๑. ติตถสูตร ว่าด้วยอกิริยาทิฏฐิ - ลัทธิเดียรถีย์ ๓ อย่าง
[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 268
ทุติยปัณณาสก์
มหาวรรคที่ ๒
๑. ติตถสูตร
ว่าด้วยอกิริยาทิฏฐิ - ลัทธิเดียรถีย์ ๓ อย่าง
ไม่มีสัตว์หรือชีวะมีแต่ธรรม ๒ 286
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 268
มหาวรรคที่ ๒
๑. ติตถสูตร
ว่าด้วยอกิริยาทิฏฐิ - ลัทธิเดียรถีย์ ๓ อย่าง
[๕๐๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ลัทธิของเดียรถีย์ ๓ นี้ ซึ่งบัณฑิตทั้งหลายซักไซ้ไล่เลียงสืบไป (เท่าไรๆ) ก็คงยืนตัวอยู่ในหลักอกิริยา ลัทธิของเดียรถีย์ ๓ คืออะไร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า บุคคลได้รับสุขหรือทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุขอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้รับเพราะกรรมที่ทำไว้ในปางก่อนทั้งสิ้นเป็นเหตุ
สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า บุคคลได้รับสุขหรือทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุขอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะพระผู้เป็นเจ้า (พระอิศวร) สร้างสรรค์ให้ทั้งสิ้นเป็นเหตุ
สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ได้รับสุขหรือทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุขอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยทั้งสิ้น
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในสมณพราหมณ์ ๓ พวกนั้น พวกที่มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า บุคคลได้รับสุขหรือทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุขอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้รับเพราะกรรมที่ทำไว้ในปางก่อนทั้งสิ้น เราเข้าไปถามสมณพราหมณ์พวกนั้นอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย ได้ยินว่า ท่านทั้งหลายมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า บุคคลได้รับสุข ฯลฯ ได้รับเพราะกรรมที่ทำไว้ในปางก่อนทั้งสิ้น จริงหรือ เราถามอย่างนี้แล้ว หากเขายังยืนยันอยู่ เราก็กล่าวกะเขาว่า
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 269
ถ้ากระนั้น คนฆ่าสัตว์ คนลักทรัพย์ และคนเสพกาม ก็ต้องเป็นเพราะกรรมที่ทำไว้ในปางก่อน คนพูดเท็จ คนพูดส่อเสียด คนพูดคำหยาบ คนพูดสำราก ก็ต้องเป็นเพราะกรรมที่ทำไว้ในปางก่อน คนมักได้ คนมีใจพยาบาท คนมีความเห็นผิด ก็ต้องเป็นเพราะกรรมที่ทำไว้ในปางก่อน เมื่อถือเอาบุรพกรรมมาเป็นสาระ (คือ เป็นข้อสำคัญ) ฉันทะ (ความพอใจ คือ ความใคร่ที่จะทำ) หรือความพยายาม (เพื่อจะทำ) กรณียกิจ หรืออกรณียกิจ ก็ไม่มี เมื่อกรณียกิจและอกรณียกิจไม่มีเป็นล่ำเป็นสันเช่นนี้ การอ้างตนว่าเป็นสมณะอย่างชอบแก่เหตุย่อมมีไม่ได้ สำหรับบุคคลทั้งหลายผู้ขาดความสำนึกตน ปล่อยปละตนอยู่ (ด้วยสุดแต่บุรพกรรม) นี้ ภิกษุทั้งหลาย เป็นนิเคราะห์ (การข่ม การลบล้าง) อย่างชอบแก่เหตุข้อแรกของเรา ในสมณพราหมณ์เหล่าที่มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าที่มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า บุคคลได้รับสุขหรือทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุขอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้รับเพราะพระเป็นเจ้าสร้างสรรค์ให้ทั้งสิ้น เราเข้าไปถามสมณพราหมณ์เหล่านั้นอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย ได้ยินว่า ท่านทั้งหลายมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า บุคคลได้รับสุข ฯลฯ ได้รับเพราะพระเป็นเจ้าสร้างสรรค์ให้ทั้งสิ้น จริงหรือ เราถามอย่างนี้แล้ว หากเขายังยืนยันอยู่ เราก็กล่าวกะเขาว่า ถ้ากระนั้น คนฆ่าสัตว์ ฯลฯ คนมีความเห็นผิด ก็ต้องเป็นเพราะพระเป็นเจ้าสร้างสรรค์ให้ทั้งสิ้น เมื่อถือเอาการสร้างสรรค์แห่งพระเป็นเจ้ามาเป็นสาระ ฉันทะ หรือความพยายาม (เพื่อจะทำ) กรณียกิจ หรืออกรณียกิจ ก็ไม่มี เมื่อกรณียกิจและอกรณียกิจ
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 270
ไม่มีเป็นล่ำเป็นสันเช่นนี้ การอ้างตนว่าเป็นสมณะอย่างชอบแก่เหตุย่อมมีไม่ได้สำหรับบุคคลทั้งหลายผู้ขาดความสำนึกตน ปล่อยปละตน (ด้วยถือว่าสุดแต่พระเป็นเจ้าจะสร้างสรรค์ให้) นี้ ภิกษุทั้งหลาย เป็นการลบล้างอย่างชอบแก่เหตุข้อสองของเรา ในสมณพราหมณ์เหล่าที่มีวาทะอย่างนี้มีทิฏฐิอย่างนี้.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าที่มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า บุคคลได้รับสุขหรือทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุขอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้รับโดยไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยทั้งสิ้น เราเข้าไปถามสมณพราหมณ์เหล่านั้นอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย ได้ยินว่า ท่านทั้งหลายมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า บุคคลได้รับสุข ฯลฯ โดยไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยทั้งสิ้น จริงหรือ เราถามอย่างนี้ หากเขายังยืนยันอยู่ เราก็กล่าวกะเขาว่า ถ้ากระนั้น คนฆ่าสัตว์ ฯลฯ คนมีความเห็นผิด ก็ต้องเป็นโดยไม่มีเหตุปัจจัย เมื่อถือเอาความไม่มีเหตุมาเป็นสาระ ฉันทะหรือความพยายาม (เพื่อจะทำ) กรณียกิจ หรืออกรณียกิจ ก็ไม่มี เมื่อกรณียกิจและอกรณียกิจไม่มีเป็นล่ำเป็นสันเช่นนี้ การอ้างตนว่าเป็นสมณะอย่างชอบแก่เหตุก็มีไม่ได้สำหรับบุคคลทั้งหลายผู้ขาดความสำนึกตน ปล่อยปละตนอยู่ (ด้วยถือว่าสุดแต่คราวเคราะห์ดีหรือร้าย) นี้ ภิกษุทั้งหลาย เป็นการลบล้างอย่างชอบแก่เหตุข้อสามของเรา ในสมณพราหมณ์เหล่าที่มีวาทะอย่างนี้มีทิฏฐิอย่างนี้.
นี้แล ภิกษุทั้งหลาย ลัทธิของเดียรถีย์ ๓ ซึ่งบัณฑิตทั้งหลายซักไซ้ไล่เลียงสืบไป (เท่าไรๆ) ก็คงยืนตัวอยู่ในหลักอกิริยา.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนว่าธรรมที่เราแสดงนี้ ใครๆ ลบล้างไม่ได้ เป็นธรรมไม่หมองมัว สมณพราหมณ์ผู้รู้ไม่ติ ไม่ค้านธรรมที่เราแสดง ฯลฯ ไม่ค้านคืออะไร คือ ธาตุ ๖ ผัสสายตนะ ๖ มโนปวิจาร ๑๘ อริยสัจ ๔ เหล่านี้ ...
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 271
ก็แลคำที่เรากล่าวว่า ธรรมที่เราแสดง ฯลฯ ไม่ค้าน คือ ธาตุ ๖ ดังนี้ นี่ เราอาศัยอะไรกล่าว ภิกษุทั้งหลาย ธาตุ ๖ นี้ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาสธาตุ วิญญาณธาตุ คำที่เรากล่าวว่า ธรรมที่เราแสดง ฯลฯ ไม่ค้าน คือ ธาตุ ๖ ดังนี้ นี่ เราอาศัยธาตุมีปฐวีธาตุเป็นต้นนี้แลกล่าว.
อนึ่ง คำที่เรากล่าวว่า ธรรมที่เราแสดง ฯลฯ ไม่ค้าน คือ ผัสสายตนะ ๖ ดังนี้ นี่ เราอาศัยอะไรกล่าว ภิกษุทั้งหลาย ผัสสายตนะ ๖ นี้ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คำที่เรากล่าวว่า ธรรมที่เราแสดง ฯลฯ ไม่ค้าน คือ ผัสสายตนะ ๖ ดังนี้ นี่ เราอาศัยผัสสายตนะคือตาเป็นต้นนี้แลกล่าว.
อนึ่ง คำที่เรากล่าวว่า ธรรมที่เราแสดง ฯลฯ ไม่ค้าน คือ มโนปวิจาร ๑๘ ดังนี้ นี่ เราอาศัยอะไรกล่าว บุคคลเห็นรูปด้วยตา ฟังเสียงด้วยหู ดมกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว (ใจของบุคคลนั้น) ย่อมเคล้ารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อันเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส ๑ เป็นที่ตั้งแห่งโทมนัส ๑ เป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา ๑ คำที่เรากล่าวว่า ธรรมที่เราแสดง ฯลฯ ไม่ค้าน คือ มโนปวิจาร ๑๘ ดังนี้ นี่ เราอาศัยมโนปวิจารมีรูปอันเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัสเป็นต้นนี้แลกล่าว.
อนึ่ง คำที่เรากล่าวว่า ธรรมที่เราแสดง ฯลฯ ไม่ค้าน คือ อริยสัจ ๔ ดังนี้ นี่ เราอาศัยอะไรกล่าว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยธาตุ ๖ (ประกอบพร้อมกันเข้า) ความตั้งครรภ์ย่อมมี เมื่อความตั้งครรภ์มี นามรูปย่อมมี เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะย่อมมี เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะย่อมมี เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาย่อมมี ภิกษุทั้งหลาย เราบัญญัติ (อริยสัจคือ) ทุกข์ ทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทานี้ สำหรับบุคคลผู้เสวยเวทนานั่นแล.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 272
ก็ทุกขอริยสัจเป็นอย่างไร (ชาติปิ ทุกฺขา) แม้ความเกิด ก็เป็นทุกข์ (ชราปิ ทุกฺขา) แม้ความแก่ ก็เป็นทุกข์ (มรณมฺปิ ทุกฺขํ) แม้ความตาย ก็เป็นทุกข์ (โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสาปิ ทุกฺขา) แม้ความโศก ความคร่ำครวญ ความไม่สบายกาย ความเสียใจ และความตรอมใจ ก็เป็นทุกข์ (อปฺปิเยหิ สมฺปโยโค ทุกฺโข) ความประจวบกับสิ่งที่ไม่รัก ก็เป็นทุกข์ (ปิเยหิ วิปฺปโยโค ทุกฺโข) ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ก็เป็นทุกข์ (ยมฺปิจฺฉํ น ลภติ ตมฺปิ ทุกฺขํ) แม้ความไม่ได้สมปรารถนา ก็เป็นทุกข์ (สงฺขิตฺเตน ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกฺขา) ย่อเข้าแล้ว อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ นี่ ภิกษุทั้งหลาย เราเรียกว่า ทุกขอริยสัจ.
ทุกขสมุทัยอริยสัจ เป็นอย่างไร.
อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร
สงฺขารปจฺจยา วิญฺาณํ เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ
วิญฺาณปจฺจยา นามรูปํ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป
นามรูปปจฺจยา สฬายตนํ เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ
สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ
ผสฺสปจฺจยา เวทนา เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา
เวทนาปจฺจยา ตณฺหา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา
ตณฺหาปจฺจยา อุปาทานํ เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน
อุปาทานปจฺจยา ภโว เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ
ภวปจฺจยา ชาติ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
ชาติปจฺจยา ชรามรณํ โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา สมฺภวนฺติ
เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 273
เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกขนฺธสฺส สมุทโย โหติ เป็นอันว่า กองทุกข์ทั้งมวลนั่นเกิดขึ้น ด้วยประการอย่างนี้
นี่ ภิกษุทั้งหลาย เราเรียกว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจ.
ทุกขนิโรธอริยสัจเป็นอย่างไร.
อวิชฺชาย เตฺวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ เพราะอวิชชาดับไม่เหลือ สังขารก็ดับ
สงฺขารนิโรธา วิญฺาณนิโรโธ เพราะสังขารดับ วิญญาณก็ดับ
วิญฺาณนิโรธา นามรูปนิโรโธ เพราะวิญญาณดับ นามรูปก็ดับ
นามรูปนิโรธา สฬายตนนิโรโธ เพราะนามรูปดับ สฬายตนะก็ดับ
สฬายตนนิโรธา ผสฺสนิโรโธ เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะก็ดับ
ผสฺสนิโรธา เวทนานิโรโธ เพราะผัสสะดับ เวทนาก็ดับ
เวทนานิโรธา ตณฺหานิโรโธ เพราะเวทนาดับ ตัณหาก็ดับ
ตณฺหานิโรธา อุปาทานนิโรโธ เพราะตัณหาดับ อุปาทานก็ดับ
อุปาทานนิโรธา ภวนิโรโธ เพราะอุปาทานดับ ภพก็ดับ
ภวนิโรธา ชาตินิโรโธ เพราะภพดับ ชาติก็ดับ
ชาตินิโรธา ชรามรณํ โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา นิรุชฺฌนฺติ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาสก็ดับ
เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส นิโรธ โหติ กองทุกข์ทั้งมวลนั่นดับไป ด้วยประการอย่างนี้
นี่ ภิกษุทั้งหลาย เราเรียกว่า ทุกขนิโรธอริยสัจ.
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นอย่างไร? อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้เท่านั้น คือ สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ) สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 274
สัมมาวาจา (วาจาชอบ) สัมมากัมมันตะ (การงานชอบ) สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) สัมมาวายามะ (เพียรชอบ) สัมมาสติ (สติชอบ) สัมมาสมาธิ (สมาธิชอบ) นี่ ภิกษุทั้งหลาย เราเรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ.
คำที่เรากล่าวว่า ธรรมที่เราแสดง ฯลฯ ไม่ค้าน คือ อริยสัจ ๔ ดังนี้ นี่ เราอาศัยความจริง ๔ อย่าง มีทุกข์เป็นต้นนี้แลกล่าว.
จบติตถสูตรที่ ๑
อรรถกถามหาวรรคที่ ๒
อรรถกถาติตถายตนสูตร (๑)
พึงทราบวินิจฉัยในติตถายตนสูตรที่ ๑ แห่งมหาวรรคที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :-
ผู้ได้ชื่อว่าเป็นเดียรถีย์
บ่อเกิด (อายตนะ) ที่เป็นเหมือนติตถะ (ท่า) หรือบ่อเกิดของเดียรถีย์ทั้งหลาย ชื่อว่า ติตถายตนะ แปลว่า ลัทธิเดียรถีย์.
ในบทว่า ติตฺถายตนานิ นั้น นักศึกษาควรรู้จักติตถะ ควรรู้จักติตถกร (เจ้าลัทธิ) ควรรู้จักเดียรถีย์ (และ) ควรรู้จักสาวกของเดียรถีย์ (ก่อน).
ทิฏฐิ ๖๒ ชื่อว่า ติตถะ (ลัทธิ). บุคคลผู้ให้เกิดทิฏฐิ ๖๒ เหล่านั้น ชื่อว่า ติตถกร. บุคคลผู้พอใจ ชอบใจ ทิฏฐิ ๖๒ เหล่านั้น ชื่อว่าเดียรถีย์. บุคคลผู้ถวายปัจจัยแก่เดียรถีย์เหล่านั้น ชื่อว่าสาวกของเดียรถีย์.
(๑) พระสูตรเป็น ติตถสูตร
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 275
อธิบายศัพท์ว่า อายตนะ
บทว่า อายตนํ ความว่า ถิ่นเกิดชื่อว่า อายตนะ (ดุจดัง) ในประโยคนี้ว่า แคว้นกัมโพชะเป็นถิ่นเกิดของม้าทั้งหลาย ทักขิณาปถชนบท เป็นถิ่นเกิดของโคทั้งหลาย.
สถานที่สโมสร ชื่อว่า อายตนะ เช่น ในประโยคนี้ว่า
ในอายตนะ (สโมสร) ที่น่าเริงใจ นกทั้งหลายย่อมใช่อายตนะนั้น ฝูงนกที่ต้องการร่มเงาก็พากันไป ฝูงนกที่ต้องการผลไม้ก็กินผลไม้.
เหตุ ชื่อว่า อายตนะ (เช่น) ในประโยคนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วิมุตตายตนะ (เหตุแห่งวิมุตติ) ๕ ประการเหล่านี้.
อายตนะทั้งหมดนั้น (มีความหมาย) ใช้ได้ในที่นี้. เพราะว่ามิจฉาทิฏฐิกบุคคลทั้งหมด เมื่อเกิดก็เกิดในฐานะ ๓ นี้เท่านั้น แม้เมื่อรวมลง ย่อมรวมลง คือ ประชุมลง ตกลงในฐานะ ๓ นี้เช่นกัน. ก็เมื่อบุคคลเหล่านั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ เหตุทั้ง ๓ เหล่านี้นั่นแล ชื่อว่าอายตนะ เพราะความหมายมีอาทิว่า เป็นเสมือนท่าน้ำ คือ เป็นถิ่นที่เกิดขึ้น (แห่งลัทธิทั้งหลาย) แม้เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ติตถายตนะ. อนึ่ง ชื่อว่า ติตถายตนะ เพราะอรรถว่า เป็นบ่อเกิดของเดียรถีย์ทั้งหลาย ด้วยความหมายนั้นนั่นแล.
บทว่า สมนุยุญฺชิยมานานิ ได้แก่ ถูกบัณฑิตถามอย่างนี้ว่า ทิฏฐิเหล่านั้นคืออะไร. บทว่า สมนุคฺคาหิยมานานิ ความว่า ถูกถามด้วยดี
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 276
อย่างนี้ว่า ทิฏฐิเหล่านั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุไร. บทว่า สมนุภาสิยมานานิ ความว่า ถูกบอกด้วยดีอย่างนี้ว่า เธอทั้งหลายจงสละคืนทิฏฐิอันลามกเหล่านั้นเสีย. อนึ่ง บททั้ง ๓ เหล่านี้ (สมนุยุญฺชิยมานานิ สมนุคฺคาหิยมานานิ สมนุภาสิยมานานิ) เป็นไวพจน์ของการซักถาม และการถามเหมือนกัน. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในอรรถกถาว่า บทว่า สมนุยุญฺชติ ก็ดี บทว่า สมนุคฺคาหติ ก็ดี บทว่า สมนุภาสติ ก็ดี นี้เป็นอันเดียวกัน มีความหมายอย่างเดียวกัน เท่ากัน มีส่วนเท่ากัน เกิดจากสิ่งนั้น (เหมือนกัน) เป็นอย่างเดียวกันนั่นแหละ.
บทว่า ปรมฺปิ คนฺตฺวา ความว่า ถึงการสืบต่ออย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาการสืบต่อทั้ง ๓ เหล่านี้ คือ อาจริยปรัมปรา (การสืบต่ออาจารย์) ลัทธิปรัมปรา (การสืบต่อลัทธิ) อัตตภาวปรัมปรา (การสืบต่ออัตภาพ). บทว่า อกิริยาย สณฺหนฺติ คือ ดำรงอยู่ในฐานะมาตรว่าเป็นอกิริยทิฏฐิ.
ปรัมปรา ๓ อย่าง
ก็ ติตถายตนะ เหล่านี้ ที่ดำเนินไปอยู่อย่างนี้ คือ อาจารย์ของเราทั้งหลาย เป็นปุพเพกตวาที (เป็นผู้มีวาทะว่า กรรมที่ทำไว้ในชาติก่อนเป็นเหตุ) ปาจารย์ (อาจารย์ของอาจารย์) ของเราทั้งหลาย เป็นปุพเพกตวาที (ลัทธิที่ถือว่า สุดแต่กรรมเก่า) อาจริยปาจารย์ (ปาจารย์ของอาจารย์) ของเราทั้งหลาย เป็นปุพเพกตวาที, อาจารย์ของเราทั้งหลาย เป็นอิสสรนิมมานวาที (เป็นผู้มีวาทะว่า การนิรมิตของพระอิศวรเป็นเหตุ) ปาจารย์ของเราทั้งหลาย เป็นอิสสรนิมมานวาที อาจริยปาจารย์ของเราทั้งหลาย เป็นอิสสรนิมมานวาที, อาจารย์ของเราทั้งหลาย เป็นอเหตุกอปัจจยวาที (เป็นผู้มีวาทะว่า ไม่มีเหตุ
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 277
ไม่มีปัจจัย) ปาจารย์ของเราทั้งหลาย เป็นอเหตุกอปัจจยวาที ปาจารย์ของอาจารย์ของเราทั้งหลาย เป็นอเหตุกอปัจจยวาที ชื่อว่า ดำเนินไปตามการสืบต่ออาจารย์.
ติตถายตนะที่ดำเนินไปอย่างนี้ คือ อาจารย์ของเราทั้งหลาย เป็นปุพเพกตลัทธิกบุคคล (บุคคลผู้มีลัทธิว่า กรรมที่ทำไว้ในชาติก่อนเป็นเหตุ) ปาจารย์ของเราทั้งหลาย ฯลฯ ปาจารย์ของอาจารย์ของเราทั้งหลาย เป็นอเหตุกอปัจจยลัทธิกบุคคล (บุคคลผู้มีลัทธิว่า ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย) ชื่อว่า ดำเนินไปตามการสืบต่อลัทธิ.
ติตถายตนะที่ดำเนินไปอย่างนี้ คือ อัตภาพของอาจารย์เราทั้งหลาย มีกรรมที่ทำไว้ในชาติก่อนเป็นเหตุ อัตภาพของปาจารย์เราทั้งหลาย ฯลฯ อัตภาพของปาจารย์ของอาจารย์ของเราทั้งหลาย ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ชื่อว่า ดำเนินไปตามความสืบต่ออัตภาพ.
ก็ ติตถายตนะเหล่านั้น ย่อมดำเนินไปแม้สุดแสนไกลอย่างนี้ ย่อมดำรงอยู่ในฐานะมาตรว่า เป็น อกิริยทิฏฐิ นั่นเอง. ผู้สร้างหรือผู้ให้สร้างของมิจฉาทิฏฐิกบุคคลเหล่านั้น ก็ไม่ปรากฏแม้แต่คนเดียว.
สัตว์ - บุรุษ - บุคคล
บทว่า ปุริสปุคฺคโล ได้แก่ สัตว์. อันที่จริง เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า บุรุษบ้าง ตรัสว่า บุคคลบ้าง ก็เป็นอันตรัส (หมายถึง) สัตว์นั่นแหละ. แต่กถานี้จัดเป็นสมมติกถา. บุคุคลใดจะเข้าใจได้อย่างใด ก็ตรัสแก่บุคคลนั้นอย่างนั้น. บทว่า ปฏิสํเวเทติ ความว่า ย่อมรู้จักสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้นในสันดานของตน คือ ทำ สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรือ อทุกขมสุขเวทนา ให้เป็นอันตนรู้แจ้งแล้ว หรือย่อมเสวย.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 278
อธิบายปุพเพกตเหตุวาทะ
บทว่า ปุพฺเพกตเหตุ แปลว่า เพราะกรรมที่คนทำไว้ในชาติก่อนเป็นเหตุ อธิบายว่า บุรุษบุคคลเสวย (สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา) เพราะกรรมที่ตนทำไว้ในชาติก่อนเป็นปัจจัยเท่านั้น. ด้วยบทว่า ปุพฺเพกตเหตุ นี้ มิจฉาทิฏฐิกบุคคลทั้งหลายปฏิเสธกรรมเวทนา (เวทนาเกิดแต่กรรม) และกิริยเวทนา (เวทนาเกิดแต่กิริยา) ยอมรับแต่เฉพาะวิปากเวทนา (เวทนาที่เกิดจากวิบาก) อย่างเดียวเท่านั้น.
ว่าด้วยโรค ๘ อย่างเป็นต้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสโรคไว้ ๘ อย่างเหล่านี้ คือ อาพาธมีน้ำดี (กำเริบ) เป็นสมุฏฐาน ๑ อาพาธมีเสมหะเป็นสมุฏฐาน ๑ อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐาน ๑ อาพาธที่เกิดจากโรคดี โรคเสมหะ โรคลม มาประชุมกัน ๑ อาพาธที่เกิดจากเปลี่ยนฤดู ๑ อาพาธที่เกิดจากการบริหาร (ร่างกาย) ไม่ถูกต้อง ๑ อาพาธที่เกิดจากการพยายาม (ทำให้เกิดขึ้น) ๑ อาพาธที่เกิดจากวิบากกรรม ๑. ในโรคทั้ง ๘ อย่างนั้น. มิจฉาทิฏฐิกบุคคลปฏิเสธโรค ๗ อย่างข้างต้นแล้วยอมรับแต่เฉพาะโรคชนิดที่ ๘ เท่านั้น.
ในบรรดากองแห่งกรรม ๓ ชนิด ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ คือ ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม (กรรมให้ผลในภพปัจจุบัน) ๑ อุปปัชชเวทนียกรรม (กรรมให้ผลในภพถัดไป) ๑ อปรปริยายเวทนียกรรม (กรรมให้ผลในภพต่อๆ ไป) ๑ มิจฉาทิฏฐิกบุคคลปฏิเสธกรรม ๒ ชนิด (ข้างต้น) ยอมรับแต่เฉพาะอปรปริยายกรรมอย่างเดียวเท่านั้น. แม้ในกองวิบาก ๓ ชนิด ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ คือ ทิฏฐธรรมเวทนียวิบาก (วิบากของกรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน) ๑ อุปปัชชเวทนียวิบาก (วิบากของกรรมที่ให้ผลในภพถัดไป) ๑ อปรปริยายเวทนียวิบาก (วิบากของกรรมที่ให้ผลในภพต่อๆ ไป) ๑.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 279
มิจฉาทิฏฐิกบุคคล ปฏิเสธวิบาก ๒ อย่าง (ข้างต้น) ยอมรับแต่เฉพาะอปรปริยายวิบากอย่างเดียวเท่านั้น.
แม้ในกองเจตนา ๔ ชนิด ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ คือ กุศลเจตนา ๑ อกุศลเจตนา ๑ วิปากเจตนา ๑ กิริยเจตนา ๑ มิจฉาทิฏฐิกบุคคลปฏิเสธเจตนา ๓ ชนิด ยอมรับแต่เฉพาะวิปากเจตนาอย่างเดียวเท่านั้น.
อธิบายอิสสรนิมมานเหตุ
บทว่า อิสฺสรนิมฺมานเหตุ แปลว่า เพราะการนิรมิตของพระอิศวรเป็นเหตุ. อธิบายว่า บุรุษบุคคลเสวยสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ก็เพราะถูกพระอิศวรนิรมิต (บันดาล). ด้วยว่ามิจฉาทิฏฐิกบุคคลเหล่านั้นมีความเข้าใจดังนี้ว่า เวทนาทั้ง ๓ นี้ บุรุษบุคคลไม่สามารถเสวยได้ เพราะมีกรรมที่ตนทำไว้ในปัจจุบันเป็นมูลบ้าง เพราะสั่งบังคับ (ของคนอื่น) เป็นมูลบ้าง เพราะกรรมที่ตนทำไว้ในชาติก่อนบ้าง เพราะไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย (คือ โดยบังเอิญ) บ้าง แต่บุรุษบุคคลเสวยเวทนาเหล่านี้ได้ เพราะการนิรมิตของพระอิศวรเป็นเหตุอย่างเดียว.
ก็มิจฉาทิฏฐิกบุคคลเหล่านี้มีวาทะอย่างนี้ จึงไม่ยอมรับโรคแม้ชนิดหนึ่งในบรรดาโรคอย่างที่กล่าวไว้แล้วในตอนต้น ปฏิเสธทั้งหมด และไม่ยอมรับกรรมชนิดหนึ่งในบรรดากองกรรม ๓ ชนิด วิบากชนิดหนึ่งในบรรดากองวิบาก ๓ ชนิด และเจตนาชนิดหนึ่งในบรรดากองเจตนา ๔ ชนิด ที่กล่าวไว้แล้วในตอนต้น ปฏิเสธทั้งหมด.
อธิบายอเหตุอปัจจยา
บทว่า อเหตุอปจฺจยา ได้แก่ เว้นจากเหตุและปัจจัย. อธิบายว่า บุรุษบุคคลเสวย สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรือ อทุกขมสุขเวทนา โดยไม่มีเหตุเลย. ด้วยว่ามิจฉาทิฏฐิกบุคคลเหล่านั้นมีความเข้าใจดังนี้ว่า เวทนา
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 280
ทั้ง ๓ นี้ ใครๆ ไม่สามารถจะเสวยได้ เพราะกรรมที่ตนทำไว้ในปัจจุบันเป็นมูลบ้าง เพราะการสั่งบังคับ (ของคนอื่น) เป็นมูลบ้าง เพราะกรรมที่ทำไว้ในชาติก่อนบ้าง เพราะการนิรมิตของพระอิศวรเป็นเหตุบ้าง บุรุษบุคคลเสวยเวทนาเหล่านี้ โดยไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยเลย. ก็มิจฉาทิฏฐิกบุคคลเหล่านั้นมีวาทะอย่างนี้ จึงไม่ยอมรับเหตุทั้งหลายที่กล่าวไว้แล้วในตอนต้น มีโรคเป็นต้น แม้สักอย่างหนึ่ง ปฏิเสธทั้งหมด.
พระพุทธเจ้าทรงตั้งลัทธิ
พระศาสดา ครั้นทรงยกมาติกาอย่างนี้ขึ้นแล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงจำแนกแสดงมาติกานั้น จึงตรัสคำว่า ตตฺร ภิกฺขเว เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า เอวํ วทามิ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า เราตถาคตกล่าวอย่างนี้ก็เพื่อตั้งลัทธิ เพราะว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ตั้งลัทธิแล้ว ย่อมก้าวเข้าสู่ลัทธิจากลัทธิที่ถูกข่มไว้. มิจฉาทิฏฐิกบุคคลทั้งหลายจะกล่าวคำเป็นต้นได้ว่า พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายกล่าวปุพเพกตวาทะหรือ. แต่เมื่อตั้งลัทธิแล้ว มิจฉาทิฏฐิกบุคคลทั้งหลายก้าวเข้าหาลัทธิไม่ได้ ก็จะถูกข่มได้โดยง่าย. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เอวํ วทามิ ดังนี้ แก่มิจฉาทิฏฐิกบุคคลเหล่านั้น ก็เพื่อยังลัทธิให้ตั้งไว้ ด้วยประการฉะนี้.
บทว่า เตนหายสฺมนฺโต ตัดบทเป็น เตนหิ อายสฺมนฺโต. มีคำอธิบายอย่างไร. มีคำอธิบายว่า ถ้าข้อนั้นเป็นจริง เมื่อเป็นอย่างนั้น ตามวาทะของท่านทั้งหลายนั้น. บทว่า ปาณาติปาติโน ภวิสฺสนฺติ ปุพฺเพ กตเหตุ
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 281
ความว่า บุรุษบุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกฆ่าสัตว์ บุรุษบุคคลเหล่านั้นทั้งหมดจักเป็นปาณาติบาต เพราะกรรมที่ทำไว้ในชาติก่อนเป็นเหตุ. เพราะเหตุไร? เพราะท่านทั้งหลายมีลัทธิดังนี้ว่า เขาสามารถเสวยกรรมคือปาณาติบาต เพราะกรรมที่ตนทำไว้เป็นมูลก็หามิได้ เพราะการสั่งบังคับ (ของผู้อื่น) เป็นมูลก็หามิได้ เพราะการนิรมิตของพระอิศวรเป็นเหตุก็หามิได้ เพราะไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยก็หามิได้ เขาเสวยเพราะกรรมที่ทำไว้ในภพก่อนเป็นเหตุเท่านั้น. ก็บุรุษบุคคลเป็นปาณาติบาตโดยอาการใด แม้เมื่องดเว้นจากปาณาติบาต ก็จักงดเว้นโดยอาการนั้น คือ เพราะกรรมที่ทำไว้ในชาติก่อนเป็นเหตุเหมือนกัน. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจับลัทธิของมิจฉาทิฏฐิกบุคคลเหล่านั้นนั่นแลได้แล้ว จึงทรงข่มมิจฉาทิฏฐิกบุคคลเหล่านั้น ด้วยประการดังพรรณนามาฉะนี้. พึงทราบถ้อยคำขยายความ แม้ในบทว่า อทินฺนาทายิโน เป็นต้นโดยนัยนี้.
บทว่า สารโต ปจฺจาคจฺฉตํ ได้แก่ ยึดถือโดยความเป็นสาระ. บทว่า ฉนฺโท ได้แก่ กัตตุกัมยตาฉันทะ (ความพอใจคือความเป็นผู้ใคร่เพื่อจะทำ). ในบทว่า อิทํ วา กรณียํ อิทํ วา อกรณียํ นี้ มีอธิบายดังนี้ว่า ไม่มีความเป็นผู้ใคร่เพื่อจะทำ หรือความบากบั่นของบุรุษเฉพาะตัวเพื่อต้องการทำสิ่งที่ควรทำ ด้วยคิดว่า สิ่งนี้ควรทำ หรือเพื่อไม่ต้องการทำสิ่งที่ไม่ควรทำ ด้วยคิดว่า สิ่งนี้ไม่ควรทำ. อีกอย่างหนึ่ง เมื่อฉันทะและวายามะไม่มี ก็ไม่มีความคิดว่า สิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ. บทว่า อิติ กรณียา กรณีเย โข ปน สจฺจโต เถตโต อนุปลพฺภิยมาเน ความว่า เมื่อสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ ไม่ปรากฏ คือ ไม่ได้โดยความเป็นจริง โดยเป็น
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 282
ของถ่องแท้อย่างนี้. ก็ถ้าบุคคลจะพึงได้ทำสิ่งที่ควรทำ จะพึงได้เว้นจากสิ่งที่ไม่ควรทำไซร้ สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ เขาก็จะพึงได้โดยความเป็นของจริง โดยเป็นของแท้. แต่เพราะเหตุที่ไม่ได้ทั้ง ๒ อย่าง อย่างนี้ ฉะนั้น กิจที่ควรทำและไม่ควรทำนั้น เขาจึงไม่ได้โดยความเป็นของจริง โดยเป็นของแท้ คือว่าไม่ได้สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำนั้นด้วยอาการอย่างนี้.
บทว่า มุฏฺสฺสตีนํ ได้แก่ มีสติเลือนหายไป คือ ปล่อยสติไป. บทว่า อนารกฺขานํ วิหรตํ ได้แก่ ปราศจากอารักขา (ในทวารทั้ง ๖) อยู่. บทว่า น โหติ ปจฺจตฺตํ สหธมฺมิโก สมณวาโท ความว่า วาทะว่า เป็นสมณะ พร้อมทั้งเหตุเฉพาะตัวว่า เราทั้งหลายเป็นสมณะ ย่อมไม่มี คือ ไม่สำเร็จ แก่ท่านทั้งหลายหรือบุคคลเหล่าอื่นผู้เป็นอย่างนี้. เพราะว่า แม้สมณะทั้งหลายก็เป็นผู้มีกรรมที่ทำไว้ในชาติก่อนเป็นเหตุเหมือนกัน แม้ผู้มิใช่สมณะ ก็เป็นผู้มีกรรมที่ทำไว้ในชาติก่อนเป็นเหตุเหมือนกันแล. บทว่า สหธมฺมิโก ได้แก่ พร้อมทั้งเหตุ. บทว่า นิคฺคโห โหติ ได้แก่ การข่มของเราตถาคตมีอยู่. ก็มิจฉาทิฏฐิกบุคคลเหล่านั้นเป็นอันถูกข่มแล้วแล. ครั้นทรงข่มปุพเพกตวาทีบุคคลอย่างนี้แล้ว บัดนี้เพื่อจะทรงข่มอิสสรนิมมานวาทีบุคคล จึงตรัสคำว่า ตตฺร ภิกฺขเว เป็นต้น. ความหมายของคำนั้น พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วในปุพเพกตวาทะ ในอเหตุวาทะก็เหมือนกัน.
กระต่ายตื่นตูม
พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงความที่ลัทธิเดียรถีย์เหล่านี้ว่างเปล่าแล้วอย่างนี้ เพราะถึงการสืบต่อกันมาดำรงอยู่ในฐานะเป็นอกิริยทิฏฐิ
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 283
ก็ดี ความที่ลัทธิเดียรถีย์เหล่านี้ไม่ใช่คุณธรรมเครื่องนำออกจากทุกข์ก็ดี ความที่บุคคลผู้เชื่อถือในลัทธิเดียรถีย์เป็นเหมือนกับแมลงค่อมทอง ที่ส่งเสียงร้องด้วยความสำคัญในไฟ เพราะถึงความเป็นสภาพเหมือนกับการตำแกลบ เนื่องจากไม่มีแก่นสารก็ดี ความที่บุคคลผู้มีลัทธิเดียรถีย์นั้นเป็นทิฏฐิอุปมาเหมือนช่างสานตาบอด เพราะไม่มีการมองเห็นความหมายของลัทธิเดียรถีย์ทั้งเบื้องต้น ทั้งท่ามกลาง ทั้งสุดท้ายก็ดี ความที่บุคคลผู้ยึดถือลัทธิเดียรถีย์เหล่านั้นด้วยเหตุเพียงเสียงเท่านั้น แล้วมีความเห็นว่าเป็นแก่นสาร มีสภาพคล้ายกับกระต่ายที่ได้ฟังเสียงน่ากลัวของผลตาลสุกที่หล่นลงบนพื้นดินแล้วหนีไปด้วยสำคัญว่า แผ่นดินถล่มก็ดี บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงความที่ธรรมที่พระองค์แสดงเป็นธรรมมีแก่นสาร และความเป็นธรรมเครื่องนำออกจากทุกข์ จึงตรัสคำว่า อยํ โข ปน ภิกฺขเว แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนว่าธรรมที่เราแสดงนี้ เป็นต้น.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนิคฺคหิโต คือ ไม่ถูกคนอื่นข่ม ได้แก่ ไม่มีใครสามารถจะข่มได้. บทว่า อสํกิลิฏฺโ คือ เป็นธรรมไม่หมองมัว ได้แก่ บริสุทธิ์ คือ อันบุคคลแม้คิดว่า จักทำธรรมนั้นให้เศร้าหมอง แล้วประพฤติ ก็ไม่สามารถจะทำให้เป็นอย่างนั้นได้. บทว่า อนูปวชฺโช ได้แก่ พ้นจากการถูกว่าร้าย. บทว่า อปฺปฏิกุฏโ ความว่า ไม่ถูกปฏิเสธหรือไม่ถูกคัดค้านอย่างนี้ว่า ประโยชน์อะไรด้วยธรรมนี้ ท่านทั้งหลายจงนำธรรมนั้นไปเสีย. บทว่า วิญฺญูหิ ได้แก่ บัณฑิตทั้งหลาย. เพราะคำพูดของคนที่ไม่ใช่บัณฑิต พูดโดยไม่รู้ ไม่เป็นประมาณ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า วิญฺญูหิ ดังนี้.
บัดนี้ เพื่อจะแสดงธรรมนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตั้งปัญหาถามว่า กตโม จ ภิกฺขเว แล้วตั้งมาติกาโดยนัยเป็นต้นว่า อิมา ฉ ธาตุโย เมื่อจะทรงจำแนกแสดงตามลำดับ จึงตรัสคำเป็นต้นว่า อิมา ฉ ธาตุโย อีก.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 284
อธิบายธาตุ
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธาตุโย ได้แก่ สภาวะทั้งหลาย ความหมายว่า สภาวะที่ประกาศถึงความไม่ใช่ชีวะ ไม่ใช่สัตว์ ชื่อว่าความหมายของธาตุ. บทว่า ผสฺสายตนานิ ได้แก่ ชื่อว่าอายตนะ เพราะหมายความว่าเป็นบ่อเกิดของวิปากผัสสะทั้งหลาย. บทว่า มโนปวิจารา ได้แก่ การท่องเที่ยวไปของใจในฐานะ ๑๘ ด้วยเท้า คือ วิตกและวิจาร. บทว่า ปฐวีธาตุ ได้แก่ ธาตุที่ตั้งมั่น. บทว่า อาโปธาตุ ได้แก่ ธาตุทำหน้าที่เชื่อมประสาน. บทว่า เตโชธาตุ ได้แก่ ธาตุทำหน้าที่ให้อบอุ่น. บทว่า วาโยธาตุ ได้แก่ ธาตุทำหน้าที่ให้เคลื่อนไหว. บทว่า อากาสธาตุ ได้แก่ ธาตุที่ถูกต้องไม่ได้. บทว่า วิญฺาณธาตุ ได้แก่ ธาตุทำหน้าที่รู้แจ้ง.
ธาตุกัมมัฏฐาน
ธาตุกัมมัฏฐานนี้มาแล้วอย่างนี้. ก็แลกัมมัฏฐานนี้นั้น ในที่มาโดยย่อ ควรกล่าวทั้งโดยย่อทั้งโดยพิสดาร แต่ในที่มาโดยพิสดาร จะกล่าวโดยย่อไม่ควร ควรกล่าวแต่โดยพิสดารอย่างเดียว. ส่วนในติตถายตนสูตรนี้ กัมมัฏฐานนี้มาแล้วด้วยอำนาจธาตุ ๖ โดยย่อ. จะกล่าวกัมมัฏฐานนั้นทั้งสองอย่าง (ทั้งโดยย่อทั้งโดยพิสดาร) ก็ควร.
กำหนดโดยย่อ
พระโยคาวจร แม้เมื่อกำหนดกัมมัฏฐานด้วยอำนาจธาตุ ๖ โดยย่อ ก็ย่อมกำหนดอย่างนี้. รูป ๕ เหล่านี้ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ จัดเป็น มหาภูตรูป อากาสธาตุ จัดเป็น อุปาทารูป และเมื่อเห็นอุปาทารูปประเภทเดียว อุปาทารูป ๒๓ ที่เหลือ พึงกำหนดว่า ถูกเห็นด้วยเหมือนกัน.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 285
บทว่า วิญฺาณธาตุ ได้แก่ จิต. จิตนั้นได้แก่ วิญญาณขันธ์ เวทนาที่เกิดร่วมกับวิญญาณขันธ์นั้น ชื่อว่าเวทนาขันธ์ สัญญาที่เกิดร่วมกับวิญญาณขันธ์นั้น ชื่อว่าสัญญาขันธ์ ผัสสะและเจตนาที่เกิดร่วมกับวิญญาณขันธ์นั้น ชื่อว่าสังขารขันธ์ ขันธ์ทั้ง ๔ ดังว่ามานี้ ชื่อว่าอรูปขันธ์. อนึ่ง มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ ชื่อว่ารูปขันธ์. บรรดารูปขันธ์ และอรูปขันธ์นั้น อรูปขันธ์ ๔ เป็นนาม รูปขันธ์เป็นรูป. มีธรรมอยู่ ๒ อย่างเท่านั้น คือ นาม ๑ รูป ๑. ไม่มีสัตว์หรือชีวะ นอกจากธรรม ๒ อย่างนั้น. พึงทราบกัมมัฏฐานที่ทำให้บรรลุอรหัตตผลตัวอำนาจธาตุ ๖ โดยย่อของภิกษุรูปหนึ่ง ดังว่ามานี้.
กำหนดโดยพิสดาร
แต่พระโยคาวจร เมื่อจะกำหนดโดยพิสดาร ครั้นกำหนดมหาภูตรูป ๔ แล้ว จึงกำหนดอุปาทารูป ๒๓ ตามแนวแห่งการกำหนดอากาสธาตุ. ต่อมา เมื่อจะกำหนดปัจจัยของรูปเหล่านั้น ก็พิจารณาดูมหาภูตรูป ๔ นั่นแลอีก แล้วประมวลลงเป็นโกฏฐาสะ. (ส่วน) คือ บรรดามหาภูตรูป ๔ นั้น ปฐวีธาตุ มี ๒๐ ส่วน อาโปธาตุมี ๑๒ ส่วน เตโชธาตุมี ๔ ส่วน วาโยธาตุมี ๖ ส่วน (รวมเป็น) กำหนดมหาภูตรูป ๔๒ ส่วน. เพิ่มอุปาทารูป ๒๓ เข้าไป (รวมเป็น) กำหนดรูป ๖๕ พระโยคาวจรพิจารณาเห็นรูป ๖๕ เหล่านั้น และรวมวัตถุรูปเข้าด้วยเป็นรูป ๖๖.
ส่วน วิญญาณธาตุ ได้แก่ จิต ๘๑ โดยเป็นโลกิยจิต จิต ๘๑ ทั้งหมดนั้น ชื่อว่า วิญญาณขันธ์ แม้เวทนาเป็นต้นที่เกิดพร้อมกับจิต ๘๑ นั้น ก็มีจำนวนเท่านั้นเหมือนกัน รวมความว่า เวทนา ๘๑ ชื่อว่า เวทนาขันธ์ สัญญา ๘๑ ชื่อว่า สัญญาขันธ์ เจตนา ๘๑ ชื่อว่า สังขารขันธ์ รวมความว่า อรูปขันธ์ทั้ง ๔ เหล่านี้ เมื่อกำหนดด้วยอำนาจธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๓ ก็ได้แก่ ธัมมายตนะ ๓๒๔.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 286
ไม่มีสัตว์หรือชีวะ มีแต่ธรรม ๒
ธรรมทั้งหมด คือ อรูปธรรมเหล่านี้ และรูปธรรม ๖๖ ดังว่ามานี้ ครั้นประมวลแล้ว ก็มีธรรมอยู่ ๒ อย่าง คือ นาม ๑ รูป ๑ ไม่มีสัตว์หรือชีวะนอกไปจากธรรม ๒ อย่างนั้น.
กำหนดปัจจัยของนาม - รูป
พระโยคาวจร ครั้นกำหนดเบญจขันธ์โดยเป็นนามรูปดังว่ามานี้ เมื่อแสวงหาปัจจัยของนามรูปเหล่านั้น ก็เห็นปัจจัยอย่างนี้ คือ เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย เพราะมีกรรมเป็นปัจจัย เพราะมีอาหารเป็นปัจจัย แล้วข้ามพ้นความสงสัยในกาลทั้ง ๓ ได้ คือ แม้ในอดีตนามรูปนี้ก็เป็นไปแล้วด้วยปัจจัยเหล่านี้ แม้ในอนาคตก็จักเป็นไปด้วยปัจจัยเหล่านี้ แม้ในปัจจุบันก็เป็นไปอยู่ด้วยปัจจัยเหล่านี้เหมือนกัน (จากนั้น) ก็ปฏิบัติไปตามลำดับ (จนกระทั่ง) ได้บรรลุอรหัตตผล. พึงทราบกัมมัฏฐานที่เป็นเหตุให้บรรลุอรหัตตผลด้วยอำนาจธาตุ ๖ แม้โดยพิสดารดังว่ามานี้.
ผัสสายตนะ ๖
บทว่า จกฺขุํ ผสฺสายตนํ ความว่า จักษุชื่อว่าอายตนะ เพราะหมายความว่า เป็นบ่อเกิด โดยอรรถว่า เป็นสมุฏฐานแห่งผัสสะ ๗ ที่เกิดพร้อมกับวิญญาณ ๗ เหล่านี้ คือ จักขุวิญญาณ ๒ สัมปฏิจฉันนวิญญาณ ๒ สันตีรณวิญญาณ ๓ เปรียบเหมือนทองคำเป็นต้นเป็นบ่อเกิดของทองคำเป็นต้น. แม้ในบทว่า โสตํ ผสฺสายตนํ เป็นต้น ก็มีนัยนี้แล.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 287
ส่วนในบทว่า มโน ผสฺสายตนํ นี้ พึงทราบว่า ได้แก่ วิบากผัสสะ ๒๒ กัมมัฏฐานนี้มาด้วยอำนาจผัสสายตนะ ๖ ดังว่ามานี้. กัมมัฎฐานนั้นควรกล่าวทั้งโดยย่อทั้งโดยพิสดาร. ว่าโดยย่อก่อน ก็ในอายตนะ ๖ นี้ อายตนะ ๕ ข้อแรก ชื่อว่าอุปาทารูป เมื่อเห็นอายตนะ ๕ นั้นแล้ว ก็เป็นอันเห็นอุปาทารูปที่เหลือด้วย. อายตนะที่ ๖ คือ จิต เป็น วิญญาณขันธ์. ธรรม ๓ ที่เหลือ มีเวทนาเป็นต้นที่เกิดพร้อมกับวิญญาณขันธ์นั้น เป็น อรูปขันธ์. พึงทราบกัมมัฏฐานที่เป็นเหตุให้บรรลุอรหัตตผลทั้งโดยย่อทั้งโดยพิสดาร ตามนัยที่กล่าวมาแล้วในตอนต้นนั่นแล.
มโนปวิจาร ๑๘
บทว่า จกฺขุนา รูปํ ทิสฺวา ความว่า เห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณ. บทว่า โสมนสฺสฏานิยํ ได้แก่ เป็นเหตุแห่งโสมนัส. ภิกษุเมื่อส่งใจเที่ยวไป ชื่อว่าเที่ยวไปอย่างใกล้ชิด ในบทว่า อุปวิจรติ นี้. แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้แล. ในบทว่า จกฺขุนา รูปํ ทิสฺวา นี้ พึงทราบว่า รูปจะเป็นที่น่าปรารถนาหรือไม่น่าปรารถนาก็ตาม เห็นรูปใดแล้วโสมนัสเกิดขึ้น รูปนั้นชื่อว่า เป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส. เห็นรูปใดแล้วโทมนัสเกิดขึ้น รูปนั้นชื่อว่า เป็นที่ตั้งแห่งโทมนัส เห็นรูปใดแล้วอุเบกขาเกิดขึ้น รูปนั้นชื่อว่า เป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา. แม้ในเสียงเป็นต้น ก็นัยนี้นี้แล. กัมมัฏฐานนี้มาแล้วโดยย่อ ด้วยประการดังพรรณนามาฉะนี้. ส่วนกัมมัฏฐานนั้น ในที่ที่มาแล้วโดยย่อ ควรกล่าวทั้งโดยย่อทั้งโดยพิสดาร. ในที่มาแล้วโดยพิสดาร
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 288
ไม่ควรกล่าวโดยย่อ. แต่ในติตถายนสูตรนี้ กัมมัฏฐานนี้มาแล้วด้วยอำนาจมโนปวิจาร ๑๘ โดยย่อ. กัมมัฏฐานนั้นควรกล่าวทั้งโดยย่อทั้งโดยพิสดาร.
ในกัมมัฏฐานนั้น ว่าโดยย่อก่อน รูป ๙ เหล่านี้ คือ จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย รูป เสียง กลิ่น รส เป็นอุปาทารูป เมื่อเห็นอุปาทารูปทั้ง ๙ เหล่านั้นแล้ว อุปาทารูปที่เหลือก็เป็นอันเห็นด้วยเหมือนกัน. โผฏฐัพพะ คือ มหาภูตรูป ๓ เมื่อเห็นมหาภูตรูปทั้ง ๓ เหล่านั้นแล้ว มหาภูตรูปที่ ๔ ก็เป็นอันเห็นด้วยเหมือนกัน. มโน เป็น วิญญาณขันธ์. ธรรมทั้งหลายมีเวทนาเป็นต้นที่เกิดพร้อมกับวิญญาณขันธ์นั้นเป็น อรูปขันธ์. พึงทราบกัมมัฏฐานที่เป็นเหตุให้บรรลุอรหัตตผล ทั้งโดยย่อทั้งโดยพิสดารตามนัยที่กล่าวแล้วในตอนต้นนั่นแล. บทว่า อริยสจฺจานิ ได้แก่ สัจจะทั้งหลายที่ทำให้เป็นพระอริยะ หรือที่พระอริยเจ้าแทงตลอดแล้ว. ในที่นี้มีความย่อเพียงเท่านี้. แต่เมื่อว่าโดยพิสดารแล้ว บทนี้ได้ประกาศไว้แล้วในวิสุทธิมรรค.
ธาตุ ๖
ถามว่า บทว่า ฉนฺนํ ภิกฺขเว ธาตูนํ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเริ่มไว้เพื่ออะไร. ตอบว่า เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจได้ง่าย. จริงอยู่ พระตถาคตเจ้าประสงค์จะตรัสปัจจยวัฏฏกะ ๑๒ บทแก่บุคคลใด ก็ทรงแสดงวัฏฏะ คือ การก้าวลงสู่ครรภ์ แก่บุคคลนั้น. เพราะว่า เมื่อทรงแสดงวัฏฏะคือก้าวลงสู่ครรภ์แล้ว ก็ทรงมีความสะดวกที่จะตรัสเอง ทั้งที่จะสอนผู้อื่นให้รู้. (ฉะนั้น) จึงควรทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเริ่มบทนี้ไว้ ก็เพื่อสอนผู้อื่นให้รู้ได้ง่าย.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 289
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ฉนฺนํ ธาตูนํ ได้แก่ ปฐวีธาตุ เป็นต้น ที่กล่าวแล้วในตอนต้นนั่นแล. บทว่า อุปาทาย แปลว่า อาศัย. ด้วยบทว่า อุปาทาย นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแต่เพียงปัจจัย. มีคำอธิบายดังนี้ว่า การก้าวลงสู่ครรภ์มารดา มีเพราะธาตุ ๖ เป็นปัจจัย. เพราะธาตุ ๖ ของสัตว์ผู้เกิดในครรภ์นั้นเป็นปัจจัย. ถามว่า ของมารดา หรือว่าของบิดา. ตอบว่า ไม่ใช่ของมารดา ไม่ใช่ของบิดา เพราะธาตุ ๖ ของสัตว์ผู้ถือปฏิสนธินั่นแลเป็นปัจจัย จึงมีการก้าวลง (สู่ครรภ์มารดา) ของสัตว์ผู้เกิดในครรภ์. ก็ขึ้นชื่อว่า คัพภสัตว์ (สัตว์ผู้เกิดในครรภ์) นี้ มีประการต่างๆ คือ คัพภสัตว์ในนรก คัพภสัตว์ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน คัพภสัตว์ในปิตติวิสัย คัพภสัตว์ในกำเนิดมนุษย์ คัพภสัตว์ในกำเนิดเทวดา. แต่ในที่นี้ ประสงค์เอาคัพภสัตว์ในกำเนิดมนุษย์.
บทว่า อวกฺกนติ โหติ ความว่า มีการก้าวลง การบังเกิด ความปรากฏ. ถามว่า มีได้อย่างไร? ตอบว่า มีเพราะการประชุมพร้อมแห่งองค์ ๓. สมจริงดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะการประชุมพร้อมแห่งองค์ ๓ แล จึงมีการก้าวลง (สู่ครรภ์มารดา) ของสัตว์ผู้เกิดในครรภ์
องค์ประกอบ ๓ ประการ คือ อะไรบ้าง?
คือ มารดาบิดาในโลกนี้อยู่ร่วมกัน ๑ มารดาไม่ใช่หญิงอยู่ในวัยที่มีรอบเดือน ๑ คันธัพพสัตว์ยังไม่ปรากฏ ๑ การก้าวลง (สู่ครรภ์มารดา) ของสัตว์ผู้เกิดในครรภ์ยังไม่มีก่อน
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 290
มารดาบิดาในโลกนี้อยู่ร่วมกัน และมารดาเป็นหญิงที่อยู่ในวัยที่มีรอบเดือน แต่ว่าคันธัพพสัตว์ไม่ปรากฏ (อย่างนี้) การก้าวลง (สู่ครรภ์มารดา) ของสัตว์ผู้เกิดในครรภ์ก็ยังไม่มีก่อน
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แต่ว่า เมื่อใดแล มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน ๑ มารดาเป็นหญิงอยู่ในวัยที่มีรอบเดือน ๑ คันธัพพสัตว์ปรากฏ ๑ เพราะความประชุมพร้อมแห่งองค์ ๓ ดังว่ามานี้ การก้าวลง (สู่ครรภ์มารดา) ของสัตว์ผู้เกิดในครรภ์จึงมี.
บทว่า โอกฺกนฺติยา สติ นามรูปํ ความว่า ในที่ที่ตรัสไว้ว่า เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงมีนามรูป พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมุ่งถึงธรรม ๓๓ ประการ คือ วัตถุทสกะ กายทสกะ ภาวทสกะ (และ) อรูปขันธ์ ๓. แต่ในที่ที่ตรัสไว้ว่า เมื่อมีการก้าวลง นามรูปจึงมีนี้ พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมุ่งถึงธรรม ๓๔ ประการ (ที่เกิด) ในขณะปฏิสนธิของคัพภเสยยกสัตว์ โดยทรงเพิ่มวิญญาณขันธ์เข้าด้วย. ความที่สฬายตนะปรากฏในเมื่อมีนามรูป ความที่ผัสสะปรากฏในเมื่อมีสฬายตนะ ความที่เวทนาปรากฏในเมื่อมีผัสสะ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ด้วยบททั้งหลายมีอาทิว่า นามรูปปจฺจยา สฬายตนํ เหมือนทรงแสดงความที่นามรูปปรากฏในเมื่อมีการก้าวลง (สู่ครรภ์มารดา) ด้วยบทว่า โอกฺกนฺติยา สติ นามรูปํ ฉะนั้น.
เสวยเวทนา
ในบทว่า เวทิยมานสฺส นี้ มีอธิบายดังต่อไปนี้ ผู้เสวยเวทนาอยู่ก็ดี ผู้รู้เวทนาอยู่ก็ดี เรียกว่าผู้เสวย (ทั้งนั้น) อธิบายว่า ผู้กำลังเสวยอยู่ ชื่อว่าผู้เสวย (ดัง) ในประโยคนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้ากำลังเสวยอยู่
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 291
ขอสงฆ์จงทรงจำข้าพเจ้าไว้ว่า กำลังเสวยอยู่ ผู้รู้อยู่ ชื่อว่าผู้เสวย (ดัง) ในประโยคนี้ว่า บุคคลเมื่อเสวยสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า เรากำลังเสวยสุขเวทนา. แม้ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงประสงค์เอาผู้ที่รู้อยู่นั่นแล ว่าผู้เสวย.
บทว่า อิทํ ทุกฺขนฺติ ปญฺาเปมิ ความว่า เราตถาคตบัญญัติว่า นี้ทุกข์ ทุกข์มีเท่านี้ ไม่มีทุกข์นอกเหนือไปจากนี้ แก่สัตว์ผู้รู้อยู่อย่างนี้ คือ สอนให้เขารู้ ได้แก่ สอนให้เขาทราบ. แม้ในบทว่า อยํ ทุกฺขสมุทโย เป็นต้น ก็มีนัยนี้แล. บรรดาสัจจะมีทุกข์เป็นต้นในสูตรนั้น สันนิฏฐานกถา ดังนี้ ก็เว้นตัณหาเสียแล้ว ขันธ์ ๕ ที่เป็นไปภูมิ ๓ ชื่อว่า ทุกข์ ตัณหาในกาลก่อนที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์นั้นนั่นแล ชื่อว่า ทุกขสมุทัย การดับสัจจะทั้งสองนั้นโดยไม่ให้เกิดขึ้นอีก ชื่อว่า ทุกขนิโรธ อริยมรรคมีองค์ ๘ ชื่อว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
ตรัสปฏิจจสมุปบาทแก่ใคร?
พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้เมื่อจะตรัสว่า เมื่อมีการก้าวลง (สู่ครรภ์มารดา) นามรูปจึงมี ก็ตรัสแก่บุคคลผู้เสวยอยู่ ผู้รู้อยู่เท่านั้น แม้เมื่อจะตรัสว่า เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะ จึงมี ก็ตรัสแก่บุคคลผู้เสวยอยู่ ผู้รู้อยู่เท่านั้น แม้เมื่อจะตรัสว่า เพราะมีีสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะ จึงมี ก็ตรัสแก่บุคคลผู้เสวยอยู่ ผู้รู้อยู่เท่านั้น แม้เมื่อจะตรัสว่า เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี ก็ตรัสแก่บุคคลผู้เสวยอยู่ ผู้รู้อยู่เท่านั้น แม้เมื่อจะตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แล เราตถาคตบัญญัติว่า นี้ ทุกข์ แก่บุคคลผู้เสวยอยู่ ก็ตรัส
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 292
แก่ผู้เสวยอยู่ ผู้รู้อยู่เท่านั้น แม้เมื่อจะตรัสว่า เราตถาคตบัญญัติว่า นี้ ทุกขสมุทัย ก็ตรัสแก่ผู้เสวยอยู่ ผู้รู้อยู่เท่านั้น แม้เมื่อจะตรัสว่า เราตถาคตบัญญัติว่า นี้ ทุกขนิโรธ ก็ตรัสแก่ผู้เสวยอยู่ ผู้รู้อยู่เท่านั้น แม้เมื่อจะตรัสว่า เราตถาคตบัญญัติว่า นี้ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ก็ตรัสแก่ผู้เสวยอยู่ ผู้รู้อยู่เท่านั้น ด้วยประการดังพรรณนามานี้.
บัดนี้ เมื่อจะทรงขยายสัจจะเหล่านั้นที่วางไว้ตามลำดับให้พิสดาร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำว่า กตมญฺจ ภิกฺขเว เป็นต้น. ทุกข์ทั้งหมดนั้นในคำนั้น ข้าพเจ้า (พระพุทธโฆสาจารย์) ได้อธิบายไว้แล้วอย่างละเอียดทุกแง่ทุกมุมในวิสุทธิมรรคทีเดียว. พึงทราบตามนัยที่กล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคนั้นเถิด. ส่วนที่แปลกกัน มีดังต่อไปนี้. บรรดาอริยสัจเหล่านั้น อริยสัจ คือ ทุกขสมุทัย มาแล้วตามแบบนี้ คือ ยายํ ตณฺหา โปโนพฺภวิกา ในที่นี้มาแล้วด้วยอำนาจปัจจยาการว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เป็นต้น. อนึ่ง บรรดาอริยสัจเหล่านั้น อริยสัจ คือ ทุกขนิโรธ มาแล้วตามแบบนี้ คือ โย ตสฺสาเยว ตณฺหาย อเสสวิราคนิโรโธ ในที่นี้มาแล้วด้วยอำนาจการดับปัจจยาการ คือ อวิชฺชายเตฺวว อเสสวิราคนิโรธา เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อเสสวิราคนิโรธา ความว่า บททั้ง ๒ นั้น (วิราคะกับนิโรธะ) เป็นไวพจน์ของกันและกันนั่นเอง เพราะสำรอกไม่เหลือและเพราะดับไม่เหลือ (เหมือนกัน).
บทว่า สงฺขารนิโรโธ ได้แก่ มีการดับสังขารทั้งหลายโดยไม่เกิดขึ้นอีก. แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้แล. อนึ่ง กิเลสทั้งหลายมีอวิชชา
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 293
เป็นต้น มาถึงฐานะใดย่อมดับไป ฐานะนั้นเมื่อว่าโดยความหมายก็คือนิพพาน เป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้แล้วด้วยบทเหล่านี้. จริงอยู่ นิพพานพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้โดยนามว่า ความดับสนิทแห่งธรรมเหล่านั้น อย่างนี้คือ อวิชฺชานิโรโธ (ความดับสนิทแห่งอวิชชา) บ้าง สงฺขารนิโรโธ (ความดับสนิทแห่งสังขาร) บ้าง.
บทว่า เกวลสฺส แปลว่า ทั้งหมด. บทว่า ทุกฺขกฺขนฺธสฺส คือ กองแห่งวัฏทุกข์. บทว่า นิโรโธ โหติ คือ มีความไม่เป็นไป. ในบทว่า นิโรโธ โหติ นั้น พึงทราบว่า เพราะเหตุที่ดับสนิทแห่งกิเลสทั้งหลายมีอวิชชาเป็นต้น เรียกว่า อาการที่สิ้นไปแห่งกิเลสทั้งหลายมีอวิชชาเป็นต้นบ้าง ว่าอรหัตตผลบ้าง ว่านิพพานบ้าง ฉะนั้น ในที่นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอรหัตตผลไว้ในฐานะ ๑๒ ด้วยอำนาจการเห็นอาการที่กิเลสมีอวิชชาเป็นต้นสิ้นไปแล้ว (และ) ตรัสนิพพานไว้ในฐานะ ๑๒ เช่นกัน.
ในบทว่า อิทํ วุจฺจติ นี้ มีอธิบายว่า บทว่า อิทํ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอานิพพานอย่างเดียวหามิได้. บทว่า อฏฺงฺคิโก ความว่า ชื่อว่ามรรคอื่นที่พ้นไปจากองค์ ๘ ไม่มี. เปรียบเหมือนว่า เมื่อกล่าวว่า ดนตรีประกอบด้วยองค์ ๕ ก็เป็นอันกล่าวว่า ดนตรีมีเพียงองค์ ๕ เท่านั้น ฉันใด แม้ในที่นี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า มรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ก็พึงทราบว่า เป็นอันตรัสว่า มรรคมีองค์ ๘ เท่านั้น.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 294
บทว่า อนิคฺคหิโต คือ ไม่ถูกข่ม. อธิบายว่า บุคคลเมื่อข่มธรรม ย่อมแสดงอริยสัจลดจำนวนลงบ้าง เพิ่มจำนวนขึ้นบ้าง เปลี่ยนแปลงอริยสัจนั้นบ้าง. ข้อนั้นๆ อันใครๆ ไม่สามารถจะแสดงอริยสัจ ๔ ลดจำนวนลงอย่างนี้ คือ อริยสัจ ๔ เหล่านี้ไม่มี มีเพียง ๒ หรือ ๓ เท่านั้นบ้าง ไม่สามารถจะแสดงเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างนี้คือ อริยสัจมี ๕ หรืออริยสัจมี ๖ บ้าง ไม่สามารถจะแสดงเปลี่ยนแปลงว่า อริยสัจไม่ใช่ ๔ ข้อนี้ อริยสัจ ๔ เป็นอย่างอื่น ฉะนั้น ธรรมนี้จึงชื่อว่าไม่ถูกข่ม. บทที่เหลือในที่ทุกแห่ง ง่ายทั้งนั้นแล.
จบอรรถกถาติตถายตนสูตรที่ ๑