พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. โยธสูตร ว่าด้วยนักรบที่คู่ควรแก่พระราชา

 
บ้านธัมมะ
วันที่  22 ต.ค. 2564
หมายเลข  38765
อ่าน  456

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 570

ตติยปัณณาสก์

โยธาชีววรรคที่ ๔

๑. โยธสูตร

ว่าด้วยนักรบที่คู่ควรแก่พระราชา


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 570

โยธาชีววรรคที่ ๔

๑. โยธสูตร

ว่าด้วยนักรบที่คู่ควรแก่พระราชา

[๕๗๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นักรบประกอบด้วยองค์ ๓ จึงคู่ควรแก่พระราชา เป็นราชเสวก นับว่าเป็นองคาพยพของพระราชาทีเดียว องค์ ๓ คืออะไร คือ ยิงไกล ๑ ยิงเร็ว ๑ ทำลาย (ข้าศึก) หมู่ใหญ่ได้ ๑ นักรบประกอบด้วยองค์ ๓ นี้แล จึงคู่ควรแก่พระราชา เป็นราชเสวก นับว่าเป็นองคาพยพของพระราชาทีเดียว

ฉันนั้นนั่นแล ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๓ จึงเป็น (อาหุเนยฺโย) ผู้ควรของคำนับ (ปาหุเนยฺโย) ผู้ควรของต้อนรับ (ทกฺขิเณยฺโย) ผู้ควรของทำบุญ (อญฺชลิกรณีโย) ผู้ควรทำอัญชลี (อนุตฺตรํ ปุญฺกฺเขตฺตํ โลกสฺส) เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ธรรม ๓ คืออะไร คือ ยิงไกล ๑ ยิงเร็ว ๑ ทำลาย (ข้าศึก) หมู่ใหญ่ได้ ๑

ภิกษุยิงไกล เป็นอย่างไร? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า (ขันธ์ ๕ คือ) รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทุกอย่าง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ทั้งภายใน ภายนอก ทั้งหยาบ ละเอียด

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 571

ทั้งเลว ประณีต ทั้งอยู่ไกล อยู่ใกล้ ทั้งหมด (เนตํ มม) นั่นไม่ใช่ของเรา (เนโสหมสฺมิ) เราไม่ได้เป็นนั่น (น เมโส อตฺตา) นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยิงไกลเป็นอย่างนี้

ภิกษุยิงเร็ว เป็นอย่างไร? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ รู้ตามจริงว่า นี่ทุกข์ ฯลฯ นี่ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยิงเร็วเป็นอย่างนี้

ภิกษุทำลาย (ข้าศึก) หมู่ใหญ่ได้ เป็นอย่างไร? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ทำลายกองอวิชชาอันใหญ่ได้ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทำลาย (ข้าศึก) หมู่ใหญ่ได้เป็นอย่างนี้

ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๓ นี้แล จึงเป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า.

จบโยธสูตรที่ ๑

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 572

โยธาชีววรรควรรณนาที่ ๔

อรรถกถาโยธสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในโยธสูตรที่ ๑ แห่งโยธาชีววรรคที่ ๔ ดังต่อไปนี้ :-

ผู้ที่เข้าไปอาศัยการรบเลี้ยงชีพ ชื่อว่า โยธาชีวะ. บทว่า ราชารโห ความว่า คู่ควรแก่พระราชา บทว่า ราชาโภคฺโค ความว่า เป็นผู้ที่พระราชาจะพึงใช้สอย. บทว่า องฺคนฺเตว สงฺขยํ คจฺฉติ ความว่า ย่อมนับว่าเป็นองค์ประกอบ เพราะจำต้องปรารถนาโดยแท้ เหมือนมือและเท้า. บทว่า ทูเร ปาตี โหติ ความว่า ยิงลูกศรไปได้ไกลอย่างนี้ คือ ในน้ำไกลประมาณ ๑ อสุภ บนบกไกลประมาณ ๘ อสุภ หรือเลยนั้นไป. แท้จริงทหารของพระเจ้าทุฏฐคามินีอภัย ยิงเกาทัณฑ์ไปได้ไกลประมาณ ๙ อสุภ. ในภพสุดท้าย พระโพธิสัตว์ทรงยิงไปได้ไกลประมาณ ๑ โยชน์. บทว่า อกฺขณเวธี ได้แก่ ยิงไม่พลาด อีกอย่างหนึ่ง อธิบายว่า สามารถยิงได้เร็วทันสายฟ้าแลบ. บทว่า มหโต กายสฺส ปทาเลตา มีอธิบายว่า สามารถยิงทะลุแผ่นกระดาน ๑๐๐ แผ่น ที่ผูกรวมกันเข้าไว้บ้าง แผ่นหนังกระบือ ๑๐๐ แผ่น ที่ผูกรวมกันไว้บ้าง แผ่นโลหะหนาประมาณเท่าหัวแม่มือบ้าง กระดานแผ่นเรียบที่ทำด้วยไม้ประดู่หนา ๔ นิ้วบ้าง. กระดานแผ่นเรียบที่ทำด้วยไม้มะเดื่อหนา ๑ คืบบ้าง เกวียนบรรทุกทรายตามยาวบ้าง. บทว่า ยงฺกิญฺจิ รูปํ เป็นต้น ได้ให้พิสดารแล้วในคัมภีร์ชื่อว่าวิสุทธิมรรคนั้นแล. บทว่า เนตํ มม เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยสามารถแห่งการห้ามตัณหา มานะ และทิฏฐิ. บทว่า สมฺมปฺปญฺาย ปสฺสติ ความว่า พิจารณาเห็นด้วยมรรคปัญญาพร้อมด้วยวิปัสสนา โดยชอบ คือ โดยเหตุ โดยการณ์. บทว่า ปทาเลติ ความว่า ย่อมทำลายด้วยพระอรหัตตมรรค.

จบอรรถกถาโยธสูตรที่ ๑