พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. ปฐมชนสูตร ว่าด้วยที่พึ่งในภายหน้า

 
บ้านธัมมะ
วันที่  20 ต.ค. 2564
หมายเลข  38674
อ่าน  586

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 214

ทุติยปัณณาสก์

พราหมณวรรคที่ ๑

๑. ปฐมชนสูตร

ว่าด้วยที่พึ่งในภายหน้า

อรรถกถา ปฐมชนสูตร 215

เรื่องพราหมณ์รักษาศีล ๕ 216


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 214

ทุติยปัณณาสก์

พราหมณวรรคที่ ๑

๑. ปฐมชนสูตร

ว่าด้วยที่พึ่งในภายหน้า

[๔๙๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล พราหมณ์ ๒ คน เป็นคนชรา แก่เฒ่า ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ มีอายุได้ ๑๒๐ ปีแต่กำเนิด ได้ชวนกันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พวกข้าพระองค์เป็นพราหมณ์ชรา แก่เฒ่า ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ มีอายุได้ ๑๒๐ ปีแต่กำเนิด แต่มิได้สร้างความดี มิได้ทำกุศล มิได้ทำกรรมอันเป็นที่ต้านทานความขลาดไว้ ขอพระโคดมผู้เจริญทรงโอวาทสั่งสอนพวกข้าพระองค์ถึงข้อที่จะพึงเป็นไป เพื่อประโยชน์และความสุขแก่พวกข้าพระองค์สิ้นกาลนานเถิด.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ ที่แท้ พวกท่านเป็นคนชรา แก่เฒ่า ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ มีอายุได้ ๑๒๐ ปีแต่กำเนิด แต่มิได้สร้างความดี มิได้ทำกุศล มิได้ทำกรรมอันเป็นที่ต้านทานความขลาดไว้ ดูก่อนพราหมณ์ โลกนี้ถูกชรา พยาธิ มรณะ นำเข้าไปอยู่แล เมื่อโลกถูกชรา พยาธิ มรณะนำเข้าไปอยู่เช่นนี้ ความสำรวมทางกาย ความสำรวมทางวาจา ความสำรวมทางใจในโลกนี้ ย่อมเป็นที่ต้านทาน เป็นที่เร้น เป็นเกาะ เป็นที่พึ่ง เป็นที่ยึดหน่วงของเขาผู้ละไปแล้ว.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 215

ชีวิตถูกชรานำเข้าไปใกล้ความมีอายุสั้น ผู้ที่ถูกชรานำเข้าไปใกล้แล้ว ย่อมไม่มีที่ต้านทาน เมื่อบุคคลเล็งเห็นภัยในความตายนี้ ควรทำบุญทั้งหลายอันนำความสุขมาให้ ความสำรวมทางกาย ทางวาจา และทางใจ ในโลกนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความสุขแก่ผู้ที่ละโลกนี้ไปแล้ว ผู้ซึ่งสร้างสมบุญไว้แต่เมื่อยังมีชีวิตอยู่.

จบปฐมชนสูตรที่ ๑

ทุติยปัณณาสก์

พราหมณวรรควรรณนาที่ ๑

อรรถกถาปฐมชนสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในปฐมชนสูตรที่ ๑ แห่งพราหมณวรรคดังต่อไปนี้ :-

บทว่า ชิณฺณา ได้แก่ แก่คร่ำคร่าเพราะชรา. บทว่า วุฑฺฒา ได้แก่ เจริญวัย. บทว่า มหลฺลกา ได้แก่ แก่เพราะเกิด (มานาน). บทว่า อฑฺฒคตา ได้แก่ ผ่านวัยครึ่งไปแล้ว. บทว่า วโย อนุปฺปตฺตา ได้แก่ ย่างเข้าปัจฉิมวัย. บทว่า เยน ภควา เตนุปสงฺกมึสุ ความว่า พราหมณ์เห็นลูกเมียไม่ปฏิบัติตามคำของตน คิดว่า เราจะไปเฝ้าพระสมณโคดมแสวงหาทางที่จะนำออกจากทุกข์ ดังนี้แล้ว จึงเข้าไปเฝ้า.

บทว่า มยมสฺสุ โภ โคตม พฺราหฺมณ ความว่า พราหมณ์ทั้งสองประกาศข้อที่ตนเป็นพราหมณ์ว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งสอง

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 216

เป็นพราหมณ์ ไม่ใช่กษัตริย์ ไม่ใช่อมาตย์ ไม่ใช่คฤหบดี ดังนี้แล้ว กราบทูลคำเป็นต้นว่า ชิณฺณา (ข้าพระองค์แก่แล้ว) ดังนี้. ด้วยบทว่า อกตภีรุตฺตาณา พราหมณ์ทั้งสองแสดงว่า ข้าพระองค์ทั้งสองยังไม่ได้ทำการป้องกันภัย คือ การงานอันเป็นที่พึ่ง เป็นที่พำนัก. บทว่า ตคฺฆ เป็นนิบาต ลงในอรรถว่า โดยส่วนเดียวกัน หรือลงในอรรถว่า รับรอง. และพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้โดยที่สุดอย่างเดียวกันว่า ท่านทั้งหลายเป็นอย่างนี้ ถึงเราตถาคตก็รับรองอย่างเดียวกัน. บทว่า อุปนียติ ได้แก่ ถูกนำเข้าไป อธิบายว่า สัตวโลกนี้ ถูกชาตินำไปสู่ชรา ถูกชรานำไปสู่พยาธิ ถูกพยาธินำไปสู่มรณะ ถูกมรณะนำไปสู่ชาติอีก ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อุปนียติ ดังนี้.

เรื่องพราหมณ์รักษาศีล

บัดนี้ เพราะเหตุที่พราหมณ์เหล่านั้น แม้บวชแล้วก็ไม่สามารถจะบำเพ็ญวัตรให้บริบูรณ์ได้ เพราะเป็นคนแก่ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะใหัพราหมณ์ทั้งสองนั้นดำรงอยู่ในศีล ๕ จึงตรัสว่า โยธ กาเยน สญฺโม. บรรดาบทเหล่านั้น การสำรวมทางกายทวาร ชื่อว่า กายสัญญมะ แม้ในบทที่เหลือ ก็มีนัยนั้นเหมือนกัน. ด้วยบทว่า ตํ ตสฺส เปตสฺส นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า บุญนั้น ชื่อว่า ตาณะ เพราะหมายความว่า เป็นที่ต้านทานของผู้ไปสู่ปรโลก ชื่อว่า เลณะ เพราะหมายความว่า เป็นที่ซ่อนเร้น ชื่อว่า ทีปะ เพราะหมายความว่า เป็นที่พำนัก ชื่อว่า สรณะ เพราะหมายความว่า เป็นที่พึ่งอาศัย และชื่อว่า ปรายนะ เพราะสามารถจะให้คติที่สูงได้. พระคาถามีเนื้อความง่ายทั้งนั้น. พราหมณ์เหล่านั้น อันพระตถาคตเจ้าให้สมาทานศีล ๕ อย่างนี้แล้ว รักษาศีล ๕ ตลอดชีวิต เกิดแล้วในสวรรค์.

จบอรรถกถาปฐมชนสูตรที่ ๑