พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. สรภสูตร ว่าด้วยอฐานะ ๓ อย่าง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  21 ต.ค. 2564
หมายเลข  38690
อ่าน  446

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 320

ทุติยปัณณาสก์

มหาวรรคที่ ๒

๔. สรภสูตร

ว่าด้วยอฐานะ ๓ อย่าง

อรรถกถา สรภสูตร 323

เรื่องโคกาฬกะ 330


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 320

๔. สรภสูตร

ว่าด้วยอฐานะ ๓ อย่าง

[๕๐๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์ สมัยนั้นปริพาชกชื่อสรภะ เป็นผู้เลี่ยงไปจากพระธรรมวินัยนี้ไม่นาน เขากล่าววาจาอย่างนี้ในประชุมชนในกรุงราชคฤห์ว่า ธรรมของพวกสมณสักยบุตร เรารู้ทั่วแล้วละ ก็เพราะเรารู้ทั่วธรรมของพวกสมณสักยบุตร เราจึงเลี่ยงมาเสียจากธรรมวินัยนั้นอย่างนี้

ครั้งนั้น ภิกษุมากรูป เวลาเช้าครองสบงแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าสู่กรุงราชคฤห์เพื่อบิณฑบาต ภิกษุเหล่านั้นได้ยินสรภปริพาชกกล่าววาจาอย่างนี้ในประชุมชนในกรุงราชคฤห์ว่า ธรรมของพวกสมณสักยบุตร เรารู้ทั่วแล้วละ ก็เพราะเรารู้ทั่วธรรมของพวกสมณสักยบุตร เราจึงเลี่ยงมาเสียจากธรรมวินัยนั้นอย่างนี้ ภิกษุเหล่านั้น ครั้นเที่ยวบิณฑบาตในกรุง

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 321

ราชคฤห์แล้ว ภายหลังอาหารกลับจากบิณฑบาตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นเข้าไปถึงแล้ว ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง ภิกษุเหล่านั้นนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่งแล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ปริพาชกชื่อสรภะ เลี่ยงไปจากพระธรรมวินัยนี้ไม่นาน เขากล่าววาจาอย่างนี้ในประชุมชนในกรุงราชคฤห์ว่า ธรรมของพวกสมณสักยบุตร ฯลฯ จากธรรมวินัยนั้นอย่างนี้ สาธุ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระกรุณาโปรดเสด็จไปอารามปริพาชกแทบฝั่งแม่น้ำสัปปินีที่สรภปริพาชกอยู่เถิด

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับด้วยดุษณีภาพ ครั้นเวลาเย็น เสด็จออกจากที่เร้นไปอารามปริพาชกแทบฝั่งแม่น้ำสัปปินี ที่สรภปริพาชกอยู่ ครั้นถึงแล้ว ประทับบนอาสนะที่เขาจัดไว้แล้ว ครั้นประทับแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามสรภปริพาชกว่า สรภะ ได้ยินว่าท่านกล่าวอย่างนี้จริงหรือว่า ธรรมของพวกสมณสักยบุตร ฯลฯ จากธรรมวินัยนั้นอย่างนี้

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามอย่างนี้แล้ว สรภปริพาชกนิ่งเสีย

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามสรภปริพาชกครั้งที่ ๒ ว่า พูดเถิดสรภะ ธรรมของสมณสักยบุตร ท่านรู้ทั่วว่าอย่างไร? ถ้าคำของท่านจักไม่บริบูรณ์ เราจักช่วยให้บริบูรณ์ แต่ถ้าคำของท่านจักบริบูรณ์ไซร้ เราก็จักอนุโมทนา

แม้ครั้งที่ ๒ สรภปริพาชกก็คงนิ่งอยู่

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถาม ... เป็นครั้งที่ ๓ ว่า สรภะ ธรรมของสมณสักยบุตร เราบัญญัติเอง พูดเถิด สรภะ ธรรมของสมณสักยบุตร ท่านรู้ทั่วว่าอย่างไร ถ้าคำของท่านจักไม่บริบูรณ์ เราจักช่วยให้บริบูรณ์ แต่ถ้าคำของท่านจักบริบูรณ์ไซร้ เราก็จักอนุโมทนา

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 322

แม้ครั้งที่ ๓ สรภปริพาชกก็คงนิ่ง

ทีนี้ ปริพาชกทั้งหลายกล่าวกะสรภปริพาชกว่า อาวุโสสรภะ ท่านจะพึงขอร้องข้อใดกะพระสมณโคดม พระสมณโคดมก็ยอมให้ข้อนั้นแก่ท่าน พูดเถิด อาวุโสสรภะ ธรรมของพวกสมณสักยบุตร ท่านรู้ทั่วว่าอย่างไร ถ้าคำของท่านจักไม่บริบูรณ์ พระสมณโคดมจักช่วยให้บริบูรณ์ แต่ถ้าคำของท่านจักบริบูรณ์ไซร้ พระสมณโคดมก็จักอนุโมทนา

เมื่อปริพาชกทั้งหลายกล่าวอย่างนี้แล้ว สรภปริพาชกนิ่งอั้นหมดสง่า คอตกก้มหน้าซบเซาไม่มีปฏิภาณ นั่งอยู่

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแจ้งว่า สรภปริพาชกนิ่งอั้นหมดสง่า คอตกก้มหน้าซบเซาไม่มีปฏิภาณแล้ว จึงตรัสกะปริพาชกเหล่านั้นว่า ปริพาชกทั้งหลาย ผู้ใดจะพึงว่าเราว่า ท่านปฏิญญาว่าเป็นสัมมาสัมพุทธะ แต่ธรรมเหล่านี้ท่านยังมิได้ตรัสรู้แล้ว ดังนี้ เราจะพึงซักไซ้ไล่เลียงผู้นั้นในข้อนั้นอย่างดี ผู้นั้นแลถูกเราซักไซ้ไล่เลียงอย่างดีเข้า ย่อมเป็นไปไม่ได้ ไม่มีทางเลยที่เขาจะไม่ตกอยู่ในฐานะ ๓ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ จะต้องพูดกลบเกลื่อน หรือออกนอกเรื่องนอกทางไปบ้าง จะต้องแสดงความขุ่นเคือง ความ โกรธแค้น ความน้อยใจให้ปรากฏบ้าง จะต้องนิ่งอั้นหมดสง่า คอตกก้มหน้าซบเซาไม่มีปฏิภาณเหมือนอย่างสรภปริพาชกบ้าง

ปริพาชกทั้งหลาย ผู้ใดจะพึงว่าเราว่า ท่านปฏิญญาว่าเป็นขีณาสพ แต่อาสวะเหล่านี้ของท่านยังไม่สิ้นแล้ว ดังนี้ เราจะพึงซักไซ้ไล่เลียงผู้นั้นในข้อนั้นอย่างดี ฯลฯ เหมือนอย่างสรภปริพาชกบ้าง

ปริพาชกทั้งหลาย ผู้ใดจะพึงว่าเราว่า ท่านแสดงธรรมเพื่อประโยชน์อันใด ประโยชน์อันนั้นไม่เป็นทางสิ้นทุกข์โดยชอบแห่งบุคคลผู้ทำตาม ดังนี้ เราจะพึงซักไซ้ไล่เลียงผู้นั้นในข้อนั้นอย่างดี ฯลฯ เหมือนอย่างสรภปริพาชกบ้าง

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 323

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงเปล่งพระสิงหนาท ๓ วาระแล้ว เสด็จกลับไปทางอากาศ

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปแล้วไม่ช้า ปริพาชกเหล่านั้นก็รุมกันถากถางสรภปริพาชกว่า แน่ะอาวุโสสรภะ สุนัขจิ้งจอกแก่ในป่าใหญ่ทะยานใจว่า จักร้องให้เหมือนเสียงราชสีห์ ก็ร้องเป็นเสียงสุนัขจิ้งจอกนั่นแหละ ร้องเป็นเสียงสุนัขป่าอยู่นั่นเองฉันใด ท่านก็ฉันนั้นแหละ อาวุโสสรภะ ลับหลังพระสมณโคดมคุยว่า ข้าจักบันลือสิงหนาท ก็ ... เสียงสุนัขจิ้งจอกนั่นแหละ ... เสียงสุนัขป่านั่นเอง ไก่ตัวเมียกระหยิ่มใจว่า จักขันให้เหมือนเสียงไก่ตัวผู้ ก็ ... เสียงไก่ตัวเมียอยู่นั่นฉันใด ท่านก็ฉันนั้นแหละ อาวุโสสรภะ ลับหลังพระสมณโคดมคุยว่า ข้าจักขัน ก็กะต๊ากนั่นเอง โคในโรงว่าง ย่อมสำคัญว่า เสียงลึกฉันใด ท่านก็ฉันนั้นแหละ. อาวุโสสรภะ ลับหลังพระสมณโคดมก็สำคัญว่า เสียง (ของตัว) ลึก. ครั้งนั้นแล ปริพาชกเหล่านั้นต่างช่วยกันเอาปฏัก คือ วาจา ทิ่มแทงสรภปริพาชกรอบข้าง.

จบสรภสูตรที่ ๔

อรรถกถาสรภสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในสรภสูตรที่ ๔ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า ราชคเห ได้แก่ ในพระนครอันมีชื่ออย่างนี้. บทว่า คิชฺฌกูเฏ ปพฺพเต ความว่า ภูเขานั้นมียอดเหมือนนกแร้ง อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า คิชฌกูฏ เพราะนกแร้งอยู่บนยอดของภูเขานั้น ณ ภูเขาคิชฌกูฏนั้น. ด้วย

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 324

บทว่า คิชฺฌกูเฏ นี้ ท่านแสดงถึงที่ประทับของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงประทับอยู่ โดยเอากรุงราชคฤห์เป็นโคจรคาม. อธิบายว่า เขาสร้างวิหารถวายพระตถาคตเจ้าบนภูเขาคิชฌกูฏ. ฉะนั้น คำว่า คิชฺฌกูฏวิหาโร จึงเป็นชื่อของวิหารนั้น. ในสมัยนั้น ปริพาชกชื่อว่าสรภะนี้ อยู่ ณ ที่นั้น ฉะนี้แล.

บทว่า สรโภ นาม ปริพฺพาชโก อจิรปกฺกนฺโต โหติ ความว่า ปริพาชกผู้มีชื่ออย่างนี้ว่า สรภะ บวชแล้วในศาสนานี้ ไม่นานก็เลี่ยงออกไป. อธิบายว่า ไม่นานก็สึก.

แท้จริง เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เหล่าเดียรถีย์พากันเสื่อมลาภสักการะ. ลาภสักการะมากมายเกิดขึ้นแก่พระรัตนตรัย ดังเช่นที่พระธรรมสังคาหกาจารย์เจ้ากล่าวไว้ว่า ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้อันชนทั้งหลายสักการะ เคารพนบนอบ บูชา ยำเกรงแล้ว เป็นผู้ได้รับบริขาร คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจยเภสัช ส่วนอัญญเดียรถีย์ทั้งหลาย (และ) ปริพาชกทั้งหลาย ไม่มีผู้สักการะ เคารพ นับถือ บูชา และยำเกรง ไม่ได้รับบริขาร คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจยเภสัช ดังนี้

อัญญเดียรถีย์ประมาณ ๕๐๐ เหล่านั้น ผู้เสื่อมลาภและสักการะอย่างนี้ นัดประชุมในอารามของปริพาชกแห่งหนึ่ง หารือกันว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จำเดิมแต่เวลาที่พระสมณโคดมอุบัติขึ้นแล้ว พวกเรากลายเป็นผู้เสื่อมจากลาภสักการะ ท่านทั้งหลายจงใคร่ครวญหาโทษของพระสมณโคดม และสาวกของพระสมณโคดมสักข้อหนึ่ง กระจายโทษออกไป ติเตียนคำสอน

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 325

ของพระสมณโคดมนั้นแล้ว จักยังลาภสักการะให้เกิดขึ้นแก่พวกเราทั้งหลาย อัญญเดียรถีย์เหล่านั้น เมื่อตรวจดูโทษ ได้พูดกันว่า พวกเราไม่สามารถจะมองเห็นโทษของพระสมณโคดมในที่ ๔ สถาน คือ ในทวาร ๓ และอาชีวะ ๑ ได้ ท่านทั้งหลายจงละฐานะทั้ง ๔ ไว้ก่อน แล้วตรวจดูในฐานะอื่น. ลำดับนั้น ในระหว่างพวกเดียรถีย์เหล่านั้น เดียรถีย์คนหนึ่งกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นอุบายอย่างอื่น ก็แต่ว่า สมณะเหล่านี้ ลงประชุมกันทุกกึ่งเดือน ปิดประตูหน้าต่าง ไม่ให้แม้แต่สามเณรเข้าไป ถึงอุปัฏฐากผู้ใกล้ชิดก็ไม่ได้เห็น สมณะเหล่านี้ ร่ายมายามนต์ที่ทำให้คนหลงใหล แล้วทำให้คนกลับใจเข้าเป็นพวก. ถ้าเราทั้งหลายจักสามารถนำเอามายามนต์ที่ทำให้คนหลงใหลนั้นมาได้ด้วยอุบายนี้ ลาภสักการะอันโอฬารจักมีแก่พวกเรา. เดียรถีย์แม้อีกคนหนึ่ง ได้ลุกขึ้นกล่าวอย่างนั้นเหมือนกัน. เดียรถีย์ทั้งหมดได้มีวาทะเป็นอย่างเดียวกัน. ต่อแต่นั้น เดียรถีย์ทั้งหมดพูดว่า ผู้ใดจักสามารถนำมายามนต์นั้นมาได้ พวกเราจักแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าในลัทธิของพวกเราทั้งหลาย.

ลำดับนั้น พวกเดียรถีย์ถามกันตั้งแต่คนสุดท้ายขึ้นไปว่า ท่านสามารถไหม? ท่านสามารถไหม? เมื่อส่วนมากตอบว่า ผมไม่สามารถ ผมไม่สามารถ จึงพากันถามสรภปริพาชกว่า อาจารย์ครับ ท่านอาจารย์จักสามารถไหม? เขาตอบว่า การนำมายามนต์นี้มาไม่ใช่เรื่องหนักหนา ถ้าพวกท่านจักยืนยันตามถ้อยคำของตน แต่งตั้งเราเป็นหัวหน้า พวกเดียรถีย์กล่าวว่า อย่าหนักใจเลยท่านอาจารย์ ท่านจงนำมายามนต์มาเถิด ท่านทำสำเร็จแล้ว พวกผมแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าแน่. เขาพูดว่า ผู้จะนำมายามนต์นั้นมาได้ ไม่

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 326

ใช่จะสามารถนำมาได้โดยการขโมย หรือปล้นเอา แต่ต้องทำเป็นพวกเดียวกับสาวกของพระสมณโคดม. คือ ต้องไหว้สาวกของพระสมณโคดม ทำวัตรปฏิบัติ ฉันอาหารในบาตรของสาวกแห่งพระสมณโคดมเหล่านั้น จึงจะสามารถนำมาได้ กิริยาของคนเช่นนี้นั้น พวกท่านพอใจหรือ? เดียรถีย์ทั้งหลายตอบว่า ท่านจงทำอย่างใดอย่างหนึ่ง นำมามอบให้พวกเรา. สรภปริพาชกได้ให้สัญญาแก่ปริพาชกทั้งหลายว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านทั้งหลายเห็นผมแล้ว ต้องทำเป็นเหมือนไม่เห็น แล้วในวันที่สองจึงลุกขึ้นแต่เช้า เข้าไปยังมหาวิหาร ชื่อว่าคิชฌกูฏ กราบเท้าภิกษุทั้งหลายที่ตนเห็นแล้วๆ ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ภิกษุทั้งหลายพูดกันว่า เดียรถีย์เหล่าอื่นกระด้าง หยาบคาย แต่ชะรอยเดียรถีย์คนนี้ จักเป็นผู้มีศรัทธา มีความเลื่อมใสแล้ว. เขากล่าวว่า ท่านเจ้าข้า ท่านทั้งหลายบวชแล้วในสำนักที่เหมาะสมทีเดียว เพราะรู้ (ดี) แล้ว ส่วนผมไม่ได้ใคร่ครวญ เมื่อแล่นไปผิดท่า จึงเที่ยวไปผิดในทิศทางที่ไม่ได้นำสัตว์ออกจากทุกข์. ก็ครั้นเขากล่าวอย่างนี้แล้ว ไหว้ภิกษุทุกรูปที่ตนเห็นแล้วๆ เตรียมน้ำสำหรับอาบเป็นต้นไว้ ทำไม้ชำระฟันให้เป็นกัปปิยะ ล้างเท้า ทาน้ำมันให้ ได้ภัตรที่เหลือแล้วบริโภค.

พระมหาเถระรูปหนึ่ง เห็นเขาอยู่โดยทำนองนี้ จึงพูดว่า ท่านมีศรัทธาเลื่อมใสแล้ว จะไม่บวชหรือ? เขาตอบว่า ท่านผู้เจริญใครจักให้ผมบวช เพราะพวกผมประพฤติตนเป็นข้าศึกต่อพระคุณท่านทั้งหลายมาตลอดกาลนาน. พระเถระกล่าวว่า ถ้าท่านประสงค์จะบวช เราก็จะบวชให้ แล้วให้เขาบรรพชา. นับแต่วาระที่บวชแล้ว เขาได้ทำวัตรปฏิบัติเป็นนิตย์ พระเถระพอใจในวัตรปฏิบัติของเขา ไม่นานก็ให้เขาอุปสมบท. ในวันอุปสมบท ท่านเข้าไปในโรงอุโบสถพร้อมด้วยภิกษุทั้งหลาย เห็นภิกษุทั้งหลายยกย่องพระปาฏิโมกข์ด้วยอุตสาหะมาก จึงคิดว่า ภิกษุเหล่านี้ร่ายมายามนต์ที่ทำให้คน

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 327

หลงใหลแล้วทำให้กลับใจเข้าเป็นพวก. อีก ๒ - ๓ วัน เท่านั้น เราก็จักสวดได้ เธอไปสู่บริเวณ ไหว้พระอุปัชฌาย์แล้วเรียนถามว่า ท่านขอรับ ธรรมนี้ชื่ออะไร? พระอุปัชฌาย์ตอบว่า ชื่อว่าปาฏิโมกข์. ท่านขอรับ ปาฏิโมกข์นี้เป็นธรรมอันสูงสุดหรือ? ถูกแล้วคุณ สิกขานี้จะทรงไว้ได้ซึ่งสาสนธรรมทั้งหมด.

ท่านขอรับ ถ้าสิกขาธรรมนี้ เป็นธรรมสูงสุดแล้วไซร้ ผมจะเรียนเอาสิกขาธรรมนี่แหละเสียก่อน. พระเถระรับคำว่า เรียนเถิดคุณ เธอกำลังเรียนอยู่ พบปริพาชกทั้งหลาย ถูกเขาถามว่า เป็นอย่างไรอาจารย์ จึงบอกว่า พวกท่านอย่าคิดอะไรเลย อีก ๒ - ๓ วัน ผมจักนำไปให้. ไม่ช้าก็เรียนจนจบ แล้วพูดกับอุปัชฌาย์ว่า มีเพียงเท่านี้หรือขอรับ หรือแม้อย่างอื่นก็ยังมี. พระเถระตอบว่า มีเท่านี้เท่านั้นแหละคุณ. ในวันรุ่งขึ้น เธอนุ่งห่มตามปกติ ถือบาตรตามทำนองที่เคยถือ แล้วออกจากอารามชื่อว่าคิชฌกูฏ ไปยังอารามของปริพาชก ปริพาชกทั้งหลายเห็นเธอแล้ว พากันห้อมล้อมเธอ ถามว่า เป็นอย่างไรท่านอาจารย์ ชะรอยจะไม่สามารถนำเอามายามนต์ที่ทำให้คนหลงใหลมาได้กระมัง? เธอตอบว่า อย่าหนักใจเลยอาวุโสทั้งหลาย มายามนต์ที่ทำให้คนหลงใหล เรานำมาได้แล้ว ตั้งแต่นี้ไป เราทั้งหลายจักมีลาภสักการะมาก ท่านทั้งหลายจงสมัครสมานสามัคคีกัน อย่าทะเลาะวิวาทกัน ปริพาชกทั้งหลายกล่าวว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ ถ้าท่านเรียนได้มาแล้ว ก็จงบอกมายามนต์ที่ทำให้คนหลงใหลนั้นแก่พวกผมบ้าง. เธอสวดปาฏิโมกข์เริ่มแต่ต้น (จนจบ). ลำดับนั้น ปริพาชกทั้งหมดเหล่านั้นพูดกันว่า มาเถิดท่านผู้เจริญทั้งหลาย พวกเราจะเข้าไปในพระนคร กล่าวโทษของพระสมณโคดม. เมื่อประตูเมืองยังไม่ทันเปิด พากันไปใกล้ประตู เข้าไปก่อนใครๆ ทั้งหมดทางประตูที่เปิดแล้ว. คำว่า สรโภ นาม ปริพฺพาชโก อจิรปกฺกนฺโต โหติ (ปริพาชก

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 328

ชื่อว่าสรภะ หลีกไปแล้วไม่นาน) ดังนี้ ท่านกล่าวหมายถึงปริพาชกนั้น ผู้หลบหลีกไปด้วยทั้งเพศของตนอย่างนี้.

ก็ในวันนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูสัตว์โลกในเวลาย่ำรุ่ง ได้ทรงเห็นเหตุนี้ว่า วันนี้สรภปริพาชกจักเที่ยวไปในพระนคร แล้วทำประกาศนียกรรม (ประกาศเป่าร้อง) เมื่อเธอกล่าวคำตำหนิพระรัตนตรัย ชื่อว่าโปรยยาพิษลง แล้วไปสู่อารามแห่งปริพาชก ถึงเราตถาคตก็จักไป ณ ที่นั้นเหมือนกัน บริษัทแม้ทั้ง ๔ จักประชุมกันในอารามของปริพาชกนั้นแล ในสมาคมนั้นจักมีคน ๘๔,๐๐๐ ได้ดื่มน้ำอมฤต. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระดำริว่า สรภปริพาชกจงมีโอกาส จงประกาศโทษตามชอบใจ แล้วตรัสเรียกพระอานันทเถระมารับสั่งว่า อานนท์ เธอจงไปบอกภิกษุสงฆ์ในมหาวิหาร ๑๘ แห่ง ให้ไปบิณฑบาตพร้อมกับเราตถาคต. พระเถระได้ปฏิบัติดังนั้นแล้ว. ภิกษุทั้งหลายต่างถือบาตรจีวร ห้อมล้อมพระตถาคตแล้วเทียว. พระศาสดาทรงพาภิกษุสงฆ์ไปบิณฑบาตที่บ้านใกล้ประตูพระนคร ฝ่ายสรภปริพาชกก็เข้าไปสู่พระนครพร้อมด้วยปริพาชกทั้งหลาย ครั้นถึงท่ามกลางหมู่บริษัท ประตูพระราชวัง ประตูบ้านอำมาตย์ และที่ถนน ๔ แยกเป็นต้น ได้ประกาศว่า ธรรมของพวกสมณศากยบุตรทั้งหลาย เรารู้หมดแล้ว ดังนี้เป็นต้น ในที่นั้นๆ. คำมีอาทิว่า โส ราชคเห ปริสติ เอวํ วาจํ ภาสติ (สรภปริพาชกนั้น กล่าวคำอย่างนี้ในบริษัท ในกรุงราชคฤห์) นี้ ท่านกล่าวหมายถึงการกล่าวติโทษนั้น. บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า อญฺาโต สรภปปริพาชกแสดงว่า (ธรรมของพวกสมณศากยบุตร) เรารู้แล้ว คือ เข้าใจแล้ว ได้แก่ เรียนให้แจ่มแจ้งแล้ว. บทว่า อญฺาย แปลว่า รู้แล้ว. บทว่า อปกฺกนฺโต ได้แก่ หลีกไป ทั้งๆ ที่ยังทรงเพศนั่นแหละ. สรภปริพาชกนั้น

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 329

เมื่อจะแสดงความนี้ จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ก็ถ้าหากศาสนาของพระสมณโคคมจักมีสาระอะไรอยู่บ้างแล้วไซร้ เราก็จะไม่หลีกออกไป แต่ศาสนาของพระสมณโคดมนั้นไร้สาระ ไม่มีแก่นสาร สมณะทั้งหลายร่ายมายามนต์ที่ทำให้คนหลงใหล จึงลวงชาวโลกอยู่ได้. (๑)

บทว่า อถโข สมฺพหุลา ภิกฺขู ความว่า ครั้งนั้นเมื่อปริพาชกนั้นกล่าวอยู่อย่างนี้ ภิกษุฝ่ายอรัญญวาสี ๕๐๐ รูป ไม่รู้ว่าพระศาสดาเสด็จไปบิณฑบาต ณ ที่ชื่อโน้น จึงเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ในเวลาภิกษาจาร คำว่า อถโข สพฺพหุลา ภิกฺขู นี้ ท่านกล่าวหมายถึงภิกษุเหล่านั้น. บทว่า อสฺโสสุํ แปลว่า ได้ยินแล้ว. บทว่า เยน ภควา เตนุปสงฺกมิ ความว่า เข้าไปด้วยตั้งใจว่า พวกเราจักกราบทูลเรื่องนี้แด่พระทศพล บทว่า สิปฺปินิยา ตีรํ ได้แก่ ฝั่งแม่น้ำที่มีชื่ออย่างนี้ว่า สิปปินิกา.

บทว่า อธิวาเสสิ ภควา ตุณฺหีภาเวน มีอรรถาธิบายว่า ทรงไว้ซึ่งขันติในภายใน ทรงรับรู้ไว้ด้วยจิตอย่างเดียว โดยไม่ทรงไหวองค์คือกาย และองค์คือวาจา. พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงรับทราบ (โดยดุษณีภาพ) อย่างนี้แล้ว ทรงพระดำริต่อไปว่า วันนี้เราตถาคตเมื่อจะไปหักล้างวาทะของสรภปริพาชก ควรจะไปเพียงผู้เดียว หรือมีภิกษุสงฆ์ห้อมล้อมไปด้วย. ลำดับนั้น พระองค์ทรงตกลงพระทัยดังนี้ว่า ถ้าเราจักมีภิกษุสงฆ์แวดล้อมไป มหาชนจักคิดอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมเมื่อจะเข้าไปสู่ที่โต้วาทะ ก็ต้องยกพวกไป ใช้พลังของบริษัทหักล้างวาทะที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ยอมให้ฝ่ายตรงข้ามโงหัวขึ้นได้เลย ก็เมื่อวาทะเกิดขึ้นแก่เราแล้ว กิจคือการโต้วาทะโดยพาผู้อื่นไปด้วย จะไม่มีแก่เราเลย เราผู้เดียวนี่แหละจะไปหักล้างวาทะนั้น. และการที่เราเป็นพระพุทธเจ้าหักล้างวาทะที่เกิดขึ้นแก่ตนในปัจจุบันนี้ ไม่เป็นของอัศจรรย์ เพราะ


(๑) ปาฐะว่า ลาภํ ขาทนฺติ ฉบับพม่าเป็น โลกํ ขาทนฺติ.

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 330

ในเวลาที่เราบำเพ็ญพุทธจริยา ผู้อื่นที่จะสามารถนำพาธุระแทนเรา แม้เมื่อเกิดในอเหตุกปฏิสนธิ ไม่เคยมีแล้ว. ก็เพื่อจะยังความข้อนี้ให้ชัดเจน ควรนำกัณหชาดก (มาแสดงประกอบ) ด้วยดังนี้

เมื่อใดมีงานหนัก เมื่อใดการเดินทางลำบาก เมื่อนั้นเจ้าของก็จะเทียมโคชื่อกัณหะ โคกัณหะนั้น จะต้องนำธุระนั้นไปโดยแท้.

เรื่องโคกาฬกะ

เล่ากันมาว่า ในอดีตสมัย พ่อค้าเกวียนผู้หนึ่งพำนักอยู่ในเรือนของหญิงแก่คนหนึ่ง. ครั้งนั้นแม่โคนมตัวหนึ่งของเขาได้ตกลูกในเวลากลางคืน. มันตกลูกเป็นโคผู้ตัวหนึ่ง. จำเดิมแต่หญิงแก่เห็นลูกโคแล้ว เกิดความสิเนหาอย่างลูก. ในวันรุ่งขึ้น บุตรของพ่อค้าเกวียนกล่าวว่า ท่านจงรับค่าเช่าบ้านของท่าน. หญิงแก่พูดว่า เราไม่ต้องการสิ่งแลกเปลี่ยนอย่างอื่น ท่านจงให้ลูกวัวตัวนี้แก่เราเถิด. บุตรพ่อค้าเกวียนกล่าวว่า ท่านจงรับมันไว้เถิดแม่. หญิงแก่รับลูกโคนั้นไว้แล้ว ให้ดื่มนม ให้ข้าวยาคู ภัตรและหญ้าเป็นต้นเลี้ยงดูแล้ว. มันเจริญเติบโตขึ้น มีรูปร่างอ้วนพี สมบูรณ์ด้วยกำลังและความเพียร ถึงพร้อมด้วยอาจาระ มีชื่อว่ากาฬกะ. ครั้นต่อมา เมื่อพ่อค้าเกวียนคนหนึ่งเดินทางมาพร้อมด้วยเกวียน ๕๐๐ เล่ม ล้อเกวียนติดหล่มอยู่ในที่น้ำเซาะ. เขาพยายามเทียมวัว ๑๐ ตัวบ้าง ๒๐ ตัวบ้าง ก็ไม่สามารถจะฉุดเกวียนขึ้น (จากหล่ม) ได้ จึงเข้าไปหาโคกาฬกะ กล่าวว่า พ่อมหาจำเริญ เราจักให้รางวัลแก่เจ้า ขอให้เจ้าช่วยยกเกวียนของเราขึ้นด้วยเถิด ก็ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็พาโคกาฬกะนั้นไป คิดว่า โคอื่นจะสามารถลากแอกไปพร้อมกับเกวียนนี้

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 331

ไม่มี จึงผูกเชือกเข้าที่แอกเกวียน แล้วเทียมโคกาฬกะนั้นแต่เพียงตัวเดียว โคกาฬกะลากเกวียนนั้นขึ้นไปจอดไว้บนบก. นำเกวียนทั้ง ๕๐๐ เล่มขึ้นไปได้โดยทำนองนี้แหละ. มันนำเกวียนเล่มสุดท้ายขึ้นได้แล้ว (พอเขาปลดออกจากแอก) ก็ยกศีรษะขึ้นแสดงอาการเมื่อยล้า. พ่อค้าเกวียนคิดว่า โคกาฬกะนี้ เมื่อฉุดเกวียนมีประมาณเท่านี้ขึ้นได้ ไม่เคยทำอย่างนี้ ชะรอยมันจะทวงค่าจ้าง ดังนี้แล้ว จึงหยิบกหาปณะเท่าจำนวนเกวียน ผูกห่อเงิน ๕๐๐ กหาปณะไว้ที่คอของมัน. มันไม่ยอมให้ผู้อื่นเข้าใกล้ตัวมัน เดินตรงไปยังบ้านทีเดียว. หญิงแก่เห็นแล้วก็แก้ออก รู้ว่าเป็นกหาปณะ จึงพูดว่า ลูกเอ๋ย เหตุไฉนเจ้าจึงทำอย่างนี้ เจ้าอย่าเข้าใจว่า แม่นี้จักดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยทรัพย์ที่เราทำงานแล้วนำมามอบให้ ดังนี้แล้ว ให้โคอาบน้ำด้วยน้ำอุ่น ชโลมตัวด้วยน้ำมัน แล้วกล่าวสอนว่า ต่อนี้ไป เจ้าอย่าได้ทำอย่างนี้อีก. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระดำริว่า เพราะว่าในเวลาที่เราบำเพ็ญพุทธจริยา ผู้อื่นชื่อว่าสามารถนำธุระแทนเราแม้ผู้บังเกิดแล้วในอเหตุกปฏิสนธิ ไม่เคยมีแล้ว ดังนี้ ทรงหมายถึงเรื่องที่เล่ามานี้แหละ จึงเสด็จไปตามลำพังพระองค์เดียว.

เพื่อจะแสดงเรื่องนั้น ท่านจึงกล่าวคำมีอาทิว่า อถโข ภควา สายณฺหสมยํ ปฏิสลฺลานา วุฏฺิโต (ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จหลีกออกจากที่เร้นในเวลาเย็นแล้ว) ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปฏิสลฺลานา ความว่า ทรงสำรวมจิตจากอารมณ์หยาบทั้งหลาย อธิบายว่า ออกจากผลสมาบัติ. บทว่า เตนุปสงฺกมิ ความว่า เมื่อปริพาชกทั้งหลายทำประกาศนียกรรมทั่วพระนครแล้ว ออกจากพระนครไปประชุมกันที่อารามของปริพาชก นั่งสนทนากันถึงสีหนาทกถาอย่างนี้ว่า ปริพาชกทั้งหลายถามว่า ท่านสรภะ ถ้าพระสมณโคดมจักเสด็จมาแล้วไซร้ ท่านจักทำอย่างไร สรภ-

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 332

ปริพาชกตอบว่า (ข้าพเจ้าจะทำอย่างนี้ คือ) เมื่อพระสมณโคดมบันลือสีหนาทอย่างหนึ่ง ข้าพเจ้าจักบันลือ ๒ อย่าง เมื่อพระสมณโคดมบันลือ ๒ อย่าง ข้าพเจ้าจักบันลือ ๔ อย่าง เมื่อพระสมณโคดมบันลือ ๔ อย่าง ข้าพเจ้าจักบันลือ ๕ อย่าง เมื่อพระสมณโคดมบันลือ ๕ อย่าง ข้าพเจ้าจักบันลือ ๑๐ อย่าง เมื่อพระสมณโคดมบันลือ ๑๐ อย่าง ข้าพเจ้าจักบันลือ ๒๐ อย่าง เมื่อพระสมณโคดมบันลือ ๒๐ อย่าง ข้าพเจ้าจักบันลือ ๓๐ อย่าง เมื่อพระสมณโคดมบันลือ ๓๐ อย่าง ข้าพเจ้าจักบันลือ ๔๐ อย่าง เมื่อพระสมณโคดมบันลือ ๔๐ อย่าง ข้าพเจ้าจักบันลือ ๕๐ อย่าง เมื่อพระสมณโคดมบันลือ ๕๐ อย่าง ข้าพเจ้าจักบันลือ ๑๐๐ อย่าง เมื่อพระสมณโคดมบันลือ ๑๐๐ อย่าง ข้าพเจ้าจักบันลือ ๑,๐๐๐ อย่าง ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปแล้ว.

ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อเสด็จเข้าไป ทรงนุ่งผ้าสองชั้นที่เขาย้อมดีแล้ว ทรงห่มสุคตมหาจีวร ได้เสด็จเข้าไปลำพังพระองค์เดียวโดยท่ามกลางพระนคร เหมือนพระราชาผู้ปราศจากพลนิกร เพราะทางไปอารามของปริพาชกอยู่กลางพระนคร มิจฉาทิฏฐิกบุคคลทั้งหลายเห็นแล้วพากันตามไปด้วยคิดว่า ปริพาชกทั้งหลายกระทำประกาศนียกรรม ระบุโทษของพระสมณโคดม ชะรอยพระองค์จะเสด็จไปเพื่อให้ปริพาชกเหล่านั้นยินยอมคล้อยตาม. ฝ่ายพวกสัมมาทิฏฐิกบุคคลก็พากันติดตามไปด้วยคิดว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงถือเอาบาตรและจีวรเสด็จไปลำพังพระองค์เดียวเท่านั้น (ชะรอย) วันนี้จักมีมหาธรรมสงความกับสรภปริพาชก แม้พวกเราทั้งหลายก็จักร่วมกันเป็นพยานในสมาคมนั้น. เมื่อมหาชนกำลังดูอยู่นั่นแหละ พระบรมศาสดาเสด็จเข้าไปสู่อารามของปริพาชกแล้ว.

ปริพาชกทั้งหลายเห็นพระฉัพพรรณรังสีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นช่อพวยพุ่งผ่านลำต้น คาคบ และกิ่งของต้นไม้ทั้งหลาย จึงพากัน

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 333

แหงนดูด้วยคิดว่า ในวันอื่นๆ (๑) ไม่เคยมีโอภาสเช่นนี้เลย นี่อะไรกันหนอ. สรภปริพาชกฟังดังนั้นแล้ว ก็นั่งก้มหน้า ซบหัวลงระหว่างเข่า. ในสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นเสด็จเข้าไปยังอารามนั้นอย่างนี้แล้ว เสด็จประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูแล้ว. แท้จริง พระตถาคตทรงเป็นผู้ควรแก่อาสนะ เพราะเสด็จอุบัติในตระกูลอันเลิศบนพื้นชมพูทวีป. ในที่ทั่วๆ ไป เขาจะจัดอาสนะไว้สำหรับพระองค์โดยเฉพาะ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนพุทธอาสน์มีค่ามากที่เขาปูลาดแล้ว (๒) อย่างนี้.

บทว่า เต ปริพฺพาชกา สรภํ ปริพฺพาชกํ เอตทโวจุํ ความว่า ได้ยินว่า เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสคำเพียงเท่านี้กับสรภปริพาชกอยู่นั่นแหละ ภิกษุสงฆ์ผู้ตามพระยุคลบาทของพระศาสดาก็มาถึงอารามของปริพาชก บริษัทแม้ทั้ง ๔ ประชุมกันแล้วในปริพาชการามนั่นแล. ลำดับนั้น ปริพาชกเหล่านั้นคิดว่า น่าอัศจรรย์ ที่พระสมณโคดมได้เสด็จมายังสำนักของพวกเรา ผู้เที่ยวไปแพร่โทษ ทำประกาศนียกรรมตลอดทั่วทั้งพระนครมาแล้ว ผู้เป็นคู่เวร เป็นศัตรู เป็นข้าศึก ไม่ตรัสคำที่ก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาทแม้น้อยหนึ่ง แต่กลับตรัสมธุรกถา ประหนึ่งว่าชโลมด้วยน้ำมันที่หุงสุกแล้วตั้ง ๑๐๐ ครั้ง ประหนึ่งให้ดื่มน้ำอมฤต จำเดิมแต่เวลาที่ได้เสด็จมาแล้ว ดังนี้แล้ว ทุกคนจึงได้ทูลคำนี้ คล้อยตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า. บทว่า ยาเจยฺยาสิ ความว่า ท่านพึงขอ คือ พึงปรารถนา ได้แก่ ต้องการ. บทว่า ตุณฺหีภูโต ได้แก่ ถึงความเป็นผู้ดุษณีภาพ. บทว่า มงฺกุภูโต ได้แก่ ถึงความสิ้นเดช. บทว่า ปตฺตกฺขนฺโธ ได้แก่ มีคอโน้มลง. บทว่า อโธมุโข ได้แก่ (นั่ง) ก้มหน้า.


(๑) ปาฐะว่า อญฺโ ฉบับพม่าเป็น อญฺทา.

(๒) ปาฐะว่า ปญฺตฺเต อาสเน ฉบับพม่าเป็น ปญฺตฺเต มหารเห พุทฺธาสเน.

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 334

บทว่า สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส เต ปฏิชานโต ความว่า ท่านปฏิญาณอย่างนี้ว่า เราเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมทั้งปวง เราตถาคตตรัสรู้แล้ว. บทว่า อนภิสมฺพุทฺธา ความว่า ชื่อว่าธรรมเหล่านี้ อันท่านไม่ได้ตรัสรู้แล้ว. บทว่า ตตฺถ ได้แก่ ในธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้เหล่านั้นอย่างนี้ว่า เรายังไม่ได้ตรัสรู้แล้ว.

บทว่า อญฺเญฺน วา อญฺํ ปฏิจริสฺสติ ความว่า หรือจักกลบเกลื่อนถ้อยคำอย่างหนึ่ง ด้วยถ้อยคำอีกอย่างหนึ่ง อธิบายว่า ถูกถามอย่างหนึ่ง จักตอบอีกอย่างหนึ่ง. บทว่า พหิทฺธา กถํ อปนาเมสฺสติ ความว่า นำถ้อยคำนอกประเด็นอย่างอื่นมากลบเกลื่อนถ้อยคำเดิม. บทว่า อปฺปจฺจยํ ได้แก่ ความไม่ยินดียิ่ง คือ อาการที่ไม่พอใจ. บทว่า ปาตุกริสฺสติ ได้แก่ จักกระทำให้ปรากฏ. ก็ในบรรดาฐานะ ๓ อย่างนั้น ตรัสโทมนัสด้วยอปัจจยศัพท์ ตรัสความโกรธนั่นแหละ แยกประเภทเป็นความโกรธอย่างอ่อน และความโกรธอย่างแรง ด้วยบททั้งสองข้างต้น.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงบันลือสีหนาทด้วยเวสารัชกรณธรรมข้อแรกอย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงบันลือสีหนาทด้วยเวสารัชกรณธรรมข้อ ๒ เป็นต้นต่อไปอีก จึงตรัสคำมีอาทิว่า โย โข มํ ปริพฺพาชก ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยสฺส โข ปน เต อตฺถาย ธมฺโม เทสิโต ความว่า จตุราริยสัจธรรม อันพระองค์ทรงแสดงแล้ว เพื่อประโยชน์แก่มรรคหรือผลใด. บทว่า โส น นิยฺยาติ ความว่า ธรรมนั้นไม่นำไป คือ ไม่เข้าถึง (ความสุข) ท่านกล่าวอธิบายว่า ไม่ยังประโยชน์ให้สำเร็จ. บทว่า ตกฺกรสฺส มีอธิบายว่า แห่งบุคคลผู้ทำตาม คือ ผู้บำเพ็ญ

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 335

ข้อปฏิบัติ. บทว่า สมฺมา ทุกฺขกฺขยาย ความว่า เพื่อความสิ้นไปแห่งวัฏทุกข์ทั้งสิ้น โดยเหตุ โดยนัย โดยการณะ. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ยสฺส โข ปน เต อตฺถาย ธมฺโม เทสิโต ความว่า ธรรมอันพระองค์ทรงแสดงเพื่อประโยชน์ใด คือ

อสุภกัมมัฏฐาน เพื่อประโยชน์แก่การบำบัดราคะ

เมตตาภาวนา เพื่อประโยชน์แก่การกำจัดโทสะ

สัจธรรม คือ มรณะ เพื่อประโยชน์แก่การกำจัดโมหะ

อานาปานสติ เพื่อประโยชน์แก่การกำจัดวิตก.

ในบทว่า โส น นิยฺยาติ ตกฺกรสฺส สมฺมา ทุกฺขกฺขยาย มีอธิบายดังนี้ ธรรมนั้นไม่นำไป คือ ไม่เข้าถึง ได้แก่ ไม่ยังประโยชน์ให้สำเร็จเพื่อความสิ้นไปแห่งวัฏทุกข์โดยชอบ คือ โดยเหตุ โดยนัย โดยการณะ แก่ผู้ปฏิบัติธรรมนั้น ตามที่ทรงแสดงไว้. บทว่า เสยฺยถาปิ สรโภ ปริพฺพาชโก ความว่า เขาจักนั่งเหมือนสรภปริพาชก ผู้นั่งซบเซา หมดปฏิภาณฉะนั้น.

เมื่อพระตถาคตเจ้าทรงบันลือสีหนาทด้วยบททั้ง ๓ อย่างนี้แล้ว ทรงวกกลับแสดงธรรม บริษัทประมาณ ๘๔,๐๐๐ ที่ประชุมกัน ณ สถานที่นั้น ได้ดื่มน้ำอมฤต. พระศาสดาทรงทราบว่า บริษัทดื่มน้ำอมฤตแล้ว จึงเหาะขึ้นสู่เวหาส เสด็จหลีกไป. เพื่อแสดงเนื้อความนั้น ท่านจึงกล่าวคำมีอาทิว่า อถโข ภควา ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สีหนาทํ ได้แก่ การบันลืออย่างประเสริฐ คือ การบันลืออย่างไม่เกรงขาม ได้แก่ การบันลืออย่างหาผู้เปรียบมิได้ บทว่า เวหาสํ ปกฺกามิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเข้าจตุตถฌาน มี

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 336

อภิญญาเป็นบาท ออกจากฌานแล้ว ทรงอธิษฐาน แล้วทะยานขึ้นสู่อากาศ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ก็แลครั้นเสด็จไปอย่างนี้แล้ว ทันใดนั้น ก็ได้เสด็จประทับอยู่ที่คิชฌกูฏมหาวิหาร.

บทว่า วาจาย สนฺนิโตทเกน ได้แก่ ทิ่มแทงด้วยวาจา. บทว่า สญฺชมฺภรึ อกํสุ ความว่า ปริพาชกทั้งหลายได้ทำการถากถาง คือ พูดกระทบไม่หยุดหย่อน อธิบายว่า (พูด) ทิ่มแทงหนักขึ้น. บทว่า พฺรหารญฺเ แปลว่า ในป่าใหญ่. บทว่า สีหนาทํ นทิสฺสามิ ความว่า สุนัขจิ้งจอกแก่เห็นอาการของราชสีห์บันลือสีหนาทก็คิดว่า ราชสีห์นี้ก็เป็นสัตว์เดียรัจฉาน แม้เราก็เป็นสัตว์เดียรัจฉาน ราชสีห์มี ๔ เท้า ถึงเราก็มี ๔ เท้า แม้เราก็จักบันลือสีหนาทได้เหมือนกัน. มันไม่อาจบันลือสีหนาทต่อหน้าราชสีห์ได้ พอราชสีห์หลีกออกไปหาอาหาร มันตัวเดียวก็เริ่มบันลือสีหนาท. คราวนั้น มันก็เปล่งเสียงสุนัขจิ้งจอกนั่นเองออกไป. ด้วยเหตุนั้น ปริพาชกจึงกล่าวว่า ก็ร้องออกมาเป็นเสียงสุนัขจิ้งจอกนั่นแหละ. บทว่า เภรณฺฑกํ เป็นไวพจน์ของบทว่า สิงคาลกะ นั่นเอง อีกอย่างหนึ่ง ท่านอธิบายว่า ร้องเสียงแตก ได้แก่ ร้องออกมาเป็นเสียงไม่น่าพอใจ. ด้วยข้ออุปมานี้ว่า เอวเมว โข ตฺวํ ปริพาชกทั้งหลายเปรียบพระตถาคตเจ้าเหมือนราชสีห์ เปรียบสรภปริพาชกเหมือนสุนัขจิ้งจอก.

บทว่า อมฺพกมทฺทรี ได้แก่ ลูกไก่ตัวเมียๆ. บทว่า ปุริสกรวิกํ รวิสฺสามิ ความว่า มันเห็นไก่ใหญ่ขันก็คิดว่า แม้ไก่ตัวนี้ก็มีสองขา สองปีก ถึงเราก็มีเหมือนกัน แม้เราก็จักขันอย่างนั้นบ้าง ดังนี้ (แต่) มันไม่กล้าขันต่อหน้าไก่ใหญ่ เมื่อไก่ใหญ่นั้นหลีกไปแล้วจึงขัน (แต่) ก็ขันเป็นเสียงไก่ตัวเมียนั่นเอง. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อมฺพกมทฺทริรวิกํเยว รวติ ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 337

บทว่า อุสโภ ได้แก่ โคผู้. บทว่า สุญฺาย ความว่า ว่าง คือ เว้นจากโคผู้ตัวเจริญที่สุด. บทว่า คมฺภึรํ นทิตพฺพํ มญฺติ ความว่า ย่อมสำคัญเสียงร้องของตัวว่าลึก เหมือนเสียงร้องของโคผู้ตัวประเสริฐที่สุด. บทที่เหลือในบททั้งปวงง่ายทั้งนั้น ฉะนี้แล.

จบอรรถกถาสรภสูตรที่ ๔