พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. ฐานสูตร ว่าด้วยลักษณะผู้มีศรัทธา ๓ ประการ

  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 192

๒. ฐานสูตร

ว่าด้วยลักษณะผู้มีศรัทธา ๓ ประการ

[๔๘๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้มีศรัทธาเลื่อมใส พึงรู้ได้ด้วยสถาน ๓ สถาน ๓ คืออะไร คือ เป็นผู้ใคร่ในการเห็นผู้มีศีลทั้งหลาย ๑ เป็นผู้ใคร่เพื่อจะฟังธรรม ๑ มีใจปราศจากมลทินคือความตระหนี่อยู่ครองเรือน มีการบริจาคอันปล่อยแล้ว มีมืออันล้างไว้ (คอยจะหยิบของให้ทาน) ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ พอใจในการให้และการแบ่งปัน ๑ ผู้มีศรัทธาเลื่อมใส พึงรู้ได้ด้วยสถาน ๓ นี้แล

ผู้ใดใคร่ในการเห็นผู้มีศีล ปรารถนาจะฟังพระสัทธรรม กำจัดมลทินคือความตระหนี่เสียได้ ผู้นั้นชื่อว่าผู้มีศรัทธา.

จบฐานสูตรที่ ๒

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 193

อรรถกถาฐานสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในฐานสูตรที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า วิคตมลมจฺเฉเรน ความว่า ปราศจากมลทินคือความตระหนี่. บทว่า มุตฺตจาโค ความว่า มีการสละโดยไม่ข้องใจ. บทว่า ปยตปาณี ความว่า มีมืออันล้างแล้ว อธิบายว่า ผู้ไม่มีศรัทธา แม้จะล้างมือถึง ๗ ครั้ง ก็จัดว่ายังมีมือเปื้อนอยู่นั่นแล แต่คนมีศรัทธา ชื่อว่ามีมืออันล้างสะอาดแล้วทีเดียว เพราะเป็นผู้ยินดียิ่งแล้วในทาน. บทว่า โวสฺสคฺครโต ความว่า ยินดีแล้วในทาน กล่าวคือการเสียสละ. บทว่า ยาจโยโค ความว่า สมควรให้ขอ. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ยาจโยโค เพราะมีความเหมาะสมกับด้วยยาจกทั้งหลายบ้าง. บทว่า ทานสํวิราครโต ความว่า เมื่อจะให้ทานก็ดี เมื่อจะทำการจัดแบ่งก็ดี ย่อมเป็นผู้ชื่อว่ายินดีในทานและการจัดแบ่ง.

บทว่า ทสฺสนกาโม สีลวตํ ความว่า มีความประสงค์จะพบท่านผู้ทรงศีล ๑๐ โยชน์ก็ไป ๒๐ โยชน์ก็ไป ๓๐ โยชน์ก็ไป ๑๐๐ โยชน์ก็ไป ดุจปาฏลีปุตตกพราหมณ์และพระเจ้าสัทธาติสสมหาราช.

เรื่องปาฏลีปุตตกพราหมณ์

เล่ากันมาว่า ใกล้ประตูพระนครปาฏลีบุตร มีพราหมณ์ ๒ คน ได้ทราบเกียรติคุณของพระมหานาคเถระผู้อยู่ในกาฬวัลลิมณฑป คิดกันว่า เรา ๒ คนควรจะไปหาภิกษุนั้น ดังนี้ ทั้งสองคนจึงออกจากพระนคร. คนหนึ่งถึงแก่กรรมในระหว่างทาง. คนหนึ่งไปถึงฝั่งทะเล ลงเรือที่ท่ามหาดิตถ์มายังอนุราธบุรี ถามว่า กาฬวัลลิมณฑปอยู่ที่ไหน ได้รับคำตอบว่า ที่โรหณชนบท เขาไปถึงที่อยู่ของพระเถระตามลำดับ ยึดเอาที่พักในเรือนประกอบธุรกิจ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 194

ใกล้จุลลนครคาม ได้ปรุงอาหารถวายพระเถระ ถามถึงที่อยู่ของพระเถระเพื่อจะเข้าหาแต่เช้าๆ แล้วไปยืนอยู่ท้ายประชาชน เห็นพระเถระเดินมาแต่ไกลทีเดียว ยืนอยู่ตรงนั้นแหละครู่หนึ่ง ไหว้แล้วเข้าไปหาอีก จับข้อเท้า (ของพระเถระ) ไว้แน่น แล้วเรียนว่า พระคุณเจ้าสูงมากขอรับ. ก็พระเถระไม่สูงเกินไป ไม่ต่ำเกินไป พอได้ขนาดเท่านั้น ด้วยเหตุนั้น เขาจึงเรียนท่านอีกว่า พระคุณเจ้าไม่ได้สูงเกินหรอก แต่คุณความดีของพระคุณเจ้าแผ่ไปตามน้ำทะเลสีคราม ท่วมท้นถึงพื้นชมพูทวีปทั้งหมด แม้ผมนั่งอยู่ใกล้ประตูพระนครปาฏลีบุตร ก็ได้ยินเกียรติคุณของพระคุณเจ้า. เขาได้ถวายภิกษาหารแด่พระเถระ มอบไตรจีวรของตนบวชในสำนักของพระเถระ. ดำรงอยู่ในโอวาทของท่านแล้ว ได้บรรลุอรหัตตผลโดย ๒ - ๓ วันเท่านั้น.

เรื่องพระเจ้าสัทธาติสสมหาราช

แม้พระเจ้าสัทธาติสสมหาราช ตรัสถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอพระคุณเจ้าจงบอกพระผู้เป็นเจ้ารูปหนึ่งที่สมควรโยมจะกราบไหว้. ภิกษุทั้งหลายถวายพระพรว่า ท่านกุชชติสสเถระ ผู้อยู่ในมังคลาราม. พระราชาพร้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก ได้เสด็จไปสิ้นระยะทาง ๕ โยชน์. พระเถระถามภิกษุสงฆ์ว่า นั่นเสียงอะไร. ภิกษุสงฆ์เรียนว่า พระราชาเสด็จมาเพื่อจะนมัสการพระคุณท่านขอรับ. พระเถระคิดว่า จะมีงานอะไรในพระราชวัง ในเวลาที่เราแก่เฒ่า จึงนอนบนเตียง ณ ที่พักกลางวัน (แล้วลุกขึ้น) ไปขีดรอย (ลากไปมา) บนแผ่นดิน. พระราชาตรัสถามว่า พระเถระไปไหน? ทรงสดับว่า พระเถระจำวัดอยู่ในที่พักกลางวัน จึงเสด็จไปที่นั้น เห็นพระเถระกำลังขีดแผ่นดินอยู่ ทรงพระดำริว่า ธรรมดาพระขีณาสพจะไม่คะนองมือ ท่านผู้นี้ไม่ใช่พระขีณาสพ จึงไม่ทรงไหว้เลย แล้วเสด็จกลับไป. ภิกษุสงฆ์เรียนพระเถระ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 195

ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เหตุไฉน ใต้เท้าจึงก่อความเดือดร้อนพระทัยแก่พระราชาผู้มีพระราชศรัทธา ทรงเลื่อมใสอย่างนี้. พระเถระกล่าวว่า อาวุโสทั้งหลาย การรักษาพระราชศรัทธา ไม่ใช่หน้าที่ของท่านทั้งหลาย (แต่) เป็นหน้าที่ของพระเถระผู้เฒ่า แล้วเมื่อจะปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุในกาลต่อมา จึงกล่าวกะภิกษุสงฆ์ว่า ท่านทั้งหลายจงลาดบัลลังก์แม้อื่นไว้บนกูฏาคารสำหรับเรา เมื่อภิกษุสงฆ์ปูลาดบัลลังก์แล้ว พระเถระอธิษฐานว่า ในระหว่างนี้ ขอกูฏาคารนี้อย่าเพิ่งประดิษฐาน เฉพาะในเวลาที่พระราชาทรงเห็นแล้ว จึงค่อยประดิษฐานอยู่ที่พื้นดิน แล้วปรินิพพาน. กูฏาคารได้ลอยไปทางอากาศสิ้นระยะทาง ๕ โยชน์. ต้นไม้ที่พอจะปักธงได้ ก็ได้ถูกปักธงไว้ ตลอดระยะทาง ๕ โยชน์ ทั้งกอไม้ ทั้งพุ่มไม้ ก็ได้เอนไปหากูฏาคารทั้งหมด.

ภิกษุทั้งหลาย ส่งข่าวไปทูลพระราชาว่า พระเถระปรินิพพานเสียแล้ว กูฏาคารกำลังลอยมาทางอากาศ. พระราชาไม่ทรงเชื่อ. กูฎาคารลอยมาทางอากาศ กระทำประทักษิณถูปาราม แล้วได้ไปถึงศิลาเจดียสถาน. พระเจดีย์พร้อมทั้งสิ่งของได้ลอยขึ้นไปประดิษฐานอยู่เหนือยอดกูฏาคาร. เสียงสาธุการตั้งพัน ก็ดังกระหึ่มขึ้น. ในขณะนั้น ท่านมหาพยัคฆเถระนั่งอยู่บนกูฏาคารชั้น ๗ ใกล้โลหปราสาท กำลังทำวินัยกรรมแก่ภิกษุทั้งหลายอยู่ (๑) ฟังเสียง (สาธุการ) นั้นแล้ว ซักถามว่า นั่นเสียงอะไร? ภิกษุทั้งหลายเรียนว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระกุชชติสสเถระผู้อยู่ในมังคลารามปรินิพพานแล้ว. กูฏาคารลอยมาทางอากาศสิ้นระยะทาง ๕ โยชน์ นั่นเป็นเสียงสาธุการในเพราะกูฏาคาร (ที่ลอยมา) นั้น. พระเถระกล่าวว่า อาวุโสทั้งหลาย เราจักอาศัยท่านผู้มีบุญ แล้ว (พลอย) ได้รับสักการะ ให้อันเตวาสิกขมาโทษแล้ว (๒)


(๑) ปาฐะว่า นิสินฺโน ตํ สทฺทํ สุตฺวา ฉบับพม่าเป็น นิสินฺโน ภิกฺขูนํ วินยกมฺมํ กโรนฺโต ตํ สทฺทํ สุตฺวา แปลตามฉบับพม่า.

(๒) ปาฐะว่า ปรินิพฺพุโต กูฏาคารํ ฉบับพม่าเป็น ปรินิพฺพุโต อนฺเตวาสิเก ขมาเปตฺวา กูฏาคารํ ... แปลตามฉบับพม่า

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 196

เหาะมาทางอากาศนั่นแล เข้าไปสู่กูฏาคาร นั่งบนเตียงที่สองแล้วปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ. พระราชาทรงถือเอาของหอม ดอกไม้ และจุณจันทน์ แล้วเสด็จไปบูชากูฏาคารที่สถิตอยู่ในอากาศ. ในขณะนั้น กูฏาคารได้ลอยมาประดิษฐานที่พื้นดิน. พระราชารับสั่งให้ทำสรีรกิจด้วยสักการะเป็นอันมาก แล้วทรงรับเอาพระธาตุไปสร้างเจดีย์. ท่านผู้ทรงศีลเห็นปานนี้ มีผู้ประสงค์จะพบเห็นเป็นธรรมดา. พระเจ้าสัทธาติสสมหาราชจักเป็นอัครสาวกรูปที่ ๒ ของพระศรีอาริยเมตไตรย (ต่อไปในอนาคต).

บทว่า สทฺธมฺมํ โสตุมิจฺฉติ ความว่า เป็นผู้ประสงค์จะสดับพระสัทธรรม ที่พระคถาคตเจ้าทรงประกาศแล้ว ดุจพระปิณฑปาติกเถระ เป็นต้น

เรื่องพระปิณฑปาติกเถระ

เล่ากันมาว่า ภิกษุ ๓๐ รูป เข้าจำพรรษาบนเนิน ชื่อว่า ควรวาฬะ ทุกๆ กึ่งเดือนในวันอุโบสถ จะพูดกันถึงมหาอริยวงศ์ที่พรรณนาถึงการสันโดษด้วยปัจจัย ๔ และการยินดีในภาวนา. พระเถระผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่งมาภายหลัง นั่งในที่กำบัง ลำดับนั้น งูขว้างค้อนตัวหนึ่งได้กัดท่าน (จนเนื้อหลุด) เหมือนเอาคีมคีบเนื้อออกจากปลีแข้ง. พระเถระมองดู เห็นงูขว้างค้อน คิดว่า วันนี้เราจักไม่ทำอันตรายแก่การฟังธรรม จับงูใส่ลงในย่าม ผูกปากย่ามไว้ แล้ววางไว้ในที่ไม่ไกล นั่งฟังธรรมอยู่. อรุณขึ้นไป ๑ พิษงูสงบพระเถระได้บรรลุผลทั้งสาม ๑ พิษงูไหลออกจากปากแผลลงดินไป ๑ พระเถระผู้แสดงธรรม จบธรรมกถา ๑ (อย่างนี้) ได้มีในขณะเดียวกันนั่นแหละ. ต่อนั้น พระเถระได้พูดว่า อาวุโสทั้งหลาย เราจับโจรได้ตัวหนึ่ง แล้วแก้ถุงย่ามออก ปล่อยงูขว้างค้อนไป. ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วจึงถามว่า มันกัดท่านเวลาไหนขอรับ.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 197

พระเถระ. อาวุโสทั้งหลาย เราถูกมันกัดตอนเย็นวันวาน.

ภิ. ท่านขอรับ เพราะเหตุไร ท่านถึงทำกรรมหนักอย่างนี้.

พระเถระ. อาวุโสทั้งหลาย ถ้าเราจะพึงบอกว่า เราถูกงูกัดไซร้ เราจะไม่พึงได้อานิสงส์มีประมาณเท่านี้. นี้เป็นเรื่อง (ตัวอย่าง) ของพระปิณฑปาติกเถระก่อน.

เรื่องภิกษุหนุ่มชาวติสสมหาวิหาร

แม้ในเมืองทีฆวาปี มีภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งอยู่ประจำที่ติสสมหาวิหาร ใกล้บ้านหมู่ใหญ่ ได้ทราบว่า พระเถระผู้เทศน์มหาชาดก จักเทศน์คาถาพันมหาเวสสันดร จึงออกจากวัดมาสิ้นระยะทาง ๑ โยชน์ โดย (เดิน) วันเดียวเท่านั้น. ในขณะนั้นเอง พระเถระเริ่มแสดงธรรมแล้ว. ภิกษุหนุ่มกำหนดได้เฉพาะคาถาสุดท้ายกับคาถาเริ่มต้น เพราะเกิดความกระวนกระวายทางกายโดยการเดินทางไกล. ต่อจากนั้น ในเวลาที่พระเถระกล่าวคำว่า อิทมโวจ (จบ) แล้วลุกออกไป ภิกษุหนุ่มได้ยืนร้องไห้เสียใจว่า การเดินทางมาของเรา กลายเป็นของไร้ประโยชน์ไปแล้ว. ชายคนหนึ่งได้ยินถ้อยคำนั้นแล้ว ได้ไปบอกพระเถระว่า ท่านขอรับ ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งมาจากติสสมหาวิหารด้วยหวังใจว่า จักฟังธรรมกถาของพระคุณเจ้า เธอได้ยืนร้องไห้เสียใจว่า การมาของเรา กลายเป็นไร้ประโยชน์ไป เพราะมีความกระวนกระวายทางกาย. พระเถระตอบว่า ไปเถิด ไปให้สัญญากับเธอว่า พรุ่งนี้ เราจักแสดงธรรมนั้นซ้ำอีก. ในวันรุ่งขึ้น เธอได้ฟังธรรมกถาของพระเถระ แล้วได้บรรลุโสดาปัตติผล.

เรื่องหญิงชาวเมืองอุลลังคโกลิกัณณิ

ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง หญิงชาวอุลลังคโกลิกัณณิชนบทคนหนึ่ง กำลังให้ลูกดูดนม ได้ฟังข่าวว่า พระมหาอภัยเถระผู้กล่าวคัมภีร์ทีฆนิกาย จะแสดงอริย-

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 198

วังสปฏิปทาสูตร จึงเดินทางไปสิ้นระยะทาง ๕ โยชน์ เข้าไปยังวิหาร ในเวลาที่พระเถระผู้เทศน์ตอนกลางวันนั่งเทศน์อยู่ ให้ลูกนอนบนพื้นดิน ยืนฟังธรรมของพระเถระผู้เทศน์ในกลางวัน. แม้พระเถระแสดงบทภาณ ก็ยืนฟังเหมือนกัน เมื่อพระเถระผู้เทศน์บทภาณลุกขึ้นแล้ว พระมหาเถระผู้กล่าวทีฆนิกาย ก็เริ่มแสดงมหาอริยวงศ์ พรรณนาถึงการสันโดษด้วยปัจจัย ๔ และการยินดีด้วยภาวนา. นางยืนประณมมือฟัง พระเถระแสดงปัจจัย ๓ แล้วทำอาการจะลุกขึ้น นางจึงเรียนว่า พระคุณเจ้าทั้งหลาย คิดว่า จักเทศน์อริยวงศ์ แล้วฉันโภชนะที่อร่อย ดื่มน้ำที่มีรสหวาน ปรุงยาด้วยชะเอมเครือและน้ำมันเป็นต้น แล้วจึงขึ้นที่ที่ควรจะแสดง (ธรรมาสน์) พระเถระกล่าวว่า ดีแล้ว น้องหญิง แล้วเริ่มธรรมอันเป็นความยินดีในภาวนาต่อไป. อรุณขึ้นไป ๑ พระเถระกล่าวคำว่า อิทมโวจ ๑ อุบาสิกาได้บรรลุโสดาปัตติผล ๑ (๓ อย่างนี้) ได้มีในขณะเดียวกัน.

เรื่องหญิงชาวบ้านกาฬุมพระ

หญิงอีกคนหนึ่ง เป็นชาวบ้าน กาฬุมพระ อุ้มลูกไปยัง จิตตลบรรพต ด้วยคิดว่า จักฟังธรรม ให้ลูกนอนพิงต้นไม้ต้นหนึ่ง ตนเองยืนฟังธรรม. ในระหว่างรัตติภาค งูตัวหนึ่งกัดเด็กที่นอนอยู่ใกล้ๆ นาง ทั้งๆ ที่ดูอยู่เข้าสี่เขี้ยว แล้วหนีไป. นางคิดว่า ถ้าเราจักบอกว่า ลูกของเราถูกงูกัดไซร้ จักเป็นอันตรายแก่การฟังธรรม เมื่อเรายังเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏฏ์ เด็กคนนี้ได้เป็นลูกของเรามาหลายครั้งแล้ว เราจักประพฤติธรรมเท่านั้น แล้วยืนอยู่ตลอดทั้ง ๓ ยาม ประคองธรรมไว้ ได้บรรลุโสดาปัตติผล เมื่ออรุณขึ้นแล้วทำลายพิษ (งู) ในบุตรด้วยการทำสัจจกิริยา แล้วอุ้มบุตรไป คนเห็นปานนี้ ย่อมชื่อว่าเป็นผู้ใคร่การฟังธรรม.

จบอรรถกถาฐานสูตรที่ ๒