พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. ติตถิยสูตร ว่าด้วยความแตกต่างเเห่งอกุศลมูล ๓

 
บ้านธัมมะ
วันที่  21 ต.ค. 2564
หมายเลข  38694
อ่าน  416

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 368

ทุติยปัณณาสก์

มหาวรรคที่ ๒

๘. ติตถิยสูตร

ว่าด้วยความแตกต่างแห่งอกุศลมูล ๓

อรรถกถา ติตถิยสูตร 370

เรื่องหญิงฆ่าผัว 372


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 368

๘. ติตถิยสูตร

ว่าด้วยความแตกต่างแห่งอกุศลมูล ๓

[๕๐๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกปริพาชก (๑) ผู้ถือลัทธิอื่นจะพึงถามอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย ธรรม ๓ นี้ ธรรม ๓ คืออะไร คือ ราคะ โทสะ โมหะ นี้แล อาวุโสทั้งหลาย ธรรม ๓. ธรรม ๓ นี้ วิเศษแปลกต่างกันอย่างไร ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว จะพึงแก้ว่ากระไรแก่พวกปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่นเหล่านั้น.

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายของข้าพระพุทธเจ้า มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นเค้ามูล มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นแบบฉบับ มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นที่พึ่งอาศัย สาธุ ขอเนื้อความแห่งภาษิตนั้น จงแจ่มแจ้งแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าเองเถิด (๒) ภิกษุทั้งหลายฟังจากพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วจักทรงจำไว้.

ถ้าเช่นนั้น ท่านทั้งหลายจงฟัง ทำในใจให้ดี เราจักกล่าว. ภิกษุทั้งหลายรับพระพุทธพจน์แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกปริพาชกผู้นับถือลัทธิอื่นจะพึงถามอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย ธรรม ๓ นี้ ฯลฯ วิเศษแปลกต่างกันอย่างไร ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้ พึงแก้อย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย ราคะมีโทษน้อย แต่คลายช้า โทสะมีโทษมาก แต่คลายเร็ว โมหะมีโทษมากด้วย คลายช้าด้วย.


(๑) นักบวชนอกพระพุทธศาสนา ถ้าเพศหญิงเรียก ปริพาชิกา

(๒) เป็นสำนวน หมายความว่า ขอพระองค์ประทานคำตอบเองเถิด

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 369

ถ้าเขาถามต่อไปว่า ก็อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย ทำราคะที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้นก็ดี ทำราคะที่เกิดแล้วให้มากยิ่งขึ้นก็ดี? พึงแก้ว่า สุภนิมิต (อารมณ์ที่สวยงาม) เมื่อบุคคลทำในใจโดยไม่แยบคายซึ่งสุภนิมิต ราคะที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้นด้วย ราคะที่เกิดแล้วย่อมมากยิ่งขึ้นด้วย นี้แล อาวุโสทั้งหลาย เป็นเหตุเป็นปัจจัยซึ่งทำราคะที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้นบ้าง ทำราคะที่เกิดแล้วให้มากยิ่งขึ้นบ้าง

ถ้าถามว่า ก็อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย ทำโทสะที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้นก็ดี ทำโทสะที่เกิดแล้วให้มากยิ่งขึ้นก็ดี พึงแก้ว่า ปฏิฆนิมิต (อารมณ์ที่ไม่พอใจ) เมื่อบุคคลทำในใจโดยไม่แยบคายซึ่งปฏิฆนิมิต โทสะที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้นด้วย โทสะที่เกิดแล้วย่อมมากยิ่งขึ้นด้วย นี้แล อาวุโสทั้งหลาย เป็นเหตุเป็นปัจจัยซึ่งทำโทสะที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้นบ้าง ทำโทสะที่เกิดแล้วให้มากยิ่งขึ้นบ้าง

ถ้าถามว่า อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย ทำโมหะที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้นก็ดี ทำโมหะที่เกิดแล้วให้มากยิ่งขึ้นก็ดี พึงแก้ว่า อโยนิโสมนสิการ (ความทำในใจโดยไม่แยบคาย ความใส่ใจอย่างไม่ฉลาด) เมื่อบุคคลทำในใจโดยไม่แยบคาย โมหะที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้นด้วย โมหะที่เกิดแล้วย่อมมากยิ่งขึ้นด้วย นี้แล อาวุโสทั้งหลาย เป็นเหตุเป็นปัจจัยซึ่งทำโมหะที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้นบ้าง ทำโมหะที่เกิดแล้วให้มากยิ่งขึ้นบ้าง

ถ้าถามว่า ราคะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้นก็ดี ที่เกิดแล้วย่อมเสื่อมไปก็ดี เพราะอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย พึงแก้ว่า เพราะอสุภนิมิต (อารมณ์ที่ไม่สวยไม่งาม) เมื่อบุคคลทำในใจโดยแยบคายซึ่งอสุภนิมิต ราคะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้นด้วย ที่เกิดแล้วย่อมเสื่อมไปด้วย นี้แล อาวุโสทั้งหลาย เป็นเหตุเป็นปัจจัยซึ่งทำราคะที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้นบ้าง ทำราคะที่เกิดแล้วให้เสื่อมไปบ้าง

ถ้าถามว่า โทสะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้นก็ดี ที่เกิดแล้วย่อมเสื่อมไปก็ดี เพราะอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย พึงแก้ว่า เพราะเมตตาเจโตวิมุตติ (ความ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 370

หลุดพ้นแห่งใจ [จากปฏิฆะ] ด้วยเมตตา) เมื่อบุคคลที่ทำในใจโดยแยบคายซึ่งเมตตาเจโตวิมุตติ โทสะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้นด้วย โทสะที่เกิดแล้วย่อมเสื่อมไปด้วย นี้แล อาวุโสทั้งหลาย เป็นเหตุเป็นปัจจัยซึ่งทำโทสะที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้นบ้าง ทำโทสะที่เกิดแล้วให้เสื่อมไปบ้าง

ถ้าถามว่า โมหะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้นก็ดี ที่เกิดแล้วย่อมเสื่อมไปก็ดี เพราะอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย พึงแก้ว่า เพราะโยนิโสมนสิการ (ความทำในใจโดยแยบคาย) เมื่อบุคคลทำในใจโดยแยบคาย โมหะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้นด้วย โมหะที่เกิดแล้วย่อมเสื่อมไปด้วย นี้แล อาวุโสทั้งหลาย เป็นเหตุเป็นปัจจัยซึ่งทำโมหะที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้นบ้าง ทำโมหะที่เกิดแล้วให้เสื่อมไปบ้าง.

จบติตถิยสูตรที่ ๘

อรรถกถาติตถิยสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในติตถิยสูตรที่ ๘ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า ภควํมูลกา ความว่า ธรรมทั้งหลาย ชื่อว่า ภควมูลกา เพราะมีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นเค้ามูล. ท่านกล่าวคำอธิบายไว้ดังต่อไปนี้ว่า ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของพวกข้าพระองค์เหล่านี้ อันพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าให้บังเกิดแล้วในกาลก่อน เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว ขึ้นชื่อว่าสมณะหรือพราหมณ์อื่นๆ จะสามารถยังธรรมเหล่านี้ให้เกิดขึ้นชั่วพุทธันดรหนึ่งไม่มีเลย แต่ธรรมเหล่านี้ของ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 371

ข้าพระองค์ทั้งหลาย อันพระผู้มีพระภาคเจ้าให้บังเกิดขึ้นแล้ว ข้าพระองค์ทั้งหลายจะรู้ทั่วถึง คือ ตรัสรู้ธรรมเหล่านี้ได้ โดยอาศัยพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะฉะนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์ทั้งหลาย ชื่อว่ามีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นเค้ามูล ด้วยประการฉะนี้.

บทว่า ภควํเนตฺติกา ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแนะ คือ ทรงนำออก คือ ตามแนะนำซึ่งธรรมทั้งหลาย ได้แก่ การตั้งชื่อธรรมแต่ละอย่างๆ แล้วทรงแสดงตามสภาพ เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งหลายจึงชื่อว่ามีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้นำ.

บทว่า ภควํปฏิสรณา ความว่า ธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๔ เมื่อมาสู่คลองแห่งพระสัพพัญญุตญาณ ชื่อว่าย่อมแฝงอยู่ในพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควปฏิสรณา (มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นที่พึ่งอาศัย). บทว่า ปฏิสรนฺติ (๑) ได้แก่ รวมอยู่ คือ ชุมนุมอยู่. อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงตั้งชื่อธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๔ แต่ละข้อๆ ตามความเป็นจริง จึงทรงหวนระลึกถึงธรรมทั้งหลายด้วยสามารถแห่งการแทงตลอดของพระองค์ ผู้ประทับนั่ง ณ ควงต้นไม้มหาโพธิ์อย่างนี้ว่า ผัสสะ (เสมือน) มาทูลถามว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ชื่ออะไร. ตรัสตอบว่า เจ้าชื่อว่าผัสสะ เพราะอรรถว่า ถูกต้อง. เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณ (เสมือน) มาทูลถามว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์มีชื่ออย่างไร. ตรัสตอบว่า เจ้าชื่อว่าวิญญาณ เพราะอรรถว่า รู้แจ้ง เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งหลายจึงชื่อว่า ภควปฏิสรณา. บทว่า ภควนฺตํเยว ปฏิภาตุ ความว่า ความแห่งภาษิตนี้จงปรากฏแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์เดียวเถิด อธิบายว่า ขอพระองค์นั่นแหละ จงตรัสบอกแก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย.


(๑) ปาฐะว่า ปฏิสรนฺติ ฉบับพม่าเป็น ปฏิสรนฺตีติ

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 372

บทว่า ราโค โข ได้แก่ ราคะที่เป็นไปแล้วด้วยสามารถแห่งความยินดี. บทว่า อปฺปสาวชฺโช ความว่า มีข้อที่ควรตำหนิน้อย อธิบายว่า มีโทษน้อย โดยโทษทั้ง ๒ สถาน คือ ด้วยสามารถแห่งโทษที่เป็นโลกวัชชะ (โทษในปัจจุบัน) บ้าง ด้วยสามารถแห่งโทษที่เป็นวิปากวัชชะ (โทษในอนาคต) บ้าง. ข้อนี้อย่างไร. คือ มารดาบิดาให้พี่กับน้องเป็นต้น แต่งงานกัน ๑ ให้พวกลูกจัดแต่งงานให้กับพี่น้องของลูกเขา ๑. ราคะนี้มีโทษน้อย โดยที่เป็นโลกวัชชะเท่านี้ก่อน. ส่วนราคะที่มีโทษน้อยโดยที่เป็นวิปากวัชชะ อย่างนี้คือ ชื่อว่าปฏิสนธิในอบายที่มีสทารสันโดษเป็นมูลหามีไม่.

บทว่า ทนฺธวิราคี ความว่า ก็ราคะนี้เมื่อจะคลาย ก็จะค่อยๆ คลาย ไม่หลุดพ้นไปเร็ว จะติดตามอยู่นาน เหมือน (ผ้า) ที่ย้อมด้วยเขม่าเจือด้วยน้ำมัน ถึงจะไปสู่ภพอื่น ๒ - ๓ ภพ ก็ยังไม่จากไป (๑) เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าทันธวิราคี (คลายออกช้าๆ) ในข้อนั้น มีเรื่องดังต่อไปนี้เป็นตัวอย่าง

เรื่องหญิงฆ่าผัว

เล่ากันมาว่า บุรุษผู้หนึ่งประพฤติมิจฉาจารต่อภรรยาของพี่ชาย เขาเองได้เป็นที่รักของหญิงนั้นยิ่งกว่าสามีของตน. นางพูดกับเขาว่า เมื่อเหตุนี้ปรากฏแล้ว ข้อครหาอย่างใหญ่หลวงจักมี ท่านจงฆ่าพี่ชายของท่านเสีย เขาข่มขู่หญิงนั้นว่า ฉิบหายเถิด อีถ่อย มึงอย่าพูดอย่างนี้อีก. นางก็นิ่ง ล่วงไป ๒ - ๓ วัน ก็พูดอีก จิตของเขาถึงความลังเล ต่อแต่นั้น ถูกนางรบเร้าถึง ๓ ครั้ง จึงพูดว่า เราจะทำอย่างไร ถึงจะได้โอกาส. ลำดับนั้น นางได้บอกอุบายแก่เขาว่า ท่านจงทำตามที่ข้าพเจ้าบอกเท่านั้น ใกล้บ้านมหากกุธะ


(๑) ปาฐะว่า คนฺตวาปิ นาคจฺฉตีติ ทนฺธวิราคี เทฺว ติณิ ภวนฺตรานิ อาคจฺฉตีติ ทนฺธวิราคี ฉบับพม่าเป็น เทฺว ตีณิ ภวนฺตรานิ คนฺตวาปิ นาปคจฺฉตีติ ทนฺธวิราคี แปลตามฉบับพม่า.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 373

ตรงที่โน้นมีท่าน้ำอยู่ ท่านจงถือเอามีดโต้อันคมไปดักอยู่ที่ตรงนั้น เขาได้ทำอย่างนั้นแล้ว. ฝ่ายพี่ชายของเขาทำงานในป่าเสร็จแล้วกลับบ้าน. นางทำเป็นเหมือนมีจิตอ่อนโยนในเขา พูดว่า มาเถิดนาย ฉันจะล้างศีรษะให้ แล้วดูศีรษะให้เขา พูดว่า ศีรษะของนายสกปรก แล้วส่งก้อนมะขามป้อมให้เขาไปด้วย สั่งว่า ท่านจงไปล้างศีรษะที่ท่าชื่อโน้น แล้วกลับมา. เขาไปสู่ท่าตามที่นางบอกนั่นแหละ สระผมด้วยฟองมะขามป้อม ลงอาบน้ำดำหัวแล้ว. ครั้งนั้น น้องชายออกมาจากระหว่างต้นไม้ ฟันเขาที่ก้านคอให้ตาย แล้วกลับเข้าบ้าน.

พี่ชายเมื่อไม่อาจสละความสิเนหาในภรรยาได้ จึงไปเกิดเป็นงูเขียวใหญ่ในเรือนหลังนั้นแหละ. แม้เมื่อนาง (ผู้เป็นภรรยาเก่า) จะยืนก็ตาม นั่งก็ตาม มันจะตกลงที่ตัว (ของนาง). ต่อมา นางจึงให้ฆ่างูนั้นด้วยเข้าใจว่า ชะรอยผัวเราจะเป็นงูตัวนี้. เพราะความรักนางผู้เป็นภรรยา มันจึงไปเกิดเป็นลูกสุนัขในเรือนหลังนั้นอีก. นับแต่เวลาที่มันเดินได้ มันจะวิ่งตามหลังนางไป แม้นางเข้าป่า มันก็ติดตามไปด้วย คนทั้งหลายเห็นนางแล้วก็พูดเย้ยหยันว่า พรานสุนัขออกแล้ว จักไปไหน. นางสั่งให้ฆ่ามันอีก.

แม้มัน (ตายแล้ว) ก็ไปเกิดเป็นลูกวัวในเรือนหลังนั้นอีก แล้วเดินตามหลังนางไปอย่างนั้นเหมือนกัน. แม้ในคราวนั้น คนทั้งหลายเห็นมันแล้ว ก็พากันพูดเย้ยหยันว่า โคบาลออกแล้ว โคทั้งหลายจักไปไหน. นางก็สั่งให้ฆ่ามันเสียในที่ตรงนั้น. แม้คราวนั้น มันก็ไม่สามารถจะตัดความสิเนหานางต่อไปได้ ในวาระที่ ๔ มันเกิดในท้องของนาง แล้วระลึกชาติได้. มันเห็นว่า ตัวถูกนางฆ่ามา ๔ อัตภาพตามลำดับ แล้วคิดว่า เราเกิดในท้องของหญิงผู้เป็นศัตรูเห็นปานนี้. นับแต่นั้นมา ก็ไม่ยอมให้นางเอามือถูกต้องตัวได้. ถ้านางถูกต้องตัว เขาจะสะอึกสะอื้นร้องไห้. เวลานั้น ผู้เป็นตาเท่านั้น

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 374

จะอุ้มชูเขาได้. ต่อมา เขาเจริญเติบโตแล้ว ตาจึงพูดว่า หลานเอ๋ย เหตุไฉนเจ้าจึงไม่ยอมให้แม่เอามือถูกตัว ถ้าแม้แม่ถูกตัวเจ้า เจ้าจะร้องไห้สะอึกสะอื้นด้วยเสียงอันดัง. เขาได้บอกความเป็นไปทั้งหมดนั้น (แก่ตา) ว่า คุณตาครับ ผู้นี้ไม่ใช่แม่ของผม แต่เป็นศัตรู. ผู้เป็นตาสวมกอดเขาไว้ แล้วร้องไห้ พูดว่า มาเถิดหลานเอ๋ย เรื่องอะไรพวกเราจะต้องมาอาศัยอยู่ในที่เช่นนี้ ดังนี้แล้ว พาเขาออกจากบ้านไปสู่วิหารแห่งหนึ่ง พากันบวชอยู่ในวิหารนั้น บรรลุพระอรหัตทั้งสองคน.

บทว่า มหาสาวชฺโช ความว่า ชื่อว่ามีโทษมาก ด้วยเหตุ ๒ สถาน คือ ด้วยอำนาจโลกวัชชะ ๑ ด้วยอำนาจวิปากวัชชะ ๑. ข้อนี้เป็นอย่างไร. คือ ผู้อันโทสะประทุษร้ายแล้ว ย่อมประพฤติผิดในมารดาก็ได้ ในบิดาก็ได้ ใน พี่ชายน้องชาย พี่สาวน้องสาวก็ได้ ในบรรพชิตก็ได้ ในที่ทุกแห่งที่ผ่านไป เขาจะได้คำครหาอย่างใหญ่หลวงว่า ผู้นี้ประพฤติผิด แม้ในมารดาบิดา แม้ในพี่ชายน้องชาย พี่สาวน้องสาว แม้ในบรรพชิต. โทสะ ชื่อว่ามีโทษมาก ด้วยสามารถแห่งโทษที่เป็นโลกวัชชะ ดังพรรณนามานี้ก่อน แต่เขาจะได้เสวยผลในนรกตลอดกัป ด้วยอนันตริยกรรมที่ตนทำไว้ด้วยอำนาจโทสะ. โทสะ ชื่อว่ามีโทษมาก ด้วยอำนาจแห่งโทษที่เป็นวิปากวัชชะ ดังพรรณนามานี้แล.

บทว่า ขิปฺปวิราคี แปลว่า คลายเร็ว. อธิบายว่า ผู้ที่ถูกโทสะประทุษร้ายแล้ว ประพฤติผิดในมารดาบิดาบ้าง ในเจดีย์บ้าง ในโพธิพฤกษ์บ้าง ในบรรพชิตทั้งหลายบ้าง เขาขอลุแก่โทษว่า ท่านทั้งหลายจงอดโทษแก่ข้าพเจ้า. พร้อมด้วยการขอขมาของเขา กรรมนั้นจะกลับกลายเป็นปกติไปทันที.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 375

ส่วนโมหะ ชื่อว่ามีโทษมาก เพราะเหตุ ๒ สถานเหมือนกัน ข้อนี้อย่างไร. คือ คนที่หลงแล้วเพราะโมหะ จะประพฤติผิดในมารดาบิดาบ้าง ในพระเจดีย์บ้าง ในโพธิพฤกษ์บ้าง ในบรรพชิตบ้าง แล้วได้รับการติเตียนในที่ที่ตนไปแล้วๆ. โมหะ ชื่อว่ามีโทษมาก ด้วยสามารถแห่งโทษที่เป็นโลกวัชชะอย่างนี้ก่อน. แต่เขาจะต้องเสวยผลในนรกตลอดกัลป์ เพราะอนันตริยกรรมที่เขาทำไว้ด้วยอำนาจโมหะ. โมหะ ชื่อว่ามีโทษมาก แม้ด้วยสามารถแห่งโทษที่เป็นวิปากวัชชะ ดังพรรณนามานี้แล.

บทว่า ทนฺธวิราคี แปลว่า ค่อยๆ คลายไป อธิบายว่า กรรมที่ผู้หลงเพราะโมหะทำไว้ จะค่อยๆ พ้นไป. อุปมาเสมือนหนึ่งว่า หนังหมีที่เขาฟอกอยู่ถึง ๗ ครั้ง ก็ไม่ขาว ฉันใด กรรมที่ผู้หลงแล้วเพราะโมหะทำแล้ว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จะไม่พ้นไปเร็ว คือ จะค่อยๆ พ้นไป ฉะนี้แล. คำที่เหลือในพระสูตรนี้ ง่ายทั้งนั้นแล.

จบอรรถกถาติตถิยสูตรที่ ๘