมีไฟลุกโพลงรอบด้าน. บทว่า มหนฺตํ คือ มีประมาณเท่าเรือนยอดขนาดใหญ่. บทว่า อาโรเปนฺติ ความว่า ตีด้วยค้อนเหล็กที่ไฟลุกโชติช่วง แล้วบังคับให้ขึ้น (ภูเขาไฟ). บทว่า สกึปิ อุทฺธํ ความว่า สัตว์นรกนั้น (ถูกไฟเผาไหม้) พล่านขึ้นข้างบน จมลงข้างล่าง และลอยขวาง คล้ายกับข้าวสารที่ใส่ลงไปใน

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 161

หม้อที่เดือดพล่านฉะนั้น. บทว่า มหานิรเย คือ ในอเวจีมหานรก.

บทว่า ภาคโส มิโต คือ (มหานรก) แบ่งไว้เป็นส่วนๆ. บทว่า ปริยนฺโต คือ ถูกล้อมไว้. บทว่า อยสา คือ ถูกปิดข้างบนด้วยแผ่นเหล็ก. บทว่า สมนฺตา โยชนสตํ ผริตฺวา ติฏฺติ ความว่า เปลวไฟพวยพุ่งไปอยู่อย่างนั้น. เมื่อสัตว์นรกนั้นยืนดูอยู่ในที่ ๑๐๐ โยชน์ โดยรอบ นัยน์ตาก็จะถลนออกมาเหมือนก้อนเนื้อ ๒ ก้อนฉะนั้น.

บทว่า หีนกายูปคา ความว่า เข้าถึงกำเนิดที่ต่ำ. บทว่า อุปาทาเน ได้แก่ ในป่าชัฎ คือ ตัณหาและทิฏฐิ. บทว่า ชาติมรณสมฺภเว ได้แก่ เป็นเหตุแห่งชาติและมรณะ. บทว่า อนุปาทา ได้แก่ เพราะไม่ยึดมั่นด้วยอุปาทาน ๔. บทว่า ชาติมรณสงฺขเย ความว่า หลุดพ้นในเพราะนิพพาน อันเป็นแดนสิ้นไปของชาติและมรณะ.

บทว่า ทิฎฺธมฺมาภินิพฺพุตา ความว่า ดับสนิทแล้ว ในเพราะดับกิเลสทั้งหมดในทิฏฐธรรม คือ ในอัตภาพนี้นั่นแล. บทว่า สพฺพํ ทุกฺขํ อุปจฺจคุํ ความว่า ล่วงเลยวัฏทุกข์ทั้งหมด.

จบอรรถกถาทูตสวรรค์ที่ ๖